การเรียกในคณะเผยแผ่
แหล่งช่วยสำหรับการจัดการ ความต้องการของสังคม


แหล่งช่วยสำหรับการจัดการ ความต้องการของสังคม

ความสัมพันธ์สามารถเป็นได้ทั้งบ่อเกิดของความเครียดและแหล่งช่วยอันเป็นพรสำหรับรับมือกับความเครียด เมื่อเราเครียดมากเกินไป ความสัมพันธ์อาจเจ็บปวด พิจารณาคำแนะนำเหล่านี้เพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดี อ้างอิงหมวด “หลักธรรมโดยทั่วไปสำหรับการจัดการกับความเครียด” หน้า17–22 ด้วยเพื่อได้รับแนวคิดเพิ่มเติม

Two sister missionaries talking to a woman on the street.

พูดคุยกับคนแปลกหน้า

  • ค้นหาและใช้ข้อดีของท่าน บางคนคิดว่าการพูดคุยกับผู้คนทำให้มีชีวิตชีวาขณะที่บางคนคิดว่าเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่าย ผู้คนทั้งสองประเภทสามารถเป็นผู้สอนศาสนาที่มีประสิทธิภาพได้ ถ้าท่านเป็นผู้ที่เหนื่อยล้าเวลาพูดคุยกับคนแปลกหน้าอย่าละความพยายาม ท่านมีข้อดีอื่นๆ ที่เอื้อประโยชน์ให้งานสอนศาสนา เช่นเป็นเพื่อนที่ดีกับคนที่ท่านรู้จักเป็นอย่างดี มีความคิดสร้างสรรค์ มีสายตาแหลมคมเกี่ยวกับผู้คน หรือวางแผนได้อย่างยอดเยี่ยม ท่านอาจทึกทักว่าผู้อื่นไม่ชอบท่านถึงแม้ว่าพวกเขาอาจชอบท่าน แสวงหาการดลใจและฟังพระวิญญาณเพื่อจะช่วยให้ท่านใช้ข้อดีของท่านในการรับใช้พระองค์และพัฒนาคุณลักษณะของพระคริสต์ให้มากขึ้นเพื่อนำมาใช้ในฐานะผู้สอนศาสนา ท่านคือตัวแทนของพระเยซูคริสต์ ไม่ใช่ตัวท่านเอง

  • เรียนรู้การถามคำถามที่ได้รับการดลใจ เรียนรู้และฝึกถามคำถามเพื่อให้ผู้อื่นพูดคุย ถามผู้คนเกี่ยวกับงาน งานอดิเรก ครอบครัว หรือประวัติส่วนตัวของพวกเขา ถามว่าสิ่งใดสำคัญต่อพวกเขามากที่สุด พวกเขาใฝ่ฝันหรือกังวลกับเรื่องใด ฟังเพื่อหาโอกาสเป็นพยานถึงหลักธรรมพระกิตติคุณที่จะเกี่ยวข้องกับพวกเขา แสดงความสนใจอย่างจริงใจ เต็มใจตอบคำถามพวกเขาเกี่ยวกับตัวท่านเช่นกัน พยายามสนใจความต้องการของพวกเขาและข่าวสารของท่าน (ดู สั่งสอนกิตติคุณของเรา, หน้า 198–199)

  • หาวิธีง่ายๆ เพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้อื่น พยายามยิ้ม สบตา โบกมือ กล่าวทักทาย ชมเชยพวกเขา ให้ความช่วยเหลือ หรือถามคำถามที่เริ่มต้นด้วยคำว่า ใคร อะไร เมื่อไร ที่ไหน ทำไม หรือ อย่างไร

  • เรียนรู้วิธีจบการสนทนา เมื่อท่านสนทนาสิ่งที่ท่านรู้สึกว่าเหมาะสมและขอชื่อผู้สนใจ พยายามพูดว่า “ยินดีที่ได้รู้จักคุณ (หรือคุยกับคุณ) เราต้อง ______ (ไปแล้ว กลับไปทำงาน ไปขึ้นรถประจำทาง พบบราเดอร์สมิธให้ทัน) เราจะเจอกันอีก”

  • ตั้งเป้าหมายที่จะรู้จักคนใหม่อย่างน้อยหนึ่งคนในการประชุมทุกแห่งที่ท่านเข้าร่วม ใช้ชื่อบุคคลนั้นในนาทีแรกและเมื่อท่านจบการสนทนา เขียนชื่อไว้เพื่อช่วยให้ท่านจำได้

  • ฝึกฝนที่การประชุมดิสตริกท์ นี่คือสถานการณ์ในความคิดเพื่อใช้ฝึกฝนทักษะทางสังคมเช่นการฟังและการถามคำถาม

  • ขอความคิดเห็น ใช่ว่าทุกคนจะ “อ่าน” คนอื่นได้เก่ง ขอให้คู่ของท่านช่วยเหลือถ้ามีคนบอกท่านว่าท่านมีปัญหาในการสังเกตว่าผู้อื่นไม่สะดวกใจหรือไม่สนใจ

  • ปล่อยให้ตนเองลองหยั่งความมั่นใจ ถึงแม้ท่านจะไม่รู้สึกเช่นนั้น คำแนะนำที่ประธานฮิงค์ลีย์ได้รับจากคุณพ่อของท่านนำมาใช้กับท่านได้เช่นกัน “เลิกนึกถึงตนเองและออกไปทำงาน” (Ensign, July 1987, 7) เราทำสิ่งนี้ได้โดยไม่ต้องสนใจความกลัวที่เรามีต่อสมรรถภาพในการทำงานของเรา ใส่ใจกับการรับใช้ผู้อื่นและสั่งสอนพระกิตติคุณ

  • มุ่งเน้นที่การช่วยเหลือและปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้อื่น ขณะที่ท่านหันไปสนใจความต้องการของผู้อื่น ท่านจะนึกถึงตนน้อยลงเกี่ยวกับความต้องการหรือความบกพร่องของตนเอง (ดู โมไซยาห์ 2:17)

ต้องการอยู่ตามลำพัง

  • สร้างความรู้สึกของความเป็นส่วนตัวในบางโอกาสโดยการเขียน การสวดอ้อนวอน อ่านหนังสือ หรือวางแผน ถึงแม้ท่านต้องอยู่กับคู่ตลอดเวลา แต่ท่านสามารถหลับตาสองสามนาทีและอยู่นิ่งๆ ได้

  • ขอตรงๆ ว่าอยากมีเวลาคิดเงียบๆ ยืนยันกับคู่ว่าท่านไม่ได้โกรธ ยังคงเอาใจใส่สัมพันธภาพของท่านและสื่อสารด้วยความอ่อนโยนต่อไป

  • แบ่งย่อยวันของท่าน อย่าทำกิจกรรมประเภทเดียวเป็นเวลานาน ทำงานให้หลากหลายประเภท กระจายช่วงเวลาสั้นๆ ที่สงบและสำนึกในคุณค่าของกิจกรรมที่ท่านทำ จากนั้นกลับไปทำงาน

สื่อสารตรงไปตรงมากับคู่

  • ฟังก่อน เมื่อท่านอยู่กับคนหนึ่ง 24/7 ท่านจะสังเกตเห็นสิ่งที่ทำให้ท่านรำคาญ ท่านมาจากภูมิหลังที่แตกต่างกัน มีความคาดหวังและ “เส้นแบ่ง” สำหรับสิ่งปกติหรือเหมาะสมต่างกัน พฤติกรรมของคู่ท่านอาจเป็นเรื่องปกติสำหรับเขาแม้ว่าอาจจะไม่ปกติสำหรับท่าน ในช่วงพูดคุยกับคู่ ค้นหาให้มากขึ้นถึงวิธีที่เขามองดูสิ่งต่างๆ โดยถามคำถามและตั้งใจฟัง. (ดู สั่งสอนกิตติคุณของเรา, หน้า 199–200)

  • อธิบายด้วยความเคารพว่าสิ่งใดกวนใจท่าน ถ้าท่านวิพากษ์วิจารณ์หรือโกรธ คู่ของท่านมีแนวโน้มว่าจะต่อต้านมากกว่าให้ความร่วมมือ อธิบายปัญหาของท่านและสิ่งที่ท่านต้องการแทนที่จะวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมที่กวนใจท่านของคู่ ตัวอย่างเช่น “ผมไม่ชอบจานสกปรก แต่ผมก็ไม่ชอบล้างจานอยู่คนเดียว ผมว่าเราน่าจะหาวิธีแบ่งงานกันทำ” หรือ “ผมกังวลว่าคุณโกรธผมเมื่อคุณเงียบ คุณบอกผมได้ไหมว่าคุณกำลังคิดอะไรอยู่”

  • ตรงไปตรงมาและอ่อนโยน หลีกเลี่ยงการตัดสินหรือตั้งฉายาในแง่ลบ อย่ายกตนให้สูงกว่าคู่โดยจับผิดข้อบกพร่องที่ยาวเหยียดของคู่ พยายามรักษาน้ำเสียงที่ไม่เจือความโกรธหรือสมเพชตนเอง (ดู เอเฟซัส 4:29–32)

  • อย่ารับความขุ่นเคือง น้อมรับคำแนะนำ แม้จะเป็นถ้อยคำไม่สุภาพ มองในแง่ดีและมีอารมณ์ขันมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

  • ชมคู่ของท่านบ่อยๆ ขอบคุณเขาในสิ่งที่ท่านชื่นชม

  • ขอคำแนะนำจากคู่ถึงวิธีที่ท่านจะปรับปรุงตนเอง ทูลขอพระเจ้าทรงช่วยให้ท่านเห็นความอ่อนแอของท่านด้วย (ดู อีเธอร์ 12:27)

  • พยายามทำสิ่งที่ดีให้คู่ของท่านทุกวัน เตรียมอาหารกลางวัน ฟัง ขัดรองเท้า จัดที่นอน ยิ้ม แขวนผ้าเช็ดตัว เก็บจาน เขียนคำขอบคุณให้คุณพ่อคุณแม่ของเขา รีดเสื้อ ชมเชยเขา

รักผู้คน

  • เรียนรู้วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิตของผู้คนที่ท่านรับใช้ จดสิ่งที่ท่านชอบและชื่นชม

  • สวดอ้อนวอนเพื่อของประทานแห่งจิตกุศล ทำด้วย “สุดพลังของใจ” (โมโรไน 7:48) ขอให้มีดวงตามองผู้อื่นดังที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมองพวกเขา

  • รับใช้สมาชิกศาสนจักร ผู้สนใจ และคนอื่นๆ ถามคำถามพวกเขาเกี่ยวกับชีวิต ความเชื่อ และประสบการณ์จนกว่าท่านจะเข้าใจพฤติกรรมของพวกเขามากขึ้น

  • สวดอ้อนวอนให้ผู้คน รวมถึงการสวดอ้อนวอนให้ผู้ที่ปฏิเสธท่านและทำให้ท่านเจ็บปวดด้วย (ดู 3 นีไฟ 12:44)

เข้ากันได้ดีกับผู้นำในคณะเผยแผ่

  • อ่อนน้อมถ่อมตน (ดู คพ. 112:10) ความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นบ่อเกิดของคุณธรรมทั้งปวง ขอคำแนะนำจากผู้นำของท่านถึงวิธีที่ท่านจะปรับปรุงตนเอง เต็มใจรับคำแนะนำและให้พวกเขาทราบว่าพวกเขาพึ่งพาท่านได้ ขอบคุณผู้นำสำหรับการรับใช้ของพวกเขา ทั้งด้วยคำพูดและเป็นลายลักษณ์อักษร (ดู สั่งสอนกิตติคุณของเรา, หน้า120–21.)

  • ขอให้ผู้นำหรือผู้อบรมให้ความช่วยเหลือและอดทน ผู้สอนศาสนาบางคนไม่วางใจหรือไม่ยอมรับคำสั่งจากผู้มีสิทธิอำนาจเพราะพวกเขาเคยเป็นนายตนเอง บางคนรู้สึกว่าผู้นำซึ่งเป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกันเป็นคู่แข่ง บอกให้ผู้นำทราบถ้าท่านมีปัญหาเหล่านี้ สวดอ้อนวอนขอความอ่อนน้อมถ่อมตนเพื่อจะเป็นผู้ตามที่ดี

  • สวดอ้อนวอนให้ผู้นำของท่าน สวดอ้อนวอนเป็นพิเศษให้ผู้ที่ท่านรู้สึกไม่ดีด้วย

  • ตระหนักว่าผู้นำคือมนุษย์ ถ้าเราคิดว่าผู้นำต้องดีกว่าคนอื่นมากๆ เราจะผิดหวังและวิพากษ์วิจารณ์เมื่อพวกเขาทำผิดพลาด ไม่อดทน ไม่ค่อยมีวิจารณญาณ หรือไม่เข้าใจเรา จงคาดหวังความไม่สมบูรณ์แบบและมองหาคุณลักษณะที่ดี (ดู มอรมอน 9:31)

  • เรียนรู้จากข้อดีและความผิดพลาดของผู้นำ เขียนคุณสมบัติที่ท่านต้องการทำตามหรือหลีกเลี่ยงเมื่อท่านต้องเป็นผู้นำ

จัดการกับความรู้สึกรักใคร่หรือความรู้สึกทางเพศ

  • พัฒนาการควบคุมตนเอง ความนึกคิดและความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องรักใคร่หรือเรื่องทางเพศเป็นเรื่องปกติและพระผู้เป็นเจ้าประทานให้เรา ขณะที่เรารักษาความสัมพันธ์และพฤติกรรมให้อยู่ในขอบเขตที่พระเจ้าทรงกำหนดให้เราในฐานะผู้สอนศาสนา เราจะมีพลังมากขึ้นและได้รับพรอันประเสริฐ จงสร้างแรงจูงใจให้ทำเช่นนั้นโดยศึกษาหลักคำสอนและพันธสัญญา 121:45; 1 โครินธ์ 9:24–27; โมไซยาห์ 3:19; และแอลมา 38:12 ร่วมกับการสวดอ้อนวอน มองหาคำว่า “คุณธรรม” “การควบคุมตนเอง” และ “ความยับยั้งตน” ในคู่มือพระคัมภีร์ เขียนพรและประโยชน์ที่จะเกิดกับท่านในเวลานี้และในอนาคตเมื่อท่านพัฒนาคุณสมบัติเหล่านี้

  • เปลี่ยนความคิด แทนที่จะหมกมุ่นอยู่กับความนึกคิดทางเพศหรือเรื่องรักใคร่ หันเหความสนใจของท่านด้วยการผ่อนคลายและทำอย่างอื่นแทน ร้องเพลงสวด ท่องจำพระคัมภีร์ จดจ่ออยู่กับสิ่งที่ท่านสำนึกคุณ นึกถึงแผนสำหรับวันนั้น ออกกำลังกาย อุทิศตนให้งานของท่านอีกครั้ง มีความสุขและความคิดสร้างสรรค์

  • หลีกเลี่ยงการล่อลวง หลีกเลี่ยงสถานที่ สภาวการณ์ การสนทนา หรือผู้คนที่ก่อให้เกิดการล่อลวง ถ้าท่านพบกับภาพหรือแนวคิดยั่วยุอารมณ์อย่าติดอยู่กับมัน เปลี่ยนความคิดของท่านไปสู่เรื่องอื่น และออกจากสถานการณ์นั้นให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ (ดู สั่งสอนกิตติคุณของเรา, หน้า 129)

  • มีศรัทธาและความหวังต่อไป ถ้าท่านมีปัญหาในการจัดการกับความรู้สึกทางเพศอย่างเหมาะสม พระเจ้าทรงต้องการให้ท่านทราบว่าพระองค์ยังทรงรักท่าน อย่าละเลยสัมพันธภาพของท่านกับพระผู้เป็นเจ้าเพราะท่านรู้สึกว่าไม่มีค่าควร ถึงแม้ท่านอาจมีปัญหาในการจัดการกับความรู้สึกเหล่านี้ แต่พระองค์จะไม่ทรงปฏิเสธท่าน พระองค์เข้าพระทัยสิ่งที่ท่านกำลังเผชิญและทรงเห็นคุณค่าความพยายามของท่านในการต่อต้านการล่อลวง เรียนรู้จากความผิดพลาด และกลับใจ แสวงหาคำแนะนำจากประธานคณะเผยแผ่ของท่าน และมุ่งมั่นที่จะเอาชนะการท้าทายเหล่านี้ต่อไป (ดู สั่งสอนกิตติคุณของเรา, 126–127)

  • อย่าปล่อยให้หิว เหงา เหนื่อย เบื่อ หรือเครียดมากเกินไป ทุกสิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ต่อต้านการล่อลวงได้ยาก รับประทานอาหารว่าง หรือพักช่วงสั้นๆ หรือเปลี่ยนกิจกรรม พูดคุยเรื่องดีๆ หรือฝึกออกกำลังกายเพื่อการผ่อนคลาย (ดู หน้า 19)

  • รักษาตนเองให้ปลอดภัย จำไว้ว่าให้อยู่กับคู่ของท่านเสมอและอย่าอยู่ตามลำพังกับเพศตรงข้าม ถ้าท่านรู้สึกว่ากำลังติดใจใครบางคนให้ติดต่อกับประธานคณะเผยแผ่และขอคำแนะนำ ถ้าท่านรู้สึกว่ามีบางคนกำลังจีบท่านขอให้คู่ของท่านช่วยเหลือ โทรศัพท์หาประธานคณะเผยแผ่เพื่อให้เขาทราบว่าท่านกำลังรู้สึกอย่างไร

  • อดอาหารและสวดอ้อนวอนเพื่อความเข้าใจและความเข้มแข็ง เมื่อเราอดอาหาร เราไม่สนใจความอยากอาหารตามปกติในช่วงเวลาหนึ่งเพื่อแสวงหาความเข้มแข็งทางวิญญาณและพัฒนาทักษะเช่นการควบคุมตนเอง ความเข้าใจผู้หิวโหยและความรู้สึกไวต่อพระวิญญาณ ทักษะเหล่านี้สามารถช่วยให้เราเพิกเฉยต่อความรู้สึกทางเพศหรือความรักใคร่ตามปกติในฐานะผู้สอนศาสนา การอดอาหารจะขจัดความรู้สึกทางเพศ แต่การอดอาหารแต่ละเดือนอาจช่วยให้เรามีความเข้มแข็ง ความสำนึกตน และแรงจูงใจที่จะจัดการกับความรู้สึกเหล่านี้อย่างเหมาะสม (ดู สั่งสอนกิตติคุณของเรา, 99–101)