การเข้าใจความเครียด
ความเครียดเป็นเรื่องปกติของชีวิต
เมื่อท่านเริ่มต้นประสบการณ์ใหม่อย่างใดอย่างหนึ่ง (เช่นการเข้าร่วมศาสนจักรหรือเข้าโรงเรียนใหม่) ท่านรู้สึกตื่นเต้นที่ได้รับโอกาส—และรู้สึกประหม่าเพราะท่านยังไม่ทราบแน่นอนว่าต้องคาดหวังสิ่งใด ครั้นเวลาผ่านไปท่านเรียนรู้ที่จะรับมือกับการท้าทายเหล่านี้และท่านเข้าใจขั้นตอนดังกล่าวมากขึ้น
งานเผยแผ่ก็ไม่แตกต่างไปจากนี้ บางครั้งงานเผยแผ่ทำให้รู้สึกว่าเป็นการผจญภัยทางวิญญาณอันยอดเยี่ยม—หรืออย่างน้อยเป็นการท้าทายที่ท่านรับมือได้ ท่านค่อยๆ พัฒนาขึ้นด้วยศรัทธา โดยตระหนักว่าความประหม่าหรือความกังวลส่วนใหญ่ที่ท่านประสบนั้นจะเกิดขึ้นชั่วคราว ท่านใช้ความกล้าหาญที่จะรู้ว่าท่านจะปรับตัวได้กับเรื่องเวลา การเติบโตทางวิญญาณ และพัฒนาทักษะใหม่ๆ อีกมาก ประสบการณ์ที่ท่านเคยกลัวจะกลายเป็นสิ่งที่จัดการได้ ในที่สุดท่านจะชื่นชมแง่มุมต่างๆ ของชีวิตผู้สอนศาสนาที่เมื่อก่อนเคยรู้สึกหนักใจ ท่านพึ่งพาพระวิญญาณ มีความมั่นใจมากขึ้น และพบปีติในการรับใช้ของท่าน
อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งท่านอาจเผชิญปัญหาที่ไม่ได้คาดหวังหรือประสบการณ์ที่ยากกว่าหรือไม่น่าอภิรมย์เกินกว่าที่ท่านคาดไว้ ท่านอาจสงสัยว่าท่านจะประสบความสำเร็จได้อย่างไร แหล่งช่วยที่ท่านเคยพึ่งพาขอความช่วยเหลือเพื่อเอาชนะปัญหาอาจไม่มีแล้ว แทนที่จะเกิดความรู้สึกว่ามีแรงผลักดันให้พยายาม ท่านอาจวิตกกังวล โมโหง่าย เหนื่อยหน่าย หรือหงุดหงิด ท่านอาจมีอาการทางร่างกายอย่างเช่นอาการปวด ปวดท้อง นอนไม่หลับ หรือเจ็บป่วย ท่านอาจมีปัญหาในการเรียนรู้หรือการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น ท่านอาจรู้สึกท้อแท้หรืออยากจะเลิกเป็นผู้สอนศาสนา
เหมือนหน้าปัดบนแผงหน้าปัดรถยนต์ที่เตือนท่านให้ลดความเร็ว เติมน้ำมัน หรือตรวจสอบเครื่องยนต์ อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนให้ท่านลดความเร็ว เติมเรื่องทางวิญญาณให้เต็ม “ถัง” และมองหาทางแก้ไขใหม่ คู่มือเล่มนี้มีคำแนะนำและเครื่องมือที่อาจช่วยท่านได้
ความเครียดสี่ระดับ
ความเครียดไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเสมอไป อันที่จริง ความเครียดเป็นการตอบสนองตามปกติทางร่างกายและทางอารมณ์ต่อการเปลี่ยนแปลงและการท้าทายของชีวิต ทั้งยังเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเติบโต แต่การเผชิญกับความเครียดมากเกินไปเป็นเวลานานมากโดยที่ไม่มีการหยุดพักจะทำให้เกิดปัญหาได้
ขณะที่ท่านจัดการกับความเครียดอย่างมีประสิทธิภาพ การนึกถึงระดับของความเครียดสี่ระดับที่เผชิญอยู่อาจเป็นประโยชน์
เครื่องหมายบ่งบอกว่าท่านอยู่ระดับนี้ |
จะทำอะไรดี | ||
---|---|---|---|
|
เขียว |
มั่นใจ มีความสุข พร้อมรับมือกับเรื่องท้าทาย ฟื้นตัวเร็วจากความล้มเหลว เข้ากับคู่ของท่านได้ดี รู้สึกถึงพระวิญญาณ |
นี่คืออุดมคติ ท่านรับมือกับสิ่งที่ก่อให้เกิดความเครียดทุกวันจากงานสอนศาสนา การเรียนรู้และความก้าวหน้า ทำงานหนักและวางใจพระเจ้าต่อไป |
|
เหลือง |
ตึงเครียด กังวล ขาดความมั่นใจ กระวนกระวาย ไม่พร้อม มีปัญหาในการเข้ากับผู้อื่น รู้สึกถึงพระวิญญาณได้ยาก |
เป็นเรื่องปกติที่จะอยู่ตรงระดับสีเหลืองในบางครั้ง การมีเมตตาต่อตนเองขณะพยายามเอาชนะปัญหาและเรียนรู้ทักษะใหม่จะช่วยให้ท่านเข้มแข็งขึ้นและเพิ่มความสามารถในการรับใช้ สวดอ้อนวอนและรับใช้ต่อไปด้วยศรัทธา มองหาความช่วยเหลือจากพระคัมภีร์ คำปราศรัยการประชุมใหญ่ หัวหน้าโซน หัวหน้าดิสตริกท์ และหนังสือเล่มนี้ |
|
ส้ม |
เหนื่อยล้า (ทางร่างกายและทางอารมณ์) ป่วย (ต.ย. ปวดท้อง) โกรธง่าย ท้อแท้มาก ไม่สามารถรู้สึกถึงพระวิญญาณ |
ไม่มีใครชอบอยู่ที่ระดับความเครียดสีส้ม แต่ระดับนี้มักจะไม่ค่อยถาวร สวดอ้อนวอนขอการนำทางขณะที่ท่านศึกษาพระคัมภีร์และประยุกต์ใช้คำแนะนำในคู่มือเล่มนี้ บอกให้ประธานคณะเผยแผ่ของท่านทราบถ้าท่านอยู่ในระดับสีส้มเกินสามวันเพื่อประธานจะช่วยเหลือได้ |
|
แดง |
ยังคงซึมเศร้า หวาดหวั่น หรือวิตกกังวลต่อไป สิ้นหวัง มีปัญหาด้านการกินหรือการนอน (สามารถนำไปสู่ความเจ็บป่วย) หนักใจ; ทำต่อไปไม่ได้ รู้สึกราวกับว่าท่านถูกพระผู้เป็นเจ้าทอดทิ้ง |
ถ้าท่านอยู่ที่ระดับนี้ ติดต่อขอความช่วยเหลือจากประธานคณะเผยแผ่ ขอพรฐานะปุโรหิตจากคู่หรือหัวหน้าดิสตริกท์ของท่าน อาจใช้เวลาบางส่วนเขียนบันทึกประจำวัน ไตร่ตรองคำแนะนำในหนังสือเล่มนี้ สวดอ้อนวอน และอาจหยุดทำสิ่งที่ท่านรู้สึกว่ายากที่สุดเกี่ยวกับงานสอนศาสนาจนกว่าท่านจะมีโอกาสพูดกับประธานคณะเผยแผ่ของท่าน |
ความต้องการของงานสอนศาสนา
การรับใช้ “ด้วยสุดใจ, พลัง, ความนึกคิด และพละกำลังของเจ้า”” (คพ. 4:2) จะเป็นพรแก่ท่านอย่างมาก งานสอนศาสนาไม่ใช่เรื่องง่าย ความต้องการของงานสอนศาสนาตกอยู่ในประเภทต่างๆ ดังนี้
โดยรวม (ดู หน้า 17–22) ท่านประสบกับการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างและภาวะหัวเลี้ยวหัวต่อตลอดงานเผยแผ่ของท่าน วิธีที่คุ้นเคยกับการรับมืออาจไม่มีอยู่เสมอไป ท่านต้องเรียนรู้วีธีใหม่ๆ ช่วงหัวค่ำและสุดสัปดาห์ที่เคยใช้ผ่อนคลายกลายเป็นเวลาที่ท่านมีงานยุ่งที่สุด ท่านรู้สึกอึดอัด บางครั้งท่านอาจยุ่งยากใจ ท่านอาจสงสัยว่าจะช่วยผู้สอนศาสนาคนอื่นๆ ที่มีความยุ่งยากใจได้อย่างไร
ทางร่างกาย (ดู หน้า 23–28) ท่านอาจต้องพึ่งพาลำแข้งของตนเองเป็นเวลา 11–12 ชั่วโมงโดยเดิน ปั่นจักรยาน ขึ้นบันไดและยืน ท่านอาจไม่ได้นอนหลับมากเท่าที่เคย อาหารอาจจะไม่ถูกปาก ท่านจะออกไปเจออากาศไม่ดีและติดเชื้อใหม่ๆ เพียงแค่สถานการณ์ใหม่ๆ ก็ทำให้เหนื่อยอ่อนได้
ทางอารมณ์ (ดู หน้า 29–34) ท่านอาจรู้สึกกังวลเกี่ยวกับทุกอย่างที่ท่านต้องทำและท่านอาจมีปัญหาในการผ่อนคลายอารมณ์ ท่านอาจคิดถึงบ้าน ท้อแท้ เบื่อหน่าย หรืออ้างว้าง ท่านอาจเผชิญกับการถูกปฏิเสธ ความผิดหวัง หรือกระทั่งภัยอันตราย ท่านอาจห่วงใยครอบครัวและเพื่อนเมื่อท่านไม่อยู่ที่นั่นเพื่อช่วยพวกเขา
ทางสังคม (ดู หน้า 35–39) ท่านอาศัยอยู่ในที่พักซึ่งจัดหาให้เฉพาะผู้สอนศาสนากับคู่ของท่านและท่านอาจจะมีหรือไม่มีสิ่งใดที่คล้ายกัน ท่านได้รับการคาดหวังให้พูดคุยกับคนแปลกหน้า มีปฏิสัมพันธ์กับผู้นำศาสนจักร ทำความรู้จักกับสมาชิกศาสนจักรอย่างรวดเร็ว และเรียนรู้ที่จะรักผู้สนใจ
ทางสติปัญญา (ดู หน้า 41–43) ท่านอาจต้องเรียนรู้ภาษาใหม่ ท่านจะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญบทเรียนและพระคัมภีร์ มีทักษะในการสอน และแก้ไขข้อกังวลที่เกิดขึ้น ท่านจะต้องวางแผน จัดการกับเป้าหมาย ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลง และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจริงทุกอย่าง
ทางวิญญาณ (ดู หน้า 45–49) ท่านจะทำอย่างเต็มที่เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ประจักษ์พยานของท่าน ต่อต้านการล่อลวง เรียนรู้ที่จะรู้สึกและจดจำพระวิญญาณ ท่านจะต้องแก้ไข กลับใจ เผชิญกับความอ่อนแอและเสียใจด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน ท่านต้องพึ่งพาพระเจ้ามากกว่าเดิม
แหล่งช่วยที่จะช่วยให้ท่านรักษาสมดุล
เมื่อท่านมีแหล่งช่วยเพื่อรับมือกับงานสอนศาสนา ท่านจะเติบโตและมีส่วนร่วม อีกครั้งท่านจะอยู่ในระดับสีเขียว บางครั้งท่านสามารถรักษาสมดุลนี้ได้โดยการลดความต้องการที่ไม่จำเป็น เช่นการคาดหวังกับตนเองอย่างเกินจริงหรือกังวลว่าผู้อื่นจะคิดอย่างไร อย่างไรก็ตาม ความต้องการหลายอย่างของงานเผยแผ่ไม่สามารถปรับระดับลงได้ ท่านจะต้องเรียนรู้เนื้อหาใหม่ เข้ากับผู้อื่น เชื่อฟังกฎ สอน เป็นพยาน และไม่อยู่ในอาณาเขตที่ท่านคุ้นเคย
ท่านยังคงสามารถรักษาสมดุลได้โดยเพิ่มแหล่งช่วยของท่านเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการเหล่านี้ แหล่งช่วยสำคัญบางอย่างที่สอดคล้องกับความต้องการของงานสอนศาสนาคือการสวดอ้อนวอน ศึกษาพระคัมภีร์ การนำทางของพระวิญญาณบริสุทธิ์ และการรับใช้ผู้อื่น แหล่งช่วยเพิ่มเติมได้แก่สั่งสอนกิตติคุณของเรา ความช่วยเหลือจากผู้นำคณะเผยแผ่ และสิ่งอื่นๆ ที่กล่าวไว้ในคู่มือเล่มนี้
การใช้แหล่งช่วยเหล่านี้จะช่วยให้ท่านพึ่งพาพระผู้ช่วยให้รอดพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์ พระองค์ทรงเป็นแหล่งช่วยสำคัญที่สุดของความช่วยเหลือที่จะรับมือกับความต้องการและความเครียดของชีวิตผู้สอนศาสนา
จงดูที่เรา
พึงระลึกว่า พระบิดาบนสวรรค์ของเราทรงรักท่าน จงวางใจในพระองค์และในอำนาจแห่งการชดใช้ของพระเยซูคริสต์เพื่อรักษาและไถ่ท่าน พระผู้เป็นเจ้าทรงมีแผนอันดีพร้อมสำหรับบุตรธิดาที่ไม่ดีพร้อมของพระองค์ นี่คือข่าวประเสริฐที่ท่านนำไปสู่โลก จงจำคำสัญญาเหล่านี้ “ตามจริงแล้ว, ตามจริงแล้ว, เรากล่าวแก่เจ้า, ดังที่เรากล่าวแก่สานุศิษย์ของเรา, ที่ใดซึ่งมีสองหรือสามคนมารวมกันในนามของเรา, เกี่ยวกับเรื่องใดก็ตาม, ดูเถิด, ที่นั่นเราจะอยู่ท่ามกลางพวกเขาฉันใด—แม้ฉันนั้นเราอยู่ท่ามกลางเจ้า.
“อย่ากลัวเลยที่จะทำดี, … เพราะสิ่งใดก็ตามที่เจ้าหว่าน, เจ้าก็จะเก็บเกี่ยวสิ่งนั้น; ฉะนั้น, หากเจ้าหว่านความดีเจ้าก็จะเก็บเกี่ยวความดีเป็นรางวัลของเจ้า.
“ฉะนั้น, อย่ากลัวเลย, เจ้าฝูงแกะน้อย; จงทำดีเถิด; ต่อให้แผ่นดินโลกและนรกรวมกันต่อต้านเจ้า, แต่หากเจ้าสร้างขึ้นบนศิลาของเรา, พวกเขาจะเอาชนะไม่ได้.
“ดูเถิด, เราไม่กล่าวโทษเจ้า; จงไปตามทางของเจ้าและอย่าทำบาปอีกเลย; จงทำงานซึ่งเราบัญชาเจ้าด้วยความมีสติ.
“จงดูที่เราในความนึกคิดทุกอย่าง; อย่าสงสัย, อย่ากลัว.
“จงดูแผลถูกแทงที่สีข้างเรา, และรอยตะปูที่มือและเท้าของเราด้วย; จงซื่อสัตย์, รักษาบัญญัติของเรา, และเจ้าจะสืบทอดอาณาจักรแห่งสวรรค์เป็นมรดก.” (คพ. 6:32–37)