การฆ่าตัวตาย
การป้องกันการปลิดชีวิตตนเองและวิธีรับมือหลังการสูญเสีย


การป้องกันการปลิดชีวิตตนเองและวิธีรับมือหลังการสูญเสีย

อัตราการปลิดชีวิตตนเองที่เพิ่มสูงขึ้นในหลายภูมิภาคของโลกนับเป็นประเด็นหนึ่งของข้อกังวลอย่างยิ่ง จุดประสงค์ของเอกสารฉบับนี้คือการช่วยเหลือบิดามารดา ครอบครัว ผู้นำศาสนจักรและสมาชิกศาสนจักรที่พยายามปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้ได้รับผลกระทบจากการปลิดชีวิตตนเอง

สมาชิกอาจใช้แหล่งช่วยนี้เรียนรู้เกี่ยวกับหลักคำสอนของศาสนจักรเรื่องการปลิดชีวิตตนเอง สัญญาณเตือนของการปลิดชีวิตตนเอง วิธีช่วยผู้ตกอยู่ในภาวะวิกฤตและวิธีรับมือหลังการสูญเสียเนื่องจากการปลิดชีวิตตนเอง ผู้นำอาจใช้แหล่งช่วยนี้นำการสนทนาที่เป็นประโยชน์กับสมาชิกสภาสเตคและสมาชิกสภาวอร์ดรวมทั้งในสภาวะแวดล้อมอื่นๆ จุดประสงค์ของการสนทนาเหล่านี้คือการช่วยเหลือผู้นำและสมาชิกให้ปฎิบัติศาสนกิจอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อผู้ได้รับผลกระทบเนื่องจากการปลิดชีวิตตนเอง

เมื่อจัดให้มีการสนทนาเกี่ยวกับการปลิดชีวิตตนเองเพื่อการป้องกันและการปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ การสนทนาดังกล่าวควรนำโดยผู้ใหญ่สองคน ผู้นำอาจต้องการเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านนี้จากชุมชนซึ่งเป็นผู้เข้าใจและเคารพหลักคำสอนของศาสนจักรเรื่องการปลิดชีวิตตนเองให้มีส่วนร่วมในการสนทนา การสนทนากับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีจะทำได้ก็ต่อเมื่อบิดามารดาให้คำปรึกษากับบุตรของตนแล้วเท่านั้น

หลังจากสภาสเตคและสภาวอร์ดทบทวนเอกสารนี้แล้ว พวกเขาควรสนทนากันด้วยวิธีที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนการทำงานของชุมชนและแจ้งให้สมาชิกทราบเกี่ยวกับแหล่งช่วยที่มี

หลักคำสอนและหลักธรรม

พระเจ้าทรงเชื้อเชิญให้เราปฏิบัติต่อผู้คนทั้งปวงด้วยความเข้าใจและความเมตตากรุณาเมื่อทรงสอนว่า “จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” (มัทธิว 22:39) ความพยายามของเราที่จะปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้ได้รับผลกระทบเนื่องจากการปลิดชีวิตตนเองจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อเราเข้าใจหลักคำสอนและคำสอนอย่างสมบูรณ์ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

  • โดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ พระองค์ทรงประสบความท้าทายทุกรูปแบบของความเป็นมรรตัย เพื่อพระองค์จะทรงทราบว่า “จะทรงช่วยผู้คนของพระองค์ตามความทุพพลภาพของพวกเขาได้อย่างไร” (แอลมา 7:11-13) เจมส์ อี. เฟาสท์สอนว่า “เนื่องจากพระผู้ช่วยให้รอดทรงเคยทนทุกข์ในทุกเรื่องที่เรารู้สึกหรือประสบ พระองค์จึงทรงสามารถช่วยคนอ่อนแอให้กลับเข้มแข็งได้”(“การชดใช้: ความหวังอันยิ่งใหญ่ที่สุดของเรา เลียโฮนา, ม.ค. 2002 หน้า 25)

  • ชีวิตมรรตัยเป็นของประทานอันล้ำค่าจากพระผู้เป็นเจ้า— ของประทานที่เราควรรู้คุณค่าและปกป้อง (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:10; เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด Suicide: Some Things We Know, and Some We Do Not Ensign ต.ค. 1987 หน้า 6-9).

  • เมื่อมีคนปลิดชีวิตตนเอง พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้นที่จะทรงตัดสินความคิด การกระทำ และระดับภาระรับผิดชอบของพวกเขาได้ การปลิดชีวิตตนเองไม่ต้องเป็นลักษณะพิเศษที่กำหนดชีวิตนิรันดร์ของแต่ละบุคคล (ดู 1 ซามูเอล 16:7; หลักคำสอนและพันธสัญญา 137:9; เดล จี. เรนลันด์ Grieving after a Suicide Loss,” วีดิทัศน์ที่ suicide.lds.org).

แหล่งช่วยเพิ่มเติม

  • Gospel Topics ที่ topics.lds.org และในแอป Gospel Library

สัญญาณเตือนการปลิดชีวิตตนเอง

ผู้คนที่พยายามปลิดชีวิตตนเองส่วนใหญ่ไม่อยากตาย พวกเขาเพียงต้องการพ้นจากความเจ็บปวดทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ หรือวิญญาณที่กำลังได้รับ ผู้คนมากมายในภาวะวิกฤตส่อเค้าให้เห็นสัญญาณเตือนก่อนที่จะพยายามปลิดชีวิตตนเอง ถ้าท่านรู้จักสังเกตสัญญาณเตือนเหล่านี้ ท่านจะพร้อมมากขึ้นในการปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้ต้องการความช่วยเหลือ ให้ฟังคำพูดทำนองนี้ “ฉันตายก็ไม่เป็นไร” หรือ “ทุกคนคงรู้สึกดีขึ้นถ้าไม่มีฉัน” สัญญาณเตือนรวมถึงพฤติกรรมต่อไปนี้เช่นกัน

  • มองหาวิธีฆ่าตนเอง

  • พูดถึงความรู้สึกสิ้นหวังหรือไม่รู้จะอยู่ไปทำไม

  • พุดถึงความรู้สึกที่หาทางออกไม่ได้หรือความเจ็บปวดที่เกินจะรับไหว

  • พูดถึงการเป็นภาระต่อผู้อื่น

  • ดื่มแอลกอฮอล์หรือเสพยาหนักกว่าเดิม

  • บริจาคของใช้ส่วนตัวโดยไม่มีเหตุผล

  • แสดงความกระวนกระวายหรือกลัดกลุ้มหรือมีพฤติกรรมไม่ยั้งคิด

  • ถอนตัวหรือแยกตัวไปอยู่คนเดียว

  • แสดงอารมณ์เกรี้ยวโกรธหรือพูดเรื่องการแก้แค้น

  • แสดงอารมณ์แปรปรวนอย่างรุนแรง (ดู National Suicide Prevention Lifeline)

สัญญาณเตือนเพียงอย่างเดียวอาจไม่ได้หมายถึงมีภาวะวิกฤต แต่ถ้าบุคคลนั้นมีประวัติพยายามปลิดชีวิตตนเองหรือถ้าท่านสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงกะทันหันในบุคคลดังกล่าวหรือเริ่มเห็นสัญญาณเตือนหลายอย่าง ให้ลงมือปฏิบัติทันที ดูสายด่วนให้คำปรึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ suicide.lds.org. (ดู รายละเอียดเพิ่มเติมจาก “วิธีช่วยเหลือผู้ตกอยู่ในภาวะวิกฤต” ในเอกสารฉบับนี้)

แม้เราจะพยายามอย่างสุดความสามารถ ก็ใช่ว่าจะป้องกันการปลิดชีวิตตนเองได้ทั้งหมด การปลิดชีวิตตนเองบางกรณีเกิดขึ้นโดยไม่มีสัญญาณเตือนให้เห็นเลย เราไม่ต้องรับผิดชอบต่อการเลือกของผู้อื่นที่ต้องการจบชีวิตตนเอง

แหล่งช่วยเพิ่มเติม

วิธีช่วยเหลือผู้ตกอยู่ในภาวะวิกฤต

ให้ถือว่าสัญญาณเตือนการปลิดชีวิตตนเองและการขู่ว่าจะปลิดชีวิตตนเองทุกครั้งเป็นเรื่องจริงจังเสมอแม้ท่านจะคิดว่าบุคคลนั้นไม่ได้คิดจริงจังอะไรเกี่ยวกับการปลิดชีวิตตนเองหรือเป็นเพียงการเรียกร้องความสนใจ ทำตามขั้นตอนสามข้อต่อไปนี้เพื่อให้ความช่วยเหลือ—ถามไถ่ ดูแล บอกกล่าว

ขั้นตอนที่ 1: ถามไถ่ ถามบุคคลนั้นตรงๆ ว่าคิดฆ่าตัวตายหรือไม่ อาจถามว่า “กำลังคิดจะจบชีวิตตนเองหรือเปล่า” ถ้าตอบว่ากำลังคิดอยู่ ให้ถามต่อไปว่า วางแผนไว้อย่างไรหรือไม่ ท่านอาจถามว่า “มีแผนจะทำร้ายตนเองหรือเปล่า” ถ้าตอบว่ามีให้ช่วยพาเขาไปโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล หรือโทรศัพท์ไปยังหน่วยบริการฉุกเฉินหรือสายด่วนให้คำปรึกษาในพื้นที่ของท่านทันที (เข้าไปที่suicide.lds.org/crisis เพื่อหาหมายเลขสายด่วนทั่วโลก.) ถ้าตอบว่าไม่มีแผนให้ทำขั้นตอนที่ 2

ขั้นตอนที่ 2: ดูแล แสดงความเอาใจใส่ดูแลโดยสนใจฟังสิ่งที่เขาพูด ให้เวลาเขาอธิบายความรู้สึก แสดงการยอมรับความรู้สึกของเขาโดยพูดทำนองนี้ “ผมเห็นใจที่คุณต้องเจ็บปวดขนาดนี้” หรือ “ผมไม่เคยคิดว่าคุณต้องลำบากขนาดไหน” ท่านอาจเสนอการช่วยเหลือเขาให้สร้างแผนความปลอดภัยป้องกันการปลิดชีวิตตนเอง (ดู ”วิธีสร้างแผนความปลอดภัยป้องกันการฆ่าตัวตาย” ดัก โธมัส เลียโฮนา กันยายน 2016 หน้า 33) แผนความปลอดภัยอาจช่วยให้ผู้คนค้นพบความเข้มแข็ง สัมพันธภาพที่ดี และทักษะในการรับมือกับสุขภาพของตนเอง สิ่งนี้ยังช่วยลดโอกาสที่พวกเขาจะเข้าถึงเครื่องมือทำร้ายตนเอง เช่นอาวุธหรือยาด้วย ถ้าเขาห้ามท่านบอกความรู้สึกของเขาแก่ใครๆ ให้อธิบายว่าท่านจะเคารพความเป็นส่วนตัวของเขาให้มากที่สุดแต่เขาจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือมากกว่าสิ่งที่ท่านให้ได้อย่าสัญญาว่าจะรักษาความลับเรื่องการคิดจะปลิดชีวิตตนเองของเขาเป็นอันขาด

ขั้นตอนที่ 3: บอกกล่าว สนับสนุนให้บุคคลนั้นบอกใครบางคนที่จะช่วยเขาได้มากขึ้น ให้ข้อมูลติดต่อแหล่งช่วยที่เป็นประโยชน์ในพื้นที่ของท่าน แหล่งช่วยอาจได้แก่โรงพยาบาล คลินิกฉุกเฉิน หรือสายด่วนให้คำปรึกษาที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายถ้าเขาไม่คิดหาความช่วยเหลืออื่น ท่านต้องบอกใครสักคนแทนเขา ท่านอาจต้องการพูดทำนองนี้ “ฉันห่วงใยคุณ ต้องการให้คุณปลอดภัย ฉันจะบอกคนที่จะให้ความช่วยเหลือคุณได้ตามที่คุณต้องการ” จงเคารพความเป็นส่วนตัวของเขาโดยบอกเฉพาะผู้ที่คุณคิดว่าจะช่วยได้ เช่น ญาติสนิท อธิการของบุคคลนั้น อาจารย์ที่ปรึกษา แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านดูแลสุขภาพอื่นๆ หากท่านไม่แน่ใจว่าจะบอกใครให้พูดคุยกับอธิการหรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้คำปรึกษาที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายในพื้นที่ของท่าน พึงจดจำว่า ไม่มีใครคาดหวังให้ท่านช่วยเหลือบุคคลนั้นตามลำพัง

หมายเหตุ: ถ้าท่านนำการสนทนา ท่านอาจขอให้ผู้มีส่วนร่วมฝึกปฏิบัติตามขั้นตอนเหล่านี้ สมมติสถานการณ์ว่ามีใครสักคนเข้ามาหาพวกเขาและแสดงให้เห็นว่ากำลังคิดจะปลิดชีวิตตนเอง ขอให้พวกเขาฝึกปฏิบัติวิธีรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว

แหล่งช่วยเพิ่มเติม

วิธีรับมือหลังการปลิดชีวิตตนเอง

แม้เราจะพยายามอย่างสุดความสามารถ ก็ใช่ว่าจะป้องกันการปลิดชีวิตตนเองได้ทั้งหมด เป็นเรื่องปกติที่ผู้ถูกทิ้งไว้เบื้องหลังเนื่องจากการปลิดชีวิตตนเองจะมีความรู้สึกไม่ยอมรับ ตื่นตกใจ โทษตนเอง โกรธ และสับสน ประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดกล่าวว่า “การปลิดชีวิตคนๆ หนึ่งเป็นเรื่องเศร้าเพราะการกระทำครั้งเดียวนี้ทิ้งผู้รับเคราะห์ไว้มากมาย คนแรกคือคนที่เสียชีวิต แล้วก็อีกหลายสิบคน—ครอบครัวและมิตรสหาย—คนที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง บางคนเผชิญความเจ็บปวดและความสับสนอยู่ลึกๆ เป็นเวลาหลายปี” (Suicide: Some Things We Know, and Some We Do Not,” Ensign, ตค. 1987, 7). สำหรับบุคคลเหล่านี้ การเยียวยามาจากพระผู้ช่วยให้รอดผู้ “เสด็จลงต่ำกว่าสิ่งทั้งปวง” เพื่อพระองค์จะทรงรู้ “ตามเนื้อหนังว่าจะทรงช่วยผู้คนของพระองค์ตามความทุพพลภาพของพวกเขาได้อย่างไร” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:6; แอลมา 7:12). แหล่งช่วยระดับมืออาชีพและการให้คำปรึกษาอาจเป็นประโยชน์เช่นกัน

สภาสเตคและสภาวอร์ดอาจต้องการสนทนากันถึงวิธีที่พวกเขาจะช่วยเหลือบุคคลหรือครอบครัวหลังการปลิดชีวิตตนเองได้ คำถามในการสนทนาอาจเป็นคำถามต่อไปนี้

  • คำสอนและการชดใช้ของพระเยซูคริสต์จะนำการเยียวยามาสู่บุคคลหรือครอบครัวนี้ได้อย่างไร

  • บราเดอร์และซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจสังเกตว่าบุคคลหรือครอบครัวนี้ต้องการอะไร พวกเขารับใช้ในเรื่องใดไปแล้วบ้าง

  • มีความช่วยเหลือทางวิญญาณหรือทางอารมณ์ในด้านใดที่บุคคลหรือครอบครัวนี้ต้องการ ใครจะให้ความช่วยเหลือดังกล่าว

  • บุคคลหรือครอบครัวนี้ต้องการความช่วยเหลือทางโลก เช่นการรับส่งหรืออาหารหรือไม่

  • ผู้นำองค์การช่วยวอร์ดจะช่วยเด็กและเยาวชนผู้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักได้อย่างไร

ความโศกเศร้าหลังการปลิดชีวิตตนเองอาจมีอยู่ต่อไปเป็นเวลานาน ถ้ามีใครยังคงรู้สึกเจ็บปวดหรือโศกเศร้าอย่างหนักต่อไป ให้ปรึกษาคนอื่นๆ ที่ห่วงใยบุคคลนั้น พิจารณาร่วมกับการสวดอ้อนวอนว่าท่านจะช่วยได้ดีที่สุดอย่างไร ท่านอาจต้องการช่วยให้บุคคลนั้นได้รับพรฐานะปุโรหิตหรือติดต่อกับแหล่งช่วยในพื้นที่ของท่าน กลุ่มช่วยเหลือผู้โศกเศร้า แพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญการดูแลสุขภาพอื่นๆ อาจช่วยได้

หมายเหตุ: ถ้าท่านนำการสนทนา อย่าพูดถึง วิธี ที่คนคนหนึ่งปลิดชีวิตตนเอง การพูดถึงเรื่องดังกล่าวอาจเป็นการกระตุ้นโดยไม่ตั้งใจให้คนในกลุ่มบางคนลอกเลียนพฤติกรรมที่พูดถึงนั้น ถ้ามีใครบางคนเริ่มเล่ารายละเอียดการปลิดชีพตนเองขณะประชุมกันในกลุ่ม ให้เปลี่ยนเรื่องสนทนาด้วยวิธีที่ถนอมน้ำใจกัน

แหล่งช่วยเพิ่มเติม:

แหล่งข้อมูลอื่น

คำปรึกษาจากผู้นำศาสนจักร

ประสบการณ์ส่วนตัวจากสมาชิก

แหล่งช่วยอื่นๆ ของศาสนจักร

ดู แหล่งช่วยเพิ่มเติมได้ที่ suicide.lds.org