“พยายามรู้จักพวกเขา—เข้าใจสภาวการณ์ ความต้องการ และความเข้มแข็งของพวกเขา” ทักษะการพัฒนาครู: รักคนที่ท่านสอน (2023)
“พยายามรู้จักพวกเขา—เข้าใจสภาวการณ์ ความต้องการ และความเข้มแข็งของพวกเขา” ทักษะการพัฒนาครู: รักคนที่ท่านสอน
หลักธรรมของการสอนเหมือนพระคริสต์: รักคนที่ท่านสอน
พยายามรู้จักพวกเขา—เข้าใจสภาวการณ์ ความต้องการ และความเข้มแข็งของพวกเขา
ทักษะ
สังเกตและถามเกี่ยวกับความสนใจของนักเรียน
นิยาม
ครูสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับสภาวการณ์ของนักเรียนและระบุความต้องการด้านการเรียนรู้บางอย่างผ่านการสังเกตและถามเกี่ยวกับความสนใจของพวกเขา บ่อยครั้งจะง่ายที่สุดถ้ามีการสนทนาเหล่านี้ก่อนและหลังชั้นเรียน แต่สามารถสนทนาระหว่างชั้นเรียนได้ด้วย มีหลากหลายวิธีที่ครูทำเช่นนี้ได้ ครูอาจสังเกตเห็นหนังสือ โครงงาน สติกเกอร์ อุปกรณ์กีฬา หรือของอย่างอื่นที่นักเรียนนำมาชั้นเรียน หรือครูอาจจำเหตุการณ์ที่นักเรียนเข้าร่วมได้และถามพวกเขาเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้น คำถามที่เราถามจะช่วยให้เรารู้จักนักเรียนและความสนใจของพวกเขา และมีวลีแบบนี้อยู่ในคำถามด้วย:
-
“เล่าให้ฉันฟังหน่อยเกี่ยวกับ …”
-
“คุณชอบอะไรเกี่ยวกับ …”
-
“ฉันอยากรู้ว่า …”
เมื่อครูสุจริตใจและจริงใจในคำถาม พวกเขาจะได้เรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับสภาวการณ์และความต้องการด้านการเรียนรู้ของนักเรียน และนักเรียนจะรู้สึกว่าครูสนใจพวกเขาจริงๆ เมื่อนักเรียนรู้สึกว่าครูสนใจพวกเขาอย่างจริงใจ พวกเขามักจะมาชั้นเรียนพร้อมเรียนรู้และแบ่งปันข้อคิดและประสบการณ์กับครูและคนอื่นๆ ในชั้น
ตัวอย่าง
-
เฮอร์มานา มูนอซจำได้ว่าโรซามีแข่งฟุตบอลนัดใหญ่ที่ทำให้โรซากังวล เมื่อเจอโรซา เฮอร์มานา มูนอซหยุดและถามโรซาว่ารู้สึกอย่างไรกับการแข่งนัดนี้
-
ออโรวางกุญแจไว้บนโต๊ะ เมื่อท่านเดินผ่าน ท่านสังเกตเห็นธงชาติของประเทศหนึ่งบนพวงกุญแจของเขา ท่านอยากรู้จึงพูดว่า “ออโร เล่าเรื่องธงที่อยู่บนพวงกุญแจของคุณให้ฟังหน่อย” ออโรเล่าว่าพี่สาวของเขาไปเป็นผู้สอนศาสนาที่บราซิล เขากับครอบครัวไปรับเธอตอนเธอจบจากเป็นผู้สอนศาสนา ท่านสนทนาต่อโดยถามว่า “คุณชอบอะไรตอนเห็นพี่สาวคุณเป็นผู้สอนศาสนา?
คลิกที่นี่เพื่อดูวิดีโอของตัวอย่างนี้
รักคนที่ท่านสอน—สังเกตและถาม
ฝึก
การฝึก #1: ในแต่ละภาพต่อไปนี้ ท่านเห็นอะไรที่สามารถช่วยให้ท่านเรียนรู้เกี่ยวกับสภาวการณ์หรือความต้องการด้านการเรียนรู้ของนักเรียนเหล่านี้?
การฝึก #2: ท่านสามารถถามอะไรได้บ้างเพื่อเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับความสนใจของนักเรียน?
สนทนาหรือไตร่ตรอง
-
ท่านได้เรียนรู้อะไรขณะฝึกสังเกตและถามเกี่ยวกับความสนใจของนักเรียน?
-
การสังเกตและถามเกี่ยวกับความสนใจของนักเรียนจะแสดงให้เห็นได้อย่างไรว่าท่านรักนักเรียนของท่าน?
นำมาใช้
-
ในชั้นเรียนสัปดาห์นี้ ให้มองหาโอกาสถามนักเรียนเกี่ยวกับความสนใจ เหตุการณ์ หรือสภาวการณ์ของพวกเขา แสดงความสนใจอย่างจริงใจในสิ่งที่ท่านเรียนรู้จากพวกเขา มองหาว่าคำถามส่งผลต่อประสบการณ์การเรียนรู้ของนักเรียนอย่างไร ใช้เวลาห้านาทีหลังชั้นเรียนจดสิ่งที่ท่านเรียนรู้เกี่ยวกับนักเรียนของท่าน และวิธีที่จะช่วยท่านสร้างประสบการณ์การเรียนรู้อันนำไปสู่การเปลี่ยนใจเลื่อมใส การสานสัมพันธ์ และการเป็นส่วนหนึ่ง
ต้องการเรียนรู้มากขึ้นหรือไม่?
-
ลอรี นิวโบลด์, “เห็นแต่ละคน” (การถ่ายทอดการอบรมประจำปีของเซมินารีและสถาบันศาสนา, 13 มิ.ย. 2017), broadcasts.ChurchofJesusChrist.org
-
แชด เอช เว็บบ์, “เราไม่ได้มาไกลขนาดนี้เพื่อจะหยุดอยู่เพียงแค่นี้” (การถ่ายทอดการอบรมประจำปีของเซมินารีและสถาบันศาสนา, 9 มิ.ย. 2020), broadcasts.ChurchofJesusChrist.org
-
“Reaching the Individual (ช่วยเป็นรายบุคคล)” (วิดีโอ), ChurchofJesusChrist.org
ทักษะ
หยุดคิด ใคร่ครวญ และตอบคำถามที่เราถามตัวเราเองซึ่งเชื้อเชิญวิญญาณแห่งการเล็งเห็น ความรัก และความเห็นใจเหมือนพระคริสต์ในปฏิสัมพันธ์ของเรา
นิยาม
นักเรียนทุกคนมาชั้นเรียนพร้อมประสบการณ์ชีวิตและความสัมพันธ์ที่แตกต่างกันซึ่งหล่อหลอมวิธีที่พวกเขาคิดและรู้สึกเกี่ยวกับความจริงพระกิตติคุณ ทัศนะเหล่านี้สร้างจุดเริ่มต้น ที่มักเรียกว่าสมมติฐาน ให้กับความคิดของแต่ละคน การมองสมมติฐานของแต่ละคนให้ออกจะช่วยให้เราสอนความจริงได้ด้วยความเห็นใจและความรักเฉกเช่นพระเยซูคริสต์ สมมติฐานที่แตกต่างกันไม่ได้เปลี่ยนหลักคำสอน แต่ช่วยให้เรามองเห็นมุมมองของอีกคนในลักษณะที่ช่วยให้เราเข้าใจความต้องการของผู้เรียนแต่ละคนมากขึ้น และทำให้ผู้เรียนมีศรัทธาในพระเยซูคริสต์เพิ่มขึ้น
ระหว่างเตรียมบทเรียน ครูสามารถพิจารณาความจริงนิรันดร์เมื่อพวกเขาหยุดคิด ใคร่ครวญ และตอบคำถามต่อไปนี้:
-
ประสบการณ์และความสัมพันธ์ของนักเรียนน่าจะหล่อหลอมวิธีที่พวกเขาคิด รู้สึก และดำเนินชีวิตตามความจริงเหล่านี้อย่างไร?
-
ขณะที่เราศึกษาความจริงนี้ มีนักเรียนคนใดรู้สึกถูกกีดกัน ทุกข์ใจ หรือน้อยใจเพราะสภาวการณ์ของพวกเขาหรือไม่?
ขณะมุ่งเน้นไปที่ความคิดเห็นหรือคำถามของนักเรียนในชั้นหรือในการสนทนา ครูสามารถถามตนเองดังนี้:
-
“นักเรียนคนนี้น่าจะมีประสบการณ์และความสัมพันธ์อะไรที่จะทำให้เขาหรือเธอคิดต่างจากฉัน?”
-
“ฉันต้องรู้อะไรอีกบ้างจึงจะเข้าใจถ่องแท้ว่าเขาหรือเธอได้แนวคิดนี้มาจากไหน?”
คำถามเหล่านี้สามารถอัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์ เชื้อเชิญวิญญาณแห่งการเล็งเห็น ความรัก และความเห็นใจเหมือนพระคริสต์ในปฏิสัมพันธ์ของเรา สามารถช่วยเราหลีกเลี่ยงการแสดงปฏิกิริยาเมินเฉย ตัดสิน หรือต่อต้านนักเรียน ทั้งยังสามารถช่วยเราสอนความจริงในลักษณะที่เป็นพรแก่ชั้นเรียนและช่วยผู้อื่นสร้างศรัทธาในพระเยซูคริสต์ได้ด้วย
ตัวอย่างและการฝึกด้านล่างเป็นตัวอย่างทั่วไป การอบรมจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นถ้าเชื่อมโยงตัวอย่างและโอกาสในการฝึกกับบทเรียนถัดไปที่จะครอบคลุมในหลักสูตร
ตัวอย่าง (ระหว่างเตรียมบทเรียน)
ขณะเตรียมบทเรียนเกี่ยวกับการทำตามการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ฉันใคร่ครวญคำถามต่อไปนี้: “ประสบการณ์และความสัมพันธ์ของนักเรียนน่าจะหล่อหลอมวิธีที่พวกเขาคิด รู้สึก และดำเนินชีวิตตามความจริงเหล่านี้อย่างไร?” และ “ขณะที่เราศึกษาความจริงนี้ มีนักเรียนคนไหนลำบากหรือรู้สึกถูกกีดกัน ทุกข์ใจ หรือน้อยใจเพราะสภาวการณ์ของพวกเขาไม่สอดคล้องกับหลักคำสอนนี้ไหม?”
จากนั้นฉันตอบ: “ฉันอาจมีนักเรียนที่รู้สึกว่าพวกเขาไม่เคยได้รับการกระตุ้นเตือนมาก่อน หรือไม่รู้สึกว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ตรัสกับพวกเขา ฉันอาจมีนักเรียนบางคนที่รู้สึกว่าตนเองไม่มีค่าควร อาจมีบางครั้งที่นักเรียนของฉันไม่แน่ใจว่าการกระตุ้นเตือนมาจากพระวิญญาณบริสุทธิ์หรือเปล่า อาจมีนักเรียนเบื่อฟังเรื่องราวจากคนอื่นเกี่ยวกับการทำตามพระวิญญาณเพราะมักฟังเหมือนกับปาฏิหาริย์เกินไป และเรื่องแบบนั้นไม่เคยเกิดกับพวกเขาเลย”
ฝึก (ระหว่างเตรียมบทเรียน)
ขณะเตรียมบทเรียนเกี่ยวกับ 1 นีไฟ 3:7 “ข้าพเจ้าจะไปและทำสิ่งที่พระเจ้าทรงบัญชา”:
-
ใคร่ครวญและตอบ: “ประสบการณ์และความสัมพันธ์ของนักเรียนน่าจะหล่อหลอมวิธีที่พวกเขาคิด รู้สึก และดำเนินชีวิตตามความจริงเหล่านี้อย่างไร?” และ “ขณะที่เราศึกษาความจริงนี้ มีนักเรียนคนไหนลำบากหรือรู้สึกถูกกีดกัน ทุกข์ใจ หรือน้อยใจเพราะสภาวการณ์ของพวกเขาไม่สอดคล้องกับหลักคำสอนนี้ไหม?”
ขณะเตรียมบทเรียนเรื่องเพศซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของอัตลักษณ์นิรันดร์และจุดประสงค์ของเราในบทเรียนเรื่อง “เพศและอัตลักษณ์นิรันดร์”:
-
ใคร่ครวญและตอบ: “ประสบการณ์และความสัมพันธ์ของนักเรียนน่าจะหล่อหลอมวิธีที่พวกเขาคิด รู้สึก และดำเนินชีวิตตามความจริงเหล่านี้อย่างไร?” และ “ขณะที่เราศึกษาความจริงนี้ มีนักเรียนคนไหนลำบากหรือรู้สึกถูกกีดกัน ทุกข์ใจ หรือน้อยใจเพราะสภาวการณ์ของพวกเขาไม่สอดคล้องกับหลักคำสอนนี้ไหม?”
ตัวอย่าง (ระหว่างเรียน)
-
เมื่อสนทนาหลักคำสอนเรื่องวันสะบาโต นักเรียนคนหนึ่งแสดงความคิดเห็นว่า “ครอบครัวของฉันชอบดูแข่งกีฬาในวันอาทิตย์” เมื่อท่านมุ่งเน้นไปที่ความคิดเห็นของนักเรียน ท่านคิดว่า “นักเรียนคนนี้น่าจะมีประสบการณ์และความสัมพันธ์อะไรที่ทำให้เธอคิดต่างจากฉัน?” หรือ “ฉันต้องรู้อะไรอีกบ้างจึงจะเข้าใจถ่องแท้ว่าเธอได้แนวคิดนี้มาจากไหน?”
คลิกที่นี่เพื่อดูวิดีโอของตัวอย่างนี้
รักคนที่ท่านสอน—หยุดสักครู่เพื่อไตร่ตรองถึงสภาวการณ์ของนักเรียน
ฝึก (ระหว่างชั้นเรียน)
ขณะสนทนาเรื่องงานเผยแผ่ศาสนา นักเรียนคนหนึ่งถามว่า “ทำไมการรับใช้งานเผยแผ่ของเยาวชนชายทุกคนถึงสำคัญขนาดนั้น?”
-
คิดในใจว่า “นักเรียนคนนี้น่าจะมีประสบการณ์และความสัมพันธ์อะไรที่ทำให้เขาคิดต่างจากฉัน?” และ “ฉันต้องรู้อะไรอีกบ้างจึงจะเข้าใจถ่องแท้ว่าเขาได้แนวคิดนี้มาจากไหน?”
ในการสนทนาเรื่องศาสดาพยากรณ์และการเปิดเผย นักเรียนคนหนึ่งถามว่า “เมื่อไรศาสนจักรจะมีนโยบายทันโลกเหมือนคนอื่น?”
-
คิดในใจว่า “นักเรียนคนนี้น่าจะมีประสบการณ์และความสัมพันธ์อะไรที่ทำให้เธอคิดต่างจากฉัน?” และ “ฉันต้องรู้อะไรอีกบ้างจึงจะเข้าใจถ่องแท้ว่าเธอได้แนวคิดนี้มาจากไหน?”
สนทนาหรือไตร่ตรอง
-
ท่านกำลังเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการสอนความจริงด้วยความเเห็นใจขณะฝึกมองสมมติฐานของนักเรียนให้ออกก่อนและระหว่างชั้นเรียน?
-
การฝึกนี้จะช่วยให้ท่านสอนเหมือนพระเยซูคริสต์มากขึ้นได้อย่างไร?
นำมาใช้
เลือกฝึกข้อใดข้อหนึ่งข้างต้นเป็นเวลาสองสัปดาห์ติดต่อกัน วางแผนว่าท่านจะฝึกทักษะเหล่านี้ต่อไปอย่างไร ตัวอย่างเช่น:
-
กับความจริงแต่ละข้อที่ท่านเตรียม ท่านสามารถเลือกใช้เวลาห้านาทีหยุดคิด ใคร่ครวญ และตอบคำถามที่ช่วยให้ท่านมองสมมติฐานของนักเรียนออก
-
ก่อนชั้นเรียน ให้ระบุชื่อนักเรียนคนหนึ่งและนึกถึงความคิดเห็นหรือคำถามที่เขาหรือเธออาจมีกับความจริงแต่ละข้อ จากนั้นคิดในใจว่า “นักเรียนคนนี้น่าจะมีประสบการณ์และความสัมพันธ์อะไรที่ทำให้เขาหรือเธอคิดต่างจากฉัน?” และ “ฉันต้องรู้อะไรอีกบ้างจึงจะเข้าใจถ่องแท้ว่าเขาหรือเธอได้แนวคิดนี้มาจากไหน?” นี่จะเตรียมท่านให้พร้อมทำสิ่งนี้ระหว่างชั้นเรียนขณะท่านมุ่งเน้นไปที่ความคิดเห็นและคำถามของนักเรียน
ต้องการเรียนรู้มากขึ้นหรือไม่?
-
แชด เอช เว็บบ์, “ความเห็นใจ” (การถ่ายทอดการอบรมประจำปีของเซมินารีและสถาบันศาสนา, 26 ม.ค. 2021), broadcasts.ChurchofJesusChrist.org
-
จีน บี. บิงแฮม, “สอนความจริงในภาษาแห่งความรัก” (การถ่ายทอดการอบรมประจำปีของเซมินารีและสถาบันศาสนา, 19 ม.ค. 2021), broadcasts.ChurchofJesusChrist.org
ทักษะ
พยายามให้ความกระจ่างและเข้าใจเจตนาจริงๆ ของคำถาม ความรู้สึก และความเชื่อของนักเรียน
นิยาม
พยายามให้ความกระจ่างและเข้าใจเจตนาจริงๆ ของคำถาม ความรู้สึกและความเชื่อของนักเรียนที่เกี่ยวข้องกับการรู้มากขึ้นเกี่ยวกับประสบการณ์ สถานการณ์ หรือความรู้สึกที่กระตุ้นให้เกิดคำถาม หลังจากนักเรียนแบ่งปันคำถาม ความรู้สึกหรือความเชื่อ ท่านอาจขอบคุณเขาหรือเธอสำหรับสิ่งที่แบ่งปันแล้วถามว่านักเรียนเปิดใจตอบคำถามติดตามผลหรือไม่ หากนักเรียนตอบว่าไม่ รับรองกับพวกเขาว่าไม่เป็นไร และตอบคำถามหรือข้อความเดิม หากนักเรียนตอบว่าใช่ ให้ถามคำถามติดตามผลที่เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันเพิ่มเติมถึงสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดคำถามหรือข้อความนั้น การทำเช่นนี้จะช่วยให้ท่านและคนอื่นๆ ในชั้นเรียนเข้าใจกันดีขึ้นและตอบสนองด้วยความเห็นอกเห็นใจและความรัก
ตัวอย่างและการฝึกด้านล่างเป็นตัวอย่างทั่วไป การอบรมจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นถ้าเชื่อมโยงตัวอย่างและโอกาสในการฝึกกับบทเรียนถัดไปที่จะครอบคลุมในหลักสูตร
ตัวอย่าง
-
ซิสเตอร์การ์นิเยร์กำลังสอนเรื่องฐานะปุโรหิตในพระคัมภีร์เมื่อนักเรียนคนหนึ่งถามว่า “เหตุใดคนผิวดำจึงไม่ได้รับอนุญาตให้มีฐานะปุโรหิตจนถึงปี 1978?”
-
ซิสเตอร์การ์นิเยร์: ขอบคุณที่ถามค่ะ นี่เป็นคำถามที่พวกเราหลายคนเคยคิด ฉันขอถามคำถามติดตามผลสักสองสามข้อได้ไหม?
-
นักเรียน: ได้ค่ะ!
-
ซิสเตอร์การ์นิเยร์: อะไรทำให้คุณตั้งคำถามนี้?
-
-
บราเดอร์โมเนต์กำลังสอนเรื่องฐานะปุโรหิตในพระคัมภีร์เมื่อนักเรียนคนหนึ่งถามว่า “เหตุใดคนผิวดำจึงไม่ได้รับอนุญาตให้มีฐานะปุโรหิตจนถึงปี 1978?”
-
บราเดอร์โมเนต์: ขอบคุณที่ถามครับ นี่เป็นคำถามที่พวกเราหลายคนเคยคิด ผมขอถามคำถามติดตามผลสักสองสามข้อได้ไหม?
-
นักเรียน: ไม่ได้ค่ะ
-
บราเดอร์โมเนต์: ไม่เป็นไรครับ ผมดีใจที่คุณถาม เรามาพูดถึงคำถามกันดีกว่า
-
ตัวอย่างอื่นๆ ของคำถามติดตามผลที่ท่านอาจถาม:
-
ฉันซาบซึ้งในความตั้งใจของคุณที่แบ่งปันเรื่องนั้นกับเรา มีประสบการณ์หรือสถานการณ์ที่กระตุ้นให้เกิด [คำถาม ความคิด ความเชื่อ] นั้นหรือไม่?
-
ขอบคุณที่ถาม คุณช่วยเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมว่าได้คำถามนี้มาจากไหน?
-
ขอบคุณที่ถาม คุณช่วยให้ฉันเข้าใจได้ไหมว่าอะไรนำคุณไปสู่คำถามนั้นหรือทำให้คุณอยากรู้?
คลิกที่นี่เพื่อดูวิดีโอของตัวอย่างนี้
รักคนที่ท่านสอน - พยายามให้ความกระจ่างและเข้าใจ
ฝึก
พยายามทำความเข้าใจและให้ความกระจ่างในสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดคำถามความรู้สึกหรือความเชื่อในสถานการณ์ต่อไปนี้:
-
ในระหว่างบทเรียนเกี่ยวกับการแต่งงานระหว่างชายกับหญิงที่ได้รับแต่งตั้งจากพระผู้เป็นเจ้า นักเรียนคนหนึ่งถามว่า “ทำไมเราจึงไม่ชอบคนที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน LGBTQ? ทำไมพวกเขาจึงไม่ควรแต่งงานกันถ้าพวกเขารักกัน?”
-
ในระหว่างการสนทนาเรื่องงานเผยแผ่ศาสนา นักเรียนคนหนึ่งแบ่งปันว่า “ผมคิดว่าเยาวชนชายไม่มีทางเลือกว่าพวกเขาจะไปเป็นผู้สอนศาสนาหรือไม่ แต่เยาวชนหญิงมี”
สนทนาหรือไตร่ตรอง
-
ท่านคิดว่าเหตุใดเราจึงควรใช้เวลาทำความเข้าใจสิ่งที่แบ่งปันอย่างชัดเจน? ท่านคิดว่าความพยายามของเราในการเข้าใจเจตนาที่แท้จริงของนักเรียนอย่างชัดเจนอาจส่งผลต่อประสบการณ์ในห้องเรียนอย่างไร? การที่เราเข้าใจเจตนาที่แท้จริงของนักเรียนจะช่วยให้เราเชื่อมโยงเขากับพระคริสต์ได้อย่างไร?
นำมาใช้
-
ในชั้นเรียน ตั้งใจฟังสิ่งที่นักเรียนกำลังแบ่งปันและพิจารณาอย่างรอบคอบว่ามีตรงไหนที่ท่านต้องการความชัดเจนมากขึ้น หลังจากขอบคุณนักเรียนที่ถามคำถามแล้ว ให้ถามคำถามติดตามผลที่จะช่วยให้เขาชี้แจงได้
ต้องการเรียนรู้มากขึ้นหรือไม่?
-
“การถามคำถามติดตามผล” (วิดีโอ), ChurchofJesusChrist.org
-
Randall L. Ridd, “Living with Real Intent,” Ensign, Oct. 2015, 12–15