“สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยซึ่งให้เกียรติทุกคนรวมทั้งเห็นคุณค่าการอุทิศตนของพวกเขา” ทักษะการพัฒนาครู: รักคนที่ท่านสอน (2023)
“สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยซึ่งให้เกียรติทุกคนรวมทั้งเห็นคุณค่าการอุทิศตนของพวกเขา” ทักษะการพัฒนาครู: รักคนที่ท่านสอน
หลักธรรมของการสอนเหมือนพระคริสต์: รักคนที่ท่านสอน
สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยซึ่งให้เกียรติทุกคนรวมทั้งเห็นคุณค่าการอุทิศตนของพวกเขา
ทักษะ
สื่อสารว่าท่านเห็นคุณค่าของนักเรียนก่อนที่พวกเขาจะแสดงความคิดเห็นหรือเมื่อพวกเขายกมือเพื่อแสดงความคิดเห็น
นิยาม
เราสามารถแสดงความรักต่อผู้เรียนโดยสื่อสารกับพวกเขาว่าเราเห็นคุณค่าการสนับสนุนช่วยเหลือของพวกเขา บางครั้งเมื่อนักเรียนแสดงความคิดเห็น อาจดูเหมือนเราไม่สนใจหรือมัวแต่คิดว่าจะพูดอะไรต่อ ง่ายมากที่เราจะมองไปทางอื่นหรือเริ่มสำรวจพระคัมภีร์ขณะคิดว่าจะตอบอย่างไร สำคัญที่ต้องจำไว้ว่านักเรียนอยากให้เราฟัง ยอมรับ และมองเห็นพวกเขา เราสามารถช่วยให้นักเรียนรู้สึกเช่นนี้ได้โดยเพ่งความสนใจทั้งหมดไปที่พวกเขาขณะพวกเขาแสดงความคิดเห็น วิธีหนึ่งที่จะทำได้สำเร็จคือหันหน้ามาหาพวกเขา สบตา และเพ่งความสนใจมาที่ความคิดเห็นทั้งหมดของพวกเขา อีกวิธีหนึ่งคือพูดออกมาว่าท่านเห็นคุณค่าการสนับสนุนช่วยเหลือของพวกเขาก่อนพวกเขาแสดงความคิดเห็น เมื่อนักเรียนยกมือ ท่านอาจพูดทำนองนี้ “จอร์แดน เราอยากฟังคุณ ช่วยบอกเราทีว่าคุณคิดอะไรอยู่” หรือ “ธาโบ เราตื่นเต้นที่จะได้เรียนรู้จากคุณ คุณอยากแบ่งปันอะไรกับเราบ้าง?” การกระทำง่ายๆ เหล่านี้สามารถสื่อให้ผู้เรียนรู้ว่าการสนับสนุนช่วยเหลือของพวกเขามีคุณค่าและจำเป็นต่อประสบการณ์การเรียนรู้
ตัวอย่าง
สังเกตภาษากายของครูคนนี้ขณะที่เขาฟังความคิดเห็นของนักเรียน เขาหันหน้ามามองนักเรียนคนนั้น เขาไม่ได้เพ่งความสนใจไปที่นักเรียนคนอื่น พระคัมภีร์ หรือสิ่งอื่น มีอะไรอีกบ้างไหมที่ท่านเรียนรู้จากภาพนี้เกี่ยวกับการสื่อสารกับนักเรียนว่าพวกเขามีคุณค่า?
คลิกที่นี่เพื่อดูวีดิทัศน์ของตัวอย่างนี้
ฝึก
-
สัปดาห์นี้ให้ฝึกทักษะนี้โดยมุ่งเน้นการสนทนาของท่านกับคนอื่นๆ และสื่อสารว่าท่านเห็นคุณค่าการสนับสนุนช่วยเหลือของพวกเขา หันหน้ามาสบตาคนนั้นขณะพูดคุยกับเขา ขจัดสิ่งรบกวนและเพ่งความสนใจทั้งหมดไปที่คนนั้น
สนทนาหรือไตร่ตรอง
-
ท่านได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับความสำคัญของรูปแบบการสื่อสารโดยใช้คำพูดและไม่ใช้คำพูดเพื่อให้คนอื่นรู้ว่าท่านเห็นคุณค่าของพวกเขา?
-
มีวิธีใดอีกบ้างที่ท่านสามารถแสดงให้นักเรียนรู้ว่าท่านเห็นคุณค่าความคิดเห็นของพวกเขา?
-
ใช้เวลาสักครู่นึกถึงช่วงเวลาที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นตัวอย่างของทักษะนี้
นำมาใช้
-
นำทักษะนี้มาใช้ระหว่างบทเรียนครั้งต่อไปโดยหันหน้ามามองนักเรียน วางพระคัมภีร์ และสบตากับนักเรียนขณะพวกเขาแสดงความคิดเห็น
ต้องการเรียนรู้มากขึ้นหรือไม่?
-
Topics and Questions, “Communication,” topics.ChurchofJesusChrist.org
-
Mark Ogletree, “Speak, Listen, & Love,” Ensign, Feb. 2014, 14–17
ทักษะ
สื่อสารว่านักเรียนไม่เพียงได้รับการต้อนรับเท่านั้นแต่ยังเป็นที่ต้องการอีกด้วย
นิยาม
นักเรียนต้องการรู้สึกเป็นที่ต้องการ การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด กล่าวไว้ว่า: “เป็นโอกาสที่ดีมากที่เกือบทุกคนที่ท่านได้รับเรียกให้สอนกำลังต่อสู้ในบางวิธีเพื่อจะรู้สึกว่าได้รับเกียรติและมีคนเห็นคุณค่า ด้วยวิธีที่ท่านรักและให้เกียรติพวกเขา ท่านสามารถสื่อสารได้ว่าพวกเขาไม่เพียงได้รับการต้อนรับแต่ เป็นที่ต้องการ ด้วย” มีหลายวิธีที่ครูสามารถช่วยให้นักเรียนรู้สึกว่าเป็นที่ต้องการในชั้นเรียน วิธีหนึ่งคือเพียงแสดงความรู้สึกออกมาเป็นคําพูด ท่านสามารถทําเช่นนี้ได้ตลอดเวลาโดยการสื่อสารอย่างจริงใจกับนักเรียนเป็นรายบุคคล หรือทั้งชั้น ว่าการมาหรือการมีส่วนร่วมของนักเรียนทำให้ประสบการณ์ชั้นเรียนดีขึ้นอย่างไร
ตัวอย่าง
-
เบธเพิ่งบอกชั้นเรียนว่าเหตุใดเธอจึงชอบอ่านพระคัมภีร์ บราเดอร์ซิงห์กล่าวว่า “พี่น้องทั้งหลาย ผมสํานึกคุณที่เบธเป็นส่วนหนึ่งของชั้นเรียนของเราที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เราทุกคนรักพระคัมภีร์”
-
ซิสเตอร์วิยาร์ทักทายมาเรียโดยกล่าวว่า “ฉันดีใจมากที่คุณมาที่นี่ รอยยิ้มของคุณทําให้วันของฉันสดใสเสมอ”
คลิกที่นี่เพื่อดูวีดิทัศน์ของตัวอย่างนี้
ฝึก
ท่านจะแสดงออกอย่างไรว่านักเรียนเป็นที่ต้องการเมื่อสังเกตสถานการณ์ต่อไปนี้?
-
มาร์โกอาสาสวดอ้อนวอนเปิด
-
ซอนดรามีส่วนร่วมไม่มาก แต่เธอมาเรียนตรงเวลาเสมอ
-
อมราชวนเพื่อนคนหนึ่งมาชั้นเรียน
สนทนาหรือไตร่ตรอง
-
ท่านมีประสบการณ์อะไรบ้างในการฝึกทักษะนี้ และท่านเรียนรู้อะไร?
-
หลังจากฝึกทักษะนี้แล้ว ท่านรู้สึกว่าความรู้สึกเป็นที่ต้อนรับกับความรู้สึกเป็นที่ต้องการแตกต่างกันอย่างไร?
นำมาใช้
-
ระบุนักเรียนอย่างน้อยหนึ่งคนในสัปดาห์นี้ที่ท่านจะแสดงออกว่าเขาเป็นที่ต้องการ ทําเช่นนี้เป็นประจําทุกสัปดาห์หรือบ่อยกว่านั้นหากอยู่ในวิสัยที่ทําได้
ต้องการเรียนรู้มากขึ้นหรือไม่?
-
จีน บี. บิงแฮม, “ฉันจะนำความสว่างแห่งพระกิตติคุณมาสู่บ้านของฉัน,” เลียโฮนา,พ.ย. 2016, 6–9
-
เควนทิน แอล. คุก, “ใจผูกพันกันในความชอบธรรมและความเป็นหนึ่งเดียว,” เลียโฮนา, พ.ย. 2020, 18–21