แรงผลักดัน ให้ทำดี
เราทุกคนสามารถเป็นแรงผลักดันให้ทำดีในโลก ไม่ว่าขอบเขตอิทธิพลของเราจะกว้างหรือแคบเพียงใดก็ตาม
พายุหิมะกลางเดือนเมษายนเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่ง สิ่งผิดปกติไม่น่าจะเกิดขึ้นในยูทาห์ แต่ก็เกิด ดิฉันคิดว่าทิวลิปที่ถูกหิมะปกคลุมบนเทมเปิลสแควร์ต้องถูกบันทึกไว้ ดิฉันจึงสร้างบัญชีอินสตาแกรม—บัญชีที่ไม่มีภาพถ่ายแมวของดิฉัน (แม้มันจะน่ารักมากก็ตาม) แต่มีภาพพระวิหารแทน
ปีของการโพสต์ทุกวันเริ่มขึ้นด้วยเหตุนี้ (และอีกสองสามปีของการไม่ได้โพสต์ทุกวัน) การถ่ายภาพพระวิหารและการโพสต์ภาพพร้อมคำพูดอ้างอิงเกี่ยวกับพระวิหารจากผู้นำศาสนจักรกลายเป็นวิธีพัฒนาพรสวรรค์ที่สนุกและทำให้ดิฉันเห็นคุณค่าของพระวิหารมากขึ้น
แต่ยิ่งดิฉันเข้าถึงผู้คนมากเท่าใด ดิฉันยิ่งรับรู้มากขึ้นเท่านั้นว่าดิฉันมีโอกาสเป็นอิทธิพลดี ดิฉันไม่ใช่ “ผู้มีอิทธิพล” ด้านสื่อสังคม แต่ดิฉันชอบคิดว่าความพยายามของดิฉันเสริมสร้างความแตกต่างให้บางคนในบางที่
แม้ชีวิตเราจะเร่งรีบและมีงานยุ่ง แต่เราทุกคนสามารถใช้พรสวรรค์เป็นพรแก่ผู้อื่นและเป็นแรงผลักดันให้ทำดี อย่างไรก็ตาม “เราเชื่อ … ในการทำดี” (หลักแห่งความเชื่อ 1:13)
ดิฉันติดตามคนหนุ่มสาวบางคนที่พยายามเป็นแรงผลักดันให้ทำดี นี่เป็นสิ่งที่พวกเขาทำเพื่อสร้างความแตกต่าง
ยื่นมือช่วยด้วยความรัก
เกรซีลี โมเรอิรา อายุ 25 ปี ได้รับการปลูกฝังให้ทำดี เมื่อคนในเมืองโฟร์ตาเลซา รัฐเซอารา ประเทศบราซิลบ้านเกิดของเธอเห็นคนเดือดร้อน พวกเขาจะช่วย “นี่เป็นเรื่องของวัฒนธรรม” เธออธิบาย และสำหรับสมาชิกของศาสนจักร “เราช่วยเพราะเราคิดว่าต้องรักผู้อื่นเหมือนรักตัวเราเองตามที่พระเยซูคริสต์ตรัส เราจึงช่วย เราช่วยเพราะเราอยากช่วย”
เนื่องจากแบบอย่างเงียบๆ ของการเฝ้าสังเกตและออกไปช่วยคนตกทุกข์ได้ยากโดยไม่กลัวจะเกิดความยุ่งยากขึ้น—เหมือนตอนที่เธอเห็นชายสูงอายุคนหนึ่งกำลังแบกถุงหนักๆ และข้ามถนนไปช่วยเขาแบกกลับบ้าน—เกรซีลีจึงเป็นแรงผลักดันให้ทำดี เธอรู้เช่นกันว่าเราสามารถทำดีได้มากที่สุดเมื่อผู้คนรู้ว่าเรากำลังรับใช้ด้วยความรักไม่ใช่ตามหน้าที่ “มีบางอย่างที่ดิฉันเรียนรู้จากคุณแม่ นั่นคือ จงทำให้ผู้อื่นอย่างที่ลูกต้องการให้พวกเขาทำให้ลูก นั่นคือแผนของพระบิดาบนสวรรค์—พระองค์ทรงต้องการให้เราช่วยเหลือผู้คน”
เราไม่สามารถปล่อยให้เรื่องอย่างเช่นเทคโนโลยี (อาทิ สมาร์ทโฟนของเรา) เข้ามาขวางการทำดีนอกตัวเรา เกรซีลีกล่าว “สิ่งที่พึงพิจารณาคือ—เราต้องรู้จักกัน เราต้องเข้าใจความต้องการของผู้อื่นเพราะชีวิตเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับแอปพลิเคชันต่างๆ ชีวิตเราขึ้นอยู่กับคน ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราต้องทำเพื่อจะเป็นคนดีขึ้นและทำตามพระเยซูคริสต์” ส่วนสำคัญของการทำตามพระเยซูหมายถึงการทำดี
จงกล้าหาญ
นอร์มันดี ลัสเชอร์ อายุ 29 ปี นักศึกษาปริญญาโทสาขาวิจิตรศิลป์ในรัฐ แมริแลนด์ สหรัฐอเมริกา ใช้งานศิลป์ของเธอให้เป็นประโยชน์ “สองปีที่ผ่านมาดิฉันให้ความสนใจกับพระบัญญัติข้อสำคัญที่สุด นั่นคือ รักพระผู้เป็นเจ้าและรักเพื่อนบ้านของเรา” เธออธิบาย “ในงานศิลป์ของดิฉัน ดิฉันเน้นการเล่าเรื่อง เราสามารถเรียนรู้วิธีเห็นใจและรักเพื่อนบ้านมากขึ้นโดยฟังพวกเขาและเรื่องราวของพวกเขา”
นอร์มันดีประกาศตนเป็น “คนช่างคิด” ผู้นำคนมาร่วมกันทำดีในหลายๆ ด้าน โครงการหนึ่งของโรงเรียนนำเธอให้สวมบทเป็นผู้หาทุนให้สถานสงเคราะห์สตรีในท้องที่ โดยจัดแสดงผลงานภาพวาดที่เธอเล่าเรื่องราวของโยบผ่านมุมมองของสตรี “สตรีคนอื่นๆ มาแบ่งปันเรื่องราวและประสบการณ์ของพวกเธอ” เธออธิบาย “และดิฉันคิดว่าสิ่งนั้นมีพลังมาก”
อีกความคิดหนึ่งที่นอร์มันดีทำคือนิตยสารร่วม (นิตยสารออนไลน์ที่เธอทำเอง) เธอพยายามชวนศิลปินคนอื่นๆ มาช่วยกันบอกเล่าเรื่องราวพระคัมภีร์มอรมอนผ่านเลนส์ของศิลปะร่วมสมัย
โดยส่วนตัว นอร์มันดีพบว่าเธอสามารถเป็นอิทธิพลดีได้โดยเปิดใจรับผู้อื่น “ดิฉันพยายามพัฒนามาตลอดให้กล้ายอมรับจุดอ่อนของตนเองและแบ่งปันประสบการณ์ตลอดจนมุมมองของดิฉัน ศิลปะเกี่ยวข้องกับการเป็นคนซื่อสัตย์และการแบ่งปันความคิด ดังนั้นในแง่ของการเป็นแรงผลักดันให้ทำดี ดิฉันจึงพยายามรับความคิดเหล่านั้นของการเป็นคนซื่อสัตย์และกล้าหาญ การพยายามช่วยเหลือผู้อื่นและสื่อสารผ่านทัศนศิลป์”
เธอกระตุ้นให้หนุ่มสาวคนอื่นๆ กล้าทำดีเช่นกัน “อย่ากลัวว่าจะทำได้ไม่ดีพอ” เธอกล่าว “ดิฉันคิดว่าหลายคนท่วมท้นไปด้วยความคิดที่ว่า ‘ฉันทำอะไรไม่ได้หรอก’ และการมีความคิดผิดๆ เช่นนั้นจะขัดขวางไม่ให้คนมากมายได้ทำดี อย่ากลัว จงกล้าก้าวไปข้างหน้าและลงมือทำ”
หาอุดมการณ์ของคุณ
แมทท์ เจมส์ อายุ 26 ปี จากรัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา รู้สึกว่าพันธกิจส่วนหนึ่งของเขาในชีวิตนี้คือช่วยคนที่ไม่ได้เกิดมามีข้อได้เปรียบเหมือนเขา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขาได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ที่ชอบช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ และส่วนหนึ่งเพราะสำนึกรับผิดชอบที่คำร้องในเพลง “เพราะฉันได้รับมากมาย” อธิบายได้ดีที่สุด (เพลงสวด บทเพลงที่ 105) หลังจากแมทท์รับใช้งานเผยแผ่เต็มเวลาในไอร์แลนด์ เขารู้สึกเห็นใจผู้ลี้ภัยชาวแอฟริกาที่เขาสอนและให้บัพติศมาที่นั่น ด้วยเหตุนี้เมื่อมีโอกาสไปยูกันดา เขาจึงไป
ถึงแม้จะเคยเดินทางไปเอธิโอเปีย เปรู และอินเดียแล้ว แต่ “ยูกันดาเปลี่ยนชีวิตผม” แมทท์กล่าว “ผมรู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงนำผมให้ไปภูมิภาคนั้นของโลกเพราะพระประสงค์ที่มีพระปรีชาญาณมาก” ส่วนหนึ่งของพระประสงค์นั้นคือเพื่อเป็นเพื่อนและให้บัพติศมาสตรีคนหนึ่งชื่อแครอลีน และอีกส่วนหนึ่งคือให้ใจเขาซาบซึ้งกับเด็กกำพร้าที่เขาทำงานด้วย เมื่อถึงเวลาจาก แมทท์ไม่อยากขาดการติดต่อกับคนเหล่านี้ที่เขาเป็นห่วงมากขึ้นเรื่อยๆ เขาจึงพูดกับพ่อแม่และพวกท่านเสนอว่าจะช่วยเขากับแครอลีนเรื่องทุนก่อสร้างสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าในเมืองเล็กๆ ชื่ออึมบาเล
แครอลีนเป็นเด็กกำพร้าเช่นกัน และยังคงดูแลการดำเนินงานของสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า แมทท์กลับไปยูกันดาทุกฤดูร้อนและหุ้นกับคนอื่นๆ สร้างสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่ใหญ่ขึ้นเพื่อให้ที่พักพิงและการศึกษาแก่เด็ก 200 กว่าคน ปัจจุบันเขาดำเนินธุรกิจทำเครื่องประดับที่ช่วยสนับสนุนสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า
ตามที่แมทท์กล่าว เราทุกคนมีบางอย่างในชีวิตที่พระผู้เป็นเจ้าประทานให้เราสนใจ “ผมเชื่อมั่นว่าถ้าทุกคนซื่อสัตย์ต่อตนเองและลงมือทำงาน เดินตามเส้นทางที่กำหนดไว้ตรงหน้าพวกเขาและใช้โอกาสที่มีให้พวกเขา ทุกคนจะพบอุดมการณ์ของตนเอง และถ้าทุกคนพบอุดมการณ์ของตนแล้วและขยันหมั่นเพียร โลกจะน่าอยู่ขึ้นมากทีเดียว”
การหา “อุดมการณ์” ของท่านไม่ต้องซับซ้อน “สวดอ้อนวอนพระผู้เป็นเจ้าและพยายามหาสิ่งที่คุณหลงใหล” แมทท์แนะนำ “สวดอ้อนวอนให้รู้ว่าสิ่งที่คุณสนใจเหล่านั้นคืออะไร เพื่อคุณจะสามารถให้ขอบเขตอิทธิพลของคุณไปถึง และทำ”
สวดอ้อนวอนขอจิตกุศล
Kaveria ei jätetä ในภาษาฟินแลนด์ คำนี้หมายถึง “อย่าทิ้งใครไว้ข้างหลัง” คำที่มีรากศัพท์ในช่วงสงครามแต่เป็นสิ่งที่ชาวฟินแลนด์ยังจดจำใส่ใจมาจนถึงทุกวันนี้ สำหรับรอลลี แรนตานีมี อายุ 23 ปีจากเมืองอูซิมา ฟินแลนด์ คำนั้นสร้างแรงบันดาลใจให้เขาทำดี
“ผมมีกฎให้ตัวเองคือถ้าผมเห็นใครโดดเดี่ยว ผมจะไปหาเขาเป็นประจำ ไม่ว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร ไม่ควรมีใครโดดเดี่ยว เมื่อผมอายุยังน้อย ผมโดดเดี่ยวในโรงเรียนและที่โบสถ์—ผมไม่มีเพื่อน และผมรู้ว่าความเหงาเป็นความรู้สึกที่ไม่ดีเลย นั่นคือสิ่งที่ผมได้จากความคิดของชาวฟินแลนด์ที่ว่าอย่าทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
แรงขับอย่างหนึ่งของผมคือการรู้ว่าความสัมพันธ์ดำเนินต่อเนื่องหลังจากชีวิตนี้ “นั่นคือสาเหตุที่ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่เราต้องเน้นคือปรับปรุงตนเอง เป็นแบบอย่างที่ดี เป็นคนดี ขยันหมั่นเพียรและมีคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์ทั้งหมด อีกอย่างคือสร้างความสัมพันธ์ เป็นเพื่อนกับทุกคน มีจิตกุศลและความรัก และรับใช้ผู้อื่น”
รอลลีเชื่อว่าการพัฒนาจิตกุศลเหมือนพระคริสต์เป็นเครื่องมือใหญ่ที่สุดในการทำดี “ใน โมโรไน 7:48 กล่าวว่าเราควรสวดอ้อนวอนขอจิตกุศล ผมเห็นว่าเมื่อผมทำเช่นนั้นทุกวัน และทูลขอพระบิดาบนสวรรค์ให้ประทานสถานการณ์ที่ผมจะได้รับใช้ ผมจะรู้สถานการณ์เหล่านั้นมากขึ้น ถ้าเราลืมตาจริงๆ เราจะเห็นโอกาสรับใช้ที่เราคิดไม่ถึง”
“แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็สำคัญ” รอลลีกล่าว “ถ้าคุณแค่มองหาสิ่งเล็กๆ น้อยๆ และทำ คุณก็ยังสามารถสร้างความแตกต่างใหญ่หลวงได้”
กระตุ้นให้ผู้อื่นตั้งเป้าหมายให้สูง
ดาเนียล โกดอย อายุ 23 ปี ฉายแสงและความดีงาม และการเลือกของเขาเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นมาก เขาเป็นอิทธิพลดีโดยแบบอย่างของเขา
เขาเป็นเด็กคนเดียวจากเมืองเล็กๆ นอกซานเตียโก ชิลีที่เห็นพ่อแม่อุทิศตนให้การรับใช้และพระกิตติคุณ ดาเนียลเป็นคนแรกในสเตคบ้านของเขาที่รับใช้เป็นผู้สอนศาสนาเมื่ออายุ 18 ปีหลังจากลดอายุผู้สอนศาสนา ส่งผลให้เยาวชนชายหลายคนเตรียมรับใช้แต่เนิ่นๆ ด้วย หลังจากงานเผยแผ่ของเขาในโคลอมเบีย เขาเป็นคนแรกในบ้านเกิดที่ออกนอกประเทศไปศึกษาต่อ แรงขับของเขาสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นศึกษาเล่าเรียน “ผมใช้วิธีกระตุ้นให้พวกเขาตั้งเป้าหมายให้สูง” เขากล่าว “ดีทีเดียวที่รู้ว่าขั้นตอนเล็กๆ ที่ผมทำช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ”
การศึกษาในสหรัฐเป็นกุญแจสำหรับแผนของดาเนียลในการช่วยเหลือผู้อื่นและทำประโยชน์ในอนาคตเช่นกัน “เป้าหมายระยะยาวของผมคือกลับไปชิลีและช่วยเหลือคนที่นั่น—รับใช้พวกเขา ผมมาที่นี่เพราะรู้ว่าผมจะมีโอกาสได้ช่วยคนในชิลีด้วย”
ดาเนียลยอมรับว่า “ผมไม่ดีพร้อม แต่ผมพยายามทำสุดความสามารถ และผมรู้สึกว่านั่นจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ และให้พวกเขามีแรงจูงใจไปต่อด้วย”
แบ่งปันความรักของพระผู้เป็นเจ้า
หลังจากเรียนจบปริญญาด้านสังคมสงเคราะห์ เคทลีน เร อายุ 27 ปีจากรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกาไม่อาจลงหลักปักฐานบนเส้นทางอาชีพได้แต่สนใจทำงานด้านมนุษยธรรม เธอเห็นพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้านำทาง “ทุกย่างก้าว” ของเธอ นำเธอให้เป็นผู้อำนวยการโปรแกรมสำหรับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ต่อสู้กับความยากไร้ทั่วโลก
เคทลีนทำงานกับผู้ลี้ภัยในกรีซและผู้ถูกกระทำทารุณกรรมในเนปาลซึ่งเธออธิบายว่ากำลัง “ประสบช่วงเวลาเลวร้ายที่สุดของชีวิตพวกเขา” ดิฉันไม่ได้ทำอะไรมาก แค่อยู่ที่นั่นกับพวกเขา ดิฉันไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือนโยบาย แต่สิ่งหนึ่งที่ดิฉันทำได้คือรักพวกเขา” และไม่ว่าอยู่กับใคร เธอเห็นว่าสำคัญที่ต้องให้ผู้อื่นรู้สึกถึงความรักของพระผู้เป็นเจ้า “ถ้าดิฉันสามารถเป็นสื่อนำความรักนั้นได้ ดิฉันจะรู้สึกเหมือนได้ทำดีมาก เพื่อให้พระผู้เป็นเจ้ามีความสุขกับดิฉัน”
ประสบการณ์ของเธอช่วยให้เธอมองปัญหาของผู้อื่นกว้างขึ้น “คนหนุ่มสาวอย่างพวกเรามักจะติดอยู่กับปัญหาของเราเอง” เธอกล่าว “เราสนใจแต่ ‘ฉันมีอาชีพอะไร’ และ ‘ฉันจะทำอะไรให้โรงเรียน’ และ ‘ฉันจะพบคู่นิรันดร์อย่างไร’ ทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องดี แต่ถ้าเรามองออกนอกตัวเราเองได้ ดิฉันคิดว่าเราจะพบสิ่งที่เรากำลังค้นหาจริงๆ”
“ถ้าเรายังคงใกล้ชิดพระวิญญาณ พระผู้เป็นเจ้าจะทรงนำทางและชี้ทางเรา และจากนั้นเราจะสามารถทำความดีทั้งหมดที่เราอยากทำ” เคทลีนกล่าว “ดิฉันคิดว่าทุกคนอยากทำดี แม้จะทำแค่ในชุมชนหรือในครอบครัวของคุณ สิ่งเล็กน้อยทุกอย่าง ไม่ว่าจะหนุนใจเพื่อนหรืออยู่ช่วยสมาชิกครอบครัว การมีช่วงเวลาเล็กๆ น้อยๆ เหล่านั้นของการรู้ว่าคุณได้ทำสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงต้องการให้คุณทำในขณะนั้นจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตคุณและผู้อื่น”
อิทธิพลของท่าน
ท่านไม่จำเป็นต้องออกไปเริ่มสร้างสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าเพื่อทำดีในโลก ท่านไม่จำเป็นต้องเริ่มบัญชีอินสตาแกรมของภาพถ่ายพระวิหารหรือเป็นผู้อำนวยการขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร แต่ท่านสามารถคิดหาวิธีใช้พรสวรรค์ ของท่าน เป็นอิทธิพลดี
ดิฉันเชื่อจริงๆ ว่าคำพูดเหล่านี้จากประธานโธมัส เอส. มอนสัน (1927–2018) ที่กล่าวถึงสตรีของศาสนจักร ประยุกต์ใช้ได้โดยตรงกับคนหนุ่มสาว “ท่านเป็นแรงผลักดันให้ทำดี หนึ่งในแรงที่มีพลังมากที่สุดในโลก อิทธิพลของท่านขยายเลยตัวท่านและครอบครัวท่านออกไปสัมผัสคนอื่นๆ ทั่วโลก” (“เป้าหมายสามข้อที่นำทางท่าน,”เลียโฮนา, พ.ย. 2007, 153) จงทำดีต่อไป—ความดีทั้งหมดที่ท่านทำได้ อิทธิพลของท่านจะขยายไกลเกินกว่าท่านรู้ และเราจะเป็นแรงผลักดันให้ทำดีไปด้วยกัน