หกขั้นของการได้งานทำ
เวลานี้ผู้เขียนอาศัยอยู่ในรัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา
เราไม่สามารถพึ่งพาตนเองทางโลกได้ถ้าเราต้องทำงานแต่ไม่มีงานทำ ต่อไปนี้เป็นหกขั้นของการได้งานทำ
ท่านต้องการอาชีพหรืองานดีกว่าเดิมหรือไม่ รู้จักคนที่ต้องการแบบนั้นไหม ความท้าทายในปัจจุบันสำหรับคนจำนวนมากที่ต้องการอาชีพหรืองานดีกว่าเดิมคือพวกเขามักไม่แน่ใจว่าจะได้งานนั้นอย่างไร พวกเขาถามว่า “ฉันต้องเขียนเรซูเม่ โพสต์ข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต หรือทำทั้งสองอย่าง และทำอย่างไร” “ฉันควรตอบคำถามเช่น ‘ข้อด้อยของคุณคืออะไร’ และ ‘ทำไมฉันต้องจ้างคุณทำงานนี้’ อย่างถูกต้องได้อย่างไร”
บทความนี้บอกแผนหกขั้นที่ท่านต้องรู้แล้วทำเพื่อให้ได้งานที่ต้องการ หกขั้นเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของผลสำรวจที่ผมทำกับนายจ้าง 760 คนผู้กำลังสรรหาพนักงานใหม่ที่มหาวิทยาลัยบริคัมยังก์ ขั้นตอนเหล่านี้พัฒนาจากข้อมูลที่ผมได้รับจากผู้เชี่ยวชาญการจ้างงานและการอบรมคนหลายพันคนนานกว่า 30 ปีใน 20 กว่าประเทศเรื่องงานอาชีพและการสรรหาพนักงานใหม่ ท้ายที่สุด ผมกับภรรยาเพิ่งรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาอาวุโสที่ได้รับมอบหมายให้เริ่มใช้แผนการพึ่งพาตนเองทั่วยุโรป ประสบการณ์ของเราเสริมส่วนที่ผู้หางานต้องการให้เราช่วย ไม่ว่าท่านอยู่ที่ใดในโลก ไม่ว่าทักษะการทำงานของท่านคืออะไร หรือท่านอยากได้งานตำแหน่งใด หกขั้นนี้จะช่วยท่านได้
ขั้นตอนของการได้งานที่ท่านต้องการนี้อาจจะใช้เวลาตั้งแต่สองสามวันไปจนถึงสองสามสัปดาห์หรือหลายเดือน แต่ข่าวดีคือขั้นตอนนี้ได้ผล หกขั้นนี้จะช่วยผู้หางานทุกระดับที่ตรงกับหนึ่งในสามหมวดหมู่ต่อไปนี้ (1) คนที่หางานแรก (2) คนที่ต้องการย้ายไปทำอีกงานหนึ่งหรือเลื่อนขั้นภายในบริษัทหรือองค์กรปัจจุบันของพวกเขา และ (3) คนที่ต้องการย้ายไปทำตำแหน่งหนึ่งในอีกองค์กรหนึ่ง
ขั้น 1 ระบุงานที่ท่านต้องการตอนนี้
ท่านต้องระบุงานที่ท่านสามารถทำได้เลยซึ่งตรงกับทักษะที่เกี่ยวกับงานนั้น ภูมิหลัง ความสำเร็จ หรือการศึกษาของท่าน เมื่อตัดสินใจแล้วให้เขียนชื่องานลงไป หากท่านต้องการความช่วยเหลือ เว็บไซต์ต่างๆ มีชื่อและคำบรรยายลักษณะงานสารพัด สำหรับขั้น 1 ท่านไม่จำเป็นต้องหางานที่เปิดรับ เพียงระบุประเภทงานที่ท่านมีคุณสมบัติและสนใจ
ความผิดพลาดใหญ่ที่สุดสองประการที่ผู้สมัครงานทำคือไม่ตัดสินใจเลือกงานที่ต้องการทำจริงๆ หรือเลือกตำแหน่งที่ตนไม่มีคุณสมบัติ หากท่านไม่แน่ใจว่าจะหาและทำงานอะไร ท่านอาจไม่ได้งานเลย การพูดทำนองว่า “ผมแค่ต้องการงาน งานอะไรก็ได้” ไม่มีประโยชน์ การพูดเช่นนี้ไม่ทำให้นายจ้างประทับใจและทำลายความพยายามในการหางานของท่าน ดังนั้นจงเลือกงานที่ท่านทำได้ตอนนี้ แล้วตั้งใจให้ได้งานนั้น
ขั้น 2 หาคำบรรยายลักษณะงานที่ท่านต้องการ
การสำรวจที่ผมทำกับนายจ้าง 760 คนผู้เปิดรับสมัครงานที่มหาวิทยาลัยบริคัมยังก์และหลายปีของประสบการณ์ด้านการจ้างงานในหลายประเทศของผมแสดงให้เห็นว่าผู้สรรหาพนักงานใหม่และผู้จัดจ้างแทบทุกรายพิจารณาเฉพาะผู้สมัครงานที่มีทักษะ ประสบการณ์ ความสำเร็จ หรือการศึกษาตรงกับงานนั้น นี่เป็นจริงอย่างยิ่งสำหรับตำแหน่งระดับกลางและระดับบน ขณะผู้สรรหาพนักงานใหม่เหล่านี้พิจารณาผู้สมัครอย่างละเอียด พวกเขาใช้โครงร่างหรือรายการที่เรียกว่าลักษณะงานเพื่อจะจำข้อกำหนดสำคัญที่สุดของงานแต่ละงานที่เปิดรับสมัคร จากนั้นคนว่าจ้างจะเปรียบเทียบผู้สมัครทั้งหมดกับลักษณะเฉพาะของตำแหน่งนั้น
ท่านต้องหาลักษณะงานสำหรับงานที่ท่านต้องการ นั่นจะช่วยท่านตัดสินใจว่าท่านเป็นผู้สมัครที่ดีสำหรับงานนั้นหรือไม่ จะช่วยท่านตัดสินใจเช่นกันว่าจะพูดและไม่พูดอะไรเกี่ยวกับตัวท่านบนเรซูเม่ ในจดหมายปะหน้า และในการสัมภาษณ์กับนายจ้าง โดยปกตินายจ้างจะระบุคำบรรยายลักษณะงานของงานแต่ละอย่างที่พวกเขาเปิดรับบนเว็บไซต์ ในโฆษณาหนังสือพิมพ์ และบนเว็บไซต์หางาน เจ้าหน้าที่คนปัจจุบันที่รู้งานนั้นอาจบอกท่านได้เช่นกันเกี่ยวกับลักษณะและข้อกำหนดของงานที่เปิดรับ
หน้าที่ของท่านในขั้น 2 คือหาข้อกำหนดเฉพาะเจาะจงที่ระบุไว้ในลักษณะงานสำหรับงานที่ท่านต้องการ จากนั้นท่านจะใช้สิ่งนั้นเป็นข้อมูลสำคัญในขั้น 3–6
ขั้น 3 ระบุทักษะ ประสบการณ์ ผลงาน และการศึกษาของท่านซึ่งตรงกับงานที่ท่านเลือกไว้
ตรงส่วนนี้ท่านระบุทักษะของตัวท่านและความสำเร็จเกี่ยวกับงานนั้นที่แสดงให้เห็นว่าภูมิหลังของท่านตรงกับข้อกำหนดสำคัญของงานที่ท่านต้องการตอนนี้ดังอธิบายไว้ในคำบรรยายลักษณะงานที่ท่านพบในขั้น 2
ขณะท่านเขียนรายการทักษะและความสำเร็จที่เกี่ยวข้องกับงานนั้น ท่านจะสามารถเปรียบเทียบภูมิหลังการทำงานของท่านกับคุณสมบัติสำคัญที่บอกไว้ในคำบรรยายลักษณะงานที่ท่านพบในขั้น 2 หากรายการของท่านแสดงให้เห็นว่าทักษะของท่านตรงกับความต้องการของงานที่ท่านเลือกในขั้น 1 ตอนนี้ให้ทำขั้น 4–6 ต่อ แต่หากทักษะและความสำเร็จของท่านที่ระบุไว้ในขั้น 3 ไม่ตรงกับลักษณะงานที่ท่านพบในขั้น 2 ท่านควรพิจารณาอย่างจริงจังขณะเลือกอีกงานหนึ่งตอนนี้ งานที่ตรงกับทักษะและความสามารถปัจจุบันของท่านมากที่สุด
ขั้น 4 เขียนเรซูเม่แบบปรับได้ยาวหนึ่งหรือสองหน้า
จุดประสงค์หลักของเรซูเม่ หรือเรียกอีกอย่างว่าประวัติส่วนตัว (ซีวี) คือเพื่อจะได้สัมภาษณ์กับผู้สรรหาพนักงานใหม่หรือผู้ว่าจ้างที่กำลังหาคนมาทำงานในตำแหน่งที่เปิดรับ เรซูเม่ของท่านต้องแสดงให้ผู้ว่าจ้างเห็นพอสังเขปว่าทักษะเกี่ยวกับงานนั้น ประสบการณ์ ความสำเร็จ หรือการศึกษาตรงกับคำบรรยายลักษณะงานที่นายจ้างบอกว่าเป็นคุณสมบัติสำคัญที่สุดของผู้สมัครงานนั้น
เรซูเม่ที่ท่านเขียนสำหรับงานที่นายจ้างแต่ละคนเปิดรับ ต้องปรับได้ ท่านไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนข้อมูลหลักที่ท่านเขียนเหมือนกันในเรซูเม่ทุกฉบับ เช่นประวัติการทำงาน ข้อมูลการศึกษา และข้อมูลติดต่อปัจจุบันของท่าน รายละเอียดเหล่านั้นจะเหมือนกันบนเรซูเม่ทุกฉบับของท่าน แต่หากท่านสมัครงานกับนายจ้างมากกว่าหนึ่งคน นายจ้างแต่ละคนจะมีคำบรรยายลักษณะงานต่างกันมากน้อยตามงานของพวกเขา ด้วยเหตุนี้ท่านจึงต้องเลือกทักษะและความสำเร็จให้ตรงกับคำบรรยายลักษณะงานแต่ละงาน ใส่ข้อมูลเหล่านั้นบนเรซูเม่ของท่านให้กระชับโดยเริ่มด้วยคำกิริยาเช่น “วิจัย” “พัฒนา” “ผลิต” “จัดการ” เป็นต้น
ตัวอย่างเช่น หากท่านมีประสบการณ์ทั้งด้านการขายและการตลาดและท่านกำลังสมัครงานสองงาน—งานหนึ่งเน้นการขาย และอีกงานหนึ่งเน้นการตลาด—ท่านจะเขียนเรซูเม่สองฉบับ ฉบับหนึ่งบอกกิจกรรมและความสำเร็จด้านการขายเพิ่มและอีกฉบับบอกความสำเร็จและกิจกรรมด้านการตลาดเพิ่ม (หากท่านมีประสบการณ์การทำงานยังไม่มาก ให้เข้าไปที่ ChurchofJesusChrist.org/go/71939 เพื่อเรียนรู้วิธีใช้ประสบการณ์จากการรับใช้ศาสนจักรบนเรซูเม่ของท่าน)
ขั้น 5 หานายจ้างที่ตอนนี้กำลังจ้างคนทำงานที่ท่านต้องการ
มีงานบางอย่างเปิดรับตลอดแม้ในเวลาที่หางานทำยาก ลูกจ้างเกษียณ เปลี่ยนงาน เลื่อนขั้น ลดขั้น หรือย้ายออก และจะมีธุรกิจบางแห่งที่กำลังเติบโตและต้องการพนักงานเพิ่มอยู่เสมอ สถานการณ์ทั้งหมดนี้ทำให้มีงานที่ต้องรับสมัครผู้มีคุณสมบัติตามงานนั้น บางครั้งมีงานเปิดรับไม่กี่ตำแหน่งและบางครั้งเปิดรับหลายตำแหน่ง อย่าท้อถ้าท่านยังหางานไม่ได้ พยายามหาต่อไป
มองหางานที่ท่านต้องการบนเว็บไซต์ของนายจ้าง เว็บไซต์อาชีพ โฆษณาหนังสือพิมพ์ และแหล่งอื่นๆ วิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งในการหางานที่เปิดรับคือทางเครือข่าย—ติดต่อหลายๆ คนทุกวัน เช่น เพื่อนบ้านและสมาชิกวอร์ด บอกพวกเขาเรื่องงานที่ท่านกำลังหาและถามว่าพวกเขารู้เรื่องงานที่เปิดรับหรือไม่หรือพวกเขารู้จักใครที่น่าจะรู้เรื่องนี้ไหม ท่านต้องให้ข้อมูลติดต่อกับคนทั้งหมดนี้ขณะท่านสร้างเครือข่ายทุกวัน
ขั้น 6 ฝึกสัมภาษณ์ให้ดีก่อนส่งเรซูเม่ไปให้นายจ้าง
ก่อนท่านเริ่มส่งเรซูเม่ที่ปรับดีแล้วไปให้นายจ้าง ท่านต้องฝึกสัมภาษณ์ให้ดีก่อน หลายคนส่งเรซูเม่เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ก่อนที่พวกเขาจะเตรียมตัวให้ดีเพื่อไปสัมภาษณ์ ปัญหาเรื่องนี้คือผู้หางานเหล่านี้บางคนอาจได้รับเชิญให้มาสัมภาษณ์ทันที ผู้สมัครเหล่านี้ตื่นเต้น ไปสัมภาษณ์ก่อนเตรียมให้ดีพอ ให้สัมภาษณ์ไม่ดี และด้วยเหตุนี้จึงไม่ได้งาน เมื่อท่านทำเช่นนี้ ท่านจะกลับไปบริษัทนั้นหรือไปหาผู้สัมภาษณ์คนนั้นและขอสัมภาษณ์อีกครั้งเพื่อบอกว่าตอนนี้ท่านรู้วิธีตอบคำถามให้ถูกต้องแล้วไม่ได้!
วิธีที่ท่านตอบคำถามทุกข้อในการสัมภาษณ์สำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในการได้งานที่ท่านต้องการ ถึงแม้ท่านต้องซื่อสัตย์อย่างครบถ้วนเสมอ แต่ยังมีวิธีตอบคำถามแต่ละข้อในการสัมภาษณ์ทั้งถูกและผิด ผู้สัมภาษณ์จะถามท่านทำนองนี้:
-
ข้อดีและข้อด้อยของคุณคืออะไร
-
คุณมีปัญหาอะไรในงานก่อนที่ตอนนี้คุณจะแก้ไขต่างจากเดิม
-
คุณต้องการเงินเดือนเท่าไร
-
คุณอยากจะทำอะไรในห้าปี
ในฐานะผู้สมัคร ท่านต้องคิดและเตรียมคำตอบให้กับคำถามทุกข้อที่ผู้สัมภาษณ์จะถาม ตอบไม่ดีแม้แต่ข้อเดียวก็อาจทำให้ท่านเสียงานนั้น เน้นตอบด้วยตัวอย่างสั้นๆ หนึ่งถึงสองนาทีที่แสดงให้เห็นว่าภูมิหลัง ทักษะ และความสำเร็จของท่านตรงกับคำบรรยายลักษณะงาน ศึกษาองค์กรก่อนไปสัมภาษณ์ครั้งแรกเพื่อท่านจะสามารถปรับคำตอบได้ตามความต้องการของพวกเขา
ตอนท้ายของการสัมภาษณ์ส่วนใหญ่ ท่านจะมีโอกาสถามคำถามนายจ้างสองสามข้อ คำถามที่ดีที่สุดของท่านคือถามเรื่องงานที่เปิดรับ “ต้องทำอะไรสำเร็จหรือต้องเปลี่ยนอะไรในงานนี้” นี่จะช่วยท่านในการสัมภาษณ์ครั้งต่อๆ ไปถ้าขอให้ท่านกลับมา โดยทั่วไปท่านสามารถเก็บคำถามของท่านเกี่ยวกับเป้าหมายขององค์กร วัฒนธรรมการทำงาน เงินเดือน (เว้นแต่ผู้สัมภาษณ์จะถาม) เวลาทำงาน และผลประโยชน์ไว้ถามในการสัมภาษณ์ครั้งต่อๆ ไป
ตอนนี้ท่านมีหกขั้นของการได้งานที่ท่านต้องการแล้ว ท่านไม่สามารถพึ่งพาตนเองทางโลกได้หากท่านต้องทำงานแต่ไม่มีงานทำ หากท่านต้องการอาชีพ งานที่ดีกว่าเดิม หรือรู้จักบางคนที่ต้องการ ขอให้ใช้หรือแบ่งปันเครื่องมือหางานเหล่านี้ที่พิสูจน์มาแล้วว่าได้ผล มันได้ผล! ขอพระเจ้าทรงอวยพรท่านขณะพยายามให้ได้งานที่ท่านต้องการ