2021
การเชื่อมโยงธิดาของพระผู้เป็นเจ้ากับพลังอำนาจฐานะปุโรหิตของพระองค์
มกราคม 2021


การเชื่อมโยง ธิดาของพระผู้เป็นเจ้า กับ พลังอำนาจฐานะปุโรหิต ของพระองค์

สตรีเป็นผู้มีส่วนร่วมคนสำคัญในงานที่พระผู้เป็นเจ้าทรงทำสำเร็จผ่านพลังอำนาจฐานะปุโรหิตของพระองค์

woman looking toward the temple

ภาพถ่ายสตรีมองไปที่พระวิหารโอกแลนด์ แคลิฟอร์เนีย

ดิฉันรู้ซึ้งถึงความสำคัญของการเข้าใจฐานะปุโรหิตและพรที่เกี่ยวข้องสำหรับสตรีอย่างที่ไม่เคยรู้ซึ้งเช่นนี้มาก่อน เรามีชีวิตอยู่ในยุคที่ส่งเสริมความเสมอภาค อำนาจ ความยุติธรรม และขันติธรรม—มักจะส่งเสริมมากกว่าคุณธรรมอื่น นอกจากนั้น อัตลักษณ์ สิทธิอำนาจ ความเข้มแข็งทางวิญญาณ และแม้กระทั่งพระผู้เป็นเจ้าก็เป็นหัวข้อที่หลายคนสับสนมาก

สตรีจำนวนมากไม่ได้ใช้ประโยชน์เต็มที่จากงานเลี้ยงทางวิญญาณที่จัดให้พวกเธอเพราะไม่รู้ว่าพวกเธอมีสิทธิ์ได้รับพรอะไรบ้าง บุรุษจำนวนมากสับสนเรื่องนี้เช่นกัน

เราจะเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างสตรีกับพลังอำนาจฐานะปุโรหิตได้ดีขึ้น และช่วยให้พวกเธอ “ก้าวออกมา” “ยืนอยู่ในสถานที่ซึ่งถูกต้องและต้องการ [พวกเธอ] ในบ้าน [ของพวกเธอ] ในชุมชน [ของพวกเธอ] และในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า—มากกว่าที่ท่านเคยเป็นมาก่อน” ได้อย่างไร1 หนึ่ง เราจะพยายามเข้าใจความจริงเกี่ยวกับฐานะปุโรหิตด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำสอนล่าสุดของผู้นำศาสนจักร สอง เราจะพยายามเข้าใจว่าเหตุใดสตรีบางคนจึงไม่ตระหนักอย่างเต็มที่ว่าพวกเธอมีสิทธิ์เข้าถึงพลังอำนาจฐานะปุโรหิตของพระผู้เป็นเจ้า สาม เราจะรับรู้ว่าเราจะช่วยให้สตรีมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่มากขึ้นในงานที่พระผู้เป็นเจ้าทรงทำสำเร็จผ่านพลังอำนาจฐานะปุโรหิตของพระองค์ได้อย่างไร

1. มีความจริงอะไรแจกแจงไว้บ้างเกี่ยวกับสตรีและฐานะปุโรหิต

บรรดาอัครสาวกและผู้นำองค์การช่วยสามัญของสตรีเน้นมากขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้เรื่องความสัมพันธ์ของสตรีกับฐานะปุโรหิต ต่อไปนี้เป็นความจริงบางประการที่จำเป็นต้องเข้าใจและสอนอย่างถูกต้อง

ฐานะปุโรหิตเป็นพลังอำนาจและสิทธิอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า

ฐานะปุโรหิตเป็นพลังอำนาจซึ่งพระผู้เป็นเจ้าทรงใช้ทำงานอันสำคัญยิ่งแห่งความรอดให้สำเร็จ โดยทรงทำให้เกิด “ความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์ของมนุษย์” (โมเสส 1:39) ทั้งบุรุษและสตรีมีบทบาทสำคัญในงานของพระผู้เป็นเจ้า ทั้งชายและหญิงมีสิทธิ์เข้าถึงพลังอำนาจของพระองค์เพื่อทำงานของพระองค์ให้สำเร็จ

สตรีมีบทบาทสำคัญอย่างเป็นทางการในงานแห่งความรอด

บอนนี่ แอล. ออสคาร์สัน อดีตประธานเยาวชนหญิงสามัญประกาศว่า “สตรีทั้งปวงต้องเห็นว่าตนเองเป็นผู้มีส่วนสำคัญในงานของฐานะปุโรหิต สตรีในศาสนจักรนี้เป็นประธาน เป็นที่ปรึกษา ครู สมาชิกสภา พี่น้องสตรี และมารดา อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าดำเนินงานไม่ได้นอกจากเราจะลุกขึ้นทำหน้าที่ของเราให้สำเร็จลุล่วงด้วยศรัทธา”2

ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ (1910–2008) สอนว่า “พระผู้เป็นเจ้าประทานงานให้สตรีของศาสนจักรนี้ทำในการสร้างอาณาจักรของพระองค์ งานดังกล่าวเกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบอันสำคัญยิ่งทั้งสามด้านได้แก่ หนึ่ง สอนพระกิตติคุณให้ชาวโลก สอง เสริมสร้างศรัทธาและสร้างความสุขของการเป็นสมาชิกศาสนจักร และสาม ดำเนินงานอันสำคัญยิ่งของความรอดให้ผู้วายชนม์

“สตรีในศาสนจักรเป็นผู้ร่วมงานกับพี่น้องชายในการดำเนินงานอันยิ่งใหญ่นี้ของพระเจ้า … สตรีมีความรับผิดชอบมากมายและพวกเธอมีหน้าที่ต้องทำความรับผิดชอบเหล่านั้นให้สำเร็จ … พวกเธอเป็นผู้นำองค์การของพวกเธอ และองค์การเหล่านั้นเข้มแข็ง ใช้การได้ และเป็นกำลังสำคัญตลอดไปในโลก พวกเธอมีบทบาทเป็นผู้ช่วยของฐานะปุโรหิต ทุกคนล้วนพยายามช่วยกันสร้างอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าบนแผ่นดินโลก เรายกย่องและเคารพท่านสำหรับความสามารถของท่าน เราคาดหวังการเป็นผู้นำและความเข้มแข็ง ตลอดจนผลอันน่าประทับใจจากการบริหารองค์การที่ท่านต้องรับผิดชอบ เราสนับสนุนและส่งเสริมท่านในฐานะธิดาของพระผู้เป็นเจ้าขณะท่านทำหน้าที่หุ้นส่วนใหญ่ช่วยเหลือพระองค์ในการทำให้เกิดความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์ของบุตรธิดาทุกคนของพระผู้เป็นเจ้า”3

ทั้งบุรุษและสตรีได้รับมอบพลังอำนาจและสิทธิอำนาจจากผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิต

กุญแจฐานะปุโรหิตคือ “สิทธิอำนาจที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่ผู้นำฐานะปุโรหิตเพื่อกำกับดูแล ควบคุม และ ปกครองการใช้ฐานะปุโรหิตของพระองค์บนแผ่นดินโลก”4 ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสูงสุดอธิบายว่า “การดำเนินงานทุกอย่างหรือศาสนพิธีที่ปฏิบัติในศาสนจักรกระทำภายใต้การมอบอำนาจทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อมของผู้ถือกุญแจสำหรับหน้าที่นั้น”5

สตรีมีสิทธิอำนาจในการทำหน้าที่การเรียกของพวกเธอภายใต้การกำกับดูแลของผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิตเช่นเดียวกับบุรุษ ประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด รักษาการประธานโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า “ผู้ที่มีกุญแจฐานะปุโรหิต … ย่อมทำให้ทุกคนที่รับใช้หรือทำงานอย่างซื่อสัตย์ภายใต้การกำกับดูแลของเขามีโอกาสใช้สิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตและเข้าถึงพลังอำนาจฐานะปุโรหิต”6

ประธานโอ๊คส์กล่าวว่า “เราไม่คุ้นเคยกับการพูดว่าสตรีมีสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตในการเรียกของพวกเธอในศาสนจักร แต่จะเป็นสิทธิอำนาจอื่นใดได้เล่า เมื่อสตรีคนหนึ่ง—ไม่ว่าเยาว์วัยหรือสูงวัย—ได้รับการวางมือมอบหน้าที่ให้สั่งสอนพระกิตติคุณในฐานะผู้สอนศาสนาเต็มเวลา เธอได้รับสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตให้ทำหน้าที่ฐานะปุโรหิต เช่นเดียวกับเมื่อสตรีคนหนึ่งได้รับการวางมือมอบหน้าที่ให้เป็นเจ้าหน้าที่หรือครูในองค์การของศาสนจักรภายใต้การกำกับดูแลของผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิต”7

Missionaries walking

เมื่อสอนแนวคิดนี้ให้กับนักศึกษา ดิฉันถามบ่อยครั้งว่า “ถ้าสเตคมีการประชุมฝ่ายประธานเยาวชนชายร่วมกับฝ่ายประธานเยาวชนหญิง ใครเป็นประธาน” เพราะทั้งประธานเยาวชนหญิงสเตคและประธานเยาวชนชายสเตคต่างได้รับการเรียกและการวางมือมอบหน้าที่โดยผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิต (ประธานสเตค) เนื่องจากการเรียกของพวกเขา ทั้งสองฝ่ายจึงมีสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตเดียวกันและด้วยเหตุนี้จึงไม่มีใครเป็นประธานควบคุมอีกฝ่าย พวกเขาจะผลัดกันดำเนินการประชุม

พระเจ้าทรงอวยพรสตรีและบุรุษเท่าเทียมกันผ่านฐานะปุโรหิตของพระองค์

พระเจ้าทรงจัดเตรียมพรมากมายผ่านฐานะปุโรหิตของพระองค์เพื่อให้มาถึงสมาชิกทุกคนผู้ทำและรักษาพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ ประธานบัลลาร์ดสอนว่า “ทุกคนผู้ทำพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์กับพระเจ้าและผู้ให้เกียรติพันธสัญญาเหล่านั้นย่อมมีสิทธิ์ได้รับการเปิดเผยส่วนตัว ได้รับพรโดยการปฏิบัติศาสนกิจของเหล่าเทพ ติดต่อกับพระผู้เป็นเจ้า ได้รับความสมบูรณ์แห่งพระกิตติคุณ และสุดท้ายได้เป็นทายาทสืบทอดทั้งหมดที่พระบิดาทรงมีเคียงข้างพระเยซูคริสต์”8

ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ (1876–1972) สอนว่า “พรของฐานะปุโรหิตมิได้จำกัดเฉพาะผู้ชายเท่านั้น แต่พรเหล่านี้หลั่งมาบน … สตรีที่ซื่อสัตย์ทุกคนของศาสนจักร … พระเจ้าทรงมอบของประทานฝ่ายวิญญาณและพรทุกประการที่บุตรชายของพระองค์ได้รับให้บุตรสาวของพระองค์เช่นกัน”9

และเมื่อสตรีไปทำงานของพระบิดา พวกเธอจะได้รับพรให้เป็น “ทายาทของพระเจ้า และเป็นทายาทร่วมกับพระคริสต์” เช่นกัน (โรม 8:17; ดู ข้อ 16 ด้วย)

ทั้งสตรีและบุรุษ (โสดและแต่งงานแล้ว) จะได้รับเอ็นดาวเม้นท์ด้วยพลังอำนาจฐานะปุโรหิตในพระวิหาร

ในปี 1833 พระเจ้าทรงสัญญากับโจเซฟ สมิธว่าวิสุทธิชนทั้งชายและหญิงจะได้รับเอ็นดาวเม้นท์ด้วย “อำนาจจากเบื้องบน” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 95:8) ประธานบัลลาร์ดชี้แจงว่า “เอ็นดาวเม้นท์เป็นของประทานแห่งพลังอำนาจอย่างแท้จริง ทุกคนที่เข้าพระนิเวศน์ของพระเจ้าล้วนประกอบศาสนพิธีของฐานะปุโรหิต ประยุกต์ใช้ได้กับบุรุษและสตรีเหมือนกัน”10 สมาชิกที่มีค่าควรทุกคนผู้ได้รับเอ็นดาวเม้นท์ของตนแล้วและรักษาพันธสัญญาที่ทำไว้ในพระวิหารล้วนมีพลังอำนาจฐานะปุโรหิต ด้วยเหตุนี้ สตรีที่แต่งงานแล้วหรือโสดจึงสามารถมีพลังอำนาจฐานะปุโรหิตในบ้านของพวกเธอไม่ว่าผู้ดำรงฐานะปุโรหิตจะไปเยี่ยมหรือไม่ก็ตาม

เชอรี ดิว อดีตที่ปรึกษาในฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญถามว่า “การเข้าถึงพลังอำนาจฐานะปุโรหิตหมายความว่าอย่างไร หมายความว่าเราสามารถรับการเปิดเผย ได้รับพรและความช่วยเหลือจากการปฏิบัติศาสนกิจของเหล่าเทพ เรียนรู้วิธีแหวกม่านที่แยกเราจากพระบิดาบนสวรรค์ มีพลังต่อต้านการล่อลวงมากขึ้น ได้รับความคุ้มครอง รู้แจ้งมากขึ้น และฉลาดขึ้น—โดยไม่ต้องมีมนุษย์คนใดเป็นสื่อกลาง”11 อะไรคือผลสำคัญที่สุดของพลังอำนาจนี้และจะได้รับอย่างไร พระเจ้าทรงเปิดเผยว่า “พลังอำนาจของความเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้า” รวมถึงพลังอำนาจที่จะเป็นเหมือนพระองค์ แสดงให้ประจักษ์พยานผ่านศาสนพิธีฐานะปุโรหิต (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:20)

สิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตบางครั้งทำงานในศาสนจักรต่างจากในครอบครัว

องค์กรศาสนจักรเรียงตามลำดับชั้น ส่วนครอบครัวมีบิดาเป็นหัวหน้า ประธานโอ๊คส์สอนว่ามี “ความแตกต่างบางอย่างในวิธีทำงานของสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตในครอบครัวและในศาสนจักร”12 ตามแบบแผนของพระเจ้า สามีภรรยามีความรับผิดชอบต่างกันบางอย่าง ทว่าพวกเขาทำงานด้วยกันในฐานะ “หุ้นส่วนเท่าๆ กัน”13 เอ็ลเดอร์แอล. ทอม เพอร์รีย์ (1922–2015) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “พี่น้องครับ จำไว้ว่าในบทบาทของการเป็นผู้นำในครอบครัว ภรรยาท่านคือคู่ชีวิต … นับแต่กาลเริ่มต้น พระผู้เป็นเจ้าทรงสอนมนุษย์ว่าการแต่งงานควรรวมสามีภรรยาให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีประธานหรือรองประธานในครอบครัว ทั้งคู่ทำงานด้วยกันชั่วนิรันดร์เพื่อประโยชน์ของครอบครัว พวกเขาเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งในคำพูด และในการกระทำขณะนำ แนะนำ และชี้นำหน่วยครอบครัว พวกเขาเสมอภาคกัน พวกเขาช่วยกันวางแผนและจัดระบบการงานในครอบครัวด้วยความสมานฉันท์ขณะก้าวเดินไปข้างหน้า”14

จากนั้นเกิดอะไรขึ้นเมื่อฝ่ายหนึ่งสิ้นชีวิต ประธานโอ๊คส์สอนว่า “เมื่อบิดาข้าพเจ้าสิ้นชีวิต มารดาข้าพเจ้าควบคุมดูแลครอบครัวของเรา ท่านไม่มีตำแหน่งฐานะปุโรหิต แต่ในฐานะคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ ท่านจึงกลายเป็นผู้มีหน้าที่ปกครองครอบครัว ขณะเดียวกัน ท่านเคารพสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตของอธิการของเราและผู้นำศาสนจักรท่านอื่นเสมอ ท่านควบคุมดูแลครอบครัวท่าน แต่ผู้นำเหล่านั้นควบคุมดูแลศาสนจักร”15

2. อุปสรรค

มีอุปสรรคอะไรบ้างที่จะขัดขวางไม่ให้สตรีตระหนักอย่างเต็มที่ว่าตนเข้าถึงพลังอำนาจฐานะปุโรหิตของพระผู้เป็นเจ้าได้

ความสับสนของทั้งบุรุษและสตรีเกี่ยวกับฐานะปุโรหิต

ประธานโอ๊คส์สอนว่า “ฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคไม่ใช่สถานภาพหรือฉายานาม แต่เป็นอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่ดำรงไว้ด้วยความวางใจให้ใช้เป็นประโยชน์ในงานของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อบุตรธิดาของพระองค์ พึงระลึกไว้เสมอว่าชายผู้ดำรงฐานะปุโรหิต ไม่ใช่ ‘ฐานะปุโรหิต’ ไม่เหมาะสมที่จะพูดว่า ‘ฐานะปุโรหิตและสตรี’ เราควรพูดว่า ‘ผู้ดำรง ฐานะปุโรหิตและสตรี’”16

การพูดว่า “ตอนนี้ฐานะปุโรหิตจะร้องเพลง” หรือ “เราต้องการอาสาสมัครฐานะปุโรหิตไปค่ายเยาวชนหญิง” เท่ากับเรากำลังทำลายตัวเราเองและผู้อื่นทั้งที่เรามีเจตนาดีโดยก่อให้เกิดความสับสนต่อเนื่องและทำให้พลังอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าลดน้อยลง

การคิดว่าฐานะปุโรหิตไม่เกี่ยวกับสตรี

เมื่อเชื้อเชิญให้ศึกษาเรื่องฐานะปุโรหิต พี่น้องสตรีบางคนตอบว่า “ดิฉันไม่จำเป็นต้องศึกษาหัวข้อนั้น เพราะนำมาใช้กับดิฉันไม่ได้” แต่เพราะฐานะปุโรหิตเป็นพรแก่บุตรธิดาทุกคนของพระผู้เป็นเจ้า เราทุกคนจึงได้ประโยชน์จากการเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น เราทุกคนจะได้ประโยชน์จากการเข้าใจฐานะปุโรหิต ลองนึกดูว่าศาสนจักรและครอบครัวเราจะได้รับพรอย่างไรถ้าทั้งสตรีและบุรุษของศาสนจักรเข้าใจและสอนความจริงเกี่ยวกับฐานะปุโรหิต

ลินดา เค. เบอร์ตัน อดีตประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญเน้นว่าสตรีและบุรุษต้องศึกษาหัวข้อเรื่องฐานะปุโรหิต “พี่น้องสตรี เราไม่สามารถลุกขึ้นและสอนเรื่องที่เราไม่เข้าใจและตัวเราไม่รู้”17

Church meeting

การวางข้อจำกัดที่ไม่มีอยู่จริงให้กับสตรี

เห็นชัดว่าการเรียกบางอย่างในศาสนจักรต้องได้รับการวางมือแต่งตั้งสู่ตำแหน่งฐานะปุโรหิต แต่เราต้องระวังอย่าจำกัดสตรีของเราโดยยึดวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ แนวคิดผิดๆ หรือประเพณีเป็นหลัก ตัวอย่างเช่น สตรีสามารถเป็นผู้นำและครูที่มีประสิทธิภาพ เป็นเสียงสำคัญในสภาศาสนจักร และเป็นแบบอย่างของการเป็นสานุศิษย์ที่มีอิทธิพลต่อสมาชิกทุกวัย

3. เราจะทำอะไรได้บ้าง

เราแต่ละคนสามารถใช้บางวิธีต่อไปนี้ช่วยให้พี่น้องสตรีของเรามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่มากขึ้นในงานที่พระผู้เป็นเจ้าทรงทำสำเร็จผ่านพลังอำนาจฐานะปุโรหิตของพระองค์

ติดตามถ้อยคำของเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่และผู้นำสตรีของเราอยู่เสมอ

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา สมาชิกอาวุโสของโควรัมอัครสาวกสิบสองได้พูดถึงบทบาทของสตรีในศาสนจักรอย่างเจาะจง เราตั้งใจฟังคำพูดเหล่านี้หรือไม่

ตัวอย่าง ในปี 2015 ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันกล่าวว่า “อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าจะไม่และไม่สามารถสมบูรณ์ได้โดยปราศจากสตรีผู้ทำพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ และรักษาพันธสัญญาหลังจากนั้น สตรีที่สามารถพูดด้วยพลังและสิทธิอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า!”18

ช่วยให้สมาชิกทุกคนเข้าใจบทบาทของสตรีในงานของฐานะปุโรหิต

ประธานบัลลาร์ดกำชับสตรีของสมาคมสงเคราะห์ว่า “แวดวงอิทธิพลของท่านมีขอบเขตเฉพาะ—ที่ชายไม่อาจลอกเลียนแบบได้ ไม่มีใครสามารถปกป้องพระผู้ช่วยให้รอดด้วยการชักชวนหรือพลังได้มากไปกว่าท่าน—ธิดาของพระผู้เป็นเจ้าผู้มีจิตใจเข้มแข็งและมีความเชื่อมั่นเช่นนั้น พลังเสียงของสตรีที่เปลี่ยนใจเลื่อมใสนั้นมิอาจประมาณได้ และศาสนจักรต้องการเสียงของท่านเวลานี้มากกว่าที่ผ่านมา”19 บอนนี่ แอล. ออสคาร์สันประกาศว่า “[สตรี] ของศาสนจักรต้องเห็นว่าตนเองเป็นผู้มีส่วนสำคัญในงานแห่งความรอดที่กำกับดูแลโดยฐานะปุโรหิตและไม่ได้เป็นเพียงผู้ดูและผู้สนับสนุน”20

ให้ความไว้วางใจผู้นำสตรี

เราควรเอาใจใส่ให้มากต่อสิ่งที่พูดโดยผู้ที่เราสนับสนุนในฐานะศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผย พวกท่านถือกุญแจของอาณาจักร และพระเจ้าทรงกำกับดูแลงานของพระองค์ผ่านท่านเหล่านั้น นอกจากคำสอนของพวกท่าน ผู้นำสตรีของศาสนจักรได้รับการวางมือมอบหน้าที่และได้รับสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตให้พูดกับบุรุษและสตรีของศาสนจักรด้วย เราต้องฟังคำสอนของพวกเธอเช่นกันและฟังสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงแนะนำเราผ่านพวกเธอ

จงให้สตรีมีส่วนร่วมในสภา ไม่เพียงนั่งในสภาเท่านั้นแต่เคารพความคิดเห็นของพวกเธอ

ประธานบัลลาร์ดกล่าวว่า “ผู้นำฐานะปุโรหิตคนใดที่ไม่ให้ผู้นำสตรีมีส่วนร่วมด้วยความเคารพเต็มที่ การมีส่วนร่วมนั้นย่อมไม่ใช่การให้เกียรติและไม่ขยายกุญแจที่เขาได้รับ พลังอำนาจและอิทธิพลของเขาจะลดลงจนกว่าเขาจะเรียนรู้วิธีของพระเจ้า”21

ward council

อย่าให้คำตอบ “แบบเผด็จการ” กับคำถามที่พระเจ้าไม่ได้ทรงตอบด้วยพระองค์เอง

ประธานโอ๊คส์เตือนสมาชิกศาสนจักรให้เลี่ยงตอบคำถามที่พระเจ้าไม่เคยตอบ “อย่าทำผิดพลาดอย่างที่เคยทำในอดีต … โดยพยายามใช้เหตุผลของท่านอธิบายการเปิดเผย เหตุผลเหล่านั้นส่วนใหญ่มนุษย์คิดขึ้นเอง การเปิดเผยคือสิ่งที่เราสนับสนุนว่าเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าและมีความปลอดภัยอยู่ในนั้น”22

ประธานบัลลาร์ดยกตัวอย่างที่เหมาะกับเรื่องนี้ “เหตุใดบุรุษ—และไม่ใช่สตรี—จึงได้รับการวางมือแต่งตั้งสู่ตำแหน่งฐานะปุโรหิต … พระเจ้าไม่ได้ทรงเปิดเผยว่าเหตุใดพระองค์ทรงจัดตั้งศาสนจักรของพระองค์”23 ประธานบัลลาร์ดเตือนเราเช่นกันว่า “อย่าส่งต่อข่าวลือที่ส่งเสริมศรัทธาแต่ไม่เป็นความจริงหรือความเข้าใจและคำอธิบายที่ล้าสมัยในเรื่องหลักคำสอนและวิธีปฏิบัติของเราในอดีต นับว่าฉลาดเสมอถ้าจะสร้างนิสัยของการศึกษาถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกที่มีชีวิต ติดตามประเด็น นโยบาย และถ้อยแถลงปัจจุบันของศาสนจักรผ่าน mormonnewsroom.org และ LDS.org ค้นคว้าผลงานของนักวิชาการแอลดีเอสที่ซื่อสัตย์ รอบคอบ และได้รับการยอมรับเพื่อให้แน่ใจว่าท่านไม่สอนสิ่งที่ไม่จริง ล้าสมัย หรือแปลกประหลาด”24 จำไว้ว่าบางครั้งคำตอบที่ดีที่สุดคือ “ฉันไม่รู้” เราต้องค้นคว้าอย่างขยันหมั่นเพียรตามศรัทธาเพื่อเรียนรู้ความจริงจากพระเจ้า

จงช่วยให้สตรีและบุรุษเข้าใจเรื่องฐานะปุโรหิต

สำคัญอย่างยิ่งที่ต้องช่วยทั้งบุรุษและสตรีให้เชื่อมั่นว่าตนสามารถศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับฐานะปุโรหิตได้ พระคัมภีร์บางข้อที่จะช่วยเราในขั้นตอนนี้ แต่ไม่จำกัดอยู่เพียงเท่านี้ ได้แก่ แอลมา 13 และ หลักคำสอนและพันธสัญญาภาค 2, 13, 20, 76, 84, 95, 107, 110, 121 และ 124 การเข้าพระวิหารโดยมีจุดประสงค์ไม่เพียงแสวงหาคำตอบเท่านั้นแต่แสวงหาคำถามที่ได้รับการดลใจเกี่ยวกับหัวข้อนี้เป็นเรื่องที่ต้องเน้นย้ำเช่นกัน

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี (1915–1985) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “หลักคำสอนเรื่องฐานะปุโรหิต—ที่คนในโลกไม่รู้และคนในศาสนจักรรู้เล็กน้อย—ไม่สามารถเรียนรู้ได้จากพระคัมภีร์เพียงอย่างเดียว …

“หลักคำสอนเรื่องฐานะปุโรหิตรู้โดยการเปิดเผยส่วนตัวเท่านั้น ซึ่งมาโดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ บรรทัดมาเติมบรรทัดและกฎเกณฑ์มาเติมกฎเกณฑ์ ถึงคนที่รักและรับใช้พระผู้เป็นเจ้าด้วยสุดใจ พลัง ความนึกคิด และพละกำลังของพวกเขา (ดู คพ. 98:12)”25

จงช่วยให้สตรีเข้าใจว่าพวกเธอต้องยืนอยู่กับพระเจ้าและศาสดาพยากรณ์ของพระองค์

โลกเรานับวันจะแบ่งแยกและดูถูกกันมากขึ้น สตรีแข่งขันกันในหลายๆ ด้าน ความคิดเห็นดุเดือดและอารมณ์รุนแรง ลองนึกภาพอิทธิพลดีในโลกนี้ถ้าสมาชิกของศาสนจักรพูดได้ว่าพวกเธอเหมือนเอสเธอร์คือได้รับการสงวนไว้ “เพื่อยามวิกฤตเช่นนี้” (เอสเธอร์ 4:14) และพวกเธอแต่ละคนและทั้งกลุ่มต้องพร้อมใจกันนำโลกไม่ใช่ตามโลก

4. สรุป

เอ็มมา สมิธกล่าวว่า “เราจะทำเรื่องพิเศษบางอย่าง … เราคาดหวังโอกาสพิเศษและความต้องการเร่งด่วน”26 ความต้องการเร่งด่วนเหล่านี้ แม้กระทั่งคำขอร้องจากผู้นำศาสนจักรตลอดหลายปีที่ผ่านมามาถึงพี่น้องสตรีอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เมื่อเราเข้าใจความจริงเกี่ยวกับฐานะปุโรหิตดีขึ้น รับรู้เหตุผลว่าทำไมสตรีจำนวนมากจึงดำเนินชีวิตต่ำกว่าอภิสิทธิ์ของเธอ และปฏิบัติตามความรู้ที่เราได้รับเกี่ยวกับสตรีและโอกาสที่พวกเธอจะมีส่วนร่วมในงานของฐานะปุโรหิต เราจะ “พบปีติและสันติที่มาจากการรู้ผ่านการสอนของท่านว่าท่านได้สัมผัสชีวิต ท่านได้หนุนใจบุตรธิดาคนหนึ่งของพระบิดาบนสวรรค์ในการเดินทางของเขาหรือเธอจนถึงวันที่จะรับพวกเขาเข้าในที่ประทับของพระองค์อีกครั้ง”27

อ้างอิง

  1. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “คำวิงวอนต่อพี่น้องสตรีของข้าพเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2015, 97.

  2. บอนนี่ แอล. ออสคาร์สัน, “ลุกขึ้นด้วยความเข้มแข็งเถิด พี่น้องสตรีในไซอัน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2016, 14.

  3. คำสอนของประธานศาสนจักร: กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ (2016), 101.

  4. คู่มือเล่ม 2: การบริหารงานศาสนจักร (2010), 2.1.1.

  5. ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “กุญแจและสิทธิอำนาจของฐานะปุโรหิต,” เลียโฮนา, พ.ค. 2014, 49.

  6. เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด, “บุรุษและสตรีในงานของพระเจ้า,” เลียโฮนา, เม.ย. 2014, 48; ดู Daughters in My Kingdom: The History and Work of Relief Society (2011), 138–139 ด้วย.

  7. ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “กุญแจและสิทธิอำนาจของฐานะปุโรหิต,” 51.

  8. เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด, “ชายและหญิงในงานของพระเจ้า,” เลียโฮนา, 48–49.

  9. คำสองของประธานศาสนจักร: โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ (2013), 163. ดูการอภิปรายเจาะลึกเรื่องพรของฐานะโรหิตจาก บรูซ อาร์. แมคคองกี, “The Ten Blessings of the Priesthood,” Ensign, Nov. 1977, 33–35.

  10. เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด, “Let Us Think Straight” (การให้ข้อคิดทางวิญญาณที่มหาวิทยาลัยบริคัมยังก์, 20 ส.ค. 2013), 7; speeches.byu.edu.

  11. เชอรี ดิว, Women and the Priesthood: What One Mormon Woman Believes (2013), 125.

  12. ดัลลิน เอช. โอ๊คส์ “อำนาจฐานะปุโรหิตในครอบครัวและศาสนจักร”เลียโฮนา, พ.ย. 2005, 30.

  13. “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,” เลียโฮนา, พ.ค. 2017, 145.

  14. แอล. ทอล เพอร์รีย์, “ความเป็นพ่อ การเรียกนิรันดร์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2004, 88.

  15. ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “อำนาจฐานะปุโรหิตในครอบครัวและศาสนจักร,” 30.

  16. ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “อำนาจของฐานะปุโรหิต,” เลียโฮนา, พ.ค. 2018, 65.

  17. ลินดา เค. เบอร์ตัน, “Priesthood: ‘A Sacred Trust to Be Used for the Benefit of Men, Women, and Children’” (การประชุมใหญ่ของสตรีที่มหาวิทยาลัยบริคัม ยังก์ 3 พฤษภาคม 2013), womensconference.byu.edu/transcripts.

  18. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “คำวิงวอนต่อพี่น้องสตรีของข้าพเจ้า,” 96.

  19. เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด, “ชายและหญิงกับอำนาจฐานะปุโรหิต,” เลียโฮนา, ก.ย. 2014, 37.

  20. บอนนี่ แอล. ออสคาร์สัน, “ลุกขึ้นด้วยความเข้มแข็งเถิด พี่น้องสตรีในไซอัน,” 14.

  21. เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด, “ชายและหญิงกับอำนาจฐานะปุโรหิต,” เลียโฮนา, 35.

  22. ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, Life’s Lessons Learned: Personal Reflections (2011), 68–69.

  23. เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด, “ชายและหญิงกับอำนาจฐานะปุโรหิต,” เลียโฮนา, 35.

  24. เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด “โอกาสและความรับผิดชอบของครูซีอีเอสในศตวรรษที่ 21” (ปราศรัยต่อนักการศึกษาศาสนาระบบการศึกษาของศาสนจักร, 6 กุมภาพันธ์ 2016), broadcasts.lds.org.

  25. บรูซ อาร์. แมคคองกี, “The Doctrine of the Priesthood,” Ensign, May 1982, 32.

  26. เอ็มมา สมิธ ใน Daughters in My Kingdom, 14.

  27. เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด, “โอกาสและหน้าที่รับผิดชอบของครูซีอีเอสในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด”