2021
คำแนะนำ 7 ข้อสำหรับเอาชนะการติดสื่อลามก
มิถุนายน 2021


คนหนุ่มสาว

คำแนะนำ 7 ข้อสำหรับเอาชนะการติดสื่อลามก

ผู้เขียนอาศัยอยู่ในรัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา

ในการทำงานกับหนุ่มสาวโสดที่กำลังพยายามเอาชนะการใช้สื่อลามกตามแรงกดดัน ผมพบคำแนะนำบางประการที่คุณอาจพบว่าเป็นประโยชน์เช่นกัน

ภาพ
flow chart

ลายเส้นภาพคนจาก Getty Images

เมื่อผมได้รับการวางมือมอบหน้าที่เป็นอธิการคนใหม่ของวอร์ดหนุ่มสาวโสด มีหนุ่มสาวโสดนั่งเรียงแถวอยู่นอกประตูห้องทำงานของผมขณะรอพบผม ทายสิครับว่าเราสนทนาเรื่องอะไรในการสัมภาษณ์ครั้งแรกนั้น?

สื่อลามก

และเป็นเวลาสามปีติดต่อกันที่การพยายามช่วยคนหนุ่มสาวเอาชนะนิสัยเสพติดเป็นประเด็นใหญ่ในการเรียกของผม ด้วยเหตุนี้ผมจึงรู้ว่าผมต้องเรียนรู้ให้มากเท่าที่จะมากได้ ผมอดอาหาร สวดอ้อนวอน เข้าพระวิหาร ปรึกษากับผู้นำคนอื่นๆ ทบทวนแหล่งช่วยทั้งหมดที่มี เข้าชั้นเรียนบำบัดการเสพติด และเรียนรู้จากคนที่พยายามหาวิธีบำบัด ผมต้องการแบ่งปันความคิดอันเปี่ยมด้วยความหวังบางอย่างเกี่ยวกับสิ่งที่ผมได้เรียนรู้

1. รู้ว่าคุณเป็นลูกของพระบิดาพระมารดาบนสวรรค์ผู้ทรงรักคุณ

ถ้าคุณกำลังพยายามเอาชนะการติดสื่อลามก คุณอาจจะรู้สึกเหมือนกำลังออกห่างจากพระบิดาบนสวรรค์เพราะคุณคิดว่าคุณไม่คู่ควรกับความรักหรือความช่วยเหลือจนกว่าคุณจะแก้ไข นี่ตรงกับที่ซาตานต้องการ—คุณปลีกตัวออกจากทุกคนที่รักคุณโดยคิดว่าคุณสามารถเอาชนะสื่อลามกได้เองและเมื่อนั้นคุณถึงจะคู่ควรกับความรัก

เพราะธรรมชาติอันสูงส่งของคุณ คุณจึงคู่ควรเสมอกับการได้รับความหวัง การดลใจ และการเปิดเผยส่วนตัวจากพระบิดาบนสวรรค์และเดชานุภาพการเยียวยาของพระเยซูคริสต์เพื่อเอาชนะสื่อลามก1 อย่าออกห่างจากพระองค์หรือจากคนที่รักคุณ

2. เอาความอายออกไป

ผมเรียนรู้ว่าการเอาความอายออกไปสำคัญยิ่งต่อการเอาชนะสื่อลามก ความอายคือความรู้สึกเหมือนคุณทอดอาลัย หมดสภาพ หรือเป็นคนเลว การเชื่อความคิดเหล่านี้ที่ทำลายตัวคุณจะทำให้คุณติดอยู่ในวงจรเสพติดอยู่อย่างนั้น การรู้สึกผิดกับสิ่งที่คุณทำเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการกลับใจ และสามารถช่วยคุณเปลี่ยนพฤติกรรม แต่ความอายทำให้คุณรู้สึกเหมือนคุณนิสัยไม่ดีและคุณอยู่นอกเหนือความช่วยเหลือจากพระผู้ช่วยให้รอด2

พระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้คุณมีความหวังเต็มที่ในพระเยซูคริสต์และพรแห่งการชดใช้ของพระองค์ ความอายทำให้คุณอยู่ในวังวนของการโกหกและการรังเกียจตัวเอง โปรดเลี่ยงถนนของความอาย

3. อย่าด่วนใช้การตีตราว่า “การเสพติด”

หลายคนตีตราว่าตน “เสพติด” สื่อลามก ผมเตือนให้คุณระวังการตีตราอย่างไม่ถูกต้อง เยาวชนคนหนุ่มสาวส่วนใหญ่ที่ต่อสู้กับสื่อลามก ไม่ได้ เสพติดจริงๆ3 และการตีตราอย่างไม่ถูกต้องทำให้หยุดใช้สื่อลามกยากขึ้นไปอีกเพราะความอาย ความหวังที่ลดลง และการรังเกียจตนเองที่ใช้สื่อลามก

4. สร้างแผนป้องกันตนเองเป็นลายลักษณ์อักษร

แผนป้องกันตนเองเป็นเอกสารสามส่วนที่สามารถช่วยคุณเอาชนะสื่อลามก

ส่วนที่ 1 ระบุตัวกระตุ้น การถูกกระตุ้นเป็นก้าวแรกในวงจรที่ชักนำให้ดูสื่อลามก

มีตัวกระตุ้นหลายแบบ

  • ตามสถานการณ์: สภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดตัวกระตุ้นเนื่องจากความคิดหรือพฤติกรรมที่ผ่านมา (เช่น อยู่ในห้องเดียวกันหรือในเวลาใดเวลาหนึ่งของวัน)

  • ความเครียด/ความวิตกกังวล/ความเหงา/เหตุการณ์ที่เจ็บปวด: อารมณ์หรือสถานการณ์ยากๆ ที่กระตุ้นให้คุณหันไปหาสื่อลามกเพื่อหนีและจัดการกับความรู้สึกเหล่านี้

  • ตามการเห็น: การเห็นอะไรบางอย่างที่ไม่ลามกแต่กระตุ้นอารมณ์ทางสื่อสังคม ภาพยนตร์ ภาพถ่าย ฯลฯ

ส่วนที่ 2: วางแผนวิธีลดตัวกระตุ้น

ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณมีตัวกระตุ้นตามสถานการณ์เช่นรู้สึกอ่อนแอตอนดึก การปิดโทรศัพท์ 30 นาทีก่อนเข้านอนหรือการหลับโดยไม่เอาโทรศัพท์ไว้ในห้องจะช่วยได้ ถ้าสื่อลามกเป็นวิธีที่คุณใช้เผชิญกับความรู้สึกยากๆ ให้หาวิธีที่ดีกว่านั้นจัดการกับอารมณ์เหล่านี้ การออกกำลังกายและการรักษาด้วยยาจะช่วยคุณลดระดับความเครียดหรือความวิตกกังวลได้หรือไม่? การออกไปกับเพื่อนๆ หรือการลงทะเบียนเรียนชั้นเรียนสถาบันจะลดความเหงาได้หรือไม่? พิจารณาว่าคุณกำลังต่อสู้กับอะไรและทางเลือกใดจะเป็นประโยชน์ต่อคุณ

อีกทั้ง อย่าดูถูกเครื่องมือทางวิญญาณ การสวดอ้อนวอน การศึกษาพระคัมภีร์ การรับใช้ การเข้าร่วมประชุมที่โบสถ์ และการเข้าพระวิหารเป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่สำคัญยิ่งต่อการลดตัวกระตุ้นและช่วยให้คุณอยู่อย่างเข้มแข็ง

ส่วนที่ 3: วางแผนว่าจะทำอะไรเมื่อคุณถูกกระตุ้น ให้เขียนแผนออกมาหลายๆ ขั้นสำหรับตัวกระตุ้นแต่ละอย่าง

ตัวอย่างเช่น เมื่อคุณถูกกระตุ้น คุณจะปิดโทรศัพท์ทันที ส่งข้อความหรือโทรหาใครบางคน ไปเดินเล่นหรือออกกำลังกาย อ่านพระคัมภีร์มอรมอน หรือทำอะไรก็ได้ที่จะช่วยคุณเบนความคิด

จดขั้นตอนที่ได้ผลกับคุณ! บางครั้งตัวกระตุ้นจะผ่านไปโดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนวางแผนป้องกันแต่อย่างใด แต่ขั้นตอนของคุณจะช่วยดึงคุณออกจากชั่วขณะนั้น ทันทีที่ตัวกระตุ้นผ่านไป ให้อัปเดตแผนป้องกันของคุณว่าอะไรได้ผลและจะปรับให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในครั้งต่อไปได้อย่างไร เก็บแผนไว้ในที่ซึ่งคุณมองเห็นทุกวัน

ภาพ
flow chart part 2

5. เข้าใจการพลาดพลั้งกับการกลับมาทำซ้ำ

การพลาดพลั้งคือคุณผิดพลาด แต่คุณกลับตัวทันและใช้ความผิดพลาดนั้นเป็นประสบการณ์เรียนรู้เพื่อปรับปรุงแผนป้องกันของคุณ การกลับมาทำซ้ำคือคุณเลิกพยายาม ถลำลึก และไม่สนใจ

จงรู้ว่าการพลาดพลั้งเป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงแผนป้องกันของคุณ อย่าสรุปว่าคุณหมดหนทางก้าวหน้าหรือทั้งหมดที่คุณทำไปแล้วนั้นสูญเปล่า—เพราะไม่สูญเปล่า จงมองไปข้างหน้าด้วยเจตคติเชิงบวกและรู้ว่าเข้าใกล้การบำบัดขึ้นไปอีกหนึ่งวัน

เมื่อคุณพลาดพลั้ง ให้ถามตัวคุณว่า

  • เกิดอะไรขึ้น?

  • ทำไมตัวกระตุ้นนี้จึงต่างจากรูปแบบอื่น?

  • พักนี้คุณเครียดหรือไม่? คุณรู้สึกทางอารมณ์อย่างไร?

  • การไม่ศึกษาพระคัมภีร์ช่วงระยะเวลาหนึ่งทำให้คุณอ่อนแอหรือไม่?

  • ช่วงนี้คุณออกกำลังกายไม่มากใช่ไหม?

  • มีบางอย่างในแผนป้องกันของคุณที่ไม่ช่วยเลยหรือไม่?

  • คราวหน้าคุณจะทำอะไรต่างจากเดิมได้บ้าง?

จดสิ่งที่คุณกำลังเรียนรู้และทำต่อไป!

6. เชื่อในเดชานุภาพการเยียวยาของพระผู้ช่วยให้รอด

พระเยซูคริสต์ทรงสามารถช่วยคุณได้ในขั้นตอนการกลับใจที่เกิดขึ้น และทรงมีเดชานุภาพในการทำให้คุณบรรลุผลสำเร็จขณะพยายามเอาชนะสื่อลามก พระองค์เข้าพระทัยว่าคุณรู้สึกอย่างไรและทรงรอรับภาระนั้นไปจากคุณ อย่าคิดว่าการหันไปหาพระองค์เพิ่มภาระให้พระองค์ พระองค์ทรงจ่ายราคาให้คุณแล้ว จงทำให้ดีที่สุด มาใกล้พระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น และทูลขอให้พระองค์ทรงช่วยคุณเยียวยา เปลี่ยนความปรารถนาของคุณ และประทานความเข้มแข็งให้คุณมากขึ้นเพื่อเดินหน้าต่อไป

ดังที่เอ็ลเดอร์อูลิส์เสส ซวาเรสแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอน: “ขณะที่เราเพียรพยายามต่อไปเพื่อเอาชนะความท้าทาย พระผู้เป็นเจ้าจะทรงอวยพรเราด้วยของประทานแห่งศรัทธาที่จะรับการเยียวยาและของประทานแห่งการทำสิ่งอัศจรรย์ พระองค์จะทรงทำเพื่อเราในสิ่งที่เราไม่สามารถทำเองได้”4

7. อย่าทำสิ่งนี้ตามลำพัง

การเชื่อมสัมพันธ์และการผูกมิตรจะทำให้คุณมีพลังและช่วยให้คุณประสบความสำเร็จ คุณควรมีคนที่สามารถช่วยให้คุณรับผิดชอบตัวเองต่อไปและช่วยเหลือคุณทั้งในวันดีที่สุดและวันแย่ที่สุดของคุณ พวกเขาควรสนับสนุนคุณโดยไม่ตัดสิน และคุณจะให้การสนับสนุนพวกเขาแบบเดียวกัน จงขอคำแนะนำจากผู้นำศาสนจักรหรือสมาชิกครอบครัว และหากจำเป็น นักบำบัดหรือผู้ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตสามารถช่วยคุณค้นพบเหตุผลที่แฝงอยู่เช่นกันว่าทำไมคุณมีปัญหากับสื่อลามก

จำไว้ว่าคุณจะเป็นพ่อแม่และผู้นำในอนาคต

คุณเป็นรุ่นแรกที่กำลังหาทางรับมือกับการเข้าถึงสื่อลามกวันละ 24 ชั่วโมงสัปดาห์ละ 7 วัน ผมเชื่อว่าความท้าทายนี้จะขึ้นถึงจุดสูงสุดในรุ่นคุณเพราะคุณจะมีเครื่องมือที่ดีกว่าและมีปัญญานำคนอื่นๆ ออกห่างหรือออกจากกับดักนี้เมื่อคุณเป็นพ่อแม่และผู้นำในวันหน้า “พระบิดาบนสวรรค์มิได้ทรงวางเราไว้บนแผ่นดินโลกเพื่อให้ล้มเหลวแต่เพื่อให้ประสบความสำเร็จอย่างสมเกียรติ”5

ถึงแม้คำแนะนำเหล่านี้จะช่วยได้ขณะที่คุณพยายามเอาชนะสื่อลามก แต่อย่ากลัวเมื่อต้องหันไปขอความช่วยเหลือจากแหล่งอื่น เส้นทางการบำบัดของทุกคนต่างกัน จงหาสิ่งที่ช่วยคุณ อย่ายอมแพ้ ค่อยๆ ทำไปทีละวัน คุณทำได้ คุณทำได้แน่นอน (ดู ฟีลิปปี 4:13) และคุณจะกลายเป็นคนที่ควรจะเป็น

อ้างอิง

  1. ซิสเตอร์จอย ดี. โจนส์อธิบายความแตกต่างระหว่างคุณค่ากับความมีค่าควรใน “คุณค่าเกินกว่าจะวัดได้,” เลียโฮนา, พ.ย. 2017, 14.

  2. ดู เวนดีย์ อุลริช, “การเป็นคนอ่อนแอไม่ใช่บาป,” เลียโฮนา, เม.ย. 2015, 23; “Shame versus Guilt: Help for Discerning God’s Voice from Satan’s Lies” (digital-only article), Ensign, Jan. 2020.

  3. ดู ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “หลุดพ้นจากกับดักของสื่อลามก,” เลียโฮนา, ต.ค. 2015, 52. ประธานโอ๊คส์พูดถึงการแยกแยะระดับต่างๆ ของความเกี่ยวข้องกับสื่อลามก: “(1) พบเห็นโดยไม่ตั้งใจ (2) ใช้เป็นครั้งคราว (3) ใช้ถี่มาก และ (4) ใช้แบบควบคุมไม่ได้ (เสพติด)” จะช่วยได้ถ้ารับรู้ว่าไม่ใช่ทุกคนที่ใช้สื่อลามกจะ “เสพติด” มีความหวังสำหรับการเอาชนะสื่อลามก ไม่ว่าคุณเกี่ยวข้องระดับใด

  4. อูลิส์เสส ซวาเรส, “แบกกางเขนของเรา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2019, 114.

  5. Richard G. Scott, “Learning to Recognize Answers to Prayer,” Ensign, Nov. 1989, 30.

พิมพ์