วิธีที่เราสามารถจัดการกับการกระทำทารุณกรรม
ต่อไปนี้คือคำแนะนำบางประการสำหรับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการกระทำทารุณกรรม ผู้นำศาสนจักร และครอบครัวของพวกเขา
พระผู้ช่วยให้รอดตรัสถึงการกระทำทารุณกรรมอย่างจริงจังว่า “แต่ถ้าใครทำให้ผู้เล็กน้อยเหล่านี้คนหนึ่งที่วางใจในเราหลงผิดไป เอาหินโม่ก้อนใหญ่ผูกคอคนนั้นแล้วถ่วงเขาเสียที่ทะเลลึกก็จะดีกว่า” (มัทธิว 18:6; ดู มาระโก 9:42; ลูกา 17:2 ด้วย)
การกระทำทารุณกรรมคือการปฏิบัติไม่ดีหรือปล่อยปละละเลยผู้อื่น (เช่น เด็กหรือคู่สมรส คนชรา หรือผู้พิการ) อันจะก่อให้เกิดอันตรายทางร่างกาย จิตใจ หรือทางเพศ จุดยืนของศาสนจักรคือไม่ยอมรับการกระทำทารุณกรรมทุกรูปแบบ
แนวคิดต่อไปนี้สามารถช่วยได้ไม่ว่าท่านจะตกเป็นเหยื่อของการกระทำทารุณกรรมหรือเป็นผู้นำศาสนจักรหรือผู้ปกครองของเหยื่อ
ถึงเหยื่อ
ในฐานะเหยื่อ1 ของการกระทำทารุณกรรม ท่านไม่ต้องถูกตำหนิต่อการกระทำที่ท่านประสบ และท่านไม่จำเป็นต้องได้รับการให้อภัยจากผู้กระทำต่อท่าน ท่านอาจสงสัยว่าพระผู้ช่วยให้รอดจะทรงช่วยเยียวยาท่านได้อย่างไร ท่านอาจคิดว่าการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดมีไว้สำหรับผู้ที่ทำบาปและต้องกลับใจเท่านั้น
ดังนั้นพระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยท่านอย่างไร? เพราะการเสียสละของพระองค์ พระองค์เข้าพระทัย พระผู้ช่วยให้รอดทรงมีความเห็นอกเห็นใจอันศักดิ์สิทธิ์ แม้ว่าเราอาจไม่รู้แน่ชัดว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงรู้สึกถึงความเจ็บปวดทั้งหมดของเราได้อย่างไร แต่เราสามารถมีศรัทธาว่าพระองค์เข้าพระทัยทั้งชาย หญิง และเด็ก แต่ละคนอย่างสมบูรณ์ (ดู 2 นีไฟ 9:21) พระองค์ทรงสามารถให้สันติและความเข้มแข็งเพื่อรุดหน้าต่อไป2
พระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยคนถูกทำร้ายผ่านการชดใช้ของพระองค์ พระองค์ทรงสามารถช่วย “โดยเยียวยาและชดเชยให้เราสำหรับความทุกข์ทรมานใดๆ ก็ตามที่เราต้องทนทุกข์โดยปราศจากความผิด” 3
ไม่ว่าผู้กระทำความผิดจะรับผิดชอบเมื่อใดหรืออย่างไร ท่านก็สามารถ “มั่นใจได้ว่าองค์ผู้พิพากษาผู้ทรงเพียบพร้อมด้วยความรู้ในรายละเอียด จะถือว่าผู้กระทำทารุณกรรมมีภาระรับผิดชอบในการกระทำอันไม่ชอบธรรมทุกรูปแบบ” 4 พึงทราบอีกอย่างหนึ่งว่าคนที่ “ทำร้ายคู่ครองหรือบุตรธิดา … วันหนึ่งเขาจะยืนชี้แจงต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า”5
ถึงผู้นำศาสนจักร
ผู้นำและครูทุกคนที่รับใช้เยาวชนและเด็กจะต้องเข้ารับการฝึกอบรมออนไลน์ “การคุ้มครองเด็กและเยาวชน”6
ผู้นำศาสนจักรไม่ควรเพิกเฉยต่อรายงานการกระทำทารุณกรรมหรือแนะนำสมาชิกไม่ให้รายงานการก่ออาชญากรรม7 ผู้นำศาสนจักรและสมาชิกควรทำตามข้อกำหนดทางกฎหมายทุกประการเพื่อรายงานการกระทำทารุณกรรมต่อเจ้าหน้าที่บ้านเมือง อย่างไรก็ตาม พื้นที่ต่างๆ จะมีกฎหมายการแจ้งความที่แตกต่างกันไป บางพื้นที่กำหนดให้ผู้ปฏิบัติศาสนาติดต่อหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย แต่พื้นที่อื่นห้ามทำเช่นนั้น
เป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้นำที่จะเข้าใจว่าเหยื่อของการกระทำทารุณกรรมอาจไว้วางใจผู้อื่นได้ยาก โดยเฉพาะกับผู้ที่อยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจ สถานการณ์ดังกล่าวอาจมีความท้าทายทางอารมณ์ ความยากลำบากของเหยื่อในการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอาจไม่เกี่ยวข้องกับท่านเป็นการส่วนตัวแต่อย่างใด การพบปะกับผู้นำตามลำพังอาจรู้สึกน่ากลัวสำหรับเหยื่อของการกระทำทารุณกรรม ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อสามารถเชิญผู้ใหญ่ที่ไว้ใจมาอยู่กับพวกเขาได้เมื่อพวกเขาพบกับผู้นำฐานะปุโรหิต 8
ไม่ว่าจะมีคนถูกกระทำทารุณกรรมเมื่อใด เขาจะได้รับประโยชน์จากการสนับสนุนและความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ เหยื่อส่วนใหญ่จะรับการรักษาได้ดีที่สุดเมื่อความรู้สึกของพวกเขาถูกมองว่ามีค่า เมื่อพวกเขารู้สึกว่าปลอดภัยและได้รับการปกป้อง พวกเขารู้สึกว่ามีคนเชื่อพวกเขา และพวกเขาเข้าใจว่าการกระทำทารุณกรรมส่งผลต่อพวกเขาอย่างไร การสนับสนุนสามารถช่วยให้พวกเขาพบสันติและไม่รู้สึกโดดเดี่ยวในขณะที่พวกเขาพยายามหาทางเยียวยา 9
การยืนหยัดต่อต้านการกระทำทารุณกรรมโดยไม่คำนึงถึงผู้ที่เกี่ยวข้องควรเป็นมาตรฐาน อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้กระทำความผิดอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจและมีความน่าไว้ใจ การกระทำทารุณกรรมจะร้ายแรงกว่าและอาจเป็นอันตรายต่อเหยื่อได้มากขึ้น ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งน่าไว้วางใจที่กระทำทารุณกรรมผู้อื่นจำเป็นต้องมีการจัดการในมาตรฐานที่สูงขึ้นเนื่องจากพวกเขาละเมิดความไว้วางใจของเหยื่อ ศาสนจักรมีนโยบายที่จะไม่ยอมให้มีการกระทำทารุณกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่อยู่ในตำแหน่งน่าไว้วางใจและมีอำนาจ
ถึงบิดามารดา
แม้ว่าเรื่องราวการกระทำทารุณกรรมโดยผู้มีอำนาจจะได้รับความสนใจในข่าวมากกว่า แต่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อมักถูกทำร้ายโดยคนที่พวกเขารู้จัก ผู้กระทำความผิดอาจเป็นคนในครอบครัว ญาติ หรือเพื่อนบ้าน ผู้กระทำผิดอาจมีอายุเท่าใดก็ได้ ผู้กระทำความผิดมักไม่ค่อยเป็นคนแปลกหน้า 10
แต่มีสัญญาณของการกระทำทารุณกรรมหลายอย่างที่เราสามารถสอนลูกๆ ของเราเพื่อช่วยให้พวกเขารู้และหลีกเลี่ยงได้ สอนลูกๆ ของท่านว่าถ้ามีคนขอให้ทำสิ่งที่พวกเขารู้ว่าผิด พวกเขาปฏิเสธได้ ต่อไปนี้คือตัวอย่างบางส่วนของวิธีที่ผู้กระทำความผิดอาจบังคับข่มขู่หรือล่อลวงเหยื่อ:
-
ผู้กระทำผิดใช้ตำแหน่ง อำนาจ อายุ ขนาดร่างกาย หรือความรู้เพื่อบังคับให้เหยื่อทำในสิ่งที่ต้องการ
-
พวกเขาบอกว่าไม่ต้องการเป็นเพื่อนของเหยื่อเว้นแต่เหยื่อจะทำตามที่พวกเขาพูด
-
พวกเขานำอะไรบางอย่างไปและจะไม่คืนให้เว้นแต่เหยื่อจะทำตามที่พวกเขาบอก
-
พวกเขาขู่ว่าจะเผยแพร่เรื่องโกหกเกี่ยวกับเหยื่อยกเว้นเหยื่อจะยอมทำตามในสิ่งที่ต้องการ
-
พวกเขาเสนอของขวัญ สินน้ำใจ หรือรางวัลอื่นๆ เพื่อให้ได้ในสิ่งที่พวกเขาต้องการ
-
พวกเขาบอกกับเหยื่อว่าจะไม่มีใครเชื่อเหยื่อและเหยื่อจะมีปัญหาหากบอกใครเกี่ยวกับการกระทำที่ไม่เหมาะสม
-
พวกเขาขู่จะทำร้ายเหยื่อหรือคนที่เหยื่อรักหากเหยื่อไม่ทำสิ่งที่พวกเขาบอก11
การแก้ปัญหาเกี่ยวกับการกระทำทารุณกรรมเป็นสถานการณ์ที่ซับซ้อน ไม่มีคำตอบง่ายๆ แต่เราสามารถพบการปลอบโยนอย่างมากจากคำพูดของเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองว่า “ไม่มีความเจ็บปวดทางกาย บาดแผลทางวิญญาณ ความรวดร้าวของจิตวิญญาณหรือความปวดใจ ทุพพลภาพหรือความอ่อนแอที่ท่านหรือข้าพเจ้าเคยเผชิญในความเป็นมรรตัยที่พระผู้ช่วยให้รอดไม่ทรงประสบมาก่อน ในชั่วขณะของความอ่อนแอเราอาจร้องว่า ‘ไม่มีใครรู้ว่าเป็นอย่างไร ไม่มีใครเข้าใจ’ แต่พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าทรงทราบและเข้าพระทัยดี เพราะทรงรู้สึกและทรงแบกภาระของเราแต่ละคน และเพราะการพลีบูชาอันไม่มีขอบเขตและเป็นนิรันดร์ของพระองค์ (ดู แอลมา 34:14) พระองค์จึงเข้าพระทัยความรู้สึกได้อย่างถ่องแท้และทรงยื่นพระพาหุแห่งความเมตตามาให้เราได้ พระองค์ทรงเอื้อมมาสัมผัส ช่วยเหลือ เยียวยา และเพิ่มพละกำลังให้เราได้มากกว่าที่เราจะทำได้ ทรงช่วยให้เราทำสิ่งที่เราไม่อาจทำได้โดยอาศัยเพียงพลังของเราเอง” 12
ขอให้เราหันไปหาเจ้าชายแห่งสันติและจะได้พบกับความหวังและการเยียวยาผ่านทางพระองค์