ดิฉันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยการปฏิบัติศาสนกิจจริงๆ หรือ?
เมื่อเรากระทำด้วยศรัทธาและด้วยความรัก ความพยายามทุกอย่างสำคัญ
ในศาสนจักรเราพูดกันมากเรื่องการปฏิบัติศาสนกิจ และหลายครั้ง แนวคิดเกี่ยวกับการปฏิบัติศาสนกิจที่ดิฉันเข้าใจอาจถอดความได้ว่า เป็นการ “หา คนขัดสน เติมเต็ม คนขัดสน” นั่นคือเรื่องราวที่เป็นแบบอย่างจากแท่นพูดในการปราศรัยของการประชุมใหญ่สามัญ นั่นคือเรื่องราวที่กลายเป็นแบบอย่างของการปฏิบัติศาสนกิจที่รู้จักกันดี และแม้เรื่องราวเหล่านั้นจะเกิดขึ้นจริง แต่ใช่ว่าเราจะปฏิบัติศาสนกิจได้เฉพาะโอกาสดังกล่าว ตามประสบการณ์ของดิฉัน นั่นไม่ใช่แม้แต่วิธีธรรมดาที่สุดที่จะปฏิบัติศาสนกิจ
บ่อยครั้ง เมื่อเราถามผู้ที่เราปฏิบัติศาสนกิจด้วยว่าต้องการอะไร พวกเขาจะตอบว่าไม่ต้องการอะไร ทุกอย่างลงตัวแล้ว สำหรับคนที่พยายามอย่างจริงใจที่จะมีสัมฤทธิผลในการเรียกให้ปฏิบัติศาสนกิจ นั่นอาจเป็นคำตอบที่ทำให้ท้อใจได้ เมื่อเวลาผ่านไป พวกเขาอาจเริ่มรู้สึกเหมือนไม่รู้จะทำอะไรเพื่อรับใช้คนนั้น
แต่จะเป็นอย่างไรถ้าเราคิดนอกกรอบเรื่องการเติมเต็มความขัดสนแล้วให้ความดูแลเอาใจใส่ผู้อื่นอย่างแท้จริงเหมือนที่พระเยซูคริสต์ทรงทำ? จะเป็นอย่างไรถ้าเราปฏิบัติศาสนกิจโดยทำตามการกระตุ้นเตือนที่อ่อนโยนและเอื้ออารีเกี่ยวกับคนที่เราปฏิบัติศาสนกิจ? เอ็ลเดอร์เกอร์ริท ดับเบิลยู. กอง แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองวางแนวทางเรื่องนี้ไว้อย่างสมบูรณ์แบบเมื่อท่านกล่าวว่า “แต่ละวัน เราแต่ละคนจำเป็นต้องมีและสามารถให้ความรักความช่วยเหลือจากการปฏิบัติศาสนกิจในวิธีที่เล็กน้อย เรียบง่าย ทรงพลัง และเปลี่ยนชีวิต ซึ่งมีมากมายหลายวิธี”1
เมื่อผู้นำของศาสนจักรกระตุ้นให้เราหาวิธีปฏิบัติศาสนกิจที่เล็กน้อยและเรียบง่าย อะไรคือสิ่งที่รั้งเราไว้? บางครั้งความคิดของเรานั่นเองที่มาขวางกั้น สิ่งหนึ่งที่ขวางกั้นความพยายามปฏิบัติศาสนกิจของดิฉันไม่ใช่การรู้ว่าความพยายามจะ “สำคัญ” หรือไม่ ความพยายามในการปฏิบัติศาสนกิจของเราสำคัญหรือไม่ถ้าไม่ใช่การกระทำที่พิเศษเป็นรูปธรรมอย่างการนำอาหารไปให้หรือขับรถให้?
ดิฉันว่าสำคัญ
ความพยายามในการปฏิบัติศาสนกิจของเราสำคัญหรือไม่ถ้าไปปฏิบัติศาสนกิจโดยไม่ได้รับการยอมรับหรือไม่มีผลตอบแทนใดๆ?
ดิฉันว่าสำคัญ
ทุกครั้งที่เราลงมือทำโดยทำตามพระวิญญาณ เราเลี้ยงแกะของพระคริสต์
ดังที่ซิสเตอร์จีน บี. บิงแฮม ประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญกล่าว “บางครั้งเราคิดว่าเราต้องทำสิ่งใหญ่โตและเก่งกาจจึงจะ ‘นับ’ เป็นการรับใช้เพื่อนบ้านของเรา ทว่าการกระทำที่เรียบง่ายของการรับใช้สามารถส่งผลอันลึกซึ้งต่อผู้อื่น—และตัวเราเอง”2
การปฏิบัติศาสนกิจเริ่มด้วยความปรารถนาที่เรียบง่ายที่จะรับใช้ผู้อื่นและมักเกี่ยวข้องกับการกระทำตามการกระตุ้นเตือนทางวิญญาณในเรื่องเล็กน้อย เราสวดอ้อนวอนขอความช่วยเหลือได้ตลอดเวลาเพื่อรู้วิธีที่ดีที่สุดที่จะรับใช้คนที่เราปฏิบัติศาสนกิจ แต่นี่คือสองสามวิธีที่เราจะเติมเต็มวันเวลาของคนที่อยู่รอบข้างเราได้:
-
แบ่งปันพอดแคสต์
-
นำอาหารกลางวันไปให้ที่ที่ทำงาน
-
ชวนพวกเขาไปเที่ยวกับท่านและเพื่อนๆ
-
ให้พวกเขายืมหนังสือเล่มโปรดของท่าน
-
เริ่มจัดกลุ่มรับประทานอาหารร่วมกัน อ่านหนังสือด้วยกัน หรือการชุมนุมแบบอื่นๆ
-
เข้าร่วมกิจกรรมที่พวกเขาวางแผนไว้
-
ติดตามและมีปฏิสัมพันธ์ในทางที่ดีกับพวกเขาในสื่อสังคม
-
เตรียมพร้อมและมีส่วนในบทเรียนที่พวกเขาสอนที่โบสถ์
แน่นอน นี่ไม่ใช่รายการที่ครอบคลุมทุกสิ่ง—มีวิธีที่เราจะปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราแสวงหาการเปิดเผยที่จะเข้าใจเรื่องจำเป็นของคนที่เรารับใช้ เราสวดอ้อนวอนให้พระวิญญาณทรงดลใจเราให้นึกถึงวิธีที่จะดูแลแต่ละคนได้ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลโดยสร้างมิตรภาพ เสริมสร้างความสามัคคี หรือเพิ่มความรู้สึกเข้าพวก
ขณะที่เราทุ่มเทความพยายามในการปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้อื่น ให้เราจำไว้ด้วยว่าต้องให้ผู้อื่นมีโอกาสปฏิบัติศาสนกิจต่อเราบ้าง อย่าเป็นคนที่ตั้งกรอบความคิดไว้ในใจว่า “ฉันไม่ต้องการอะไร ทุกอย่างลงตัว” ตลอดเวลา ให้บราเดอร์หรือซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจของท่านรู้จักท่านและพยายามรู้จักพวกเขาด้วย มองหาวิธีที่ท่านได้รับการปฏิบัติศาสนกิจในแบบที่คาดไม่ถึงแล้วรับรู้วิธีเหล่านั้น ขยายแนวคิดการปฏิบัติศาสนกิจของท่าน และจำไว้ว่า เมื่อท่านกระทำด้วยศรัทธาและด้วยความรัก ความพยายามของท่านสำคัญ