2023
ความกลัวเข้ามาขวางความสัมพันธ์ของคุณกับพระผู้เป็นเจ้าไหม?
มิถุนายน 2023


“ความกลัวเข้ามาขวางความสัมพันธ์ของคุณกับพระผู้เป็นเจ้าไหม?” เลียโฮนา, มิถุนายน 2023

คนหนุ่มสาว

ความกลัวเข้ามาขวางความสัมพันธ์ของคุณกับพระผู้เป็นเจ้าไหม?

ฉันจะปิดช่องว่างที่บางครั้งฉันรู้สึกระหว่างฉันกับพระบิดาบนสวรรค์ได้อย่างไร?

ภาพ
ผู้หญิงมองข้ามเหวลึกไปที่กลุ่มคน

ภาพประกอบโดย อเล็กซ์ นาบาอุม

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าความสัมพันธ์ของคุณกับพระผู้เป็นเจ้ามั่นคงจนคุณวางใจพระองค์ได้ 100 เปอร์เซ็นต์? คุณอาจจะอยากมีศรัทธาจนเคลื่อนภูเขา (ดู มัทธิว 17:20) หรือพูดกับแม่น้ำได้ว่า “เจ้าจงเป็นแผ่นดิน” (1 นีไฟ 17:50)

ฉันเชื่อว่าความสัมพันธ์กับพระผู้เป็นเจ้าแบบนี้เกิดขึ้นได้ แต่ฉันสงสัยมาตลอดว่าเกิดขึ้นกับ ฉัน ได้หรือ?

ฉันทะนุถนอมความสัมพันธ์ของฉันกับพระบิดาบนสวรรค์ ฉันอุทิศเวลา ความพยายาม และความรักแด่พระองค์ทุกวัน แต่บางครั้งก็ยังรู้สึกว่ามีช่องว่างขนาดใหญ่กั้นขวางไม่ให้ฉันรู้สึกใกล้ชิดพระองค์มากขึ้น ฉันไม่รู้ว่าจะปิดช่องว่างนั้นอย่างไร จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้

ความกลัวทำร้ายความสัมพันธ์

ฉันใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตอยู่ห่างทางอารมณ์จากคนที่ฉันรัก ฉันชอบมีเพื่อน แต่ไม่เคยเรียนรู้วิธีให้คนอื่นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตฉัน จริงๆ ซึ่งต้องใช้การเปิดใจและเปิดตัวจนฉันรู้สึกอึดอัด

ตลอดหลายปีที่ผ่านมาฉันเจ็บปวดกับความสัมพันธ์ที่อ่อนแอ แตกหัก และล้มเหลว ดังนั้นการเสี่ยงทลายกำแพงของตนเองเพื่อเชื่อมสัมพันธ์กับผู้คนจึงรู้สึกเป็นอันตรายอยู่เสมอ ฉันใช้เวลานานกว่าจะยอมรับเรื่องนี้ แต่หนึ่งในความกลัวที่สุดของฉันคือกลัวรู้สึกไม่ดีพอสำหรับคนที่สำคัญต่อฉันและกลัวถูกทอดทิ้ง

เมื่อเร็ว ๆ นี้ฉันตระหนักว่าบางครั้งฉันประสบความกลัวถูกทอดทิ้งแบบเดียวกันนี้ในความสัมพันธ์ของฉันกับพระผู้เป็นเจ้า

เมื่อฉันอ่านพระคัมภีร์ว่าเราสามารถวางใจพระผู้เป็นเจ้าได้ ฉันเชื่อ แต่ในช่วงที่ฉันจำเป็นต้องวางใจพระองค์ เศษเสี้ยวของความกลัวเกาะกุมและทำให้ฉันไม่วางใจอย่างสมบูรณ์ ประธานโธมัส เอส. มอนสัน (1927–2018) อธิบายความรู้สึกนี้ว่า “อาจมีบางเวลาที่ท่านรู้สึกโดดเดี่ยว—แม้กระทั่งถูกแยก—จากผู้ประทานของประทานอันดีทุกอย่าง ท่านกังวลว่าท่านเดินตามลำพัง ความกลัวแทนที่ศรัทธา”1

ขณะศึกษาวิธีที่ความกลัวส่งผลต่อความสัมพันธ์ของฉัน ฉันได้ค้นพบความจริงบางประการที่ช่วยให้ฉันตอบสนองต่อความกลัวได้ดีขึ้น เพื่อที่ฉันจะได้มีความหวังและกระชับความสัมพันธ์ต่อเนื่องกับพระองค์และคนอื่นๆ

ความสำคัญของความไว้วางใจ

เราทุกคนต้องการความสัมพันธ์ที่ปลอดภัยและไว้วางใจได้ในชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพระบิดาบนสวรรค์ แต่บางครั้งความกลัวจะเข้ามาขวางเราไม่ให้เปิดใจรับคนที่จะมาเป็นเพื่อน คู่นิรันดร์ และแม้แต่พระบิดาบนสวรรค์ เราจะรู้สึกว่าถูกสิ่งต่างๆ มากมายคุกคาม แต่ส่วนใหญ่แล้วความกลัวใหญ่หลวงที่สุดมาจากการรับรู้ว่าคนอื่นกำลังตีตนออกห่างจากเรา หรือกลัวว่าพวกเขาจะตีตนออกห่างในอนาคต

ฉันเห็นว่าตนเองหมกมุ่นอยู่กับการรอให้คนที่ฉันชอบส่งข้อความกลับมาหาฉัน ฉันเช็คโทรศัพท์ตลอดเวลาโดยหวังว่าพวกเขาจะตอบกลับมา และรู้สึกกังวลหากพวกเขาไม่ตอบกลับ! บางครั้งฉันตัดสินใจอย่างไม่มีเหตุผลว่าความสัมพันธ์ระหว่างออกเดทไม่คุ้มกับการเสี่ยงถูกทำร้ายทางอารมณ์หรือผิดหวัง ฉันจึงเลิกออกเดท การตอบสนองทั้งสองแบบนี้แสดงให้เห็นว่าปฏิกิริยาตอบกลับอยู่บนพื้นฐานของความกลัวมากกว่าความไว้วางใจ

เมื่อเป็นดังนี้ จึงเข้าใจว่าฉันจะตอบสนองต่อพระผู้เป็นเจ้าด้วยวิธีเดียวกันเมื่อฉันไม่ไว้วางใจในพระองค์อย่างเต็มที่ แต่ปล่อยให้ความกลัวและความสงสัยมากำหนดการกระทำของฉัน แต่ตามที่เราเรียนรู้ในสุภาษิต เราสามารถ “วางใจในพระยาห์เวห์ด้วยสุดใจ [ของเราได้เสมอ] และอย่าพึ่งพาความรอบรู้ของ [เราเอง]” (สุภาษิต 3:5)

ภาพ
ผู้หญิงอยู่ปนกับคนอื่นๆ

การตั้งความคาดหวังที่ดี

เราทุกคนสามารถพัฒนาความสัมพันธ์อันดีและมั่นคงขึ้นได้ และสิ่งหนึ่งที่ช่วยฉันได้คือการตั้งความคาดหวังบนความเป็นจริง เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนมีความคาดหวังที่ตรงไปตรงมาบนความเป็นจริง พวกเขามักไม่รู้สึกว่าการกระทำ (หรือการไม่กระทำ) ของอีกฝ่ายกำลังทำให้ความสัมพันธ์ตกอยู่ในอันตราย

บางครั้งเรามีความคาดหวังผิดๆ กับวิธีที่พระผู้เป็นเจ้าจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตเรา และความคาดหวังเหล่านั้นมักเป็นเหตุให้เรารู้สึกว่าเราไม่สามารถไว้วางใจพระองค์ได้—เพราะพระองค์ไม่มาช่วยเราตามที่เราคาดหวังหรือต้องการให้พระองค์ช่วย เราอาจเริ่มรู้สึกท้อแท้ใจ ไม่ปลอดภัย หรือกลัวว่าพระองค์ไม่อยู่ที่นั่น ไม่รักเรา หรือไม่รักษาสัญญา

เราอาจตอบสนองด้วยความกระวนกระวายใจ หรือเริ่มให้ศรัทธาของเราขึ้นอยู่กับสัมฤทธิผลของพรที่เราคิดว่าสมควรได้รับหรือผลลัพธ์ที่เราคิดว่าดีที่สุดสำหรับเรา หรือเราอาจหลีกเลี่ยง—เราเลิกอ่านพระคัมภีร์หรือเลิกสวดอ้อนวอนขอการนำทางจากพระองค์เพราะเราอยากพึ่งพากำลังของเราเองมากกว่า

แนวโน้มทั้งหมดนี้เป็นอุปสรรคขัดขวางเราไม่ให้รู้สึกและตอบแทนความรักที่สมบูรณ์แบบของพระบิดาบนสวรรค์จริงๆ

ในกรณีเหล่านี้ เราคือ ผู้ที่จำเป็นต้องประเมินความคาดหวังและพฤติกรรมของเราใหม่ แทนที่จะบอกพระผู้เป็นเจ้าว่าพระองค์ควรจะมาช่วยเหลือเราอย่างไร การเรียนรู้ว่าพระองค์ทรงทำงานอย่างไรจะเป็นประโยชน์มากกว่า ตามที่เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “นับว่าเป็นความเขลาของเราจริง ๆ ในวิสัยทัศน์สั้นของความเป็นมรรตัยที่เราทำตัวตัดสินพระผู้เป็นเจ้า ที่จะคิดอะไรว่า ‘ฉันไม่มีความสุข พระผู้เป็นเจ้าต้องทำอะไรผิดพลาดแน่ๆ’”2

พันธสัญญาสร้างความไว้วางใจ

เพื่อพัฒนาความไว้วางใจในความสัมพันธ์ของเรากับพระบิดาบนสวรรค์ เราสามารถหันมาดูพันธสัญญาของเรา พันธสัญญาอธิบายชัดเจนว่าพระองค์ทรงคาดหวังอะไรจากเรา ขณะพยายามอย่างขยันขันแข็งเพื่อให้บรรลุจุดหมายของเรา เราทำส่วนของเราเพื่อส่งเสริมความไว้วางใจในความสัมพันธ์อันสูงส่งนี้

พันธสัญญาเป็นหลักฐานว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงรักและทรงให้คำมั่นกับเรา—ว่าไม่มีสิ่งใดแยกเราให้ขาดจากพระองค์หรือความรักของพระองค์ได้ (ดู โรม 8:38–39) ตราบที่เรายังคงแสวงหาพระองค์และกลับใจในแต่ละวัน เมื่อเราเห็นด้วยตนเองว่าพระองค์ทรงรักษาสัญญาที่ทรงทำกับเราขณะเรารักษาสัญญาของเรากับพระองค์ เรามั่นใจว่าเราสามารถวางใจพระองค์ได้อย่างสมบูรณ์

การรับรู้สัมฤทธิผลแห่งพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าต้องอาศัยการสังเกต การใคร่ครวญ และศรัทธา ถ้าคุณมองไม่เห็นพระองค์ในชีวิต ลองพิจารณาด้านต่างๆ เหล่านี้ที่พระองค์ทรงสัญญาว่าจะประทานพรคุณเมื่อคุณทำและรักษาพันธสัญญา:

  • การบรรเทาความล้มเหลว ความเศร้าโศก หรือความเสียใจ3

  • “ความรู้มากขึ้นเกี่ยวกับพระประสงค์และคำสอนของพระเจ้า”4

  • พลังต่อต้านการล่อลวง5

  • “ความหวัง ความสบายใจ และสันติสุขที่เพิ่มขึ้น”6

  • ความสัมพันธ์ที่แนบแน่นขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้นกับพระผู้ช่วยให้รอด7

  • พลังที่จะลุกขึ้นทำให้เต็มศักยภาพของเรา8

  • ปีติและการกระตุ้นเตือนทางวิญญาณ9

  • “การดลใจและแรงบันดาลใจที่ไร้ขีดจำกัด”10

เมื่อฉันตั้งใจมองหาพรเหล่านี้ เห็นได้ชัดว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงนำทางฉันเสมอและรักษาสัญญาของพระองค์ตามที่ทรงสัญญาไว้เสมอ และนั่นทำให้ฉันไว้วางใจได้ว่าพระองค์ จะ อยู่ที่นั่นเพื่อฉันเมื่อฉันต้องการพระองค์ “เพราะพระองค์จะทรงทำตามสัญญาของพระองค์ทั้งหมดซึ่งพระองค์จะทรงทำกับลูก, เพราะพระองค์ทรงทำตามสัญญาของพระองค์ซึ่งทรงทำกับบรรพบุรุษเรามาแล้ว” (แอลมา 37:17)

ในชีวิตของฉัน ความสัมพันธ์ไม่ได้ราบรื่นทั้งหมด และความสัมพันธ์ที่แตกหักทำให้ฉันไม่กล้าลองอีกครั้ง แต่ฉันเชื่อว่าเราทุกคนสามารถเอาชนะความกลัวได้เมื่อเราฝึกสร้างความไว้วางใจและพยายามเข้าใจพลังทางวิญญาณที่มาจากความสัมพันธ์แบบพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้า

ฉันมีความหวังว่าจะพบคู่นิรันดร์สักวันหนึ่งและสร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้อื่นต่อไปผ่านสิ่งที่ฉันเรียนรู้เกี่ยวกับการรักษาพันธสัญญาของฉันกับพระองค์ ตามที่เอ็ลเดอร์คริสทอฟเฟอร์สันสอนว่า “สุดท้ายแล้ว พรของความสัมพันธ์ใกล้ชิดและแนบสนิทกับพระบิดาและพระบุตรนั่นเองที่เราแสวงหา สิ่งนี้สร้างความแตกต่างให้ทุกเรื่องและคุ้มค่านิรันดร์ … ไม่ว่าประสบการณ์มรรตัยของเราจะส่งผลอย่างไร เราสามารถวางใจพระผู้เป็นเจ้าและพบปีติในพระองค์ได้”11

เมื่อเรายึดมั่นในพันธสัญญาของเราอย่างต่อเนื่อง เราจะรู้สึกได้ถึงความมั่นคงของความไว้วางใจกันและความรักที่สมบูรณ์ในความสัมพันธ์ของเรากับพระบิดาบนสวรรค์

อ้างอิง

  1. โธมัส เอส. มอนสัน, “เราไม่มีวันเดินตามลำพัง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2013, 121.

  2. ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน, “ความสัมพันธ์ของเรากับพระผู้เป็นเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ค. 2022, 78.

  3. ดู ElRay L. Christiansen, “We Have Made Covenants with the Lord,” Ensign, Jan. 1973, 51.

  4. About the Temple Endownment,” ChurchofJesusChrist.org/temples/what-is-temple-endowment.

  5. ดู Joseph Fielding Smith, , “The Pearl of Great Price,” Utah Genealogical and Historical Magazine, July 1930, 103.

  6. About the Temple Endownment,” ChurchofJesusChrist.org/temples/what-is-temple-endowment.

  7. ดู “About the Temple Endownment,” ChurchofJesusChrist.org/temples/what-is-temple-endowment.

  8. ดู ElRay L. Christiansen, “We Have Made Covenants with the Lord,” 51.

  9. ดู “About the Temple Endownment,” ChurchofJesuschrist.org/temples/what-is-temple-endowment.

  10. Endowed with Covenants and Blessings,” Ensign, Feb. 1995, 40.

  11. ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน, “ความสัมพันธ์ของเรากับพระผู้เป็นเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ค. 2022, 80.

พิมพ์