2023
การปฏิบัติศาสนกิจด้วยความสงสาร
มิถุนายน 2023


“การปฏิบัติศาสนกิจด้วยความสงสาร,” เลียโฮนา,มิถุนายน 2023

หลักธรรมของการปฏิบัติศาสนกิจ

การปฏิบัติศาสนกิจด้วยความสงสาร

การมีความสงสารผู้อื่นช่วยให้เราแบกรับภาระของกันและกัน

ภาพ
ภาพวีดิทัศน์พระคัมภีร์ไบเบิลแสดงให้เห็นพระผู้ช่วยให้รอดทรงกำลังพูดคุยกับชายชรา

ตัวอย่างของความสงสาร

ระหว่างพระผู้ช่วยให้รอดถูกตรึงกางเขน คนกลุ่มเล็กๆ ที่รักพระองค์อยู่ตรงที่พระองค์ทรงถูกตรึงกางเขน ในจำนวนนั้นมีพระมารดา ป้าของพระองค์ มารีย์ชาวมักดาลา และยอห์นรวมอยู่ด้วย ช่างเป็นเหตุการณ์ที่ยากเหลือเกินสำหรับคนที่รักพระองค์มาก แม้พวกเขาไม่สามารถบรรเทาทุกข์ของพระองค์ได้ แต่พวกเขาสละเวลา แสดงความรัก และการสนับสนุน ถึงแม้จะไม่สะดวกสบาย และอาจเป็นอันตรายได้

สตรีเหล่านี้บางคนอยู่กับพระองค์จนวาระสุดท้ายและยังรับใช้ต่อหลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์โดยเตรียมฝังพระศพของพระองค์ด้วยสมุนไพรชั้นดีและผ้าป่าน (ดู มัทธิว 27:55–56; มาระโก 15:40–41, 47; ลูกา 23:55–56; ยอห์น 19:25–27)

การปฏิบัติศาสนกิจด้วยความสงสาร

ความสงสารคือความรู้สึกห่วงใย “ความทุกข์ของผู้อื่นโดยมีความปรารถนาจะช่วยบรรเทาทุกข์นั้น”1 ในความเป็นมนุษย์เราจะประสบกับความทุกข์ แน่นอนว่าคนที่เราปฏิบัติศาสนกิจจะมีความท้าทายและบางคนอาจกำลังทุกข์จริงๆ

เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์ (1926–2004) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า “ในช่วงที่ตัวเราไม่ได้ถูกตรึงกางเขน เราควรจะอยู่ตรงที่ผู้อื่นถูกตรึงกางเขน—เต็มไปด้วยความเห็นอกเห็นใจและทำให้พวกเขาสดชื่นทางวิญญาณ”2

งานดังกล่าวอาจดูน่ากังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคนที่เราปฏิบัติศาสนกิจกำลังประสบกับการทดลองอย่างหนัก เมื่อมีหนทางบรรเทาทุกข์ เราจะทำสุดความสามารถเพื่อช่วยเหลือ แต่บางครั้งเราอาจทำได้เพียงเล็กน้อย เราทำใจลำบากถ้าต้องมองดูอยู่เฉยๆ เหมือนมารีย์ แต่ถึงแม้เราไม่สามารถบรรเทาทุกข์ได้ เราอยู่ที่นั่นได้ท่ามกลางความทุกข์นั้นด้วยการมอบความรักและการสนับสนุนของเรา

ในขณะที่หลายคนไม่ชอบให้ใครเวทนา แต่คนส่วนใหญ่ซาบซึ้งกับความเข้าใจและความช่วยเหลือด้วยความสงสารเมื่อลำบาก

ภาพ
มือที่ยื่นให้กับคนที่กำลังกุมศีรษะ

การพัฒนาความสงสาร

เมื่อเรารู้จักพระผู้ช่วยให้รอด เราจะเข้าใจดีขึ้นว่าพระองค์ทรงสงสารทุกคนที่มาหาพระองค์อย่างไร เราจะพัฒนาคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์ในชีวิตเราได้อย่างไร?

  1. ศึกษาเรื่องราวที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงแสดงความสงสาร พระองค์ทรงแสดงความสงสารครั้งแล้วครั้งเล่าแม้ในเวลาที่พระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อยหรืองานยุ่ง พิจารณาว่าพระองค์ทรงรู้สึกอย่างไรต่อคนที่พระองค์ทรงช่วยเหลือ

  2. นึกถึงเวลาที่คนอื่นปลอบโยนหรือช่วยเหลือเราในการทดลองของเรา ซึ่งจะช่วยปลูกฝังความสงสารและทำให้เรานึกถึงวิธีที่เราสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้

  3. อดอาหารและสวดอ้อนวอนขอให้มีความสงสารมากขึ้น และทูลขอการนำทางให้รู้ว่าเราจะทำอย่างไรเพื่อแสดงความรักและความห่วงใยของเรา

  4. พยายามทำความรู้จักผู้อื่นและเข้าใจสถานการณ์ของพวกเขาให้ดีขึ้น เมื่อความเข้าใจและความสงสารของเราเพิ่มพูน ความสัมพันธ์ของเราจะกลายเป็นมิตรภาพที่มีความหมายและยั่งยืน

  5. ฝึกสังเกตสภาวการณ์ของผู้อื่นโดยถามตนเองทำนองนี้ “ตอนนี้ชีวิตคนนั้นน่าจะลำบากเรื่องอะไรบ้าง?” “ฉันจะรู้สึกอย่างไรถ้าฉันเป็นเขา?”

  6. ฝึกรับรู้เวลาท่านไม่สนใจหรือเมินความทุกข์ของผู้อื่น เมื่อเราเมินความทุกข์ของใครบางคนทันที เท่ากับเราไม่ยอมให้เวลาตนเองสงสารคนนั้น

พิมพ์