พันธสัญญาใหม่ในบริบท
เยรูซาเล็มในสมัยของพระเยซูคริสต์
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเมืองที่มีบทบาทสำคัญในการปฏิบัติศาสนกิจของพระผู้ช่วยให้รอด
เมืองเยรูซาเล็มเป็นศูนย์รวมชีวิตชาวยิวในศตวรรษแรก และเป็นสถานที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สุดบางเหตุการณ์จากพระชนม์ชีพและการปฏิบัติศาสนกิจของพระเยซูคริสต์
ตัวอย่างเช่น หนังสือกิตติคุณในพันธสัญญาใหม่บันทึกว่าพระเยซูเสด็จเยือนเยรูซาเล็มบ่อยครั้งเพื่อฉลองเทศกาลแสวงบุญของชาวยิวที่พระวิหาร (ที่พระองค์มักจะทรงสอนในลานด้านนอก)1 และทรงใช้พระชนม์ชีพมรรตัยช่วงสัปดาห์สุดท้ายในเมืองนั้นขณะเตรียมฉลองปัสกา2 ในสภาวะแวดล้อมนั้น พระเยซูตรัสกับสาธารณชนเป็นครั้งสุดท้าย เกิดความขัดแย้งกับผู้มีอำนาจในท้องที่ เสวยพระกระยาหารมื้อสุดท้ายกับเหล่าสาวก ทรงเจ็บปวดรวดร้าวและทรงสวดอ้อนวอนในเกทเสมนี ทรงทนรับการทดลอง การดูหมิ่นเหยียดหยาม และการตรึงกางเขนซึ่งท้ายที่สุดนำไปสู่การสิ้นพระชนม์ การฝังพระศพ และการฟื้นคืนพระชนม์
เนื่องจากเยรูซาเล็มเป็นสถานที่เกิดเหตุการณ์สำคัญเหล่านี้ในพระชนม์ชีพและพระพันธกิจของพระเยซู การเข้าใจภูมิทัศน์ของเมืองในช่วงต้นยุคโรมันจะช่วยให้เราอ่านบันทึกพระกิตติคุณได้เข้าใจมากขึ้น
เมืองที่อยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์เฮโรดและผู้สืบทอดต่อจากเขา
เยรูซาเล็มที่พระเยซูทรงรู้จักนั้นแทบไม่มีความคล้ายคลึงกับเมืองที่นักท่องเที่ยวสมัยใหม่ไปเยือน แต่งานเขียนจากพระคัมภีร์ แหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และการขุดค้นทางโบราณคดีช่วยให้บูรณะลักษณะเด่นของกรุงเยรูซาเล็มในศตวรรษแรกได้อย่างน่าทึ่ง3
เยรูซาเล็มไม่เหมือนสภาวะแวดล้อมในหมู่บ้านกาลิลีที่พระเยซูทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ปฏิบัติศาสนกิจที่นั่น4 เยรูซาเล็มเป็นเมืองที่มั่งคั่งและสง่างาม เพิ่งได้รับการบูรณะโดยเฮโรดมหาราชและผู้สืบทอดต่อจากเขาเพื่อสะท้อนมาตรฐานล่าสุดด้านการก่อสร้าง เทคโนโลยี และสิ่งอำนวยความสะดวกแบบโรมัน รวมถึง:
-
อนุสรณ์สถานเขาพระวิหารที่นักแสวงบุญชาวยิวจากทั่วโลกแถบเมดิเตอร์เรเนียนมานมัสการพระผู้เป็นเจ้าแห่งอิสราเอลที่พระวิหาร แน่นอนว่าพระเยซูทรงเสด็จไปพระวิหารเช่นกันเมื่อเสด็จเยือนเยรูซาเล็ม5
-
กำแพงและป้อมปราการ (เช่น ป้อมปราการอันโตเนีย) ที่คุ้มกันเมือง
-
สถานบันเทิง เช่น โรงละครและโรงมหรสพ
-
ระบบส่งน้ำที่เป็นท่อส่งน้ำเข้าเมืองให้ผู้อยู่อาศัยและผู้มาเยือนเป็นประจำได้ใช้ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
-
สระหลายแห่ง—เช่น สระเบธซาธาทางทิศเหนือและสระสิโลอัมทางทิศใต้—สำหรับทำพิธีจุ่มของนักแสวงบุญชาวยิวที่เข้าเมืองมาฉลองเทศกาลเป็นประจำดังอธิบายไว้ในโทราห์ พระเยซูเสด็จเยือนสระเหล่านี้ด้วยพระองค์เอง6
เมืองตอนล่างและเมืองตอนบน
ส่วนเก่าแก่ที่สุดและชั่วคราวที่สุดของเยรูซาเล็มในยุคนี้คือเมืองตอนล่าง ซึ่งอยู่ทางใต้ของเขาพระวิหาร มีตลาดคึกคัก ถนนจอแจ ที่พักของนักแสวงบุญ และบ้านเรือนที่ไม่ใช่ของคนชั้นสูง รวมไปถึงที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่สำหรับผู้อาศัยที่มีชื่อเสียงในเมือง
ทางตะวันตกคือเมืองตอนบน—ซึ่งเป็นส่วนที่อยู่สูงสุดและมั่งคั่งที่สุดของเยรูซาเล็ม เฮโรดสร้างคฤหาสน์โอ่อ่าของเขาที่นี่ (มีอาคารพักอาศัย 2 หลัง สวนสราญรมย์ และสระน้ำ) และสมาชิกชนชั้นสูงของแคว้นยูเดียพยายามเลียนแบบชนชั้นสูงของโรมัน
ครอบครัวคนรวยเหล่านี้ ซึ่งรวมถึงปุโรหิตผู้ดูแลพระวิหารเยรูซาเล็ม ต่างอาศัยอยู่ในบ้านชานเมืองที่ประดับด้วยจิตรกรรมฝาผนังสไตล์ปอมเปอี พื้นโมเสกลายดอกไม้และรูปทรงเรขาคณิต และมีสวนสวยๆ หลายแห่ง พวกเขารับประทานอาหารใน triclinia สไตล์โรมัน (ห้องสำหรับเอนกายบนโซฟาระหว่างงานเลี้ยง) พร้อมอาหารรสเลิศและอาหารนำเข้า
วันท้ายๆ ของพระเยซูในเยรูซาเล็ม
เนื่องจากวิถีชีวิตแบบชนชั้นสูงนี้ส่วนใหญ่ได้รับเงินอุดหนุนจากส่วนสิบที่ให้กับครอบครัวปุโรหิตและจากระบบพระวิหารในเยรูซาเล็ม พระเยซูคริสต์จึงทรงประณามกลุ่มชนชั้นสูงของเมืองต่อหน้าสาธารณชนเพราะพวกเขาเอาเปรียบคนจน อวดรวยอวดอำนาจ และดูถูกคนด้อยกว่าตนในสังคมชาวยิว7
ความขัดแย้งนี้กับชนชั้นสูงในท้องที่นำไปสู่เหตุการณ์ต่างๆ ในพระชนม์ชีพของพระเยซูซึ่งเกิดขึ้นทั่วเยรูซาเล็ม
ในช่วงคืนสุดท้าย พระเยซูเสวยพระกระยาหารมื้อสุดท้ายกับเหล่าสาวกของพระองค์ ณ ที่แห่งหนึ่งย่านที่อยู่อาศัยของเมือง (ซึ่งเดิมทีคิดว่าอยู่บนเนินเขาทางตะวันตก แต่อาจเสวยในบ้านหลังเล็กใกล้เมืองตอนล่างก็ได้) จากนั้นพระองค์เสด็จไปยังที่ทำการเกษตรนอกกำแพงเมืองบนเขามะกอกเทศเรียกว่าเกทเสมนี หรือ “ที่คั้นน้ำมัน” พระองค์ทรงทนทุกข์ทรมานและทรงถูกจับกุมที่นั่น จากนั้นเจ้าหน้าที่ปุโรหิตของท้องที่ในครอบครัวที่มั่งคั่งกลุ่มหนึ่งของเมืองตอนบนไต่สวนพระองค์ข้อหาดูหมิ่นศาสนา
เช้าวันรุ่งขึ้น เจ้าเมืองชาวโรมันนามว่าปอนทิอัส ปีลาต ไต่สวนพระเยซูอีกครั้ง (ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในพระราชวังที่เฮโรดมหาราชเคยอยู่) จากนั้นพระเยซูทรงถูกบังคับให้แบกกางเขนของพระองค์ออกไปนอกกำแพงเมือง และถูกตรึงกางเขนต่อหน้าสาธารณชน ณ ที่ประหารเรียกว่ากลโกธาหรือ “ที่แห่งกะโหลกศีรษะ” (น่าจะอยู่ใกล้เหมืองหินร้างทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของเมือง)8 หลังจากสิ้นพระชนม์ เหล่าผู้ติดตามพระองค์ได้ฝังพระเยซูในอุโมงค์แถวนั้น และวางพระศพของพระองค์ไว้ที่นั่นจนถึงการฟื้นคืนพระชนม์อันรุ่งโรจน์ในวันที่สาม9
แม้ทุกวันนี้เราอาจไม่ทราบตำแหน่งแน่ชัดเกี่ยวกับสัปดาห์สุดท้ายของพระเยซู แต่การทำความเข้าใจลักษณะสำคัญๆ และผังเมืองเยรูซาเล็มในศตวรรษแรกสามารถให้ข้อมูลเชิงลึกอันมีค่าในการอ่านบันทึกพระกิตติคุณ ทำให้เหตุการณ์ในช่วงวันท้ายๆ ของพระเยซูน่าสนใจมากขึ้น และช่วยให้เราเข้าใกล้พระองค์มากขึ้นเมื่อเรารู้สึกถึงพลังแห่งการชดใช้ที่พระองค์ทรงให้ในเมืองศักดิ์สิทธิ์