การถ่ายทอดประจำปี
การอภิปรายแบบคณะ


การอภิปรายเป็นคณะ

การถ่ายทอดการอบรม S&I ประจำปี 2022 กับประธานบัลลาร์ด

วันศุกร์ที่ 21 มกราคม ค.ศ. 2022

ซิสเตอร์เบ็คกี้ สก็อตต์: ยินดีต้อนรับเข้าสู่การประชุมเจ้าหน้าที่ทุกระดับของเซมินารีและสถาบัน ตามที่เห็น วันนี้เราเว้นระยะห่าง ดังนั้นเราจะถอดหน้ากาก วิเศษมากค่ะที่ได้เห็นทุกคนวันนี้ ขอขอบคุณที่มาเข้าร่วม ดิฉันอยากบอกว่าเราประชุมวันนี้กับผู้คนทุกภาคใน S&I ทั่วโลกผ่านทางเทคโนโลยี ยินดีต้อนรับทุกท่าน ขอบคุณที่เข้าร่วมกับเราวันนี้ แอดัมคะ บอกรายละเอียดอีกนิดเกี่ยวกับการสนทนาวันนี้หน่อยค่ะ

บราเดอร์แอดัม สมิธ: ยินดีครับ ก่อนอื่นผมขอบอกว่าเราดีใจที่ได้อยู่กับทุกท่านวันนี้ เรารักและชื่นชมครูเซมินารีและสถาบัน ผู้ประสานงาน ผู้ช่วยฝ่ายบริหาร ผู้สอนศาสนา และผู้บริหารทุกท่านทั่วโลก คุณกระทำคุณประโยชน์มหาศาลและเป็นพรแก่คนมากมาย ขอบคุณครับ เรารู้ว่าในใจคุณมีไฟรักวัตถุประสงค์ของเซมินารีและสถาบัน—คุณอยากช่วยให้เยาวชนคนหนุ่มสาวทุกคนเข้าใจและพึ่งพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ ได้รู้จักและรักพระองค์มากขึ้น และติดตามพระองค์ลึกซึ้งขึ้น คุณรักวัตถุประสงค์นั้นเพราะคุณรักนักเรียน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพราะคุณรักพระผู้ช่วยให้รอด S&I ประสบผลสำเร็จมาหลายปีในการช่วยให้นักเรียนรู้จักพระเยซูคริสต์ดีขึ้น แต่เรารับรู้ในโลกทุกวันนี้ถึงความจำเป็นเร่งด่วนของการรวมเยาวชนคนหนุ่มสาวมาหาพระเยซูคริสต์ เราอยากรวมโดยสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ของการเปลี่ยนใจเลื่อมใส การสานสัมพันธ์ และการเป็นส่วนหนึ่ง เรารู้ว่าประสบการณ์การเรียนรู้เหล่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อเรามุ่งเน้นความต้องการของนักเรียนขณะให้พระเยซูคริสต์ พระกิตติคุณ และพระพันธกิจการชดใช้เป็นศูนย์กลางในประสบการณ์การเรียนรู้แต่ละครั้ง—และเมื่อเรามุ่งเน้นการสอนพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์และถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตขณะสอนหลักคำสอนของพระคริสต์ เรารู้ว่าเมื่อนั้นเราจะอัญเชิญพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ให้แสดงบทบาทที่พระองค์เท่านั้นจะแสดงได้: เพื่อช่วยให้คนรุ่นเยาว์เปลี่ยนใจเลื่อมใสพระเจ้า อยู่บนเส้นทางพันธสัญญา แยกแยะความจริงจากความเท็จ รวมกันในพระผู้ช่วยให้รอดพระเยซูคริสต์และกลับไปหาพระบิดาในสวรรค์อย่างปลอดภัย

จุดประสงค์ของแหล่งช่วยที่เราจะแนะนำวันนี้คือเพื่อนิยามความหมายของการช่วยให้นักเรียนประสบการเปลี่ยนใจเลื่อมใส การสานสัมพันธ์ และการเป็นส่วนหนึ่ง—อธิบายตามหลักการก็คือ ครูสามารถนำทักษะและแนวทางปฏิบัติบางอย่างมาใช้ช่วยนักเรียนได้ เราได้สร้างแหล่งช่วยอบรมบางอย่างพร้อมต้นแบบและคำเชื้อเชิญให้ปฏิบัติและนำมาใช้ และเราอยากวัดผลของเราในชีวิตนักเรียนให้ดีขึ้นด้วย เพื่อจะได้เห็นว่าเราทำตรงไหนได้ดีจริงๆ—เราจะได้สานต่อ—และหาโอกาสตอบสนองความต้องการของนักเรียนให้ดีขึ้นด้วย เราหวังว่าเมื่อการอภิปรายวันนี้จบลง คุณจะเข้าใจแหล่งช่วยเหล่านี้ รู้สึกตื่นเต้นและมีความหวังสดใสที่จะก้าวต่อไปในการนำมาใช้และประยุกต์ใช้อีกครั้งกับเป้าหมายเดียวของเรา นั่นคือช่วยให้นักเรียนได้รู้จักพระเยซูคริสต์ นั่นเป็นเหตุให้เราอยู่ด้วยกันวันนี้ ขอบคุณครับซิสเตอร์สก็อตต์

ซิสเตอร์สก็อตต์: ขอบคุณค่ะ ขอขอบคุณทุกท่านที่อยู่ที่นี่วันนี้ เราจะเริ่มกับคำถามข้อแรก ซิสเตอร์เจสซิกา แบรนดัน จากภาคอเมริกาเหนือฝั่งตะวันตก มีคำถามสำหรับเรา ซิสเตอร์แบรนดัน เชิญค่ะ

ซิสเตอร์เจสซิกา แบรนดัน: ขอบคุณค่ะ ขณะทบทวนเอกสารการอบรมเหล่านี้ คำถามคือ: มีลำดับชัดเจนไหมคะว่าเราควรเน้นทักษะเหล่านี้และด้านเหล่านี้อย่างไร? มีลำดับขั้นตอนไหมคะ?

ซิสเตอร์ลอรี่ นิวโบลด์: เจสซิกา ขอบคุณมากสำหรับคำถามค่ะ คิดว่าคำตอบสั้นๆ คือไม่มีค่ะ แต่ถ้าคิดว่าจะตัดสินใจใช้ลำดับไหนดี อย่างแรกที่อยากบอก—และคิดว่าเป็นอย่างแรกเสมอคือ—ให้คุณเริ่มด้วยศรัทธาในพระผู้ช่วยให้รอดพระเยซูคริสต์ รู้ว่าพระองค์จะทรงช่วยได้ไม่ว่าคุณจะเลือกหลักธรรมหรือแนวทางปฏิบัติใด ให้คุณเลือกผ่านเครื่องมือประเมินที่เราให้ไว้ซึ่งจะช่วยได้ดีในการค้นหาว่านักเรียนกำลังมีประสบการณ์อะไรอยู่

ซิสเตอร์แบรนดัน: เยี่ยมเลยค่ะ ขอบคุณค่ะ

บราเดอร์แชด วิลคินสัน: ผมขอเพิ่มอย่างหนึ่งครับ ขอบคุณมากครับ ซิสเตอร์แบรนดัน อย่าทำให้ซับซ้อนเกินไป อย่าวิเคราะห์มากเกินไป เครื่องมือเหล่านี้เป็นตัวช่วย ทักษะเหล่านี้เป็นตัวช่วย ผมมีข้อคิดเกี่ยวกับคำถามของคุณ—ใน แอลมา 48 มีพระคัมภีร์ข้อหนึ่งที่ทุกคนคุ้นเคยดี ข้อ 17 มอรมอนสอดแทรกบางอย่าง เขากล่าวว่า “ตามจริงแล้ว, ตามจริงแล้วข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่าน, หากคนทั้งปวงได้เป็นแล้ว, และได้เป็น, และจะเป็นอยู่ตลอดไป, เหมือนกับโมโรไน, ดูเถิดพลังนั้นของนรกจะสั่นสะเทือนตลอดกาล; แท้จริงแล้ว, มารจะไม่มีวันมีอำนาจเหนือใจลูกหลานมนุษย์”

มีอะไรเกี่ยวกับเขาที่เป็นเหตุให้มอรมอนสอดแทรกเรื่องนี้? ผมคิดว่าหลักธรรมหนึ่งในหลายๆ ข้อที่เราสามารถพูดถึงคือเขาใช้เวลาสร้างบรรดาเมืองที่อ่อนแอให้เข้มแข็ง เขาเน้นตรงเมืองที่อ่อนแอและทำให้เมืองเหล่านั้นเข้มแข็ง โดยผ่านการประเมินตนเอง ผ่านการสังเกตการณ์ของผู้ดูแลหรือคนที่คุณขอให้ช่วย—เพื่อนๆ รวมถึงแบบประเมินจากนักเรียน—คุณจะเริ่มค้นพบว่าอะไรเป็นจุดอ่อนและอาจจะเริ่มตรงนั้น

ซิสเตอร์แบรนดอน: ข้อเดียวค่ะ—แค่อยากเสริมที่ซิสเตอร์นิวโบลด์พูด ดิฉันคิดว่าการเปลี่ยนแปลงน่ากลัว การแจกแบบประเมินให้เยาวชนและคนหนุ่มสาวก็น่ากลัว และสงสัยว่าคุณจะได้อะไรกลับมา สิ่งหนึ่งที่ช่วยดิฉันตลอดหลายปีมานี้คือยอมรับว่าเยาวชนและคนหนุ่มสาวเหล่านี้เป็นลูกที่มีค่าคนหนึ่งของพระบิดาบนสวรรค์ ถ้าเราเน้นตรงนั้น แทนที่จะกลัวว่า “ใครจะคิดกับฉันอย่างไร” และเน้นความจริงที่ว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงรักพวกเขาแต่ละคนมาก และนั่นคือส่วนหนึ่งของการเรียกหรืองานของเราที่จะช่วยให้พวกเขาได้รู้จักพระผู้ช่วยให้รอดด้วยตัวเอง ดิฉันพบว่านั่นช่วยได้ทีเดียว และแค่อยากบอกว่าดิฉันชอบให้เน้นที่การสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวกับนักเรียน เพื่อเราจะช่วยให้พวกเขาบรรลุวัตถุประสงค์ได้

บราเดอร์สมิธ: ขอบคุณครับเจสซิกา ในแหล่งช่วยทั้งหมดนี้เราพยายามเน้นจุดเดียวกัน ทำให้ง่ายขึ้น ทำให้สอดคล้องกัน และต่อยอดทั้งหมดที่เราเรียนรู้มาตลอดหลายปี ในแหล่งช่วยเหล่านี้คุณจะเห็นองค์ประกอบพื้นฐานของ การสอนและการเรียนรู้พระกิตติคุณ จะเห็นองค์ประกอบของ “การเรียนรู้เชิงลึก” จะเห็นอิทธิพลจากคนที่นำเราเรื่องการเน้นที่พระผู้ช่วยให้รอด การฟัง การสังเกต การเล็งเห็น การจุดไฟในใจนักเรียน เราพยายามทำให้ง่ายขึ้นและเน้นไปที่จุดเดียวกัน ถึงแม้แหล่งช่วยเหล่านี้จะแยกกันอยู่คนละเอกสาร แต่หวังว่าคุณจะเห็นเป็นอย่างเดียวกัน อย่างเดียวกันนั้นก็คือ งานของเราคือการช่วยให้นักเรียนได้รู้จักพระผู้ช่วยให้รอดดีขึ้น เราทำไม่ได้หากไม่มีพระวิญญาณบริสุทธิ์ช่วย

วิธีแรกที่จะอัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์คือรักนักเรียน เน้นที่พระเยซูคริสต์ และพึ่งคุณธรรมแห่งพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า เรารู้ว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงปรารถนาจะช่วยเราเมื่อเราพยายามช่วยพระองค์ช่วยพวกเขา เรารู้ว่าเมื่อเราแสวงหาพระบิดาบนสวรรค์ในการสวดอ้อนวอนผ่านการประเมินตนเอง เมื่อเราถามนักเรียนว่าพวกเขาต้องการอะไรผ่านการประเมินนั้น และเมื่อเราขอให้ผู้ดูแลหรือเพื่อนร่วมงานมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม ทั้งหมดนั้นจะถึงจุดที่เชื้อเชิญการเปิดเผย เพื่อเราจะช่วยคนหนุ่มสาวให้รู้จักพระเยซูคริสต์ได้

ซิสเตอร์สก็อตต์: ซิสเตอร์ซาร่า แบรดลีย์ที่อยู่กับเราวันนี้จากภาคยูทาห์ซอลท์เลค ช่วยเล่าประสบการณ์ของคุณหน่อยค่ะ

ซิสเตอร์ซาร่า แบรดลีย์: ค่ะ ยินดีค่ะ หลังจากใช้แหล่งช่วยครั้งนี้ด้วยตัวเอง ดิฉันประทับใจมากกับการจัดวางอย่างเรียบง่าย และคิดมาอย่างดี กระบวนการเรียบง่ายมาก ดิฉันเริ่มกับเครื่องมือประเมิน ใช้การประเมินตนเองและการประเมินนักเรียน และมีผู้ดูแลคอยช่วย เราประเมินจากจุดที่ดิฉันอยู่ จากนั้นดิฉันกับผู้ดูแลก็พิจารณาว่าดิฉันต้องการเน้นตรงไหนโดยอาศัยการประเมินตนเองและการประเมินจากนักเรียนว่าเป็นอย่างไร แล้วก็เดินหน้า ดิฉันเข้าไปอ่านคู่มือ การสอนและการเรียนรู้พระกิตติคุณ เล่มใหม่ เข้าไปอ่านแหล่งช่วย “พัฒนาทักษะของครู” แล้วก็เจอจุดที่อยากเน้น อ่านและศึกษาสิ่งเหล่านั้น แล้วกลับมาในห้องเรียน แล้วก็แค่พยายามนำแนวทางปฏิบัติมาใช้หลายๆ แบบ และหวังว่าจะเพิ่มความสามารถให้นักเรียนในการประสบการเปลี่ยนใจเลื่อมใส การสานสัมพันธ์ และการเป็นส่วนหนึ่ง และเรื่องดีคือดิฉันกลับมาใช้การประเมินอีกครั้งเพื่อประเมินความก้าวหน้าตนเองว่ามีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง แค่เริ่มใช้เครื่องมือประเมินนั้นอีกครั้งเพื่อให้รู้ว่าจะไปไหนต่อ แล้วกลับมาอ่านแหล่งช่วยเพื่อช่วยให้ปรับปรุงและก้าวหน้าไปเรื่อยๆ

บราเดอร์แกรีย์ โลเวลล์: คำถามที่ผมมีคือคุณจะบอกอะไรคนที่ลังเลใจในการใช้เครื่องมือเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการค้นหาและการแก้ไขความอ่อนแออาจเป็นเรื่องที่เราเผชิญหน้าได้ยาก? ด้วยเหตุนี้ จะมีมืออาชีพหรือฝ่ายบริหารมาดำเนินการสำรวจแบบนี้บ่อยๆ ไหมครับ?

ซิสเตอร์นิวโบลด์: ขอพูดบ้างได้ไหมคะ? ดิฉันอยากพูดอย่างนุ่มนวลเรื่องนี้ ดิฉันเคยมีประสบการณ์ที่บางครั้งรู้สึกกลัวมากถ้ามีคนอยู่ในห้องเรียน เผื่อเราทำผิดพลาด บางครั้งประสบการณ์แบบมนุษย์ปุถุชนนี่เองที่ทำให้เรากลัวคนวิพากษ์วิจารณ์ เพราะดิฉันให้ใจและจิตวิญญาณแก่เยาวชนชายหญิงที่ดิฉันรักมากเหล่านี้ จึงเป็นเรื่องยากที่จะมาพูดว่า “ลอรี่ คุณต้องปรับปรุงใจคุณ”

ดิฉันไม่คิดว่านั่นเป็นสิ่งที่เรามักจะพูดในการวัดผล คิดว่าสิ่งที่เรากำลังพูดกันจริงๆ คือเรามาพยายามสร้างวัฒนธรรมของศรัทธาในพระผู้ช่วยให้รอดพระเยซูคริสต์กันเถอะ เพื่อเราจะเปลี่ยนได้ เพื่อเราจะเติบโตได้ นั่นคือสิ่งที่ดิฉันจะพูดกับคนๆ นั้น เครื่องมือเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการเติบโต การเติบโตเกิดขึ้นผ่านการกลับใจ การกลับใจเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนแปลงได้เพราะพระผู้ช่วยให้รอดเท่านั้น ดิฉันจึงคิดว่า—ถ้าเราจะได้เห็น—วันที่เราจะเห็นครูทุกคนพูดกับใครสักคนว่า “คุณมาดูดิฉันได้ไหมคะ? นักเรียนเหล่านี้สมควรได้สิ่งดีที่สุดที่ฉันต้องให้ และฉันรู้ตัวว่าเข้าไม่ถึงบางคน คุณช่วยบอกหน่อยได้ไหม?”

บราเดอร์เบิร์ท วิมพีย์: ผมขอพูดเรื่องนี้ด้วยครับ เพราะในการประชุมนี้—เพราะครูสเตคที่ยอดเยี่ยมของเรา คนที่กำลังสอนเยาวชนที่ยอดเยี่ยมเหล่านี้—เครื่องมือประเมินเหล่านี้จึงเป็นแหล่งช่วย ซึ่งเราคาดหวังให้ครูเต็มเวลาของเราใช้ เราจะเรียนรู้วิธีใช้เครื่องมือเหล่านั้นให้ดีขึ้น เราจะพยายามสร้างวัฒนธรรมนั้น สำหรับครูสเตคที่ได้รับเรียก นั่นคือแหล่งช่วยที่คุณใช้ได้ตามต้องการและตามปรารถนา อะไรก็ได้ที่คิดว่าจะช่วยคุณ

บราเดอร์วิลคินสัน: แกรีย์ คำถามนั้นดีมากครับ เราขอบคุณทุกอย่างที่คุณทำในงานมอบหมาย ขอบคุณครับ คุณกำลังถามคำถามที่ทุกคนอยากถาม ส่วนหนึ่งของการวัดผล—ในพระคัมภีร์ มีคำถามน่าคิดเยอะมาก แต่มีสามข้อที่เป็นพรกับผมมากๆ คุณจะเห็นองค์ประกอบนี้ของการวัดผล ขุนนางหนุ่มที่ร่ำรวยถามว่า: “ข้าพเจ้ายังขาดอะไรอีกบ้าง?” 1 คำถามนั้น การวัดผลนั้นนำมาซึ่งการเปิดเผยจากพระผู้ช่วยให้รอด เขามีโอกาสเลือกว่าจะทำตามหรือไม่ทำ เปาโลหรือเซาโลบนถนนไปดามัสกัสถามว่า: “ข้าแต่พระเจ้า พระองค์ประสงค์ให้ข้าพระองค์ทำอะไร?” 2 นั่นคือการวัดผล คนที่สามคือโจเซฟ สมิธที่ทูลถามก่อนโมโรไนมาเยือนครั้งแรก—ท่านกำลังแสวงหาการอภัยบาป แต่ท่านถามว่า “สถานะของข้าพเจ้าต่อพระเจ้าเป็นอย่างไร?” 3 ผมคิดว่าคำถามสำรวจแบบนั้นที่เรากำลังวัดผล ไม่เกี่ยวกับว่ามีคนมาประเมินมากเท่ากับว่ามัน “ทำให้ผมได้เข้าเฝ้าพระบิดาบนสวรรค์และพระผู้ช่วยให้รอด และให้พระองค์บอกผมว่าผมอยู่ตรงไหน” เมื่อเราเปิดรับ การเปิดเผยจะหลั่งไหลมา เราจะดีกว่าที่เราจะดีด้วยตัวเองมาก

บราเดอร์แจ็ค เมเนซ: ผมชื่นชมขณะฟังหลายๆ ความเห็น แนวคิดเรื่องการสร้างวัฒนธรรมการปรับปรุง การพึ่งพระผู้ช่วยให้รอด แม้กระทั่งความกังวลที่บางครั้งเรารู้สึกหนักใจในฐานะครู งานมอบหมายของผมในปัจจุบันคือช่วยครูคนอื่นๆ ปรับปรุง สิ่งหนึ่งที่ผมซาบซึ้งคือเดชานุภาพของพระผู้ช่วยให้รอดในการช่วยให้เราช่วยครูคนอื่นและคนรอบข้าง เพื่อนร่วมงานของเรา สุดท้ายแล้วก็ช่วยนักเรียนของเรา เมื่อครูของเราพึ่งพระเยซูคริสต์ พวกเขาจะแสดงประจักษ์พยานถึงพระคุณของพระองค์ได้มากขึ้น

ตามที่พูดไปแล้วเรื่องขุนนางหนุ่มผู้ร่ำรวย ผมชอบตัวอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดที่พระองค์ตรัสว่า “นี่คือสิ่งที่เจ้าควรทำ และเจ้าก็ทำอยู่แล้ว นั่นยอดเยี่ยม” จากนั้นก็มอบอีกอย่างให้เขาไปทำ บางครั้งสิ่งหนึ่งที่เราทำได้ในฐานะผู้บริหารคือพูดว่า “ดีมาก ผมคิดว่าคุณกำลังทำให้พระเจ้าพอพระทัย ผมคิดว่าพระเจ้าคงพอพระทัยสิ่งดีๆ ทั้งหมดที่คุณทำ เราจะร่วมมือกันทำอีกอย่างด้วยศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์ได้ไหมครับ?” บางครั้งนั่นช่วยได้—ขณะเราพัฒนาวัฒนธรรมใหม่ของการปรับปรุง นั่นจะช่วยหลีกเลี่ยงความรู้สึกไม่ดีพอหรือความรู้สึกเหมือนเราทำไม่มากพอหรือเราไม่มีวันจะทำได้ดีพอ แต่เราสามารถหลอมรวมพระคุณของพระเยซูคริสต์ไว้ในความพยายามเหล่านั้นจนเกิดบางอย่างที่มีประสิทธิผลยิ่งขึ้น แล้วสิ่งนั้นจะหลั่งไหลเข้ามาในห้องเรียน และเราจะแสดงประจักษ์พยานต่อนักเรียนได้ดีขึ้นถึงเดชานุภาพของพระเยซูคริสต์ในการเพิ่มพลังให้เราทำสิ่งที่ยากเกินกว่าที่เราจะทำด้วยตนเอง

ซิสเตอร์สก็อตต์: ซิสเตอร์ซอเรนเซ็นคะ แบ่งปันคำถามของคุณได้ไหมคะ?

ซิสเตอร์เจมี่ ซอเรนเซ็น: ได้ค่ะ เรามีวัตถุประสงค์ ผลลัพธ์ 3 อย่างจากการสานสัมพันธ์ การเป็นส่วนหนึ่ง และการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของผู้เรียน มี 5 วิธีที่จะช่วยให้ครูประสบผลเหล่านั้น และแนวทางปฏิบัติ 25 ข้อที่จะช่วยให้ดิฉันบรรลุบทบาทการเป็นครู บวกกับที่ดิฉันควรให้พระคริสต์เป็นศูนย์กลาง ให้พระคัมภีร์เป็นฐาน และเน้นที่ผู้เรียน ดิฉันใช้การประเมินผลสามแบบมาช่วยตั้งเป้าหมายเติบโตทางอาชีพ ก็หนักใจนิดหน่อยค่ะ เพราะมันเยอะมาก เราควรเน้นที่อะไรดีคะ?

บราเดอร์วิมพีย์: เป้าหมายคือช่วยให้เยาวชนคนหนุ่มสาวเข้าใจและพึ่งคำสอนและการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ มีคุณสมบัติคู่ควรรับพรของพระวิหาร และเตรียมรับชีวิตนิรันดร์ นั่นคือสิ่งที่เราพยายามทำอยู่ และในวัตถุประสงค์นั้น บทบาทของเราคือช่วย แล้วเราจะช่วยได้อย่างไร? ผมเห็นโดยเฉพาะในหมู่ครูสเตคของเรา—พวกเขาเห็นแหล่งช่วยทั้งหมดนี้และพูดว่า “ดูเยอะมากเลย” ครูอาจจะพูดว่า “นั่นคือวัตถุประสงค์ แล้วฉันจะต้องทำอย่างไร?” ผมดีใจที่คุณถาม วิธีที่ดีที่สุดคือช่วยให้นักเรียนประสบการเปลี่ยนใจเลื่อมใส การสานสัมพันธ์ และการเป็นส่วนหนึ่ง “โอเค ขอบคุณ แต่ฉันจะสร้างประสบการณ์เหล่านั้นอย่างไร?” ผมดีใจที่คุณถาม วิธีคือผมอยากให้คุณรักคนที่คุณสอน สอนโดยพระวิญญาณ เน้นที่พระเยซูคริสต์ สอนหลักคำสอน และเชื้อเชิญให้เรียนรู้อย่างขยันหมั่นเพียร “โอเค แล้วฉันจะทำอย่างไร?” ผมดีใจที่คุณถาม เพราะตอนนี้เรามีแนวทางปฏิบัติเหล่านี้ มีทักษะเหล่านี้ที่จะช่วยคุณ แต่ทั้งหมดนั้นชี้กลับไปที่วัตถุประสงค์

เมื่อครูนั่งเปิดพระคัมภีร์และคิดถึงนักเรียน หวังว่าพวกเขาจะไม่คิดว่าทั้งหมดนี้เยอะเกินไป แต่คิดว่า “ฉันจะช่วยนักเรียนที่ฉันรักได้อย่างไร จะช่วยให้พวกเขาเข้าใจและพึ่งคำสอนและการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ มีคุณสมบัติคู่ควรรับพรของพระวิหารและเตรียมรับชีวิตนิรันดร์ได้อย่างไร?” เมื่อคุณคิดแบบนั้น เรากำลังพูดถึงเส้นทางพันธสัญญาที่ประธานเนลสันขอให้เรามีส่วนในการรวมอิสราเอลนี้ ถ้าดูเหมือนเยอะเกิน ถ้าคุณคิดว่า “ฉันไม่รู้ว่าจะทำทั้งหมดนี้ได้หรือเปล่า” ให้เน้นที่วัตถุประสงค์ก็พอ

บราเดอร์เจสัน วิลลาร์ด: เจมี่ครับ ผมขอเพิ่มพระคัมภีร์อีกข้อจากครูคนโปรดของผมในพระคัมภีร์มอรมอน จากบราเดอร์นีไฟ เขาพูดใน 1 นีไฟ 6:4: “เพราะความตั้งใจอันเต็มเปี่ยมของข้าพเจ้าคือข้าพเจ้าจะได้ชักชวน [นักเรียน] ให้มาหาพระผู้เป็นเจ้าของอับราฮัม, และพระผู้เป็นเจ้าของอิสอัค, และพระผู้เป็นเจ้าของยาโคบ, และได้รับการช่วยให้รอด” ทุกอย่างที่นีไฟทำคือช่วยให้พี่น้องของเขารอด วางใจพระเยซูคริสต์ในระดับที่ช่วยให้พวกเขาได้รับชีวิตนิรันดร์ในที่สุด

เจมี่ ขอบคุณที่ถามคำถามที่ใช่ครับ เพราะที่จริงแล้วคุณลืมหลักพื้นฐาน 7 ข้อ การอบรม 16 ครั้งตอนท้าย และประสบการณ์ผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอนทั้งหมดที่พวกเขาควรมีอยู่เรื่อยๆ คราวหน้าเมื่อเราถามข้อนี้ ให้รวมทุกอย่างที่ขอให้คุณทำไว้ด้วยนะครับ เยอะมากที่เราขอให้คุณทำ แต่สุดท้ายก็ลงมาที่สิ่งเดียว ผมชอบตอนที่พระผู้ช่วยให้รอดตรัสกับมารีย์และมารธา ดูเหมือนคุณจะคล้ายมารีย์ เจมี่ เมื่อพระเยซูตรัสว่า “สิ่งที่จำเป็นนั้นมีเพียงสิ่งเดียว และมารีย์ก็เลือกเอาส่วนที่ดีนั้น” 4 เจมี่ เราขอบคุณที่คุณได้เลือกส่วนดีนั้น—และครูทุกท่านทั่วโลก คุณได้เลือกส่วนดีนั้น นั่งแทบพระบาทพระผู้ช่วยให้รอด และทำให้พระองค์เป็นศูนย์กลางของทั้งหมดที่คุณทำ ขออวยพรคุณในความพยายามนั้นครับ

บราเดอร์สมิธ: เจมี่ ผมอยากถามคำถามต่อในเรื่องเดียวกัน บราเดอร์วิมพีย์กับบราเดอร์วิลลาร์ดสอนเราดีมากเกี่ยวกับการมุ่งเน้นสิ่งจำเป็นที่สุด ซึ่งคือวัตถุประสงค์ของเซมินารีและสถาบัน แต่ในฐานะครู คุณรู้ได้อย่างไรครับว่าวัตถุประสงค์นั้นกำลังบรรลุในชีวิตนักเรียน?

ซิสเตอร์ซอเรนเซ็น: โอเค ไม่ทราบว่าคำตอบนี้จะมีประโยชน์หรือเปล่า แต่เพิ่งนึกออกตอนมีคนอธิบายค่ะ ดิฉันเห็นผ่านการสานสัมพันธ์ การเป็นส่วนหนึ่ง และการเปลี่ยนใจเลื่อมใสในชีวิตพวกเขา เหมือนสามอย่างนั้นชี้ไปที่วัตถุประสงค์จริงๆ ดิฉันเห็นมันเกิดขึ้นในการสนทนาของพวกเขา ดิฉันเห็นนอกเซมินารี เห็นตอนพวกเขาจดบันทึกในเซมินารี จดประสบการณ์ตนเอง สามอย่างนั้น เหมือนจะชี้ไปที่วัตถุประสงค์จริงๆ

บราเดอร์สมิธ: ขอบคุณมากครับ คุณคิดว่าจะมีประโยชน์ไหมครับเจมี่ ถ้าถามนักเรียนตรงๆ ว่าประสบการณ์ของพวกเขาในเซมินารีและสถาบันนำไปสู่การเปลี่ยนใจเลื่อมใส การสานสัมพันธ์ และการเป็นส่วนหนึ่งหรือเปล่า?

ซิสเตอร์ซอเรนเซ็น: มีแน่นอนค่ะ การประเมินที่เราให้พวกเขาทำ และอาจไม่เป็นทางการด้วยซ้ำว่า “การสอนเป็นอย่างไร เกิดผลอย่างไร?” จะเป็นมาตรวัดที่ดีว่าวัตถุประสงค์นั้นเกิดผลอย่างไร

บราเดอร์สมิธ: ขอบคุณครับ ตอนนี้อยากให้นึกภาพว่าคุณถามคำถามนี้แล้ว และนักเรียนค้นพบบางอย่างที่รู้สึกว่าสามารถทำให้เซมินารีดีขึ้นอีกนิด—เราพูดในแง่ของการเป็นส่วนหนึ่งนะครับ—พวกเขาพูดว่า “ซิสเตอร์ซอเรนเซ็นยอดเยี่ยม เรารักชั้นเรียนของเธอ เธอน่าทึ่งมาก” แต่คุณเห็นรายละเอียดเล็กๆ นี้ในคำตอบของนักเรียนที่คุณพบโอกาสให้สร้างการเป็นส่วนหนึ่งมากขึ้น อะไรจะช่วยคุณตอนนั้นให้สามารถสร้างการเป็นส่วนหนึ่งมากขึ้นในห้องเรียน?

ซิสเตอร์ซอเรนเซ็น: คิดว่าในฐานะครูมีประโยชน์มากที่จะพูดออกมา ที่จะไปหาผู้ดูแลและบอกว่า “ฉันได้ข้อเสนอแนะมาแบบนี้ ช่วยฉันดูหน่อยสิคะ” แม้แต่คุยกับเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ว่า: “ช่วยฉันดูหน่อยค่ะ มันน่าจะเป็นอย่างไร? จะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร?” คิดว่านั่นจะเป็นประโยชน์ค่ะ

บราเดอร์สมิธ: เยี่ยมครับ เหตุผลที่ผมอยากถามคำถามเหล่านี้คือนั่นเป็นแนวคิดที่ไม่เพียงอยู่เบื้องหลังการประเมินเท่านั้น แต่เบื้องหลัง การสอนและการเรียนรู้พระกิตติคุณ ฉบับอัปเดต และแหล่งช่วยการอบรมด้วย: เพื่อให้ครูพูดได้ว่า “ฉันอยากให้นักเรียนบรรลุวัตถุประสงค์ในชีวิต ฉันสังเกตเห็นพวกเขาพูดว่าต้องการอย่างนี้ จะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร? และเมื่อคุณปรึกษากับครูคนอื่นและผู้ดูแล คุยกับนักเรียน คุณจะพบสิ่งที่คุณสามารถปรับปรุงได้ คู่มือให้รายละเอียดเรื่องนี้ แหล่งช่วยการอบรมให้ต้นแบบเรื่องนี้ ตอนนี้คุณมีทักษะที่สามารถฝึกและนำมาใช้ได้ และหวังจะปรับปรุง—ตามจุดประสงค์ที่บราเดอร์วิลลาร์ดและบราเดอร์วิมพีย์เพิ่งพูด—เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในชีวิตนักเรียนซี่งคือช่วยให้พวกเขามาหาพระผู้ช่วยให้รอด

ซิสเตอร์เว็นดีย์ พาร์คเกอร์: คิดว่าทั้งหมดนี้ทำให้ดิฉันกลับไปที่วัตถุประสงค์ วัตถุประสงค์ของเราเริ่มที่พระเยซูคริสต์ พระเยซูคริสต์ทรงเป็นทางที่จะพาเรากับนักเรียนไปยังพระวิหาร—และพาเราไปอยู่กับพระบิดาในสวรรค์ในท้ายที่สุด โปรแกรมใหม่ทุกชิ้นที่ดิฉันอ่าน มุ่งเน้นที่พระคริสต์ ทุกทักษะมีพระคริสต์เป็นศูนย์กลาง สำหรับดิฉันนั่นมีพลังมากค่ะ เมื่อประสานงานกับครูคนอื่นและช่วยพวกเขาพัฒนาสิ่งเดียวกันนี้ เครื่องมือนี้จะ … เปลี่ยนโปรแกรมของเราไปในทางบวก และเปลี่ยนนักเรียนซึ่งดิฉันรู้สึกปลาบปลื้มมาก ดิฉันแค่อยากขอบคุณมากค่ะ

บราเดอร์วิมพีย์: ผมรู้จักชัดรัค—ในภาคแอฟริกาตะวันตก ชัดรัคเคยมีประสบการณ์กับการช่วยให้นักเรียนมีประสบการณ์แบบนั้นในห้องเรียน ชัดรัค ตามที่คุณเคยแบ่งปัน คุณยินดีจะแบ่งปันกับเราไหมครับ?

บราเดอร์ชัดรัค เบนทุม: ครับ บราเดอร์เบิร์ท ขอบคุณครับ นักเรียนคนหนึ่งในชั้นเรียนของผมขี้อายมากและมักจะไม่อ่าน ถาม หรือตอบในชั้นเรียน เป็นแบบนี้อยู่พักหนึ่งจนกระทั่งผมใช้หลักธรรมบางอย่างใน “รู้จักชื่อสภาวการณ์ และความต้องการจะเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคน” ซึ่งเน้นทักษะ “สังเกตและสอบถามความสนใจของนักเรียน” ภายใต้ “ทักษะการพัฒนาครู” ผมสังเกตว่านักเรียนมักจะมาสถาบันเพื่ออ่านหนังสือเตรียมสอบที่โรงเรียน ผมจึงใช้ความสนใจในหลักสูตรที่เธอศึกษาอยู่ และพูดคุยกับเธอบางครั้งเรื่องการบ้าน ก็เลยรู้ว่าเธอมีเพื่อนที่ดีมากในชั้นเรียนของผมด้วย ผมจึงให้เธออยู่กลุ่มเดียวกับเพื่อนคนนั้นระหว่างกิจกรรมกลุ่มซึ่งผมใช้บ่อยๆ เพราะเธอ เธอค่อยๆ เริ่มอ่านในชั้นเรียน ตอบคำถาม และแบ่งปันประสบการณ์ ในความเห็นครั้งหนึ่งเธอแบ่งปันว่า—เธอเคยขี้อายมากในชั้นเรียน แต่ตอนนี้รู้สึกมั่นใจขึ้น เวลานี้เธอนำเสนองานกลุ่มแทนกลุ่มของเธอในชั้นเรียน และมักจะเป็นคนแรกในชั้นเรียนที่นำเสนอ ประสบการณ์การเรียนรู้ของเธอดีขึ้น

ซิสเตอร์สก็อตต์: นั่นนำเราไปสู่คำถามของบราเดอร์ดักลาส ฟรังโกได้อย่างดี เขามาจากเขตอเมริกาใต้ฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือ เชิญบราเดอร์ฟรังโกถามเลยค่ะ

บราเดอร์ดักลาส ฟรังโก: ขอบคุณครับ สวัสดีครับทุกคน คำถามของผมเกี่ยวข้องกับบทบาทของครู และประสบการณ์ผู้เรียน เราจะรู้และแน่ใจมากขึ้นได้อย่างไรว่าสิ่งที่เราทำในชั้นเรียนกำลังช่วยให้นักเรียนมีประสบการณ์การเปลี่ยนใจเลื่อมใส การสานสัมพันธ์ และการเป็นส่วนหนึ่ง? เช่น ชั้นเรียนที่ให้พระคริสต์เป็นศูนย์กลางอาจช่วยเรื่องการเปลี่ยนใจเลื่อมใส แต่ขณะเดียวกันการสอนด้วยพระวิญญาณก็อาจช่วยเรื่องการเปลี่ยนใจเลื่อมใสด้วย เราจะแน่ใจได้อย่างไรในเรื่องนี้ เพื่อจะช่วยครูของเราเมื่อพวกเขามีคำถามเหล่านี้หรืออยากปรับปรุงหลักธรรมเหล่านี้บางข้อ?

บราเดอร์วิลลาร์ด: บราเดอร์ฟรังโก คุณสอนที่ไหนครับ คุณอยู่ที่ไหน?

บราเดอร์ฟรังโก: ขอบคุณครับ ผมสอนสถาบันที่โบลิเวีย โกชาบัมบา โบลิเวียครับ

บราเดอร์วิลลาร์ด: ดีมากครับบราเดอร์ฟรังโก ดีใจที่คุณอยู่กับเราวันนี้ ผมเดาว่าคุณมีความสำเร็จมาบ้างในการรู้ว่าประสบการณ์เปลี่ยนใจเลื่อมใสเหล่านั้นกำลังเกิดขึ้นในชั้นของคุณ ลองนึกถึงตอนที่รู้สึกว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์สอนคุณว่าประสบการณ์เปลี่ยนใจเลื่อมใสเหล่านั้นเกิดขึ้นจริงในชั้นเรียนของคุณได้ไหมครับ?

บราเดอร์ฟรังโก: ครับ ผมคิดว่าบางครั้งนักเรียนก็พูดเรื่องนี้—บางครั้งในชั้นเรียน หรือหลังเลิกชั้นเรียน บางครั้งพวกเขาเขียนบอกผมผ่าน WhatsApp ว่า “บราเดอร์ฟรังโก ขอบคุณสำหรับการสอน ผมรู้สึกได้รับการดลใจให้ทำสิ่งนี้” บ้างก็บอกในชั้นเรียน ผมเห็นพวกเขาจด แม้แต่ตอนที่ผมไม่ได้บอกให้จดลงในสมุดบันทึกการศึกษา พวกเขาก็ยังจด ท่าทีของพวกเขาแสดงให้เห็นว่ารู้สึกแบบนี้ คิดว่านี่คือสิ่งที่ผมพอจะบอกได้

บราเดอร์วิลลาร์ด: ดีครับ ทำให้ผมนึกถึงสามคำที่เอ็ลเดอร์เบดนาร์สอนเราเมื่อหลายปีก่อนเกี่ยวกับการเล็งเห็น การสังเกต และการฟังขณะที่เราสอน 5 สำหรับผมนั่นคือแก่นของสิ่งที่คุณเพิ่งแบ่งปันกับเรา คุณเล็งเห็นบางอย่างหรือสังเกตเห็นบางอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างชั้นเรียนหรือหลังชั้นเรียน เพราะการสังเกตเหล่านั้น เสมือนว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์กำลังสอนคุณถึงสิ่งสำคัญบางอย่างที่เกิดขึ้นวันนี้ บราเดอร์ฟรังโกครับ คุณจะขยายต่ออย่างไรได้บ้างครับ? คุณจะทำอย่างไรครับเพื่อ—ขอโทษครับ ผมไม่รู้คำนั้น คุณจะทำอย่างไรเพื่อเพิ่มโอกาสให้สิ่งนั้นเกิดบ่อยขึ้นในชั้นเรียน?

บราเดอร์ฟรังโก: ผมคิดมาตลอด—ว่ามีหลายอย่าง ผมคิดมาตลอดเรื่องเครื่องมือประเมิน ผมคิดว่าสิ่งเหล่านั้นช่วยเมื่อมีเพื่อนร่วมงานหรือใครบางคน หรือผู้ดูแลมาสังเกตการณ์ ผมรู้สึกได้และพบสิ่งที่ผมต้องพยายาม แต่ขณะเดียวกัน เครื่องมือประเมินที่ให้กับนักเรียนก็ช่วยเหมือนกัน—เราใช้มาตลอด น่าทึ่งที่เห็นว่าพวกเขารู้สึกอย่างไร พูดอะไรในชั้นเรียน—รู้สึกอย่างไรกับครู ชั้นเรียน และบทบาทที่เราทำ น่าอัศจรรย์ เราเห็นผลและเราพูดว่า “โอ้ นี่แหละที่ฉันต้องพยายามทำ” หรือนี่แหละที่ฉันทำได้ดีมาก การใช้สิ่งนี้ช่วยได้ แต่ขณะเดียวกัน ผมก็อาจจะทำสุดความสามารถ และทำตามพระวิญญาณเหมือนที่ทุกคนพูดไป เอาใจใส่สิ่งที่นักเรียนต้องการและถ้าสิ่งที่ผมทำอยู่จะช่วยครอบคลุมความต้องการเหล่านั้น

บราเดอร์วิลลาร์ด: บราเดอร์ฟรังโก ขอบคุณมากครับ ตอนที่คุณแบ่งปันประจักษ์พยานว่าคุณปรารถนาจะดีขึ้น ผมรู้สึกว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นพยานต่อผมว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงรักคุณและครูทั่วโลกมากแค่ไหน เมื่อเราทำสุดความสามารถเพื่อรักพระผู้เป็นเจ้า และรักลูกๆ ของพระองค์ พระองค์จะอวยพรเรา จะแสดงให้เห็นว่าเราจะทำอย่างไรในชั้นเรียน ให้เรารู้เมื่อประสบการณ์ของการเปลี่ยนใจเลื่อมใส การสานสัมพันธ์ และการเป็นส่วนหนึ่งกำลังเกิดขึ้น เพื่อช่วยให้เยาวชนคนหนุ่มสาวเหล่านี้เข้าใกล้พระเยซูคริสต์มากขึ้น บราเดอร์ฟรังโก และทุกคนครับ ขอบคุณแทนเยาวชนทุกคนที่คุณเป็นพรให้ ขอบคุณที่แบ่งปันประสบการณ์ครับ

บราเดอร์ฟรังโก: ขอบคุณครับ

ซิสเตอร์นิวโบลด์: บราเดอร์วิลลาร์ดคะ ชอบมากเลย—ขอบคุณค่ะ และก็การสนทนากับคุณด้วยค่ะบราเดอร์ฟรังโก ดิฉันขอแสดงความขอบคุณและความรักต่อคุณและครูทุกคนเช่นกัน ดิฉันนึกถึงอีกสองอย่างเรื่องการเปลี่ยนใจเลื่อมใส การสานสัมพันธ์ และการเป็นส่วนหนึ่ง ดิฉันว่ามันสำคัญมาก เราเคยมีคนขออบรมเรื่องพวกนั้นเยอะมากและจำไว้ว่าการเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระผู้ช่วยให้รอดพระเยซูคริสต์และพระบิดาในสวรรค์ การสานสัมพันธ์ และการเป็นส่วนหนึ่งเป็นผลของสิ่งที่เราทำกับการสอน แต่ถ้าพวกเขาไม่เห็นวิธีประยุกต์ใช้กับชีวิตตนเอง จะยากขึ้นที่พวกเขาจะมีประสบการณ์ที่จำเป็น และพระวิญญาณบริสุทธิ์คือผู้ทำเช่นนั้น

ซิสเตอร์สก็อตต์: ซิสเตอร์เจมี่ สก็อตต์เล่าเรื่องหนึ่งน่าฟัง ซิสเตอร์สก็อตต์คะ เล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมคะ?

ซิสเตอร์เจมี่ สก็อตต์: ยินดีค่ะ เมื่อดิฉันมุ่งเน้นการเป็นครูเหมือนพระคริสต์ ดิฉันไม่ยึดติดกับรูปแบบหรือวิธีใดโดยเฉพาะ แต่สร้างศรัทธาในพระเยซูคริสต์และเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้น วันหนึ่งขณะสอน ดิฉันรู้สึกต้องถามนักเรียนว่า “บทเรียนแบบไหนจะช่วยให้คุณใกล้ชิดพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น?” แล้วนักเรียนทั้งสี่คนก็พูดถึงเพลง เราตัดสินใจให้มีวันหนึ่งที่เราเรียนรู้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดผ่านเพลง นักเรียนจะแบ่งปันเพลงสวดหรือเพลงทั่วไป—หรืออะไรก็ได้ที่ช่วยให้พวกเขาเข้าใกล้พระเยซูคริสต์มากขึ้น บางคนเล่นดนตรี บางคนให้ดิฉันเปิดเพลงผ่านลำโพง บางคนร้องเพลง เราจึงมีเพลงสวดและเพลงหลายแบบ ก่อนหรือหลังแบ่งปันเพลง พวกเขาจะพูดและแสดงประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระเจ้าและพระผู้ช่วยให้รอดของเรา วันนั้นทุกคนรู้สึกถึงพระวิญญาณจริงๆ หลายคนแบ่งปันประสบการณ์ว่าพวกเขามีพระวิญญาณตรงนั้นเวลานั้น พระวิญญาณทำให้บางคนจำความจริงที่เคยรู้ในอดีตได้ และพระวิญญาณเป็นพยานต่อพวกเขาถึงความจริงนั้นอีกครั้ง

มีเยาวชนชายคนหนึ่งที่มาเรียนเซมินารีทั้งที่ไม่อยากมา เขายกมือขึ้นบอกว่า “ผมไม่รู้สึกถึงพระวิญญาณมาสี่ปีแล้ว แต่เมื่อเบ็นเล่นเพลงสวด”—และเพลงนั้นคือ “ฉันรู้พระผู้ไถ่ทรงพระชนม์” ด้วยวิโอลา—เขาบอกว่า “ผมรู้สึกถึงพระวิญญาณ และรู้สึกดี” ดิฉันขอบพระทัยจริงๆ ที่พระเจ้าทรงทราบว่าคนที่พระองค์ทรงเลือกต้องการอะไร ดิฉันขอบคุณที่ได้ฟังและถามว่าพวกเขาต้องการอะไร ชายคนนี้จึงรู้สึกถึงความรักของพระผู้ช่วยให้รอดและรู้ว่าเขาเป็นใคร และพระองค์ทรงรักเขา

ซิสเตอร์สก็อตต์: ขอบคุณที่แบ่งปันค่ะ บราเดอร์เจมส์ คุณยกมือ

บราเดอร์เจมส์: ขอบคุณครับ ผมอยากเสริมสิ่งที่พูดไปแล้ว ประสบการณ์นี้ดีมากสำหรับตัวผม ผมพยายามใช้เครื่องมือวัดผล สื่อสังเกตการณ์ กับนักเรียนทุกคนเมื่อคราวที่แล้ว ผมนำมาใช้กับชั้นเรียน และมันค่อนข้างเป็นการเปิดเผยสำหรับผม—เหมือนกับผมได้รับการสอนที่นี่วันนี้ว่าแก่นของการวัดผลนี้คือเพื่อช่วยให้เราได้รับการเปิดเผยมากขึ้นในด้านที่เราปรับปรุงได้

ผมอยากจะอ่านสิ่งที่นักเรียนคนหนึ่งในชั้นเรียนพูดเกี่ยวกับการสานสัมพันธ์ในประสบการณ์ชั้นเรียน หลังจากสำรวจความคิดเห็นแล้ว—ผมประมวลจากเนื้อหาที่รวบรวมมา ผมบังเอิญเห็นข้อความนี้จากคำถามข้อหนึ่งที่นักเรียนตอบ เขาตอบว่า “ชั้นเรียนมีความสัมพันธ์กับผมมากเพราะครูช่วยผมโยงกับหัวข้อพระกิตติคุณ หลักธรรมที่ผมเรียนรู้ นั่นเป็นเรื่องใกล้ตัวผม” คนต่อไปพูดถึงสิ่งที่ผมทำได้เพื่อช่วยเขาปรับปรุงด้วย เขาบอกว่า “อยากให้ครูให้ผมร่วมสนทนาในชั้นเรียนและถามผมด้วย”

นี่คือสิ่งที่ปกติแล้วผมคงนึกไม่ออก— และการประมวลข้อมูลเหล่านี้จากการสังเกตการณ์โดยนักเรียน ผู้ดูแล และการประเมินตนเอง เปิดตาผมให้เห็นด้านที่ผมต้องปรับปรุง ผมพูดได้ว่าทักษะและแนวทางปฏิบัติทั้ง 25 ข้อนี้วิเศษมาก นำมาใช้ระหว่างนำเสนอบทเรียนได้ง่ายมาก ขอบคุณครับ

บราเดอร์วิลคินส์: ผมแค่อยากแบ่งปันประสบการณ์สั้นๆ ที่สอนพลังของการผนวกการมุ่งเน้นวัตถุประสงค์กับการมุ่งเน้นทักษะ วันหนึ่งในชั้น เรามีการสนทนาเรื่องการกลับใจที่ให้พระคริสต์เป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่แค่กลับใจจากพฤติกรรมเท่านั้น แต่หลักธรรมนี้ทำให้เราเข้าถึงพระคริสต์และทูลขอให้ทรงเปลี่ยนความอ่อนแอของเราเป็นความเข้มแข็ง ผมนึกถึงทักษะบางอย่างจากเนื้อหาการอบรมด้วย ขณะดูนักเรียนสนทนา ผมเห็นหญิงสาวคนหนึ่ง—ผมเน้นที่เธอเพราะทักษะนี้ ผมพยายามมองตาเธอ และถามคำถามติดตามผล ผมเห็นเธอเช็ดน้ำตา ผมแค่รู้สึกว่าต้องถามคำถามติดตามผลและพูดว่า “นิคกี้ บอกได้ไหมว่าพระวิญญาณสอนอะไรคุณ?” เธอบอกความในใจ ร้องไห้ และพูดว่าเธอได้รับคำตอบของการสวดอ้อนวอนที่สวดมานานห้าปี เธอพยายามกลับใจแต่ไม่เคยขอให้พระเจ้าเปลี่ยนใจเธอ

และเมื่อผมเน้นที่วัตถุประสงค์ตลอดชั้นเรียน การสนทนาที่ให้พระคริสต์เป็นศูนย์กลาง มันดีครับ แต่เพราะเน้นทักษะที่เล่ามา ผมจึงดีใจที่ผมเอาใจใส่ทักษะให้ถามคำถามติดตามผล มองตาคน เพราะต้องเป็นประสบการณ์ที่ดีจริงๆ จึงจะหวังได้ว่าประสบการณ์นั้นจะเปลี่ยนชีวิต สำหรับผม แค่ทำให้วัตถุประสงค์เป็นจุดเริ่มต้นก็ส่งผลมากแล้ว แต่การเน้นทักษะจะช่วยให้วัตถุประสงค์ลงลึกมากขึ้น

ซิสเตอร์สก็อตต์: ขอบคุณค่ะบราเดอร์วิลคินส์ การสานสัมพันธ์ด้วยการสบตานักเรียนเชื้อเชิญให้พวกเขามีส่วนร่วม และมีประสบการณ์ส่วนตัวกับคุณ เป็นตัวอย่างที่ดีมากค่ะ บราเดอร์มาร์ค เอสปิดิตา

บราเดอร์มาร์ค เอสปิดิตา: ผมเริ่มใช้เนื้อหาที่เราได้รับเมื่อประมาณสองเดือนที่แล้วกับการอบรมต้นแบบผู้ประสานงานคนใหม่ใน Canvas ผมแค่เปรียบเทียบกับวิธีที่ครูตอบสนองต่อสิ่งที่ผมโพสต์ในการอบรมที่ผ่านมา โดยใช้ คู่มือการสอนและการเรียนรู้พระกิตติคุณ เล่มเก่า มีปฏิสัมพันธ์ไม่มากในกระดานสนทนาของเรา ล่าสุด เมื่อผมเริ่มใช้หัวข้อเหล่านี้ในคู่มือเล่มใหม่ ผมรู้เลยว่าครูมีส่วนร่วมมากขึ้น พวกเขาเปิดกว้างในแง่ของการแบ่งปันประสบการณ์

ผมแค่อยากแบ่งปันความเห็นหนึ่ง—จากครูคนหนึ่งของผม นี่เป็นการอบรมที่ผมทำเมื่อสองสามอาทิตย์ก่อน เกี่ยวกับการสวดอ้อนวอนโดยเอ่ยชื่อคนที่คุณสอน ผมได้รับความเห็นที่ดีและน่าทึ่งมาก มีอยู่อย่างหนึ่งที่ครูคนหนึ่งพูด—ผมจะอ่านให้ฟังนะครับ เขาเขียนว่า “นี่คือสิ่งที่เตือนใจครูได้ดี มีหลายครั้งที่เราอยากสอนนักเรียน อยากให้พวกเขารู้สึกถึงพระวิญญาณในชั้นเรียนผ่านการเตรียมของเรา แต่สิ่งสำคัญจริงๆ คือวิธีปรับข่าวสารของบทเรียนตามความต้องการของพวกเขา นักเรียนต้องการข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับพวกเขา นั่นคือสาเหตุที่การสวดอ้อนวอนให้เป็นรายบุคคลส่งผลมากเมื่อพูดถึงการเตรียมบทเรียนสำหรับพวกเขา มันเปิดช่องทางให้พระวิญญาณสามารถนำเราในการพูดและสอน” ผมไม่รู้เลยว่ามันจะส่งผลใหญ่หลวงต่อพวกเขา ผมคิดว่าเนื้อหาที่อยู่ในนี้มีประโยชน์ต่อครูของเรามาก เท่านี้ล่ะครับ

ซิสเตอร์สก็อตต์: บราเดอร์เควิน บราวน์ ยินดีแบ่งปันมั้ยคะ?

บราเดอร์เควิน บราวน์:ผมรู้สึกแรงกล้ามากและชื่นชมกระบวนการเปิดเผยที่อยู่ในการอบรมครั้งนี้และเครื่องมือทั้งหมดที่เราได้รับ ผมเคยจดไว้ในสมุด ถ้าพบบางอย่าง หวังว่าโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ โดยเฉพาะสิ่งที่ผมเรียนรู้ผ่านพระองค์ และโดยผ่านแหล่งนั้น ผมจะทำและเปลี่ยนหรือประยุกต์ใช้เร่งด่วนแค่ไหน? มีคนพูดก่อนหน้านี้ว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสานสัมพันธ์ให้นักเรียนของเรา แต่วันนี้ผมรู้สึกว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสานสัมพันธ์ให้ครู ผมจึงควรลงมือทำหรือประยุกต์ใช้สิ่งที่ผมเรียนรู้โดยพระวิญญาณทันที ผมรู้สึกแรงกล้าว่าเมื่อเราทำ ปาฏิหาริย์จะเกิดขึ้นในห้องเรียน ครูจะสามารถเป็นพยานนั้นได้

ซิสเตอร์สก็อตต์: ขอบคุณมากค่ะที่แบ่งปันข่าวสารกับเรา เรามีคนหนึ่งยกมือ บราเดอแคสโตร อยากแบ่งปันไหมคะ?

บราเดอแคสโตร: ครับซิสเตอร์สก็อตต์ ขอบคุณครับ ผมนึกถึง— ความคิดหนึ่งหรือคำสอนหนึ่งของเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์ ท่านบอกว่า “สิ่งหนึ่งที่ต้องรู้คือพระเยซูคริสต์เสด็จมาแผ่นดินโลกเพื่อ สิ้นพระชนม์ เพื่อเรา นี่คือพื้นฐานและรากฐานของหลักคำสอนของพระคริสต์ แต่เราต้องสำนึกคุณเช่นกันว่าพระเจ้าทรงปรารถนาจะ มีชีวิต ในเราโดยผ่านการชดใช้ของพระองค์และโดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์—ไม่เพียงเพื่อนำเราเท่านั้นแต่เพื่อให้อำนาจเราด้วย” 6 ผมรู้สึกอย่างนั้นวันนี้ว่าพระเจ้าทรงปรารถนาจะช่วยเราในงานใหญ่นี้จริงๆ เราช่วยเยาวชนของเราได้ เราช่วยครูที่ได้รับเรียกให้รู้สึกแบบนั้นได้

ซิสเตอร์สก็อตต์: ขอบคุณมากค่ะบราเดอร์แคสโตร ขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนร่วมวันนี้ เราได้ฟังประจักษ์พยานที่ยอดเยี่ยมเกี่ยวกับวิธีประยุกต์ใช้สิ่งที่เราสนทนากันวันนี้ในแบบที่เป็นส่วนตัวมากๆ ดิฉันอยากเพิ่มประจักษ์พยานด้วย ดิฉันรู้ว่านี่คืองานของพระเจ้า รู้ว่าพระองค์สนพระทัยการพัฒนาตนเองของเราและความสามารถในการสานสัมพันธ์กับเยาวชนคนหนุ่มสาวที่เราสอน ดิฉันรู้ว่าพระองค์จะทรงช่วยเหลือเมื่อคุณแต่ละคนนำเครื่องมือทั้งหมดที่เราคุยกันมาใช้ในวิธีที่เหมาะกับคุณ; พระคริสต์จะทรงบอกคุณผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์ว่าคุณต้องพยายามเรื่องอะไร; และสิ่งที่คุณต้องพยายามทำคือสิ่งที่คนคนนั้นต้องได้ยิน ตามที่อธิบายกันไว้ในเรื่องราวทั้งหมดวันนี้ และพวกเขาจะสามารถมาหาพระคริสต์ผ่านคุณ ดิฉันแสดงประจักษ์พยานถึงความจริงเหล่านี้ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน

พิมพ์