2010–2019
การตรงกันข้ามในสิ่งทั้งปวง
เมษายน 2016


15:27

การตรงกันข้ามในสิ่งทั้งปวง

การตรงกันข้ามทำให้เราเติบโตไปสู่สิ่งที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงประสงค์ให้เราเป็น

ศูนย์รวมพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์คือแผนแห่งความรอดของพระบิดาสำหรับความก้าวหน้านิรันดร์ของบุตรธิดาพระองค์ แผนนั้น ตามที่อธิบายไว้ในการเปิดเผยยุคปัจจุบัน ช่วยให้เราเข้าใจสิ่งต่างๆ ที่เราเผชิญในความเป็นมรรตัย ข่าวสารของข้าพเจ้ามุ่งเน้นที่บทบาทอันจำเป็นของการตรงกันข้ามในแผนดังกล่าว

I.

จุดประสงค์ของชีวิตมรรตัยสำหรับบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าคือเพื่อจัดหาประสบการณ์ที่จำเป็น “เพื่อพัฒนาไปสู่ความดีพร้อม และในที่สุดจะบรรลุจุดหมายปลายทางแห่งสวรรค์ของพวกเขาเป็นทายาทแห่งชีวิตนิรันดร์”1 ดังที่ประธานโธมัส เอส. มอนสันสอนเราอย่างทรงพลังเช้าวันนี้ เราพัฒนาโดยการเลือก ซึ่งเราได้รับการทดสอบเพื่อแสดงให้เห็นว่าเราจะรักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า (ดู อับราฮัม 3:25) เพื่อได้รับการทดสอบเราต้องมีสิทธิ์เสรีที่จะเลือกระหว่างทางเลือกต่างๆ ในการให้ทางเลือกเพื่อเราจะใช้สิทธิ์เสรีของเรา เราต้องเผชิญความตรงกันข้าม

ส่วนที่เหลือของแผนจำเป็นเช่นกัน เมื่อเราเลือกผิด—ซึ่งเราจะทำเช่นนั้นแน่นอน—เราแปดเปื้อนไปด้วยบาปและต้องได้รับการชำระให้สะอาดเพื่อจะมุ่งสู่จุดหมายปลายทางนิรันดร์ของเรา แผนของพระบิดาให้หนทางในการทำสิ่งนี้ หนทางที่จะสนองตอบข้อเรียกร้องนิรันดร์แห่งความยุติธรรม พระผู้ช่วยให้รอดทรงจ่ายค่าไถ่เราจากบาป พระผู้ช่วยให้รอดคือพระเจ้าพระเยซูคริสต์ พระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดของพระผู้เป็นเจ้าพระบิดานิรันดร์ ผู้ที่การพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้—การทนทุกข์ของพระองค์—จ่ายค่าบาปของเราหากเราจะกลับใจจากบาป

คำอธิบายที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งของบทบาทแห่งการตรงกันข้ามซึ่งได้วางแผนไว้แล้วมีอยู่ในพระคัมภีร์มอรมอน ในคำสอนของลีไฮที่สอนเจคอบบุตรของท่าน

“เพราะจำเป็นต้อง, มีการตรงกันข้ามในสิ่งทั้งปวง. หาไม่แล้ว, …ความชอบธรรมไม่สามารถเกิดขึ้นได้, ไม่ทั้งความชั่วร้าย, ไม่ทั้งความบริสุทธิ์หรือความเศร้าหมอง, ไม่ทั้งดีหรือชั่ว” (2 นีไฟ 2:11; ดู ข้อ 15 ด้วย)

ด้วยเหตุนี้ ลีไฮกล่าวต่อไป “พระเจ้าพระผู้เป็นเจ้าจึงประทานแก่มนุษย์เพื่อเขาจะกระทำด้วยตนเอง. ดังนั้น, มนุษย์กระทำด้วยตนเองไม่ได้นอกจากจะเป็นว่าเขามีแรงจูงใจจากอย่างหนึ่งหรืออีกอย่างหนึ่ง” (ข้อ 16) ในทำนองเดียวกัน ในการเปิดเผยยุคปัจจุบันพระเจ้าทรงประกาศว่า “จึงจำเป็นว่ามารจะล่อลวงลูกหลานมนุษย์, มิฉะนั้นพวกเขาจะเป็นผู้มีสิทธิ์เสรีของตนเองไม่ได้” (คพ. 29:39)

การตรงกันข้ามเป็นสิ่งจำเป็นในสวนเอเดน ถ้าอาดัมกับเอวาไม่ได้เลือกสิ่งที่นำมาซึ่งความเป็นมรรตัย ลีไฮสอนว่า “พวกท่านจะคงอยู่ในสภาพของความไร้เดียงสา, … ไม่ทำความดี, เพราะพวกท่านไม่รู้จักบาป” (2 นีไฟ 2:23)

นับจากกาลเริ่มต้น สิทธิ์เสรีและการตรงกันข้ามเป็นศูนย์รวมแผนของพระบิดาและการกบฏของซาตานต่อแผนนั้น ดังที่พระเจ้าทรงเปิดเผยแก่โมเสส ในสภาสวรรค์ ซาตาน “หมายมั่นจะทำลายสิทธิ์เสรีของมนุษย์” (โมเสส 4:3) การทำลายนั้นมีอยู่เป็นปกติวิสัยในเงื่อนไขที่ซาตานเสนอ เขามาหาพระบิดาและกล่าวว่า “ดูเถิด, ข้าพระองค์อยู่นี่, ทรงส่งข้าพระองค์ไปเถิด, ข้าพระองค์จะเป็นบุตรของพระองค์, และข้าพระองค์จะไถ่มนุษยชาติทั้งปวง, จนสักจิตวิญญาณหนึ่งก็จะไม่หายไป, และแน่นอนข้าพระองค์จะทำ; ดังนั้นทรงให้เกียรติของพระองค์แก่ข้าพระองค์เถิด” (โมเสส 4:1)

ฉะนั้น ซาตานจึงเสนอจะทำให้แผนของพระบิดาสำเร็จลุล่วงในวิธีซึ่งจะขัดขวางการบรรลุจุดประสงค์ของพระบิดาและให้รัศมีภาพแก่ซาตาน

ข้อเสนอของซาตานจะรับรองเรื่องความเท่าเทียมกันอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งจะ “ไถ่มนุษยชาติทั้งปวง” จนไม่มีสักจิตวิญญาณเดียวที่จะหายไป ทุกคนจะไม่มีสิทธิ์เสรีหรือการเลือก ฉะนั้น จึงไม่จำเป็นต้องมีการตรงกันข้าม จะไม่มีการทดสอบ ไม่มีความล้มเหลว และไม่มีความสำเร็จ จะไม่มีการเติบโตเพื่อบรรลุจุดประสงค์ที่พระบิดาทรงปรารถนาสำหรับบุตรธิดาของพระองค์ พระคัมภีร์บันทึกว่าการคัดค้านของซาตานก่อให้เกิด “สงคราม…ในสวรรค์” (วิวรณ์ 12:7) ซึ่งสองในสามของบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าได้รับสิทธิ์ที่จะมีประสบการณ์ชีวิตมรรตัยโดยการเลือกแผนของพระบิดาและปฏิเสธการกบฏของซาตาน

จุดประสงค์ของซาตานคือเพื่อจะได้เกียรติและเดชานุภาพของพระบิดาแก่ตนเอง (ดู อิสยาห์ 14:12–15; โมเสส 4:1, 3) พระบิดาตรัสว่า “ดังนั้น, เพราะว่าซาตานกบฏต่อเรา, … เราจึงทำให้เขาถูกโยนลงไป” (โมเสส 4:3) พร้อมกับดวงวิญญาณทั้งหมดที่ใช้สิทธิ์เสรีในการติดตามเขา (ดู ยูดา 1:6; วิวรณ์ 12:8–9; คพ. 29:36–37) ถูกโยนลงไปเป็นวิญญาณที่ไร้ร่างกายในโลกมรรตัย ซาตานกับผู้ติดตามเขาล่อลวงและหมายมั่นจะหลอกลวงและชักนำบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าไปเป็นทาส (ดู โมเสส 4:4) ดังนั้นคือผู้ชั่วร้ายคนนั้นนั่นเอง ที่คัดค้านและหมายจะ ทำลาย แผนของพระบิดา เป็นผู้ ก่อให้เกิด การตรงกันข้าม เพราะการตรงกันข้ามทำให้มีการเลือกและเป็นโอกาสในการเลือกสิ่งที่ถูกต้องซึ่งนำไปสู่การเติบโต นั่นคือจุดประสงค์ในแผนของพระบิดา

II.

ที่สำคัญคือ การล่อลวงให้ทำบาปไม่ได้เป็นการตรงกันข้ามเพียงอย่างเดียวในความเป็นมรรตัย ท่านบิดาลีไฮสอนว่าหากไม่มีการตก อาดัมกับเอวา “จะคงอยู่ในสภาพของความไร้เดียงสา, ไม่มีปีติ, เพราะพวกท่านไม่รู้จักความเศร้าหมอง” (2 นีไฟ 2:23) หากไม่มีประสบการณ์ของการตรงกันข้ามในความเป็นมรรตัย “สิ่งทั้งปวงจำเป็นต้องเป็นสารประกอบในหนึ่งเดียว” ซึ่งจะไม่มีความสุขหรือความเศร้าหมอง (ข้อ 11) ฉะนั้น ท่านบิดาลีไฮกล่าวต่อไปว่า หลังจากพระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างทุกสิ่ง “เพื่อนำมาซึ่งจุดประสงค์นิรันดร์ของพระองค์ในเจตนารมณ์ของมนุษย์…จำเป็นต้องมีการตรงกันข้าม; แม้ผลไม้ต้องห้ามเป็นการตรงกันข้ามกับต้นไม้แห่งชีวิต; อย่างหนึ่งหวานและอีกอย่างหนึ่งขม” (ข้อ 15).2 คำสอนของท่านในส่วนนี้ของแผนแห่งความรอดสรุปด้วยถ้อยคำเหล่านี้

“แต่ดูเถิด, สิ่งทั้งปวงกระทำไปโดยปรีชาญาณของพระองค์ผู้ทรงรู้แจ้งในสรรพสิ่ง.

“อาดัมตกเพื่อมนุษย์จะเป็นอยู่; และมนุษย์เป็นอยู่, เพื่อพวกเขาจะมีปีติ” (ข้อ 24–25)

การตรงกันข้ามในรูปแบบของสภาวการณ์ยากลำบากที่เราเผชิญในความเป็นมรรตัยคือส่วนหนึ่งของแผนซึ่งทำให้เราเติบโตยิ่งขึ้นในความเป็นมรรตัยด้วย

III.

เราทุกคนประสบกับการตรงกันข้ามหลากหลายชนิดที่ทดสอบเรา การทดสอบบางอย่างคือการล่อลวงให้ทำบาป บางอย่างคือความท้าทายในชีวิตมรรตัยที่ไม่เกี่ยวข้องกับบาปส่วนตัว บ้างก็ใหญ่หลวง บ้างก็เล็กน้อย บ้างก็ต่อเนื่อง บ้างก็เป็นเพียงครั้งคราว ไม่มีใครได้รับการยกเว้น การตรงกันข้ามทำให้เราเติบโตไปสู่สิ่งที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงประสงค์ให้เราเป็น

หลังจากโจเซฟ สมิธแปลพระคัมภีร์มอรมอนเสร็จ ท่านยังคงต้องหาสำนักพิมพ์ นี่ไม่ใช่เรื่องง่าย ความซับซ้อนของต้นฉบับที่มีความยาวมากและค่าใช้จ่ายของการพิมพ์และเย็บเล่มหลายพันเล่มนั้นน่าหวาดหวั่น ครั้งแรกโจเซฟไปหาอี. บี. แกรนดิน ช่างพิมพ์ในเมืองพอลไมรา เขาปฏิเสธ จากนั้นท่านไปหาช่างพิมพ์อีกคนหนึ่งในเมืองพอลไมรา เขาปฏิเสธท่านเช่นกัน ท่านเดินทางไปโรเชสเตอร์ ไกลออกไป 25 ไมล์ (40 กม.) และไปหาสำนักพิมพ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในนิวยอร์กฝั่งตะวันตก สำนักพิมพ์นี้ปฏิเสธท่านเช่นกัน มีสำนักพิมพ์อีกแห่งหนึ่งในโรเชสเตอร์ที่เต็มใจ แต่สภาวการณ์ต่างๆ ทำให้ทางเลือกนี้รับไม่ได้

หลายสัปดาห์ผ่านไป และโจเซฟต้องสับสนกับอุปสรรคที่ขัดขวางประกาศิตจากสวรรค์ พระเจ้าไม่ทรงทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องง่าย แต่ทรงทำให้อยู่ในวิสัยที่ทำได้ ความพยายามครั้งที่ห้าของโจเซฟ คือการไปหาสำนักพิมพ์แกรนดินในพอลไมราเป็นครั้งที่สอง ซึ่งประสบความสำเร็จ3

หลายปีต่อมา โจเซฟถูกคุมขังในคุกลิเบอร์ตี้อย่างทุกข์ทรมานเป็นเวลาหลายเดือน เมื่อท่านสวดอ้อนวอนขอการบรรเทาทุกข์ พระเจ้าตรัสกับท่านว่า “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้จะเป็นประสบการณ์แก่เจ้า, และจะเกิดขึ้นเพื่อความดีของเจ้า” (คพ. 122:7)

เราทุกคนต่างคุ้นเคยกับการตรงกันข้ามอื่นๆ ในชีวิตมรรตัยที่ไม่ได้เกิดจากบาปส่วนตัวของเรา ได้แก่ความเจ็บไข้ได้ป่วย ความพิการ และความตาย ประธานโธมัส เอส. มอนสันอธิบายว่า

“บางครั้งพวกท่านบางคนเคยคร่ำครวญในยามทุกข์ยาก สงสัยว่าเหตุใดพระบิดาบนสวรรค์จึงทรงปล่อยให้ท่านประสบกับการทดลองที่ท่านกำลังเผชิญ…

“อย่างไรก็ตาม ชีวิตมรรตัยของเราไม่ควรจะง่ายหรือสุขสบายตลอดเวลา พระบิดาบนสวรรค์…ทรงทราบว่าเราเรียนรู้และเติบโตและได้รับการขัดเกลาผ่านความท้าทายที่หนัก ความโศกเศร้าจนใจสลาย และการเลือกที่ยากลำบาก เราแต่ละคนประสบวันเวลาที่มืดมนเมื่อคนที่เรารักล่วงลับไป ช่วงเวลาที่เจ็บปวดเมื่อเราสุขภาพไม่ดี ความรู้สึกถูกทอดทิ้งเมื่อคนที่เรารักดูเหมือนจะทิ้งเราไป สิ่งเหล่านี้และการทดลองอื่นๆ เป็นการทดสอบความสามารถในการอดทนของเราอย่างแท้จริง”4

ความพยายามของเราที่จะปรับปรุงการถือปฏิบัติวันสะบาโตคือตัวอย่างของการตรงกันข้ามที่ตึงเครียดน้อยกว่า เราได้รับพระบัญญัติจากพระเจ้าให้รักษาวันสะบาโต การเลือกของเราบางอย่างอาจละเมิดพระบัญญัตินั้น แต่การเลือกอื่นๆ ว่าจะใช้เวลาในวันสะบาโตอย่างไรเป็นเพียงคำถามที่ว่าเราจะทำแค่สิ่งที่ดีหรือสิ่งที่ดีกว่าหรือดีที่สุด5

เพื่อแสดงถึงการตรงกันข้ามของการล่อลวง พระคัมภีร์มอรมอนอธิบายวิธีการสามอย่างที่มารจะใช้ในวันเวลาสุดท้าย อย่างแรก เขาจะ “ลุกลามในใจลูกหลานมนุษย์, และปลุกปั่นพวกเขาให้โกรธสิ่งที่ดี” (2 นีไฟ 28:20) อย่างที่สอง เขาจะ “ปลอบโยน, และกล่อม [สมาชิก] ไปในความมั่นคงทางเนื้อหนัง,” โดยกล่าวว่า “ไซอันรุ่งเรือง, ทุกอย่างดี” (ข้อ 21) อย่างที่สาม เขาจะบอกเราว่า “ไม่มีนรก; และ…ข้าพเจ้ามิใช่มาร, เพราะไม่มีมารเลย” (ข้อ 22) ฉะนั้นจึงไม่มีถูกไม่มีผิด เพราะการตรงกันข้ามนี้ เราได้รับการเตือนไม่ให้ “นิ่งนอนใจในไซอัน!” (ข้อ 24)

ศาสนจักรในพันธกิจแห่งสวรรค์และเราในชีวิตส่วนตัวดูเหมือนจะเผชิญกับการตรงกันข้ามมากขึ้นทุกวันนี้ บางทีขณะที่พลังของศาสนจักรเติบโตขึ้นและเราสมาชิกเติบโตในศรัทธาและการเชื่อฟัง ซาตานก็เพิ่มพละกำลังของการตรงกันข้ามด้วย ดังนั้นเราจึงจะมี “การตรงกันข้ามในสิ่งทั้งปวง” ต่อไป

การตรงกันข้ามบางอย่างก็มาจากสมาชิกศาสนจักร บางคนที่ใช้เหตุผลหรือปัญญาส่วนตัวในการต่อต้านการนำทางของศาสดาพยากรณ์ติดป้ายชื่อให้ตนเองซึ่งยืมมาจากคณะรัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งว่า—“ฝ่ายค้าน” แม้จะเหมาะสมกับประชาธิปไตย แต่ไม่มีเหตุผลสำหรับแนวคิดนี้ในการปกครองอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งยกย่องคำถามแต่ไม่ยกย่องการคัดค้าน (ดู มัทธิว 26:24)

อีกตัวอย่างหนึ่งคือมีหลายสิ่งในประวัติศาสนจักรช่วงแรกๆ เช่นสิ่งที่โจเซฟ สมิธทำหรือไม่ได้ทำในทุกๆ สภาวการณ์ ที่บางคนใช้เป็นพื้นฐานของการคัดค้าน ข้าพเจ้าขอบอกกับทุกคนว่า จงใช้ศรัทธาและวางใจในคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดว่าเราควร “รู้จักพวกเขาได้ด้วยผลของพวกเขา” (มัทธิว 7:16) ศาสนจักรพยายามอย่างยิ่งที่จะโปร่งใสกับบันทึกต่างๆ ที่เรามี แต่หลังจากตีพิมพ์ทุกสิ่งที่เราทำได้ บางครั้งสมาชิกก็ยังมีคำถามพื้นฐานที่ไม่สามารถตอบได้ด้วยการศึกษา นั่นคือประวัติศาสนจักรฉบับ “การตรงกันข้ามในสิ่งทั้งปวง” บางสิ่งเรียนรู้ได้ด้วยศรัทธาเท่านั้น (ดู คพ. 88:118) เราต้องวางใจศรัทธาของเราอย่างที่สุดในพยานที่เราได้รับจากพระวิญญาณบริสุทธิ์

พระผู้เป็นเจ้าแทบจะไม่ก้าวก่ายสิทธิ์เสรีของบุตรธิดาของพระองค์โดยการแทรกแซงบางคนเพื่อบรรเทาทุกข์คนอื่นๆ แต่พระองค์ทรงบรรเทาภาระในความทุกข์ยากของเราและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เราแบกรับไว้ได้ ดังที่พระองค์ทรงทำกับผู้คนของแอลมาในแผ่นดินฮีลัม (ดู โมไซยาห์ 24:13–15) พระองค์ไม่ได้ทรงยับยั้งภัยทั้งหมด แต่พระองค์ทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของเราเพื่อเปลี่ยนทิศทางมันไป ดังที่พระองค์ทรงทำกับพายุไซโคลนอานุภาพรุนแรงที่สุดซึ่งคุกคามการอุทิศพระวิหารในฟิจิ6 หรือพระองค์ทรงลดผลกระทบของมัน ดังที่ทรงทำกับผู้ก่อการร้ายวางระเบิดที่ฆ่าชีวิตหลายคนในสนามบินบรัสเซลส์แต่ผู้สอนศาสนาของเราสี่คนเพียงบาดเจ็บเท่านั้น

โดยผ่านการตรงกันข้ามทั้งหมดในชีวิตมรรตัย เรามีการรับรองจากพระผู้เป็นเจ้าว่าพระองค์จะทรง “อุทิศความทุกข์ของ [เรา] ให้เป็นพรของ [เรา]” (2 นีไฟ 2:2) เรายังได้รับการสอนให้เข้าใจประสบการณ์มรรตัยของเราและพระบัญญัติของพระองค์ในบริบทของแผนแห่งความรอดอันยิ่งใหญ่ ซึ่งบอกเราถึงจุดประสงค์ของชีวิตและรับรองกับเราถึงพระผู้ช่วยให้รอด ซึ่งในพระนามของพระองค์ ข้าพเจ้าเป็นพยานถึงความจริงของสิ่งเหล่านี้ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน

อ้างอิง

  1. “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,”เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 165.

  2. ในทำนองเดียวกัน การเปิดเผยยุคปัจจุบันสอนว่าหากเราไม่เคยลิ้มรสขม เราจะไม่รู้รสหวาน (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 29:39).

  3. ดู Michael Hubbard MacKay and Gerrit J. Dirkmaat, From Darkness unto Light: Joseph Smith’s Translation and Publication of the Book of Mormon (2015), 163–79.

  4. Thomas S. Monson, “Joy in the Journey” (คำปราศรัยให้ไว้ที่ BYU Women’s Conference, May 2, 2008), womensconference.ce.byu.edu. บทความสั้นๆ เรื่องน้ำใจนักกีฬาและประชาธิปไตยโดยจอห์น เอส. แทนเนอร์, ปัจจุบันเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยบีวายยู–ฮาวาย, ได้ให้ข้อคิดในเรื่องที่เราทุกคนคุ้นเคยกันว่า “การเรียนรู้ที่จะแพ้อย่างสง่างามไม่ได้เป็นเพียงหน้าที่ของพลเมือง; แต่เป็นกฎเกณฑ์ทางศาสนาด้วย. พระผู้เป็นเจ้าทรงออกแบบความเป็นมรรตัยเพื่อรับรอง ‘การตรงกันข้ามในสิ่งทั้งปวง’ (2 นีไฟ 2:11). ความล้มเหลวและการพ่ายแพ้เป็นส่วนหนึ่งในแผนของพระองค์เพื่อความดีพร้อมของเรา…การพ่ายแพ้เป็นบทบาทสำคัญใน ‘การแสวงหาความดีพร้อม’ ของเรา” (Notes from an Amateur: A Disciple’s Life in the Academy [2011], 57).

  5. ดู ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “ดี ดีกว่า ดีที่สุด,”เลียโฮนา, พ.ย. 2007, 133–137.

  6. ดู Sarah Jane Weaver, “Rededication Goes Forward,” Church News, Feb. 28, 2016, 3.