การประชุมใหญ่สามัญ
รากฐานอันดีในภายหน้า
การประชุมใหญ่สามัญ เมษายน 2020


2:3

รากฐานอันดีในภายหน้า

ช่วงหลายปีต่อจากนี้ ขอให้เรายอมให้การปรับปรุงที่ทำกับพระวิหารซอลท์เลคกระตุ้นและเป็นแรงบันดาลใจให้เรา

ประวัติพระวิหารซอลท์เลค

เราจะย้อนกลับไปช่วงบ่ายอันร้อนอบอ้าวของวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 1847 ราวบ่ายสอง หลังจากเดินทางตรากตรำมาตลอด 111 วันกับสมาชิกศาสนจักร 148 คนผู้มุ่งหน้ามาตะวันตกเป็นกลุ่มแรก บริคัม ยังก์ซึ่งเป็นประธานโควรัมอัครสาวกสิบสองเวลานั้นป่วยและอ่อนแอจากไข้รากสาดใหญ่ได้เข้าสู่หุบเขาซอลท์เลค

สองวันต่อมา ขณะกำลังฟื้นจากอาการป่วย บริคัม ยังก์นำสมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสองหลายท่านและคนอื่นๆ ออกสำรวจพื้นที่ วิลเลียม เคลย์ตันบันทึกว่า “ราวสามในสี่ไมล์ทางเหนือของค่าย เรามาถึงที่ราบสวยงามแห่งหนึ่ง เป็นแนวราบลาดลงไปทางตะวันตกได้ระดับพอดี”1

บริคัม ยังก์ ณ สถานที่ก่อสร้างพระวิหาร
บริคัม ยังก์กำหนดตำแหน่งพระวิหาร
กำหนดตำแหน่งพระวิหาร

ขณะสำรวจจุดนั้นกับคณะ บริคัม ยังก์หยุดชะงักและปักไม้เท้าลงบนพื้นพลางร้องว่า “พระวิหารของพระผู้เป็นเจ้าของเราจะตั้งอยู่ตรงนี้” คู่คนหนึ่งของท่านคือเอ็ลเดอร์วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์กล่าวว่าคำพูดนี้ “เหมือนสายฟ้าฟาดลงมาที่ [ตัวเขา]” เขาตอกกิ่งไม้ลงบนพื้นดินเพื่อทำเครื่องหมายจุดที่ประธานยังก์ปักไม้เท้า สี่สิบเอเคอร์ (101 ไร่) คือพื้นที่คัดเลือกสำหรับพระวิหาร โดยกำหนดว่าจะวางผังเมืองเป็น “สี่เหลี่ยมจัตุรัสเหนือ&ใต้ ออก&ตก” โดยมีพระวิหารอยู่ตรงกลาง2

ที่การประชุมใหญ่สามัญเดือนเมษายนปี 1851 สมาชิกศาสนจักรออกเสียงเป็นเอกฉันท์สนับสนุนให้สร้างพระวิหาร “แด่พระนามของพระเจ้า”3 สองปีต่อมา วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1853 ฮีเบอร์ ซี. คิมบัลล์อุทิศที่ดินผืนนั้นในสาธารณพิธีที่วิสุทธิชนหลายพันคนเข้าร่วมและมีการเบิกเดินวางรากฐานของพระวิหารซอลท์เลค สองเดือนต่อมา วันที่ 6 เมษายน พวกเขาวางศิลาหัวมุมก้อนมหึมาและทำพิธีอุทิศอย่างเอิกเกริก มีคนโบกธงและวงดนตรี มีขบวนที่ผู้นำศาสนจักรเดินนำจากแทเบอร์นาเคิลหลังเก่าไปยังสถานที่ก่อสร้างพระวิหาร มีผู้พูดและผู้กล่าวคำสวดอ้อนวอนที่ศิลาทั้งสี่ก้อน4

รากฐานพระวิหารซอลท์เลค
บริคัม ยังก์

ณ พิธีเบิกดิน ประธานยังก์เล่าว่าท่านเห็นนิมิตเมื่อท่านเหยียบที่ตรงนั้นครั้งแรกขณะพากันสำรวจบริเวณหุบเขา โดยกล่าวว่า “ข้าพเจ้ารู้ [ตอนนั้น] เช่นเดียวกับที่รู้ตอนนี้ว่าที่ตรงนี้จะสร้างพระวิหาร—พระวิหารอยู่ต่อหน้าข้าพเจ้า”5

สิบปีต่อมา บริคัม ยังก์ให้ข้อคิดเชิงพยากรณ์ต่อไปนี้ที่การประชุมใหญ่สามัญเดือนตุลาคมปี 1863 ว่า: “ข้าพเจ้าต้องการเห็นพระวิหาร [แห่งนี้] สร้างขึ้นมาในแบบที่จะอยู่คงทนตลอดมิลเลเนียม นี่ไม่ใช่พระวิหารแห่งเดียวที่เราจะสร้าง จะมีการสร้างและอุทิศพระวิหารหลายร้อยแห่งถวายแด่พระเจ้า พระวิหารแห่งนี้จะได้ชื่อว่าเป็นพระวิหารแห่งแรกที่วิสุทธิชนสร้างในเทือกเขา … ข้าพเจ้าต้องการให้พระวิหาร … ตั้งตระหง่านเป็นอนุสรณ์ที่น่าภูมิใจถึงศรัทธาและความวิริยะอุตสาหะของวิสุทธิชนของพระผู้เป็นเจ้าในเทือกเขาแห่งนี้”6

พระวิหารซอลท์เลคระหว่างการก่อสร้าง
พระวิหารซอลท์เลคระหว่างการก่อสร้าง

ในการทบทวนประวัติสั้นๆ นี้ ข้าพเจ้าพิศวงกับความเป็นผู้หยั่งรู้ของบริคัม ยังก์—ข้อแรก การที่ท่านรับรองในระดับที่เป็นไปได้ว่าโดยใช้วิธีก่อสร้างซึ่งมีอยู่ที่นั่นเวลานั้น พระวิหารซอลท์เลคจะสร้างขึ้นในแบบที่จะอยู่คงทนตลอดมิลเลเนียม และข้อสอง การที่ท่านพยากรณ์ว่าจะมีพระวิหารเพิ่มขึ้นทั่วโลกในอนาคต แม้มากถึงหลายร้อยแห่ง

การบูรณะพระวิหารซอลท์เลค

เฉกเช่นบริคัม ยังก์ ศาสดาพยากรณ์ในสมัยของเราตรวจตราพระวิหารซอลท์เลคและพระวิหารแห่งอื่นๆ อย่างถี่ถ้วน ตลอดหลายปี ฝ่ายประธานสูงสุดได้หารือกับฝ่ายอธิการควบคุมเป็นครั้งคราว เพื่อให้แน่ใจว่ารากฐานของพระวิหารซอลท์เลคมั่นคง เมื่อข้าพเจ้ารับใช้ในฝ่ายอธิการควบคุม เราตรวจสอบพระวิหารซอลท์เลคทั่วทุกด้านตามคำขอของฝ่ายประธานสูงสุด รวมทั้งประเมินความก้าวหน้าล่าสุดในแบบโครงสร้างต้านแผ่นดินไหวและเทคนิคก่อสร้างต่างๆ

ต่อไปนี้เป็นรายงานตรวจสอบบางส่วนที่เรามอบให้ฝ่ายประธานสูงสุดเวลานั้น: “ในการออกแบบและการก่อสร้างพระวิหารซอทล์เลค ศาสนจักรใช้วิศวกรรม ฝีมือแรงงาน วัสดุก่อสร้าง เครื่องตกแต่ง และทรัพยากรอื่นที่หาได้ในสมัยนั้นอย่างดีที่สุด ตั้งแต่อุทิศในปี 1893 พระวิหารตั้งมั่นเป็นประภาคารแห่งศรัทธา [และ] ความหวัง ทั้งเป็นแสงสว่างให้แก่คนทั้งปวง ศาสนจักรเอาใจใส่อย่างดีในการดำเนินงาน ทำความสะอาด และบำรุงรักษาพระวิหารให้คงสภาพดีอยู่เสมอ หินแกรนิตภายนอก ตงรองพื้นภายใน และคานรับน้ำหนักอยู่ในสภาพดี การศึกษาล่าสุดยืนยันว่าทำเลที่บริคัม ยังก์เลือกไว้สร้างพระวิหารมีดินดีมากและความแน่นของดินดีเยี่ยม”7

รายงานตรวจสอบสรุปว่าต้องปรับปรุงซ่อมแซมตามปกติเพื่อให้พระวิหารคืนสภาพใหม่และทันสมัย รวมทั้งบริเวณลานและพื้นผิวภายนอก ระบบสาธารณูปโภคที่ล้าสมัย และบริเวณอ่างบัพติศมา อย่างไรก็ตาม เราแนะนำให้พิจารณาเรื่องการแยกยกระดับการต้านแผ่นดินไหวให้ครอบคลุมมากขึ้นโดยเริ่มตั้งแต่ฐานพระวิหารขึ้นมา

ฐานพระวิหาร

ท่านคงจำได้ว่าประธานบริคัม ยังก์มีส่วนอย่างมากในการก่อสร้างฐานเดิมของพระวิหารซึ่งรองรับพระวิหารได้ดีมาตลอดตั้งแต่สร้างเสร็จมาแล้ว 127 ปี การยกระดับการต้านแผ่นดินไหวทั้งชุดที่เสนอไปเมื่อเร็วๆ นี้จะใช้เทคโนโลยีแบบแยกฐาน ซึ่งสมัยนั้นยังนึกไม่ถึง นับเป็นวิศวกรรมล่าสุดและทันสมัยมากที่สุดสำหรับการป้องกันแผ่นดินไหวเลยทีเดียว

แผนบูรณะพระวิหาร
แผนบูรณะพระวิหาร

เทคโนโลยีที่พัฒนาใหม่ล่าสุดนี้จะเริ่มตรงฐานรากของพระวิหาร โดยให้ความทนทานป้องกันความเสียหายจากแผ่นดินไหว สรุปคือเสริมโครงสร้างพระวิหารให้มั่นคงอยู่ได้แม้เมื่อแผ่นดินโลกและสภาพแวดล้อมโดยรอบประสบเหตุเแผ่นดินไหว

ฝ่ายประธานสูงสุดประกาศบูรณะพระวิหารโดยใช้เทคโนโลยีนี้เมื่อปีที่แล้ว ภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายอธิการควบคุม การก่อสร้างเริ่มขึ้นเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาในเดือนมกราคมปี 2020 ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเวลาประมาณสี่ปี

ทำให้รากฐานส่วนตัวของท่านมั่นคง

ขณะตรึกตรองชีวิตสี่ปีข้างหน้าของพระวิหารซอลท์เลคที่งามสง่า สูงค่า และน่าพิศวงแห่งนี้ ข้าพเจ้านึกถึงว่านั่นเป็นช่วง คืนสภาพใหม่ มากกว่าช่วงปิดทำการ! ในทำนองเดียวกัน เราอาจถามตนเองว่า “การคืนสภาพใหม่ให้พระวิหารซอลท์เลคครั้งใหญ่นี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้เรา คืนสภาพใหม่ สร้างใหม่ เกิดใหม่ มีชีวิตใหม่ หรือฟื้นฟูใหม่ ทางวิญญาณได้อย่างไร?

เมื่อมองให้ลึกซึ้งจะพบว่าตัวเราเองและครอบครัวเราอาจได้ประโยชน์จากการซ่อมบำรุงและการบูรณะที่จำเป็นบางอย่าง แม้กระทั่งการยกระดับการต้านแผ่นดินไหว! เราอาจเริ่มขั้นตอนดังกล่าวโดยถามว่า:

“รากฐานของฉันเป็นอย่างไร?”

“อะไรประกอบเป็นศิลาหัวมุมที่มั่นคงแข็งแรงแน่นหนาอันเป็นส่วนหนึ่งของรากฐานส่วนตัวที่ประจักษ์พยานของฉันตั้งอยู่?”

“อะไรเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของอุปนิสัยทางวิญญาณและทางอารมณ์ของฉันที่จะทำให้ฉันและครอบครัวอยู่อย่างมั่นคงไม่หวั่นไหว แม้ถึงกับต้านทานแผ่นดินไหวรุนแรงที่จะเกิดขึ้นแน่นอนในชีวิตเราได้?”

เหตุการณ์เหล่านี้มักทำนายได้ยากและมีระดับความรุนแรงต่างกันคล้ายแผ่นดินไหว—ทั้งการต่อสู้กับคำถามหรือความสงสัย การเผชิญความทุกข์หรือความยากลำบาก การแก้ไขความบาดหมางส่วนตัวกับผู้นำศาสนจักร สมาชิก หลักคำสอน หรือนโยบาย เครื่องป้องกันที่ดีที่สุดอยู่ในรากฐานทางวิญญาณของเรา

ศิลาหัวมุมทางวิญญาณของชีวิตส่วนตัวและชีวิตครอบครัวเราจะเป็นอะไรได้บ้าง? อาจจะเป็นหลักธรรมที่เรียบง่าย ชัดเจน และมีค่าของการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ—ทั้งการสวดอ้อนวอนกับครอบครัว; การศึกษาพระคัมภีร์ รวมถึงพระคัมภีร์มอรมอน; การเข้าพระวิหาร; ตลอดจนการเรียนรู้พระกิตติคุณผ่าน จงตามเรามา และการจัดยามค่ำที่บ้าน แหล่งช่วยอื่นที่จะเสริมรากฐานทางวิญญาณของเราอาจได้แก่ หลักแห่งความเชื่อ ถ้อยแถลงเรื่องครอบครัว และ “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์”

สำหรับข้าพเจ้า หลักธรรมในคำถามที่สนทนากันในขั้นตอนการได้ใบรับรองพระวิหารถือเป็นฐานมั่นสำหรับรากฐานทางวิญญาณ—โดยเฉพาะคำถามสี่ข้อแรก ซึ่งข้าพเจ้าถือว่าเป็นศิลาหัวมุมทางวิญญาณ

แน่นอนว่าเราคุ้นเคยกับคำถามเหล่านี้ ตามที่ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันอ่านให้เราฟังทีละข้อในการประชุมใหญ่สามัญครั้งที่แล้ว

  1. ท่านมีศรัทธาและประจักษ์พยานในพระผู้เป็นเจ้า พระบิดานิรันดร์; พระบุตรของพระองค์ พระเยซูคริสต์; และพระวิญญาณบริสุทธิ์หรือไม่?

    พระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์
  2. ท่านมีประจักษ์พยานถึงการชดใช้ของพระเยซูคริสต์และบทบาทของพระองค์ในฐานะพระผู้ช่วยให้รอดและพระผู้ไถ่ของท่านหรือไม่?

    การชดใช้ของพระเยซูคริสต์
  3. ท่านมีประจักษ์พยานถึงการฟื้นฟูพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์หรือไม่?

    การฟื้นฟู
  4. ท่านสนับสนุนประธานศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายในฐานะศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผย และในฐานะที่เป็นเพียงบุคคลเดียวบนแผ่นดินโลกที่ได้รับมอบอำนาจให้ใช้กุญแจทั้งหมดของฐานะปุโรหิตหรือไม่?8

    ศาสดาพยากรณ์

ท่านเห็นไหมว่าคำถามเหล่านี้จะเป็นองค์ประกอบที่มีค่าในรากฐานส่วนตัวของท่านเพื่อช่วยท่านสร้างและเสริมรากฐานนั้นอย่างไร? เปาโลสอนชาวเอเฟซัสเกี่ยวกับศาสนจักรซึ่ง “สร้างขึ้นบนรากฐานของบรรดาอัครทูตและบรรดาผู้เผยพระวจนะ มีพระเยซูคริสต์เป็นศิลาหัวมุม ในพระองค์นั้นทุกส่วนของโครงสร้างถูกเชื่อมต่อกันและเจริญขึ้นเป็นวิหารอันบริสุทธิ์ในองค์พระผู้เป็นเจ้า”9

พระวิหารที่มีรากฐานมั่นคงแข็งแรง

หนึ่งในปีติสูงสุดของชีวิตข้าพเจ้าคือการได้รู้จักและรับแรงบันดาลใจจากสมาชิกศาสนจักรทั่วโลกผู้เป็นแบบอย่างที่มีชีวิตของศรัทธาในพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์ พวกเขามีรากฐานแข็งแรงส่วนตัวซึ่งช่วยให้สามารถต้านทานเหตุการณ์แผ่นดินไหวด้วยความเข้าใจอันแน่วแน่ แม้ว่าจะมีความเสียใจและความเจ็บปวด

เพื่อให้เห็นเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น ข้าพเจ้าเพิ่งพูดที่พิธีศพของภรรยาและมารดาสาวผู้งดงามสดใสคนหนึ่ง (ครอบครัวนี้เป็นเพื่อนกับครอบครัวเราด้วย) เธอเป็นนักฟุตบอลใจสู้ในดิวิชั่น 1 ตอนที่พบและแต่งงานกับสามีที่เป็นนักศึกษาทันตแพทย์ ทั้งคู่มีลูกสาวน่ารักที่เป็นผู้ใหญ่เกินตัว เธอต่อสู้อย่างกล้าหาญกับมะเร็งหลายรูปแบบมาหกปี แม้จะมีความหดหู่ทางกายและทางอารมณ์ตลอดเวลา แต่เธอวางใจในพระบิดาบนสวรรค์ผู้ทรงรักเธอ และผู้ติดตามสื่อสังคมของเธอมักจะอ้างคำพูดอันโด่งดังของเธอที่ว่า: “พระผู้เป็นเจ้าทรงอยู่ในรายละเอียด”

ในโพสต์สื่อสังคมเธอเขียนว่ามีคนถามเธอ “คุณยังมีศรัทธาทั้งที่มีแต่ความเจ็บปวดเต็มไปหมดได้อย่างไร?” เธอตอบหนักแน่นด้วยคำพูดนี้: “เพราะศรัทธาคือสิ่งที่ทำให้ดิฉันผ่านช่วงมืดมนเหล่านี้ไปได้ การมีศรัทธาไม่ได้หมายความว่าเรื่องเลวร้ายจะไม่เกิดขึ้น การมีศรัทธาทำให้ดิฉันเชื่อว่าจะมีแสงสว่างอีกครั้ง และแสงสว่างนั้นจะเจิดจ้ายิ่งขึ้นเพราะดิฉันเดินผ่านความมืดไปแล้ว ถึงแม้ดิฉันจะเห็นความมืดมามากตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่ดิฉันเห็นแสงสว่างมากยิ่งกว่า ดิฉันเห็นปาฏิหาริย์มาแล้ว ดิฉันรู้สึกถึงเหล่าเทพ ดิฉันรู้ว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงอุ้มดิฉันอยู่ แต่จะไม่มีประสบการณ์เช่นนั้นเลยถ้าชีวิตง่าย อนาคตของชีวิตนี้อาจไม่มีใครรู้ แต่ศรัทธาของดิฉันไม่ใช่ ถ้าดิฉันเลือกไม่มีศรัทธาก็เท่ากับว่าดิฉันเลือกเดินแต่ในความมืด เพราะหากไม่มีศรัทธา ก็ย่อมเหลือแต่ความมืดมิด”10

ประจักษ์พยานไม่สั่นคลอนของเธอเกี่ยวกับศรัทธาในพระเจ้าพระเยซูคริสต์—ทั้งในคำพูดและการกระทำ—เป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ ถึงแม้ร่างกายเธอ อ่อนแอ แต่เธอพยุงผู้อื่นให้ แข็งแรงขึ้น

ข้าพเจ้านึกถึงสมาชิกศาสนจักรอีกนับไม่ถ้วนที่เป็นนักสู้แบบซิสเตอร์ท่านนี้ ผู้เดินในศรัทธาทุกวัน โดยพากเพียรเป็นสานุศิษย์ที่แท้จริงและเด็ดเดี่ยวของพระผู้ช่วยให้รอด พระเยซูคริสต์ พวกเขาเรียนรู้จากพระคริสต์ พวกเขาสั่งสอนเรื่องพระคริสต์ พวกเขาพยายามเลียนแบบพระองค์ ไม่ว่าวันเวลาในชีวิตจะเผชิญพื้นดินที่มั่นคงหรือสั่นคลอน รากฐานทางวิญญาณของพวกเขาก็แข็งแรงและไม่หวั่นไหว

นี่คือจิตวิญญาณผู้เลื่อมใส ผู้เข้าใจความหมายลึกซึ้งของคำร้องที่ว่า “ฐานมั่นคงหนักหนา … [วิสุทธิชนของพระเจ้า]” และ “[ผู้] หลบลี้ภัยไปพึ่งพระผู้ช่วยให้รอด”11 ข้าพเจ้าสำนึกคุณสุดประมาณเมื่อได้เดินท่ามกลางผู้ที่เตรียมรากฐานทางวิญญาณให้มีค่าควรสมชื่อ วิสุทธิชน และผู้ที่เข้มแข็งมั่นคงพอที่จะต้านทานความวุ่นวายมากมายของชีวิต

ข้าพเจ้าไม่คิดว่าเรากล่าวถึงความสำคัญของรากฐานมั่นคงเช่นนั้นในชีวิตส่วนตัวของเราเกินจริง ตั้งแต่อายุยังน้อย เด็กปฐมวัยของเราได้รับการสอนเมื่อพวกเขาร้องความจริงนี้:

คนมีปัญญาสร้างบ้านไว้บนศิลา

และเมื่อมีฝนกระหน่ำมา

เมื่อฝนกระหน่ำและน้ำก็ท่วมขึ้นมา

บ้านนั้นนายังตั้งมั่นคง12

พระคัมภีร์เสริมหลักคำสอนพื้นฐานดังกล่าว พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนผู้คนในทวีปอเมริกาดังนี้:

“และหากเจ้าทำสิ่งเหล่านี้เสมอเจ้าย่อมเป็นสุข, เพราะเจ้า สร้างอยู่บนศิลาของเรา.

“แต่ผู้ใดในบรรดาพวกเจ้าจะทำมากหรือน้อยไปกว่านี้ย่อม ไม่ได้สร้างอยู่บนศิลาของเรา, แต่สร้างอยู่บนรากฐานทราย และเมื่อฝนลงมา, และน้ำท่วม, และลมพัด, กระหน่ำมาที่พวกเขา, พวกเขาจะล้ม”13

ผู้นำศาสนจักรหวังอย่างจริงใจว่าการบูรณะพระวิหารซอลท์เลคครั้งใหญ่จะมีส่วนทำให้บริคัม ยังก์ได้เห็นสมความปรารถนาว่า “พระวิหารแห่งนี้สร้างขึ้นมาในแบบที่จะอยู่คงทนตลอดมิลเลเนียม” ช่วงหลายปีต่อจากนี้ ขอให้เรายอมให้การปรับปรุงเหล่านี้ที่ทำกับพระวิหารซอลท์เลคกระตุ้นและเป็นแรงบันดาลใจให้เรากับครอบครัว—เพื่อเราเช่นกันที่จะ “จะสร้างขึ้นมาในแบบที่จะอยู่คงทนตลอดมิลเลเนียม”

เราจะทำเช่นนั้นเมื่อเราทำตามคำสั่งของอัครสาวกเปาโลให้ “สะสมทรัพย์ที่เป็น ราก‍ฐานอันดีสำหรับตนในภาย‍หน้า เพื่อ [เรา] จะยึด‍มั่นในชีวิตคือชีวิตที่แท้‍จริงนั้น”14 คำสวดอ้อนวอนอย่างแรงกล้าของข้าพเจ้าคือขอให้รากฐานทางวิญญาณของเรามั่นคงและแน่วแน่ ขอให้ประจักษ์พยานของเราในการชดใช้ของพระเยซูคริสต์และบทบาทของพระองค์ในฐานะพระผู้ช่วยให้รอดและพระผู้ไถ่ของเรากลายเป็นศิลาหัวมุมของเราเอง ข้าพเจ้าเป็นพยานถึงพระองค์ในพระนามพระเยซูคริสต์ เอเมน

อ้างอิง

  1. William Clayton journal, July 26, 1847, Church History Library, Salt Lake City.

  2. ดู “At the Tabernacle, Presidents Woodruff and Smith Address the Saints Yesterday Afternoon,” Deseret Evening News, Aug. 30, 1897, 5; “Pioneers’ Day,” Deseret Evening News, July 26, 1880, 2; Wilford Woodruff journal, July 28, 1847, Church History Library, Salt Lake City.

  3. “Minutes of the General Conference of the Church of Jesus Christ of Latter-day Saints, held at Great Salt Lake City, State of Deseret, April 6, 1851,” Deseret News, Apr. 19, 1851, 241.

  4. ดู “The Temple,” Deseret News, Feb. 19, 1853, 130; “Minutes of the General Conference,” Deseret News, Apr. 16, 1853, 146; “Minutes of the General Conference,” Deseret News, Apr. 30, 1853, 150.

  5. “Address by President Brigham Young,” Millennial Star, Apr. 22, 1854, 241.

  6. “Remarks by President Brigham Young,” Deseret News, Oct. 14, 1863, 97.

  7. การนำเสนอของฝ่ายอธิการควบคุมเกี่ยวกับพระวิหารซอลท์เลคต่อฝ่ายประธานสูงสุด, ต.ค. 2015.

  8. ดู รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “คำกล่าวเปิดการประชุม,” เลียโฮนา, พ.ย. 2019, 121.

  9. เอเฟซัส 2:20–21.

  10. โพสต์สื่อสังคมออนไลน์ โดย คิม โอลสัน ไวท์

  11. “ฐานมั่นคงหนักหนา” เพลงสวด, บทเพลงที่ 33.

  12. “คนมีปัญญาและคนโง่,” หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 132; ลบตัวเอนของต้นฉบับในการอ้างอิง.

  13. 3 นีไฟ 18:12–13; เน้นตัวเอน.

  14. 1 ทิโมธี 6:19; เน้นตัวเอน.