พระคริสต์ทรงรักษาสิ่งซึ่งแตกหัก
พระองค์ทรงสามารถรักษาความสัมพันธ์ที่แตกหักกับพระผู้เป็นเจ้า ความสัมพันธ์ที่แตกหักกับคนอื่นๆ และส่วนที่แตกหักในตัวเรา
สองสามปีที่แล้ว ที่งานรวมญาติ วิลเลียม หลานชายวัยแปดขวบเวลานั้นถามไบรทันลูกชายคนโตของเราว่าอยากจะเล่นบอลกับเขาไหม ไบรทันตอบอย่างกระตือรือร้นว่า “ได้สิ! ฉันอยากเล่นมากเลย!” หลังจากเล่นกันไปสักพัก ลูกบอลหลุดมือไบรทันไปทำให้กระถางโบราณของคุณตาคุณยายแตกหนึ่งใบโดยไม่ตั้งใจ
ไบรทันรู้สึกแย่ ขณะที่เขาเริ่มเก็บชิ้นส่วนที่แตกเป็นเสี่ยงๆ วิลเลียมเดินไปหาลูกพี่ลูกน้องของเขาและตบหลังเบาๆ ด้วยความรัก จากนั้นก็ปลอบใจว่า “ไม่ต้องห่วง พี่ไบรทัน ผมเคยทำของที่บ้านคุณตาคุณยายแตกครั้งหนึ่ง คุณยายกอดผมและบอกว่า ‘ไม่เป็นไรวิลเลียม หนูแค่ห้าขวบเอง’”
ไบรทันตอบกลับไปว่า “วิลเลียม แต่พี่อายุ 23!”
เราเรียนรู้ได้มากจากพระคัมภีร์เกี่ยวกับวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอด พระเยซูคริสต์ จะทรงช่วยเรารับมือกับสิ่งต่างๆ ที่แตกหักในชีวิตเราได้สำเร็จ ไม่ว่าเราอายุเท่าใด พระองค์ทรงสามารถรักษาความสัมพันธ์ที่แตกหักกับพระผู้เป็นเจ้า ความสัมพันธ์ที่แตกหักกับคนอื่นๆ และส่วนที่แตกหักในตัวเรา
ความสัมพันธ์ที่แตกหักกับพระผู้เป็นเจ้า
ขณะที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนในพระวิหาร พวกธรรมาจารย์และพวกฟาริสีนำหญิงคนหนึ่งมาหาพระองค์ เราไม่ทราบเรื่องราวทั้งหมดของเธอ รู้แต่ว่าเธอ “ถูกจับขณะกำลังล่วงประเวณี”1 บ่อยครั้งพระคัมภีร์บอกแค่ส่วนเล็กๆ ของชีวิตคน และบางครั้งเรามักจะชื่นชมหรือกล่าวโทษคนจากส่วนนั้น เราไม่อาจเข้าใจชีวิตคนคนหนึ่งจากความดีเลิศชั่วขณะเดียวหรือความผิดหวังอันน่าสลดใจต่อสาธารณชนเพียงครั้งเดียว จุดประสงค์ของเรื่องราวพระคัมภีร์เหล่านี้คือเพื่อช่วยให้เราเห็นว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นคำตอบในตอนนั้น และทรงเป็นคำตอบในตอนนี้ ทรงทราบเรื่องราวของเราอย่างครบถ้วนและเรื่องที่เราทุกข์ใจ รวมทั้งความสามารถและความอ่อนแอของเรา
พระดำรัสตอบของพระคริสต์ต่อธิดาที่มีค่าคนนี้ของพระผู้เป็นเจ้าคือ “เราก็ไม่เอาโทษเหมือนกัน จงไปเถิดและจากนี้ไปอย่าทำบาปอีก”2 “จงไปเถิดและจากนี้ไปอย่าทำบาปอีก” อาจพูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่า “จงออกไปและเปลี่ยนแปลง” พระผู้ช่วยให้รอดทรงเชื้อเชิญให้เธอกลับใจโดย: เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เปลี่ยนคนที่เธอคบหา เปลี่ยนวิธีที่เธอรู้สึกเกี่ยวกับตนเอง เปลี่ยนใจ
เพราะพระคริสต์ การตัดสินใจของเราที่จะ “ออกไปและเปลี่ยนแปลง” จะทำให้เราสามารถ “ออกไปและหายดี” ด้วย เพราะพระองค์ทรงเป็นแหล่งการเยียวยารักษาทุกสิ่งที่แตกหักในชีวิตเรา ในฐานะพระผู้เป็นคนกลางที่ยิ่งใหญ่และพระผู้วิงวอนแทนเราต่อพระบิดา พระคริสต์ทรงชำระและฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่แตกหัก—ที่สำคัญที่สุดคือ ความสัมพันธ์ของเรากับพระผู้เป็นเจ้า
งานแปลของโจเซฟ สมิธชี้ชัดว่าหญิงคนนั้น ทำ ตามพระดำรัสแนะนำของพระผู้ช่วยให้รอดและเปลี่ยนแปลงชีวิต: “และหญิงนั้นสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้านับจากโมงนั้นและเชื่อในพระนามของพระองค์’3 น่าเสียดายที่เราไม่ทราบชื่อหรือรายละเอียดอื่นๆ เกี่ยวกับชีวิตเธอหลังจากนั้น เพราะเธอคงต้องใช้ความมุ่งมั่น ความอ่อนน้อมถ่อมตน และศรัทธาในพระเยซูคริสต์เป็นอย่างยิ่งเพื่อจะกลับใจและเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เรารู้คือเธอเป็นหญิงที่ “เชื่อในพระนามของพระองค์’ ด้วยความเข้าใจที่ว่าเธอไม่ได้อยู่นอกเหนืออำนาจการพลีบูชาอันไม่มีขอบเขตและเป็นนิรันดร์ของพระองค์
ความสัมพันธ์ที่แตกหักกับคนอื่นๆ
ใน ลูกาบทที่ 15 เราอ่านอุปมาเกี่ยวกับชายที่มีบุตรสองคน บุตรคนเล็กขอมรดกส่วนของตนจากบิดาแล้วออกเดินทางไปยังเมืองไกล เขาผลาญทรัพย์สินด้วยการใช้ชีวิตฟุ่มเฟือย4
“เมื่อใช้จ่ายจนหมดสิ้นทุกอย่างแล้ว ก็เกิดกันดารอาหารอย่างรุนแรงทั่วเมืองนั้น เขาจึงเริ่มขาดแคลน
“เขาไปอาศัยอยู่กับชาวเมืองนั้นคนหนึ่ง และคนนั้นก็ใช้เขาไปเลี้ยงหมูที่ทุ่งนา
“เขาอยากจะอิ่มท้องด้วยฝักถั่วที่หมูกินนั้น แต่ไม่มีใครให้อะไรเขาเลย
“เมื่อเขาสำนึกตัวได้จึงพูดว่า ลูกจ้างของพ่อไม่ว่าจะมีมากสักแค่ไหนก็ยังมีอาหารเหลือเฟือ แต่ข้ากลับต้องมาอดตายที่นี่
“ข้าน่าจะลุกขึ้นไปหาพ่อและพูดกับท่านว่า พ่อ ลูกผิดต่อสวรรค์และผิดต่อท่านด้วย
“ไม่สมควรจะได้ชื่อว่าเป็นลูกของพ่ออีกต่อไป ขอโปรดให้ลูกอยู่ในฐานะของลูกจ้างคนหนึ่งของท่านเถิด
“แล้วเขาก็ลุกขึ้นไปหาบิดา แต่เมื่อเขายังอยู่แต่ไกล บิดาก็เห็นเขาและมีใจสงสาร จึงวิ่งออกไปกอดคอและจูบแก้มของเขา”5
ดิฉันเชื่อว่าข้อเท็จจริงที่ว่าบิดาวิ่งไปหาบุตรชายของเขามีนัยสำคัญ ความเจ็บปวดส่วนตัวที่บุตรคนนี้ก่อกับบิดานั้นบาดลึกและหนักหนาแน่นอน ในทำนองเดียวกัน บิดาคงอับอายจริงๆ มาโดยตลอดกับการกระทำของบุตร
แล้วเหตุใดบิดาจึงไม่รอให้บุตรมาขอโทษก่อน? เหตุใดเขาจึงไม่รอให้บุตรเสนอว่าจะชดใช้และคืนดีก่อนจะให้อภัยและมอบความรักให้? นี่เป็นเรื่องที่ดิฉันไตร่ตรองบ่อยๆ
พระเจ้าทรงสอนเราว่าการให้อภัยผู้อื่นเป็นพระบัญญัติที่ใช้กับทุกคน: “เรา, พระเจ้า, จะให้อภัยผู้ที่เราจะให้อภัย, แต่เรียกร้องจากเจ้าที่จะให้อภัยมนุษย์ทั้งปวง”6 การให้อภัยอาจต้องใช้ความกล้าหาญและความอ่อนน้อมถ่อมตนมหาศาล และอาจต้องใช้เวลาด้วย เราต้องศรัทธาและวางใจในพระเจ้าเมื่อเรารับผิดชอบต่อสภาวะใจของเรา ซึ่งแสดงถึงความสำคัญและอำนาจสิทธิ์เสรีของเรา
ด้วยการพรรณนาถึงบิดาคนนี้ในอุปมาเรื่องบุตรเสเพล พระผู้ช่วยให้รอดทรงเน้นว่าการให้อภัยเป็นของขวัญอันประเสริฐสุดอย่างหนึ่งที่เราจะมอบให้กันได้และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ ตัวเราเอง การปลดภาระใจเราผ่านการให้อภัยไม่ง่ายเสมอไป แต่เป็นไปได้ผ่านเดชานุภาพอันกอปรด้วยพระปรีชาสามารถของพระเยซูคริสต์
ส่วนที่แตกหักในตัวเรา
ใน กิจการบทที่ 3 เราเรียนรู้เกี่ยวกับชายคนหนึ่งที่เป็นง่อยตั้งแต่เกิดและ “ถูกหามเข้ามา ทุกๆ วันคนจะวางเขาไว้ที่ริมประตูพระวิหารซึ่งมีชื่อว่าประตูงาม เพื่อให้ขอทานจากคนทั้งหลายที่เข้าไปในพระวิหารนั้น”7
ขอทานง่อยคนนั้นอายุมากกว่า 40 ปี8 และใช้ทั้งชีวิตไปกับสภาพขาดแคลนและรอคอยที่ดูเหมือนไม่จบสิ้น เพราะเขาต้องพึ่งพาความเอื้อเฟื้อจากคนอื่น
วันหนึ่งเขาเห็น “เปโตรกับยอห์นกำลังจะเข้าไปในพระวิหาร [และ] ก็ขอทาน
“เปโตรกับยอห์นเพ่งดูเขาบอกว่า ‘จงดูเราทั้งสองเถิด’
“คนนั้นก็จ้องดู คิดว่าจะได้อะไรจากท่านทั้งสอง
“แต่เปโตรกล่าวว่า ‘เงินและทองเราไม่มี แต่ที่เรามีอยู่เราจะให้ท่าน คือในพระนามแห่งพระเยซูคริสต์ชาวนาซาเร็ธ จงเดินเถิด’
“แล้วเปโตรก็จับมือขวาของเขาพยุงขึ้น ในทันใดนั้นเท้าและข้อเท้าของเขาก็มีกำลัง
“เขาจึงกระโดดขึ้นยืนและเดินเข้าไปในพระวิหารพร้อมกับเปโตรและยอห์น ทั้งเดินทั้งเต้นโลดและสรรเสริญพระเจ้า9
เฉกเช่นขอทานง่อยตรงประตูพระวิหาร บ่อยครั้งเราจะพบตนเอง “รอคอยพระเจ้า”10อย่างอดทน—หรือกระวนกระวายในบางครั้ง รอคอยที่จะได้รับการรักษาทางร่างกายหรือทางอารมณ์ รอคอยคำตอบที่เสียดแทงเข้าไปในส่วนลึกที่สุดของใจเรา รอคอยปาฏิหาริย์
การรอคอยพระเจ้าสามารถเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์—สถานที่แห่งการขัดเกลาและกล่อมเกลาที่เราสามารถมารู้จักพระผู้ช่วยให้รอดในวิธีส่วนตัวแบบลึกซึ้ง การรอคอยพระเจ้าสามารถเป็นสถานที่ซึ่งบางครั้งเราอาจถามว่า “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า, พระองค์ประทับอยู่ที่ใดเล่า?”11—สถานที่ซึ่งความมุมานะทางวิญญาณเรียกร้องให้เราใช้ศรัทธาในพระคริสต์โดยเจตนาเลือกพระองค์ครั้งแล้วครั้งเล่า ดิฉันรู้จักที่นี่ และดิฉันเข้าใจการรอคอยแบบนี้
ดิฉันใช้เวลานับไม่ถ้วนในศูนย์รักษาโรคมะเร็ง ทนทุกข์แบบเดียวกันกับหลายคนที่ต้องการรักษาหาย บางคนมีชีวิตอยู่ บางคนไม่ ดิฉันเรียนรู้อย่างลึกซึ้งว่าการปลดปล่อยจากความลำบากแตกต่างกันไปสำหรับเราแต่ละคน เราจึงควรมุ่งสนใจให้น้อยลงเกี่ยวกับ วิธี ที่เราจะได้รับการปลดปล่อยและมุ่งสนใจมากขึ้นเกี่ยวกับพระผู้ปลดปล่อยพระองค์เอง เราควร เน้นความสำคัญ ที่พระเยซูคริสต์เสมอ!
การใช้ศรัทธาในพระคริสต์หมายถึงไม่เพียงวางใจในพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าแต่ในจังหวะเวลาของพระองค์ด้วย เพราะพระองค์ทรงทราบแน่ชัดว่าเราต้องการอะไรและเวลาไหน เมื่อเรายอมต่อพระประสงค์ของพระเจ้า ในที่สุดเราจะได้รับมากมายยิ่งกว่าที่เราเคยปรารถนา
มิตรที่รักทั้งหลาย เราล้วนมีบางสิ่งแตกหักในชีวิตซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ซ่อมแซม หรือรักษา เมื่อเราหันไปหาพระผู้ช่วยให้รอด เมื่อเราทำให้ใจและความคิดของเราสอดคล้องกับพระองค์ เมื่อเรากลับใจ พระองค์จะเสด็จมาหาเรา “ด้วยปีกของพระองค์ที่รักษาหาย”12 ทรงโอบเราไว้ในพระพาหุของพระองค์ด้วยความรักและตรัสว่า “ไม่เป็นไร เจ้าอายุแค่ 5—หรือ 16, 23, 48, 64, 91 ปีเอง เราแก้ไขเรื่องนี้ด้วยกันได้!”
ดิฉันเป็นพยานว่าไม่มีสิ่งใดในชีวิตท่านที่แตกหักเกินเดชานุภาพอันกอปรด้วยพระปรีชาสามารถที่ไถ่และเยียวยารักษาของพระเยซูคริสต์ ในพระนามอันศักดิ์สิทธิ์และบริสุทธิ์ของพระองค์ผู้ทรงฤทธานุภาพในการรักษา พระเยซูคริสต์ เอเมน