2016
หยั่งรากในพระคริสต์
สิงหาคม 2016


หยั่งรากใน พระคริสต์

ในบทความนี้และบทความต่อจากนี้ เอ็ลเดอร์เคลย์ตันกับเคธีภรรยาท่านเป็นพยานถึงพระผู้ช่วยให้รอดและพระปรีชาสามารถของพระองค์ในการช่วยให้บุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าบรรลุศักยภาพนิรันดร์ของพวกเขา

ภาพ
tree and Christ

ภาพต้นไม้ © iStock/Thinkstock

หนึ่งในเหตุการณ์สะเทือนใจที่สุดในพระคัมภีร์ทั้งหมดบันทึกไว้ในหนังสือของยอห์น เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากพระผู้ช่วยให้รอดทรงทนรับความปวดร้าวที่ยากจะเข้าใจเพราะบาปและความอ่อนแอตามประสามนุษย์ของเราในสวนเกทเสมนี (ดู คพ. 19:15–18)

เหตุการณ์นี้ตามด้วยการทรยศ การจับกุม และคืนแห่งการเหยียดหยามและการประทุษร้ายร่างกายด้วยน้ำมือของผู้นำชาวยิว นั่นเกิดขึ้นหลังจากพระองค์ทรงถูกทหารโรมันภายใต้การนำของปอนทิอัสปีลาตโบยพระองค์อย่างเหี้ยมโหด เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากพวกเขากดมงกุฎหนามลงบนพระเศียรของพระองค์

ปีลาตสรุปว่าพระเยซูมิได้กระทำสิ่งใดที่สมควรจะถูกตรึงกางเขน เขาสั่งให้โบยพระเยซูอันเป็นรูปแบบหนึ่งของการลงโทษขั้นหนักที่สุดแต่ไม่ถึงตาย บางทีปีลาตอาจหวังว่าการทรมานและทำให้พระผู้ช่วยให้รอดเสียเกียรติเช่นนั้นน่าจะโน้มน้าวผู้นำชาวยิวให้เชื่อว่าพระเยซูทรงได้รับบทเรียนอันแสนเจ็บปวดไปแล้วและทำให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่สาธารณชน บางทีเขาอาจหวังจะปลุกสำนึกของความเมตตาในคนเหล่านั้น ด้วยเหตุนี้ หลังจากโบยพระเยซูแล้ว ปีลาตจึงสั่งให้นำพระองค์ออกมาให้สาธารณชนได้เห็น

“คนนี้ไงล่ะ”

“พระเยซูจึงเสด็จออกมา ทรงสวมมงกุฎทำด้วยหนามและทรงสวมเสื้อสีม่วง ปีลาตกล่าวกับพวกเขาว่า คนนี้ไงล่ะ

“เมื่อพวกหัวหน้าปุโรหิตและพวกเจ้าหน้าที่เห็นพระองค์ พวกเขาก็ร้องอื้ออึงว่า ตรึงเขาเสีย ตรึงเขาเสีย ปีลาตกล่าวกับเขาว่า พวกท่านจงพาเขาไปตรึงเอาเอง เพราะเราไม่เห็นว่าเขามีความผิดเลย” (ยอห์น 19:5–6)

เรื่องราวที่เหลือสำคัญอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าสะดุดคำพูดของปีลาตที่ว่า “คนนี้ไงล่ะ”

นี่เป็นคำวิงวอนเชิงเหน็บแนมของปีลาต ถึงแม้รูปลักษณ์ภายนอกของพระเยซูเวลานั้นมีแต่รอยแผล แต่ก่อนหน้านั้นและนับแต่นั้นไม่เคยมีชายหรือหญิงคนใดสมควรถูกคน “มองดู” มากเช่นนั้น พระชนม์ชีพของพระองค์ดีพร้อม ทรงหาที่เปรียบมิได้ ไม่เคยมีใครดำเนินชีวิตเฉกเช่นพระองค์ และจะไม่เคยมี พระองค์ทรงเพียบพร้อมด้วยคุณธรรรมทุกประการ

พระผู้ช่วยให้รอดทรงมีเดชานุภาพทุกอย่างของการควบคุมตนเอง อารมณ์ความรู้สึกของพระองค์ดีพร้อมเช่นเดียวกับความคิด ความเข้าใจของพระองค์ไร้ขีดจำกัด พระองค์ทรงคู่ควรจะถูกมองจากทุกด้าน ทรงถูกผู้คนไต่สวน ประเมิน และนมัสการพระองค์ ไม่มีทัศนะใดในพระดำริ พระทัย และความรู้สึกของพระองค์จะหรืออาจจะทำให้ผิดหวัง ถึงแม้รูปลักษณ์ภายนอกไม่สะท้อนให้เห็นเช่นนั้น แต่พระเยซูทรงเป็นแบบอย่างของชีวิตที่ครบบริบูรณ์

ดังนั้นรูปลักษณ์ภายนอกของพระองค์ในชั่วขณะของความทุกขเวทนาจึงไม่ใช่สิ่งที่เราควรจดจำเป็นอย่างแรก (ดู อิสยาห์ 53:2) แต่ควรเป็นพระองค์ที่อยู่ในพระวรกายที่ทุกข์ทรมานซึ่งมีความหมายอย่างแท้จริงต่อเราทุกคน สิ่งที่พระองค์ทรงเป็นทำให้เกิดสิ่งที่พระองค์ทรงทำ ความสง่างามของสิ่งที่พระองค์ทรงเป็นเชื้อเชิญให้เราสนใจ

สิ่งที่เราควรเห็นขณะที่เราดู “คนนี้ไงล่ะ” คือชัยชนะที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เหนือพลังของความชั่วร้าย แม้เวลานั้นจะดูไม่เหมือนชัยชนะเลยก็ตาม ความสงบนิ่งของพระองค์ท่ามกลางพายุรุนแรงที่สุดต่างหากที่เราควรจดจำ เครื่องมือโฉดชั่วทุกอย่างที่ศัตรูคิดค้นเคยเกิดหรือจะเกิดผลรุนแรงต่อพระองค์ในไม่ช้า แต่พระองค์ทรงเอาชนะมาแล้วทั้งสิ้น พระองค์ทรงยืนต่อหน้าปีลาตด้วยความสุขุมและสงบเยือกเย็น

พระองค์ทรงแสดงให้เห็นโดยไม่มีข้อกังขาว่าทรงควบคุมธาตุต่างๆ ของโลกและสภาพของมนุษย์ พระองค์ทรงบัญชาวิญญาณร้ายได้ ทรงรักษาคนป่วย ทรงทำให้คนตาบอดมองเห็น คนหูหนวกได้ยิน ทรงคืนชีพให้คนตายและคืนเด็กที่สิ้นชีวิตให้พ่อแม่ พระองค์ทรงเข้าใจความนึกคิดและความรู้สึกของทุกคน ทรงยกโทษบาปและชำระคนโรคเรื้อน ทรงแบกภาระของบาป ความเจ็บปวด ความป่วยไข้ และความอ่อนแอของมนุษย์ทุกคนในคืนก่อนเกิดเหตุการณ์นี้กับปีลาต น่าแปลกที่พระองค์ทรงทนรับทุกขเวทนาแม้กระทั่งบาปของคนที่กำลังปฏิบัติไม่ดีต่อพระองค์ในขณะนั้น

“คนนี้ไงล่ะ” พระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระชนม์ ทรงเป็นแบบอย่างของชีวิต พระบิดาทรงส่งพระองค์มาแสดงหนทางและทรงเป็นทางนั้น พระองค์ทรง “เป็นทางนั้น เป็นความจริง และเป็นชีวิต” (ยอห์น 14:6) สำหรับเราทุกคน ด้วยถ้อยคำที่ว่า “คนนี้ไงล่ะ” ปีลาตได้บอกสูตรเรียบง่ายสำหรับรรลุจุดประสงค์สูงสุดของชีวิตโดยไม่รู้ตัวและโดยไม่ตั้งใจ

เมื่อเขาขอให้ชาวยิวมองดูพระผู้ช่วยให้รอด เขาชี้ให้คนเหล่านั้นและเรามองดูพระองค์ พระองค์เดียวเท่านั้นผู้ทรงสามารถทำให้ชีวิตเราครบบริบูรณ์และ “ความรอด [ของเรา] สมบูรณ์”1 พระบัญชาจึงเป็นดังนี้ “พึ่งพาพระผู้เป็นเจ้าและมีชีวิต” (แอลมา 37:47)

สิ่งที่เราควรจดจำเมื่อเรามองดูพระองค์คือ เพราะพระองค์ และทั้งหมดที่พระองค์ทรงทำ และทั้งหมดที่ทรงเป็นมาและเป็นอยู่ เราสามารถชนะได้เช่นกัน เราเอาชนะได้ เราสามารถมีชีวิตครบบริบูรณ์ท่ามกลางการทดลอง ถ้าเราเลือก “มองดู” พระองค์ ยอมรับ และประยุกต์ใช้พระกิตติคุณที่ช่วยให้รอดของพระองค์ พระองค์จะทรงช่วยให้เรารอด จะทรงช่วยเราจากผลของธรรมชาติที่ตกแล้วและความบกพร่อง ทรงช่วยให้เรารอดจากบาป จากความธรรมดาทางวิญญาณ และจากความล้มเหลวถึงที่สุดชั่วนิรันดร์ จะทรงชำระ ขัดเกลา ทำให้เราสวยงาม และดีพร้อมในที่สุด พระองค์จะประทานปีติและสันติสุขแก่เรา พระองค์ทรงเป็นกุญแจไขชีวิตที่ครบบริบูรณ์

คำสอนเรื่องต้นอ่อน

ภาพ
acorn

เคธีกับข้าพเจ้าอาศัยอยู่บนเนินเขา ต้นไม้ชนิดหนึ่งคือต้นโอ๊กแคระเติบโตที่นั่น ต้นโอ๊กแคระไม่เหมือนต้นโอ๊กใหญ่มหึมาทั่วไปคือต้นไม้พวกนี้ไม่สูงใหญ่ แต่ทนหนาวและสวยงาม

หลายปีก่อนเราวางกระถางดอกไม้ใบใหญ่บนทางเดินเข้าประตูหน้าบ้าน ใต้กิ่งต้นโอ๊กแคระเราปลูกดอกไม้หลากสีในกระถาง เมื่อฤดูกาลเปลี่ยนเป็นต้นฤดูใบไม้ร่วง เมล็ดของต้นโอ๊กแคระเริ่มร่วงหล่นลงไปในกระถางดอกไม้

วันหนึ่งในฤดูใบไม้ผลิข้าพเจ้าสังเกตเห็นต้นอ่อนบางต้นงอกออกมาจากเมล็ด เราไม่ต้องการให้อะไรอยู่ในกระถางนอกจากดอกไม้ ข้าพเจ้าจึงเริ่มถอนต้นอ่อนออกจากดินในกระถาง ยังความประหลาดใจแก่ข้าพเจ้าที่ต้นอ่อนมีรากแล้วซึ่งยาวกว่าลำต้นอ่อนที่โผล่พ้นดินราวสามถึงสี่เท่า

ในรัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา ฤดูร้อนจะร้อน มีฝนเล็กน้อย ส่วนฤดูหนาวอากาศหนาวเย็น มีลมและหิมะมาก รากลึกช่วยให้ต้นอ่อนงอกงามโดยหยั่งรากลงดินอย่างรวดเร็ว ทำให้รากดึงความชี้นและสารอาหารจากดินได้มากขึ้น รากลึกยึดลำต้นให้ตั้งตรงและตั้งมั่นในสายลม รากลึกทำให้ต้นโอ๊กแคระอยู่รอดได้ง่ายขึ้น เมื่อต้นอ่อนสูงเต็มที่แล้ว รากของมันจะยังบำรุงเลี้ยง ป้องกัน และยึดลำต้นไว้

เรารับบทเรียนได้จากต้นโอ๊กแคระ เราล้วนมีประสบการณ์บางอย่างที่เหมือนฤดูร้อนและฤดูหนาว เรามีเวลาสบายและเวลาลำบาก ความสำเร็จและความล้มเหลว เวลาของสุขภาพดีและเวลาเจ็บป่วย ช่วงเวลาของความสุขและชั่วขณะของความทุกข์โศก ชีวิตไม่คงที่ ชีวิตไม่ราบรื่น

ชีวิตคล้ายกันในเรื่องอื่นด้วย เราทุกคนรายล้อมไปด้วยวัฒนธรรม ขนบประเพณีของชุมชนและบ้านเกิดเมืองนอน อิทธิพลเหล่านั้นดีบ้างไม่ดีบ้าง บางอย่างจรรโลงใจเรา บางอย่างบั่นทอนจิตใจและลดคุณค่าของเรา บ้านเราอาจได้รับพรด้วยแสงสว่างของพระกิตติคุณหรือถูกทำลายเพราะการไม่รักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า แบบอย่างของเพื่อนอาจยอดเยี่ยมหรือย่ำแย่ เราไม่รู้ว่าชีวิตจะพาเราไปทางใด เราไม่สามารถทำนายสุขภาพหรือความมั่งคั่งในอนาคตของเรา เราไม่สามารถบอกล่วงหน้าถึงอิทธิพลของสงครามหรือสภาพอากาศ สภาวการณ์ที่ผันแปรเกินควบคุมก่อให้เกิดความท้าทายสำหรับเราทุกคน

เราไม่เหมือนต้นไม้ เราเลือกได้และพัฒนาโครงสร้างของรากทางวิญญาณให้ชีวิตของเราได้ เราตัดสินใจว่าจะหยั่งรากตรงไหนและหยั่งลึกลงไปในดินมากเท่าใด การตัดสินใจประจำวันสร้างความแตกต่างเล็กน้อยมากในรากแห่งศรัทธาของเราซึ่งผลที่ตามมากลายเป็นรากฐาน

หยั่งรากในพระผู้ช่วยให้รอด

ภาพ
seedlings and roots

เพราะเราไม่รู้ว่าความท้าทายจะเกิดขึ้นเมื่อใดหรืออย่างไร ฤดูหนาวหรือฤดูร้อนของตัวเราจะยาวนานเท่าใด เราจึงควรหยั่งรากให้ลึกที่สุดเพื่อเราจะสามารถลงไปถึงแหล่งบำรุงเลี้ยงที่แท้จริงสำหรับจิตวิญญาณของเราได้ นั่นคือพระเจ้าพระเยซูคริสต์ พระองค์ทรงต้องการให้ชีวิตเราครบบริบูรณ์ ทรงเชื้อเชิญให้เรามาหาพระองค์ พระองค์ตรัสว่า “จงเรียนรู้จากเรา, และฟังถ้อยคำของเรา; จงเดินด้วยความสุภาพอ่อนน้อมแห่งพระวิญญาณเรา, และเจ้าจะมีสันติสุขในเรา” (คพ. 19:23)

เราสร้างความแข็งแกร่งของจิตวิญญาณเพื่อต้านมรสุมชีวิตโดยเรียนรู้จากพระองค์ เราเรียนรู้โดยการศึกษาและการสวดอ้อนวอน เราเรียนรู้โดยดูแบบอย่างที่ชอบธรรม เราเรียนรู้ขณะรับใช้ผู้อื่นเพื่อรับใช้พระองค์ (ดู มัทธิว 25:40) เราเรียนรู้ขณะพยายามเลียนแบบพระองค์ในทุกด้านที่เราทำได้

การฟังหมายถึงเอาใจใส่ และตั้งใจฟัง ไม่ใช่แค่ได้ยิน เราฟังพระองค์ในการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว เราฟังในการประชุมศีลระลึกและในพระวิหาร เราได้ยินพระองค์ใน “เสียงเบาๆ” (1 พงศ์กษัตริย์ 19:12) เราฟังพระองค์ในเสียงของศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกที่มีชีวิตอยู่

การตั้งใจฟังเตือนเราว่า “มนุษย์จะดำรงชีวิตด้วยอาหารเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องดำรงชีวิตด้วยพระวจนะทุกคำซึ่งออกมาจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า” (มัทธิว 4:4) เราทำให้รากแข็งแรงด้วยการเติบโตเพิ่มขึ้นทีละขั้น ขณะที่เราฟัง เราเดินตามเส้นทางที่พระองค์ทรงดำเนิน พระองค์ทรงเป็นเส้นทางที่พาไปถึงชีวิตที่ครบบริบูรณ์ และพระองค์ทรงเป็นแสงสว่างส่องทางนั้น (ดู ยอห์น 8:12)

รักษาพระบัญญัติ

ไม่มีความลับหรือความประหลาดใจเกี่ยวกับสิ่งที่เราทำได้และควรทำเพื่อพัฒนารากของเรา นั่นคือ เรารักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า เราสามารถทำตามพระประสงค์ได้มากขึ้นเมื่อเราทำตามพระประสงค์ เราทำได้ง่ายขึ้นเพราะเรามีความเชื่อมั่นและศรัทธามากขึ้น เมื่อเรายืนหยัดอย่างซื่อสัตย์ในการประยุกต์ใช้หลักพื้นฐานของพระกิตติคุณในชีวิตเรา พระเจ้าจะประทานพรให้เรามีพลังภายในมากขึ้น

การนมัสการอย่างมีค่าควรเอื้อประโยชน์สำคัญต่อความลึกของรากทางวิญญาณ การเข้าร่วมประชุมศีลระลึกด้วยความคารวะและรับส่วนศีลระลึกด้วยเจตนาแท้จริงทำให้วันสะบาโตเป็นมากกว่าวันอาทิตย์ธรรมดา เราไม่สามารถหยั่งรากลึกได้เลยเว้นแต่เรา “ระลึกถึงพระองค์ตลอดเวลา” (คพ. 20:77, 79) เมื่อเราเตรียมตัวก่อนการประชุม สะบาโตจะกลายเป็นประสบการณ์ที่มีค่ามากขึ้นสำหรับเรา ขณะตรึกตรองการให้อภัยที่เราต้องการและพรของการมีพระวิญญาณอยู่กับเราตลอดเวลา เราเริ่มเห็นว่าห้องนมัสการเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และศีลระลึกเป็นเวลาของการชำระให้บริสุทธิ์

ด้วยเหตุนี้จึงมีบางอย่างที่เราควรนำไปด้วยเสมอเมื่อเราไปโบสถ์ สำคัญสุดคือใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด เราควรไปเพราะอยากแสวงหาและรู้สึกถึงพรของการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด ทำนองเดียวกัน เราควรทิ้งบางอย่างไว้ที่บ้านเสมอ ความคิดเรื่องกีฬา งาน ความบันเทิง และการจับจ่ายควรเก็บใส่ตู้ล็อคกุญแจไว้ในบ้านเราเพื่อเปิดในวันอื่นที่ไม่ใช่วันสะบาโต การนมัสการที่แท้จริงส่งเสริมการเปลี่ยนใจเลื่อมใสที่แท้จริง อีกทั้งช่วยให้รากของศรัทธาเราหยั่งลึกจนเราพบแอ่งน้ำทางวิญญาณ ซึ่ง “จะกลายเป็นบ่อน้ำพุในตัวเขาพลุ่งขึ้นถึงชีวิตนิรันดร์” (ยอห์น 4:14)

เปาโลเขียนว่า

“เพราะฉะนั้นในเมื่อพวกท่านรับพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าไว้แล้ว ก็จงดำเนินชีวิตในพระองค์ด้วย

“จงหยั่งรากและก่อร่างสร้างขึ้นในพระองค์ จงมั่นคงในความเชื่อตามที่ได้รับการสอนมาแล้ว” (โคโลสี 2:6–7)

ถ้าเราไม่ประสบมรสุมและความแห้งแล้งส่วนตัวบ้าง รากของเราย่อมไม่มีโอกาสแข็งแรง การแล่นเรือราบรื่นเป็นการทดสอบในตัวมันเอง— และยากด้วย การไม่มีปัญหาสามารถทำให้เราอ่อนลงถ้าเราไม่ระวัง เราอาจ “ไม่ระวัง [ตัวเรา], และความนึกคิด [ของเรา], และคำพูด [ของเรา], และการกระทำ [ของเรา], และไม่ยึดถือพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า, และไม่ดำเนินต่อไปในความเชื่อ” (โมไซยาห์ 4:30) หากปราศจากการทดลองที่ทำให้เราคุกเข่าและทำงานกับใจเรา

ชีวิตมีวิธีนำความทุกข์มาให้เราทุกคนแม้เมื่อเราทำดีที่สุด หากเราไม่เลือกสิ่งที่เลวร้ายซึ่งส่งผลให้เกิดเรื่องเศร้าเสมอ เรามักไม่เลือกว่าจะให้ปัญหาชีวิตมาเคาะประตูบ้านเราเมื่อใดหรืออย่างไร แต่เราตัดสินใจแน่นอนในแต่ละวันว่าเราจะเตรียมรับปัญหาเหล่านั้นอย่างไร คำเตือนสติของโยชูวามีดังนี้ “ท่านก็จงเลือกเสียในวันนี้ว่าท่านจะปรนนิบัติใคร” (โยชูวา 24:15)

คำเตือนสติอีกอย่างหนึ่งคือ

“จงเข้าไปทางประตูแคบ เพราะว่าประตูใหญ่และทางกว้างนั้นนำไปถึงความพินาศ และคนทั้งหลายที่เข้าไปทางนั้นมีมาก

“เพราะประตูที่แคบและทางที่ลำบากนั้นนำไปสู่ชีวิต และพวกที่หาพบก็มีน้อย” (มัทธิว 7:13–14)

เราไม่ควรประหลาดใจเมื่อเราทนทุกข์กับความล้มเหลวของศรัทธาถ้าเราเดินบนขอบของทางคับแคบและแคบ สิ่งที่เราทำและไม่ทำสำคัญอย่างยิ่งเพราะการกระทำมีผล และการไม่กระทำก็มีผล เมื่อเราไม่สนใจการกระทำเล็กๆ น้อยๆ ประจำวันแต่จำเป็นอย่างยิ่งของความเชื่อ เท่ากับเราทำให้รากอ่อนแอ เราออกห่างจากพระผู้เป็นเจ้าทีละน้อย

ดังนั้นวิธีที่เราพูดกัน หนังสือและบทความที่เราอ่าน รายการโทรทัศน์และภาพยนตร์ที่เราดู สิ่งที่เราไม่อ่านและจะไม่มีวันดู เรื่องขำขันที่เราเล่าหรือเลือกไม่ฟัง อย่าว่าแต่จะนำมาเล่าซ้ำ ทั้งหมดล้วนสะท้อนว่าเราอยู่ที่ใดบนทางคับแคบและแคบ—ตรงกลางหรือขอบทาง เราไม่สามารถทวงสิทธิ์รับการบำรุงรากของเราได้ถ้าสิ่งที่เราทำและไม่ทำไม่นับว่าทำให้เราเป็นวิสุทธิชนที่ดีขึ้น ความปลอดภัยอยู่ตรงกลางของทางคับแคบและแคบเท่านั้น

เส้นทางสู่สันติ

ภาพ
tree and Christ

ไม่มีรูปแบบชีวิตใดดีกว่า ไม่มีวิธีพบสันติสุขและเส้นทางข้างหน้าแน่นอนกว่าการติดตามพระเจ้าพระเยซูคริสต์ พระนามของพระองค์เป็นพระนามเดียวที่ประทานด้วยอำนาจภายใต้ฟ้าสวรรค์ที่จะทำให้ชีวิตเราเป็นสุขมากขึ้น (ดู 2 นีไฟ 31:21; โมเสส 6:52) ไม่มีใครให้เรา “มองดู” อีกแล้ว ผู้ที่มีอำนาจเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนใหม่ และช่วยให้รอดเฉกเช่นพระผู้ช่วยให้รอด

คำพูดของยูดาห์จับประเด็นความว่างเปล่าของชีวิตที่สุดท้ายแล้วจะโอบล้อมคนที่เลือกคนอื่นหรือสิ่งอื่นแทนพระผู้ช่วยให้รอด “[พวกเขา] เป็นเมฆที่ไม่มีน้ำที่ถูกพัดลอยไปตามลม เป็นต้นไม้ที่ไร้ผลในฤดูที่ออกผลและตายมาสองหนแล้วเพราะถูกถอนออกทั้งราก” (ยูดา 1:12)

จิตวิญญาณของเราควรหยั่งรากลึกในพระคริสต์จนเราสามารถอดทนต่อความท้าทาย มีชัยเหนือความทุกข์ ต้านการโจมตีศรัทธาของเรา และเป็นเหมือนต้นโอ๊ก—มั่นคง ไม่ขยับเขยื้อน และตั้งมั่น การหยั่งรากเช่นนั้นอยู่เหนือกาลเวลาและทนทานกว่าศัตรูทั้งหมด แม้ศัตรูที่ร้ายกาจ มองไม่เห็น และเจ้าเล่ห์ที่สุด

เราเรียนรู้จากฮีลามันว่าคำสัญญาเรื่องความแข็งแกร่งดั่งหินผาขึ้นอยู่กับการสร้างชีวิตเราบนพระผู้ไถ่ “รากฐานซึ่งหากมนุษย์จะสร้างบนนั้นแล้วพวกเขาจะตกไม่ได้” (ฮีลามัน 5:12) อิสยาห์ใช้คำเพียงไม่กี่คำอธิบายว่าการหยั่งรากในพระเจ้าพระเยซูคริสต์และทำให้คุณลักษณะบางอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดเกิดผลในจิตวิญญาณเราหมายความว่าอย่างไร ท่านเขียนว่า “และพระยาห์เวห์จะทรงนำเจ้าอย่างต่อเนื่อง และทำให้ตัวเจ้าอิ่มเอิบในที่แห้งแล้ง และทำให้กระดูกของเจ้าแข็งแรง และเจ้าจะเป็นเหมือนสวนมีน้ำชุ่ม เหมือนน้ำพุที่น้ำของมันจะไม่ขาด” (อิสยาห์ 58:11)

พระผู้ช่วยให้รอดพระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างของคุณธรรมทุกประการ พระองค์ทรงเป็นคนดีพร้อมคนเดียวที่เคยมีชีวิตอยู่ ทรงชดใช้บาปของเรา เราสามารถเป็นชายหญิงของพระคริสต์ผ่านการชดใช้ของพระองค์ พระองค์ทรงชำระเราให้สะอาด เปลี่ยนแปลง เยียวยา และขัดเกลาเราได้ จิตวิญญาณของเราจะกลายเป็นสิ่งสวยงาม

ขอให้เรา “มองดูพระองค์” อย่างถี่ถ้วนมากขึ้น ขอให้เราเลียนแบบพระองค์ด้วยความเลื่อมใสมากขึ้น ขอให้เราทำตามพระองค์ด้วยความกระตือรือร้นมากขึ้น ขอให้เราหยั่งรากลึกลงไปอีกในดินแห่งความรอดจนกว่าเราจะพำนักบนพระองค์ ศิลาแห่งพระผู้ไถ่ของเรา ขอให้เรามีความสุขมากขึ้นเรื่อยๆ กับชีวิตครบบริบูรณ์ที่พระองค์ทรงมอบให้

อ้างอิง

  1. ดู “โอ้ พระบิดาผู้นิรันดร์,” เพลงสวด, บทเพลงที่ 81.

พิมพ์