เข้าใจประวัติศาสนจักรโดย การศึกษา และ ศรัทธา
ทุกวันนี้เราเรียนรู้เกี่ยวกับอดีตผ่านประวัติศาสตร์ที่ไม่ปะติดปะต่อกัน ขณะศึกษาบันทึกเหล่านี้เราพึงระลึกว่าบันทึกไม่ได้อธิบายอดีตทั้งหมด
ประวัติศาสตร์มีความหมายมากกว่าการท่องจำวันเดือนปีและข้อเท็จจริงไว้สอบ ทุกวัน นักจดหมายเหตุ บรรณารักษ์ และนักประวัติศาสตร์ในหอสมุดประวัติศาสนจักรรวบรวม อนุรักษ์ และแบ่งปันบันทึกเกี่ยวกับอดีตที่ช่วยให้เรามองเห็นพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าในประวัติศาสตร์ของศาสนจักรและในชีวิตเราแต่ละคน การเข้าใจประวัติศาสตร์ของเราเกี่ยวข้องกับกระบวนการเรียนรู้และการค้นพบที่สามารถเสริมสร้างประจักษ์พยานของเรา ช่วยเราหลีกเลี่ยงความสงสัย เล่าเรื่องที่ดีที่สุด มองเห็นหลักคำสอนที่แท้จริง และปรับปรุงวิธีการคิดของเรา เมื่อเรา “ได้ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์” เราจะช่วยทำให้เกิด “ความรอดของไซอัน” เช่นกัน (คพ. 93:53)
ในฐานะนักประวัติศาสตร์ ผมรู้สึกชื่นชมที่เราเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ “โดยการศึกษาและโดยศรัทธา” (คพ. 88:118) ศรัทธาและการศึกษารวมกันเมื่อเราดื่มด่ำพระคัมภีร์ร่วมกับการสวดอ้อนวอน อ่านและใคร่ครวญแหล่งข้อมูลประวัติศาสตร์หลายๆ แหล่ง ทำการเชื่อมโยงระหว่างข้อพระคัมภีร์กับแหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ พิจารณาข้อมูลในบริบทที่ถูกต้อง มองหารูปแบบและสาระสำคัญ และดึงบทเรียนที่เกี่ยวข้องออกมา การฝึกปฏิบัติเช่นนี้ช่วยให้เราเข้าใจข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และพบคำตอบสำหรับคำถามของเรา หลักธรรมหลายข้อสามารถช่วยให้เรานึกถึงประวัติศาสตร์ในลักษณะที่เปิดความคิดให้เราเข้าใจลึกซึ้งขึ้น
อดีตผ่านไป—เหลือเพียงไม่กี่ส่วน
จากมุมมองของเราในปัจจุบัน อดีตส่วนใหญ่ผ่านไป ผู้คนล่วงลับไป ประสบการณ์ของพวกเขาสิ้นสุด แต่อดีตหลายส่วนยังเหลืออยู่—จดหมาย บันทึกประจำวัน บันทึกขององค์กร วัตถุสิ่งของ ทุกวันนี้เราสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับอดีตโดยทางอ้อมผ่านส่วนที่เหลือเท่านั้น ข้อมูลมักสูญหายไประหว่างอดีตกับปัจจุบัน เราต้องศึกษาบันทึกที่คงเหลือขณะระลึกว่าบันทึกเหล่านั้นไม่ได้อธิบายอดีตทั้งหมด
ลองพิจารณาสักหนึ่งตัวอย่าง เมื่อโจเซฟ สมิธกล่าวโอวาทกับวิสุทธิชน ปกติแล้ว ท่านไม่ได้เตรียมเนื้อหา และไม่มีการบันทึกเสียงหรือบันทึกภาพ แม้ผู้เข้าร่วมไม่กี่คนอาจจดบันทึกหรือข้อคิด แต่เหลือบันทึกน้อยกว่านั้น ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่สามารถอ้างได้ว่ารู้ทุกอย่างที่โจเซฟ สมิธเคยพูด แม้เราจะสามารถอ้างบันทึกของวิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์เกี่ยวกับโอวาทของโจเซฟได้ก็ตาม
ในกรณีอื่น ส่วนสำคัญๆ ของประวัติศาสนจักรยังไม่มีใครค้นพบ ตัวอย่างเช่น เราไมมีบันทึกเรื่องการเยือนของเปโตร ยากอบ และยอห์นที่ละเอียดเท่าเรื่องราวการเยือนของยอห์นผู้ถวายบัพติศมา (ดู โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:66–75) ในทำนองเดียวกัน ถึงแม้เราจะมีบันทึกเรื่องการห้ามชายผิวดำซึ่งเป็นลูกหลานชาวแอฟริกันดำรงฐานะปุโรหิต แต่ก็ไม่เหลือบันทึกที่อธิบายได้อย่างน่าเชื่อถือว่าเหตุใดจึงเริ่มปฏิบัติเช่นนั้น ในการศึกษาประวัติศาสตร์ การไม่มีหลักฐานไม่ได้เป็นมูลเหตุที่ใช้ได้ของความสงสัย การเรียนรู้เกี่ยวกับอดีตเป็นความพยายามของการรวบรวมหลักฐานที่เป็นที่ไว้วางใจ และหากเป็นไปได้ สามารถพิสูจน์ได้ขณะที่ยังไม่ตัดสินในส่วนของประวัติศาสตร์ที่เราไม่สามารถเข้าใจได้อย่างเต็มที่เนื่องจากไม่มีข้อมูล
ข้อเท็จจริงไม่พูด แต่คนเล่าเรื่องเป็นคนพูด
เพราะส่วนที่เหลือของอดีตไม่สมบูรณ์ บางคนจึงพยายามนำส่วนต่างๆ มารวมกันเพื่อเล่าเรื่อง เรื่องราวสมัยแรกสุดเล่าจากปากผู้มีส่วนร่วมและบรรยายว่าพวกเขาประสบอะไรและเหตุใดจึงสำคัญต่อพวกเขา ผู้มีส่วนร่วมบางคนเล่าเรื่องราวของพวกเขาหลายครั้งกับผู้ฟังต่างกลุ่ม บางเหตุการณ์กระตุ้นผู้มีส่วนร่วมหลายคนให้เล่าประสบการณ์ของตน อีกหลายเหตุการณ์ถูกลืมไปแล้วจนกระทั่งประสบการณ์ต่อมาทำให้พวกเขานึกขึ้นได้
หลายคนรวบรวมเรื่องราวและเล่าซ้ำด้วยเหตุผลต่างๆ—เพื่อให้ผู้ฟังเพลิดเพลิน ขายสินค้า หล่อหลอมความคิดเห็นของสาธารณชน หรือชักจูงให้เปลี่ยนแปลง แต่ละเรื่องกลายเป็นการตีความอธิบายอดีต ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงหลายส่วนและได้รับอิทธิพลจากความทรงจำ ความสนใจ และเป้าหมายของผู้เล่า ด้วยเหตุนี้ เรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับอดีตจึงไม่สมบูรณ์และบางครั้งขัดแย้งกันเอง เราต้องพิจารณาเสมอว่าใครกำลังเล่าเรื่อง พวกเขาเล่าอย่างไร และเหตุใดจึงเล่า
โจเซฟ สมิธให้ตัวอย่างวิธีประเมินคนเล่าเรื่องและข้อเท็จจริง ในปี 1838 ท่านสังเกตว่ามี “รายงานจำนวนมากซึ่งแพร่สะพัดไปทั่วโดยบุคคลที่ประสงค์ร้ายและเล่ห์เหลี่ยมจัด, เกี่ยวกับการเริ่มต้นและความเจริญก้าวหน้าของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย” ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงเขียนประวัติเพื่อ “ให้ข้อเท็จจริงแก่คนทั้งปวงที่ค้นหาความจริง, ตามที่เกิดขึ้น, ทั้งที่เกี่ยวกับตัวข้าพเจ้าและศาสนจักร, เท่าที่ข้าพเจ้ามีข้อเท็จจริงเหล่านี้” (โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:1) เรื่องทั้งหมดที่เล่าเกี่ยวกับโจเซฟ สมิธมีคุณค่าหรือความถูกต้องไม่เท่ากัน หลายเรื่องที่หลายคนเล่าโยงกับเหตุการณ์ในอดีตมากกว่าอาจเชื่อถือได้มากกว่า เรื่องเล่าที่ดีที่สุดคำนึงถึงอดีตทุกส่วนที่มีและจำแนกมุมมองของแหล่งข้อมูล
อดีตต่างจากปัจจุบัน (และนั่นไม่เป็นไร)
เมื่อเราพยายามเข้าใจส่วนต่างๆ ของอดีตและเรื่องราวที่เล่าไว้ เราย่อมค้นพบผู้คน สถานที่ ประสบการณ์ และประเพณีต่างจากเรา การเปลี่ยนแปลงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวัฒนธรรมก่อให้เกิดประสบการณ์ต่างกันในเรื่องการเกิด การกิน การเดินทาง วันหยุด สุขอนามัย การออกเดท การแพทย์ และความตาย ระบบเศรษฐกิจและการเมืองที่ต่างกันก่อให้เกิดประสบการณ์ต่างกันในเรื่องการศึกษา การเลือก อิสรภาพ และโอกาส ทัศนะในอดีตต่างจากทัศนะของเราในเรื่องการทำงาน ครอบครัว การบำเพ็ญประโยชน์ บทบาทและสถานะของสตรีและคนกลุ่มน้อย แง่มุมทางโลกทุกแง่ของประสบการณ์มนุษย์เปลี่ยนไปตามกาลเวลาในหลายๆ ด้านทั้งเล็กและใหญ่
ตัวอย่างเช่น จากมุมมองของเราในปัจจุบัน การใช้ศิลาผู้หยั่งรู้ของโจเซฟ สมิธ แปลพระคัมภีร์มอรมอนดูเหมือนต่างจากเดิมมาก อย่างไรก็ดี ในสมัยนั้น หลายคนเชื่อว่าสามารถใช้วัตถุสิ่งของรับข่าวสารจากสวรรค์ได้ ความเชื่อเหล่านี้ส่วนหนึ่งอ้างอิงจากเรื่องราวในพระคัมภีร์ไบเบิลซึ่งใช้วัตถุสิ่งของเพื่อจุดประสงค์อันศักดิ์สิทธิ์ (ดู กันดารวิถี 17:1–10; 2 พงศ์กษัตริย์ 5; ยอห์น 9:6) การเปิดเผยที่โจเซฟได้รับสำหรับการจัดตั้งศาสนจักรอธิบายว่าพระผู้เป็นเจ้า “ประทานอำนาจแก่เขาจากเบื้องบน, โดยวิธีซึ่งเตรียมไว้ก่อนแล้ว, ที่จะแปลพระคัมภีร์มอรมอน” (คพ. 20:8) แม้ “วิธี” ประกอบด้วยหินผู้หยั่งรู้และอูริมกับทูมมิม แต่เรายังสามารถสังเกตเห็นข่าวสารเกี่ยวกับหลักคำสอนได้ว่า “พระผู้เป็นเจ้าทรงดลใจมนุษย์และเรียกพวกเขามาสู่งานอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ …, โดยการนี้แสดงว่าพระองค์ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวกัน ทั้งวันวาน, วันนี้, และตลอดกาล” (คพ. 20:11–12)
ข้อสันนิษฐานปัจจุบันบิดเบือนอดีต
เพราะอดีตต่างจากสมัยของเรา เราจึงต้องระวังเป็นพิเศษอย่าตั้งข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับอดีตโดยยึดตามแนวคิดและค่านิยมปัจจุบันของเรา เราสันนิษฐานไม่ได้ว่าคนในอดีตคงเหมือนเราหรือพวกเขาจะชื่นชมวัฒนธรรมและความเชื่อของเรา เราสันนิษฐานไม่ได้ว่าเรารู้ทุกอย่าง เราได้อ่านแหล่งข้อมูลทุกแหล่ง หรือว่าความเข้าใจปัจจุบันของเราเกี่ยวกับอดีตจะไม่มีวันเปลี่ยน บ่อยครั้งสิ่งที่เรียกว่าเป็นปัญหาในอดีตจริงๆ แล้วเป็นเพียงข้อสันนิษฐานไม่ดีที่ทำในปัจจุบัน
ตัวอย่างเช่น โจเซฟ สมิธประกาศว่า “ข้าพเจ้าไม่เคยบอกท่านว่าข้าพเจ้าดีพร้อม”1 ถ้าเราสันนิษฐานว่าศาสดาพยากรณ์ไม่เคยทำผิดพลาด เราอาจตกใจเมื่อค้นพบว่าโจเซฟทำผิดพลาดหลายครั้ง เพื่อ “แก้” ปัญหานี้ เราจึงไม่ควรดึงดันว่าโจเซฟดีพร้อมหรือกล่าวหาว่าศาสนจักรหลอกลวง แต่เราจะยอมรับความเป็นมนุษย์ของโจเซฟและมองท่านในบริบทของเรื่องราวพระคัมภีร์เกี่ยวกับศาสดาพยากรณ์ ด้วยเหตุนี้เราจึงสามารถปรับข้อสันนิษฐานของเราให้ยอมรับว่าศาสดาพยากรณ์ทุกท่านเป็นมนุษย์และด้วยเหตุนี้จึงมีข้อบกพร่อง เรารู้สึกสำนึกคุณที่พระผู้เป็นเจ้าทรงทำงานกับเราแต่ละคนอย่างอดทน การยอมรับข้อผิดพลาดในวิธีคิดของเราบางครั้งเป็นส่วนยากที่สุดของการเข้าใจประวัติศาสตร์
การเรียนประวัติศาสตร์ต้องอาศัยความอ่อนน้อมถ่อมตน
เมื่อเราพบประวัติศาสตร์ที่ไม่สมบูรณ์ ตีความได้หลายอย่าง และต่างจากที่เราสันนิษฐาน เราต้อง “วางใจในพระวิญญาณองค์นั้นซึ่งนำ … ให้เดินอย่างถ่อมตน” (คพ. 11:12) จากมุมมองของเราในปัจจุบัน เรารู้ชัดเจนมากกว่าผู้มีส่วนร่วมแน่นอนเกี่ยวกับผลของอดีต แต่เรารู้น้อยกว่ามากเกี่ยวกับประสบการณ์ของการมีชีวิตอยู่ในอดีตของพวกเขา ผู้มีชีวิตอยู่ในอดีตเป็นส่วนหนึ่งของเวลา สถานที่ และสภาวการณ์ของพวกเขา เพื่อมีจิตกุศลต่อความต่างของพวกเขาและเข้าใจประสบการณ์ของพวกเขา เราต้องเริ่มด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนเกี่ยวกับข้อจำกัดของเราเอง เราต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตนจึงจะไม่ใช้มาตรฐานของเราตัดสินคนในอดีต เราต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตนจึงจะยอมรับว่าเราไม่รู้ทุกเรื่อง รอคำตอบเพิ่มเติมอย่างอดทน และเรียนรู้ตลอดเวลา เมื่อค้นพบแหล่งข้อมูลใหม่ที่ให้ความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับสิ่งที่เราคิดว่าเรารู้ เราต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตนจึงจะแก้ไขความเข้าใจของเรา