2017
ยุติความขัดแย้งในชีวิตแต่งงาน
ตุลาคม 2017


ยุติความขัดแย้ง ในชีวิตแต่งงาน

ผู้เขียนอาศัยอยู่ในรัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา

พรวิเศษสุดหลั่งไหลมาจากการยุติความขัดแย้งในบรรยากาศของความรัก

couple holding hands

ภาพประกอบโดย แซลลี เวิร์น คอมพอร์ต

แมทท์กับมาร์กาเร็ต (นามสมมติ) ปิดโทรทัศน์หลังจากการประชุมใหญ่ภาคสุดท้าย ข่าวสารเหล่านั้นสร้างแรงบันดาลใจ และพวกเขาชอบบรรยากาศที่ดีทั่วบ้านของพวกเขาสุดสัปดาห์นั้น

ไม่มีใครผิดหวังมากไปกว่าแมทท์กับมาร์กาเร็ตเมื่อไม่ถึง 24 ชั่วโมงต่อมาพวกเขาทะเลาะกันรุนแรงว่าจะออมเงินโบนัสที่แมทท์ได้อย่างไม่คาดฝันจากที่ทำงานหรือจะใช้ซื้อชุดนักเรียนให้ลูกที่โตขึ้น การถกเถียงไม่ได้ข้อยุติ และแมทท์กับมาร์กาเร็ตต่างแยกย้ายกันไปทำงานอื่นทั้งที่ยังไม่เข้าใจกัน

เพื่อสร้างชีวิตแต่งงานที่ยั่งยืนและมีความสุข สามีภรรยาต้องเรียนรู้วิธียุติความขัดแย้งทั้งนี้เพื่อแต่ละฝ่ายจะเข้าใจกันและตัดสินใจกับปัญหานั้นอย่างประนีประนอม

การนำทางและการเตือนทางวิญญาณ

พระคัมภีร์ตลอดจนถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกให้คำเตือนมากมายเกี่ยวกับความขัดแย้ง ใน 3 นีไฟ เราอ่านว่า “คนที่มีวิญญาณของความขัดแย้งย่อมไม่เป็นของเรา, แต่เป็นของมาร, ผู้เป็นบิดาแห่งความขัดแย้ง” (3 นีไฟ 11:29) เอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่าซาตาน “พยายามปักลิ่มของความไม่ปรองดองระหว่างบิดากับมารดา เขาชักจูงบุตรธิดาไม่ให้เชื่อฟังบิดามารดา … ซาตานรู้ว่าวิธีขัดขวางงานของพระเจ้าได้ผลที่สุดและแน่นอนที่สุดคือลดประสิทธิผลของครอบครัวและความศักดิ์สิทธิ์ของบ้าน”1

ความต่างของความเห็น นิสัย หรือภูมิหลังล้วนหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เรามีมากมายหลายแหล่งคอยช่วยเราให้รู้วิธีรับมือ หลักคำสอนและคำแนะนำที่สอนในการนมัสการวันอาทิตย์และสิ่งพิมพ์ของศาสนจักรสามารถช่วยและเสริมได้ตามความจำเป็นด้วยข้อมูลที่มีคุณภาพจากผู้เชี่ยวชาญ คู่สามีภรรยาสามารถเรียนรู้วิธีรับมือกับความขัดแย้งได้ การดลใจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใจที่ทำให้แต่ละฝ่ายใจอ่อนลง

ประธานโธมัส เอส. มอนสันเตือนว่า “โอกาสแสดงความรักครั้งสำคัญที่สุดของเราบางครั้งจะอยู่ในรั้วบ้านของเราเอง ความรักควรเป็นหัวใจของชีวิตครอบครัว แต่บางครั้งไม่เป็นเช่นนั้น มีความใจร้อนมากเกินไป มีการโต้เถียงมากเกินไป มีการทะเลาะเบาะแว้งมากเกินไป มีน้ำตามากเกินไป”2

เมื่อปัญหายังอยู่และบ่อนทำลายชีวิตครอบครัว เหตุของความขัดแย้ง รวมถึงความไม่มีวุฒิภาวะ ความเห็นแก่ตัว ความปรารถนาจะมีอำนาจเหนืออีกฝ่าย และความจองหองจึงรุนแรงขึ้น ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ (1910–2008) สอนว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกมานานแล้วว่าองค์ประกอบใหญ่สุดในชีวิตแต่งงานที่เป็นสุขคือความเอาใจใส่ห่วงใยทุกข์สุขของคู่ครอง ในกรณีส่วนใหญ่ความเห็นแก่ตัวเป็นปัจจัยโน้มนำให้เกิดการทะเลาะวิวาท การแยกกันอยู่ การหย่าร้าง และหัวใจแหลกสลาย”3

เอ็ลเดอร์มาร์วิน เจ. แอชตัน (1915–1994) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองแสดงความเห็นเช่นกันว่า “เมื่อเราพิจารณาความรู้สึกไม่ดีและความไม่สบายใจที่เกิดจากความขัดแย้ง คงจะดีถ้าถามว่า ‘ทำไมฉันมีส่วน’ …

“… สำคัญที่ต้องยอมรับว่าเราเลือกพฤติกรรมของเรา ต้นตอของประเด็นนี้คือปัญหาที่มีมาแต่ช้านานแห่งความจองหอง”4

ไม่ว่าสาเหตุใดก็ตาม เราจำเป็นต้องเรียนรู้ทักษะใหม่และทำให้ใจเราอ่อนลงเมื่อปัญหายังอยู่

สาเหตุของความขัดแย้ง

silhouette of couple arguing

มีสาเหตุมากมายของความขัดแย้ง ตั้งแต่อคติส่วนตัวไปจนถึงรูปแบบการสื่อสารที่ฝังรากลึก นอกจากจะเอาชนะความเห็นแก่ตัวและความไม่มีวุฒิภาวะแล้ว คู่สามีภรรยาจะพบเจออีกหลายสาเหตุของความขัดแย้งเช่นปัจจัยต่อไปนี้

  • คู่แต่งงานใหม่กำลังฝึกให้ชินกับรูปแบบพฤติกรรมของอีกฝ่าย

  • ความแตกต่างตามธรรมชาติระหว่างชายและหญิง

  • ความหงุดหงิดอันเกิดจากความเหนื่อยล้า

  • ความเห็นต่างเกี่ยวกับวิธีเลี้ยงลูกหรือบริหารการเงินให้ดีที่สุด

  • ลูกๆ กำลังฝึกใช้สิทธิ์เสรี

  • ความชอบและความไม่ชอบที่ต่างกัน

  • ความเครียดเกินเหตุ

  • การขาดความเข้าใจหรือขาดทักษะในการยุติความขัดแย้ง

คำเตือนเรื่องความโกรธ

ความขัดแย้งมากมายในชีวิตสมรสหรือครอบครัวเกิดขึ้นเพราะไม่ควบคุมความโกรธ หากเราไม่ระวัง หลังเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้โกรธเราจะนึกอยู่ตลอดเวลาว่าอีกฝ่ายทำไม่ดีกับเราอย่างไร ยิ่งเราครุ่นคิดนาน เราจะยิ่งคิดหาเหตุผลมาสนับสนุนมุมมองของเรามากขึ้น อาการครุ่นคิดวิตกกังวลเช่นนี้จะทำให้เราไม่สงบ และเมื่อคลื่นความโกรธระลอกสองเกิดขึ้นก่อนยุติระลอกแรก ปฏิกิริยาจากฮอร์โมนจะทำให้อารมณ์เดือดพล่านมากขึ้น

ตัวอย่างเช่น เมื่อมาริลีนมาขอคำปรึกษา เธอบอกว่าการนอนอยู่บนเตียงหลังจากเธอกับสามีตะโกนใส่กันทำให้เธอหงุดหงิดมาก “ดิฉันรู้ว่าตนเป็นฝ่ายถูก” เธอกล่าว “ดิฉันนึกว่าเขาจะเปิดไฟและขอโทษ แต่เขาไม่ทำ ยิ่งคิดเรื่องนี้ดิฉันยิ่งโมโห เมื่อได้ยินเขาเริ่มกรน ดิฉันทนไม่ไหว—ดิฉันผุดลุกจากเตียง ตะโกนใส่เขาอีกครั้ง แล้วลงไปชั้นล่าง คุณเชื่อไหมคะว่าเขาก็ยังไม่ขอโทษ” ประสบการณ์ของมาริลีนเป็นตัวอย่างที่ดีของการไม่จัดการกับความรู้สึกโกรธ

นิสัยดูเหมือนจะเลิกได้ยาก แม้จะเป็นนิสัยช่วงสั้น แต่คู่สมรสสามารถฝึกทักษะไว้ช่วยพวกเขา ต่อไปนี้เป็นหลักปฏิบัติบางอย่างที่ใช้ได้ผล

เคล็ดลับ7 ประการที่ช่วยให้ใจเย็นลง

สำรวจความคิดของท่านอย่างรวดเร็ว ในตัวอย่างของเรา มาริลีนอาจจะพูดกับตนเองว่า “ดูเหมือนฉันเป็นฝ่ายถูก แต่ฉันกำลังทำเกินเหตุ ความสัมพันธ์ของฉันกับสามีสำคัญกว่าเรื่องที่เรากำลังเถียงกัน”

สงบสติอารมณ์ของคุณ ก่อนพยายามแก้ปัญหา รอจนกว่าปฏิกิริยาเคมีที่กำลังเกิดขึ้นในตัวคุณสิ้นสุด

หาวิธีเบี่ยงเบนความสนใจ เลือกคิดเรื่องอื่นหรือออกไปเดินเล่น

จดความคิดของคุณ สำหรับบางคน นี่ช่วยให้รู้จักตนเองมากขึ้น

แสดงความรู้สึกในเชิงสร้างสรรค์ การตะโกนบอกความรู้สึกของคุณจะไม่ช่วยคุณ “ระบายความรู้สึกเหล่านั้น” ยิ่งคุณแสดงอารมณ์โกรธ ความรู้สึกของคุณจะยิ่งรุนแรง

ฟังเพลงสงบสติอารมณ์ หรืออ่านวรรณกรรมที่ยกระดับจิตใจ

เริ่มใหม่ หยุดตัวเองเมื่อเริ่มเห็นต่าง งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าสามถึงห้านาทีแรกของการสนทนาวางรากฐานให้สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้น จงพูดว่า “เริ่มไปในทางไม่ดี เริ่มใหม่ดีกว่า”

มาตรการยุติความขัดแย้ง

couple sitting together at table

คู่มือเสริมสร้างชีวิตแต่งงาน ของศูนย์ให้คำปรึกษาครอบครัวแอลดีเอสแนะนำมาตรการยุติความขัดแย้งสามข้อ ได้แก่ (1) แสดงความคิดเห็น (2) สำรวจข้อกังวล และ (3) เลือกทางออกที่ทั้งสองฝ่ายพอใจ5 มาตรการเหล่านี้ยึดต้นแบบการสื่อสารและการบอกกล่าวแบบร่วมมือกันและไขข้อกังวลของทุกคนที่เกี่ยวข้อง

1. แสดงความคิดเห็น

แต่ละฝ่ายบอกความคิดเห็นของตนอย่างตรงไปตรงมาแต่ไม่โจมตีอีกฝ่าย บางครั้งการใคร่ครวญอย่างรอบคอบจะยุติปัญหาเมื่อเห็นชัดว่าความเห็นต่างเป็นเพียงความเข้าใจผิด ตัวอย่างเช่น ภรรยาที่คิดว่าสามียืนกรานอย่างเห็นแก่ตัวให้เธอไปดูการแข่งบาสเกตบอลโรงเรียนมัธยมปลายกับเขาแทนที่จะไปกินอาหารเย็นด้วยกันเป็นการออกเดท อาจจะทำความเข้าใจว่าเขาสนใจบาสเกตบอลน้อยกว่าการแสดงให้เห็นว่าเขาใส่ใจผู้เล่นคนหนึ่งที่หยุดเข้าชั้นเรียนโรงเรียนวันอาทิตย์ของเขา

2. สำรวจข้อกังวล

คู่สามีภรรยาสำรวจข้อกังวลลึกลงไปอีก จุดสำคัญคือเข้าใจและยอมรับข้อกังวลของอีกฝ่าย ดูตัวอย่างบาสเกตบอลต่อ ภรรยาแม้จะเข้าใจข้อกังวลของสามีเรื่องนักเรียนคนนั้น แต่เธออาจจะเชื่อว่าเขากำลังพัฒนารูปแบบของการให้ความต้องการของผู้อื่นมาก่อนชีวิตแต่งงานเสมอ ในกรณีนี้จะต้องมีการสนทนาละเอียดขึ้นซึ่งแต่ละฝ่ายแสดงความรู้สึกอย่างระมัดระวังและการต่อต้านเปลี่ยนเป็นความร่วมมือ

3. เลือกทางออกที่ทั้งสองฝ่ายพอใจ

คู่สามีภรรยาระดมความคิดและตัดสินใจหาทางออกที่ทั้งสองฝ่ายพอใจ จุดสำคัญคือแต่ละฝ่ายจะทำอะไรได้บ้างเพื่อไขข้อกังวลไม่ใช่คู่ครองของพวกเขาจะทำอะไร การต่อรองเช่นนั้นจะทดสอบวุฒิภาวะและความอดทน แต่เมื่อเวลาผ่านไปจะทำให้เชื่อว่ามีความปลอดภัยในการแสดงความรู้สึกและมีความมั่นใจว่าแต่ละฝ่ายจะสมปรารถนา คู่ของเราอาจยอมให้ใช้คืนวันศุกร์คืนหนึ่งไปดูการแข่งบาสเกตบอลด้วยกัน คืนวันศุกร์คืนหนึ่งให้สามีไปดูการแข่งขันคนเดียว และคืนวันศุกร์สองคืนทำกิจกรรมฉันสามีภรรยา วิธีที่คู่สามีภรรยาเลือกใช้คืนวันศุกร์ไม่สำคัญเท่าคุณภาพของกระบวนการตัดสินใจที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายพอใจ

ผลของการยุติความขัดแย้ง

couple praying together

พรวิเศษสุดหลั่งไหลมาจากการยุติความขัดแย้งในบรรยากาศของความรัก พรเหล่านี้ได้แก่ ความมั่นคงปลอดภัย การเติบโตส่วนตัวซึ่งทำให้เกิดสันติสุขในใจ ศรัทธาเพิ่มขึ้น อุปนิสัยดีขึ้น และเกิดความชอบธรรมส่วนตัว

เมื่อยุติความขัดแย้ง รูปแบบใหม่จะเข้ามาแทน ต่อจากนั้นประตูจะเปิดให้คู่สมรสแสดงความคิดเชิงบวกและให้การสนับสนุน ซิสเตอร์จีน บี. บิงแฮม ประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญกล่าวว่า “คำพูดมีพลังอย่างประหลาด ทั้งให้กำลังใจและบ่อนทำลาย เราทุกคนคงจำคำพูดในด้านลบที่ทำให้เราหมดกำลังใจและคำอื่นที่พูดด้วยความรักซึ่งทำให้ใจเราโบยบิน การเลือกพูดแต่สิ่งดีเกี่ยวกับ—และพูดถึง—ผู้อื่นจะยกระดับและเสริมสร้างพลังให้คนรอบข้างและช่วยให้ผู้อื่นเดินตามทางของพระผู้ช่วยให้รอด”6

คู่สามีภรรยาที่มีความก้าวหน้าระยะยาวในการยุติความขัดแย้งจะเก็บเกี่ยวรางวัลที่ปรารถนา สามีที่เคยมีความสัมพันธ์ไม่ดีมาก่อนกล่าวว่า “ผมไม่อยากนึกถึงวิธีที่เคยใช้และไม่อยากเชื่อว่าผมใช้จริงๆ ผมปฏิบัติต่อภรรยาแบบนั้นได้อย่างไร ผมขอบพระทัยพระวิญญาณที่ดึงความสนใจของผมและสำหรับความอดทนที่ภรรยาแสดงต่อผม”

สรุป

การเอาชนะความขัดแย้งต้องใช้ความพยายามอย่างมีสติและพยายามต่อไป สิ่งท่านพูดหรือทำต่อจากนี้จะเริ่มรูปแบบการสื่อสารเชิงบวกมากขึ้นในชีวิตแต่งงานของท่าน ท่านจะได้เก็บเกี่ยวผลของพระวิญญาณตามที่ชาวนีไฟประสบเช่นกัน “ไม่มีความขัดแย้งในแผ่นดิน, เพราะความรักของพระผู้เป็นเจ้าซึ่งสถิตอยู่ในใจผู้คน.

“และไม่มีความริษยา, หรือการวิวาท, หรือความวุ่นวาย … ; และแน่แท้แล้วไม่มีผู้คนใดมีความสุขยิ่งกว่านี้ได้” (4 นีไฟ 1:15–16)

อ้างอิง

  1. เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด, “The Sacred Responsibilities of Parenthood” (การให้ข้อคิดทางวิญญาณมหาวิทยาลัยบริคัม ยังก์, 19 ส.ค. 2003), 3, speeches.byu.edu.

  2. โธมัส เอส. มอนสัน, “ความรัก—แก่นแท้ของพระกิตติคุณ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2014, 92.

  3. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “ความจงรักภักดี,” เลียโฮนา, พ.ค. 2003, 74.

  4. มาร์วิน เจ. แอชตัน, “No Time for Contention,” Ensign, May 1978, 9.

  5. ดู Strengthening Marriage: Resource Guide for Couples (2006), 19–20.

  6. จีน บี. บิงแฮม, “ฉันจะนำความสว่างแห่งพระกิตติคุณมาสู่บ้านของฉัน,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 7.