2020
“และพระเจ้าทรงเรียกผู้คนของพระองค์ว่าไซอัน”
มีนาคม 2020


“และพระเจ้าทรงเรียกผู้คนของพระองค์ว่า ไซอัน”

ขอให้เราสร้างไซอันตามคำสั่งของศาสดาพยากรณ์—มีจิตใจเดียวและความคิดเดียว ดำรงอยู่ในความชอบธรรม และพยายามไม่ให้มีคนจนในบรรดาพวกเรา

Saints near Nauvoo Temple

ภาพประกอบโดย แดน เบอร์

เมื่อมีคนมาเยี่ยมศูนย์มนุษยธรรมของศาสนจักรในซอลท์เลคซิตี้ ดิฉันมักจะขอให้พวกเขาอ่านออกเสียงข้อความของโจเซฟ สมิธที่แขวนไว้ในห้องโถง “[สมาชิกของศาสนจักร] ต้องเลี้ยงดูคนหิวโหย ให้เสื้อผ้าคนเปลือยเปล่า จัดหาให้หญิงม่าย ซับน้ำตาเด็กกำพร้า ปลอบโยนคนทุกข์ใจ ไม่ว่าในศาสนจักรนี้ หรือในที่อื่น หรือในคนไม่มีศาสนา ทุกที่ที่เขาพบคนเหล่านั้น”1

ท่านกล่าวข้อความนี้ในเวลาที่ศาสนจักรเป็นหนี้ก้อนโต ผู้นำกำลังจัดการให้ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสตั้งรกรากในประเทศใหม่ และพระวิหารนอวูอยู่ระหว่างก่อสร้าง ศาสดาพยากรณ์โจเซฟคิดเรื่องจัดหาให้คนยากจนในศาสนจักร นี้ ได้อย่างไร ยิ่งศาสนจักรอื่นยิ่งไม่ต้องพูดถึง? แต่ถึงแม้จะอยู่ภายใต้สภาวการณ์เลวร้ายเช่นนี้ โจเซฟก็เข้าใจว่าการดูแลคนขัดสนต้องเป็นศูนย์รวมความสนใจของผู้คนในพันธสัญญาของพระเจ้า เสมอ

วิสัยทัศน์เกี่ยวกับไซอัน

ภารกิจแรกๆ อย่างหนึ่งที่โจเซฟทำหลังจากจัดตั้งศาสนจักรเมื่อเดือนเมษายน ปี 1830 คือการแปลพระคัมภีร์ไบเบิลด้วยการดลใจ ดิฉันสงสัยบ่อยครั้งว่าทำไม ณ จุดเชื่อมต่อวิกฤตนี้ในประวัติศาสตร์ของศาสนจักร เหตุใดโจเซฟจึงแปลปฐมกาลใหม่? คนรู้จักหนังสือเล่มนั้นดีอยู่แล้ว แต่งานแปลครั้งนั้นสุดท้ายกลายเป็นหนังสือของโมเสสในพระคัมภีร์ไข่มุกอันล้ำค่าที่มีรายละเอียดอันทรงคุณค่าของความสำคัญด้านหลักคำสอนต่อศาสนจักรในปัจจุบัน

บทเหล่านี้เปิดเผยประสบการณ์ของโมเสสและเอโนค ซึ่งคล้ายกันอย่างประหลาดกับประสบการณ์ของโจเซฟในบางด้าน พระเจ้าทรงเรียกศาสดาพยากรณ์แต่ละท่านให้ทำงานสำคัญยิ่ง พระเจ้าทรงแสดงให้แต่ละท่านเห็นงานสร้างของพระองค์เพื่อท่านเหล่านั้นจะเห็นบทบาทของตนในแผนชัดขึ้น (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 76; โมเสส 1; 7) ภารกิจสำคัญที่สุดของศาสดาพยากรณ์เหล่านั้นสรุปได้ดังนี้: รวบรวมอิสราเอลให้เป็นประเทศที่มีฐานะปุโรหิต สร้างไซอัน และเตรียมต้อนรับพระเยซูคริสต์

แต่จะทำภารกิจเช่นนั้นให้สำเร็จอย่างไร? เอโนคให้คำตอบที่ชัดเจน “และพระเจ้าทรงเรียกผู้คนของพระองค์ว่าไซอัน, เพราะพวกเขามี จิตใจเดียว และ ความคิดเดียว, และ ดำรงอยู่ในความชอบธรรม; และ ไม่มีคนจนในบรรดาพวกเขา” (โมเสส 7:18; เน้นตัวเอน)

ส่วนสำคัญของพันธกิจยุคสุดท้ายของศาสนจักรคือขจัดความยากจนที่มีอยู่ในชุมชนของเราและในใจเราให้หมดสิ้น สถาปนาไซอันที่เป็นหนึ่งเดียวกัน และเตรียมผู้คนให้พร้อมรับการเสด็จกลับมาของพระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า

การจัดหาให้ในวิธีของพระเจ้า

รัฐบาลและองค์การต่างๆ ใช้เงินหลายล้านล้านดอลลาร์ขจัดความยากจนในศตวรรษที่ผ่านมา ทว่างานที่มีเจตนาดีทั้งหมดนั้นส่วนใหญ่ไม่ประสบผลสำเร็จและสูญเปล่า เพราะเหตุใดหรือ? เพราะงานนั้นก่อให้เกิดการพึ่งพาผู้อื่นโดยไม่ได้ตั้งใจแทนที่จะใช้ความสามารถของตน

วิธีของพระเจ้าคือสร้างทั้งผู้ให้และผู้รับ ยอมให้ผู้คนกระทำด้วยตนเอง และยกคนจนให้สูงส่งใน “การนั้นคนรวยถูกทำให้ต่ำลง” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 104:16) บางครั้งเราเรียกสิ่งนี้ว่า การพึ่งพาตนเอง แต่จริงๆ แล้วหมายถึงการปลดปล่อยพลังความสามารถอันศักดิ์สิทธิ์ในตัวทุกคนออกมาแก้ไขปัญหาของเขาเองด้วยความช่วยเหลือของพระผู้เป็นเจ้า โดยเปิดทางให้พวกเขาได้รับใช้ผู้อื่นเช่นกัน

ตัวอย่างทั้งเก่าและใหม่

โจเซฟ สมิธรับใช้ผู้อื่นอย่างเบิกบานในวิธีของพระเจ้า เจมส์ ลีชกับพี่เขยของเขาตัดสินใจทูลขอความช่วยเหลือจากท่านศาสดาพยากรณ์หลังจากหางานในนอวูหลายวันแต่หาไม่ได้ เจมส์เล่าว่า

“ผมถามว่า ‘คุณสมิธครับ ถ้าคุณจะกรุณา คุณพอจะมีงานให้เราสองคนทำไหมครับ เราจะได้มีอาหาร?’ ท่านมองเราด้วยสีหน้าเบิกบานและพูดด้วยความรู้สึกเมตตาว่า ‘เอาอย่างนี้หนุ่มๆ พวกคุณทำอะไรได้บ้าง? … คุณขุดท้องร่องได้ไหม?’ ผมตอบว่าเราจะทำให้ดีที่สุด

“… เมื่อทำเสร็จแล้วผมไปบอกท่านว่าเราทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านมาดูและพูดว่า ‘… ถ้าผมทำเองคงไม่ดีกว่านี้แน่ มากับผม’ ท่านนำทางกลับไปที่ร้านของท่านและบอกให้เราหยิบแฮมที่ดีที่สุดหรือเนื้อหมูตามใจชอบ ด้วยความเขินอายผมจึงบอกว่าอยากให้ท่านหยิบให้เราเอง ท่านจึงหยิบเนื้อที่ดีที่สุดและชิ้นใหญ่ที่สุดให้เราคนละสองก้อนพร้อมแป้งอีกคนละหนึ่งถุง และถามเราว่าพอไหม เราบอกท่านว่าเราอยากจะทำงานให้ท่านมากกว่านี้ แต่ท่านพูดว่า ‘ถ้าคุณพอใจ ผมก็พอใจ’

“เราขอบคุณท่านอย่างจริงใจ และกลับบ้านด้วยความปลื้มปีติในความมีน้ำใจของศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้า”2

ตัวอย่างปัจจุบันของการแสดงความโอบอ้อมอารีและการพึ่งพาตนเองอย่างพอเหมาะพอดีนี้เกิดขึ้นในปี 2013 เมื่อไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนพัดผ่านภาคกลางของฟิลิปปินส์ ก่อความเสียหายหรือทำลายบ้านเรือนกว่าล้านหลัง แทนที่จะให้ความช่วยเหลืออย่างไร้ระเบียบแบบแผน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภาวะพึ่งพาและความสูญเปล่า ศาสนจักรได้นำหลักธรรมการพึ่งพาตนเองมาใช้ช่วยให้ผู้อยู่อาศัยที่เดือดร้อนพัฒนาทักษะที่ต้องใช้สร้างบ้านขึ้นมาใหม่ ศาสนจักรซื้อวัสดุก่อสร้างให้ และผู้นำศาสนจักรในท้องที่ทำสัญญากับที่ปรึกษาด้านการก่อสร้าง ผู้อยู่อาศัยที่จำเป็นต้องสร้างบ้านจะได้รับเครื่องมือ วัสดุ และการอบรมขณะพวกเขาออกแรงสร้างบ้านของตน พวกเขาช่วยเพื่อนบ้านทำแบบเดียวกัน

สุดท้ายผู้เข้าร่วมแต่ละคนได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพรับรองว่าพวกเขามีทักษะที่เพิ่งเรียนรู้และมีคุณสมบัติคู่ควรกับโอกาสได้งานสำคัญทำ การผสมผสานความช่วยเหลือกับการฝึกทำงานจริงไม่เพียงสร้างที่พักอาศัยเท่านั้น—แต่สร้างความสามารถด้วย ไม่เพียงได้บ้านคืนมา—แต่ได้ความเชื่อมั่นในตนเองคืนมาด้วย3

collage of service

ความช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ เป็นเรื่องสำคัญ

เราไม่จำเป็นต้องร่ำรวยจึงจะช่วยเหลือ ชายหนุ่มคนหนึ่งเขียนเล่าประสบการณ์ของเขากับโจเซฟ สมิธดังนี้ “ผมอยู่ที่บ้านของโจเซฟ … และมีผู้ชายหลายคนนั่งอยู่บนรั้ว โจเซฟออกมาพูดกับเราทุกคน ไม่นานนักก็มีชายคนหนึ่งเดินมาบอกว่าบ้านของชายยากจนคนหนึ่งที่อยู่ห่างจากตัวเมืองพอสมควรถูกไฟไหม้เมื่อคืนก่อน ผู้ชายเกือบทุกคนพูดว่าพวกเขารู้สึกสงสารชายคนนั้น โจเซฟล้วงลงไปในกระเป๋า หยิบเงินห้าดอลลาร์ออกมาและพูดว่า ‘ผมรู้สึกสงสารบราเดอร์คนนี้เท่ากับห้าดอลลาร์ แล้วพวกคุณล่ะรู้สึกสงสารมากเท่าใด’”4

ดิฉันเพิ่งพบเด็กชายวัย 10 ขวบจากชุมชนชนบทที่ใช้เงินเพียงน้อยนิดของเขาซื้อบัตรกำนัลให้เด็กคนหนึ่งได้รับวัคซีนโปลิโอ เด็กชายคนดังกล่าวอ่านเรื่องของเด็กที่เป็นอัมพาตเพราะโปลิโอ และเขาไม่ต้องการให้เด็กคนอื่นเป็นโรคนี้ ดิฉันประหลาดใจที่เขาศึกษามามากและมีน้ำใจที่คิดจะทำคุณประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ

เห็นชัดว่าเราแต่ละคนมีบางอย่างที่ให้ได้ ไม่ว่าสภาวการณ์ของเราเป็นเช่นไร และความสำคัญแท้จริงของสิ่งที่เรามอบให้จะใช้ค่าของเงินวัดอย่างเดียวไม่ได้

พลังของการร่วมใจกัน

ถ้าเราจริงจังกับพันธสัญญาของเรา เราแต่ละคนจะพยายามมีจิตใจเดียวและความคิดเดียว ดำเนินชีวิตในความชอบธรรม และไม่มีคนจนในบรรดาพวกเรา สิ่งนี้จะถักทอใจเราเข้าด้วยกันและช่วยลดความไม่เสมอภาคในโลก แต่มีพลังมากยิ่งกว่านั้นเมื่อผู้คนแห่งพันธสัญญารวมพลังกัน: ครอบครัว โควรัม สมาคมสงเคราะห์ ชั้นเรียนเยาวชนหญิง และสเตคสามารถจัดระบบตอบรับความต้องการเฉพาะด้านในชุมชนของพวกเขาให้ได้ผลสำเร็จอย่างมาก

องค์การด้านมนุษยธรรมของศาสนจักร คือองค์กรการกุศลวิสุทธิชนยุคสุดท้ายพยายามทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ มากมายร่วมกันเพื่อช่วยผู้คนในกรณีฉุกเฉินทั่วโลก5 สมาชิกของศาสนจักรอุทิศเวลา เงินทอง และความรู้ความชำนาญด้วยความโอบอ้อมอารี การอุทิศส่วนใหญ่เหล่านี้ไม่ใหญ่โต ได้แก่ เงินบริจาคเล็กน้อยหรืองานอาสาไม่กี่ชั่วโมง สิ่งนี้เทียบได้ในปัจจุบันกับเหรียญทองแดงของหญิงม่าย (ดู มาระโก 12:41–44) การอุทิศที่ดูเหมือนเล็กน้อยเหล่านี้แสดงให้โลกเห็นสิ่งที่หญิงม่าย เกษตรกร และเด็กชายวัย 10 ขวบสามารถทำได้เมื่อพวกเขานำทรัพย์สินของตนมารวมกันแล้วทูลขอพระเจ้าให้เพิ่มส่วนของพระองค์ (ดู 1 โครินธ์ 3:6)

เราก้าวหน้ามามากแล้วตั้งแต่ยุคแรกของศาสนจักรในการสร้างสภาพสำหรับไซอัน แต่ยังมีอีกมากมายให้ทำ ขอพระผู้เป็นเจ้าทรงอวยพรเราแต่ละคนให้เสาะหาคนขัดสนและทำสิ่งที่เราทำได้เพื่อแบ่งเบาภาระของพวกเขาและเพิ่มพลังความสามารถของพวกเขา ขอพระองค์ทรงอวยพรศาสนจักรของพระองค์ให้ทำงานไปด้วยกันและขยายความพยายามของสมาชิกแต่ละคนและด้วยเหตุนี้จึงสร้างไซอันได้สำเร็จตามคำสั่งของศาสดาพยากรณ์—เพื่อมีจิตใจเดียวและความคิดเดียว ดำรงอยู่ในความชอบธรรม และพยายามไม่มีคนจนในบรรดาพวกเรา—จนกว่าพระผู้ช่วยให้รอดเสด็จมาอีกครั้ง

อ้างอิง

  1. คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ (2007), 458.

  2. เจมส์ ลีช ใน “Recollections of the Prophet Joseph Smith,” Juvenile Instructor, Mar. 1, 1892, 152–53; ปรับเครื่องหมายวรรคตอนให้ทันสมัย; ปรับเปลี่ยนการแบ่งย่อหน้า.

  3. ดู “Mormon Volunteers Building Homes for Typhoon Haiyan Victims,” Feb. 21, 2014, newsroom.ChurchofJesusChrist.org.

  4. แอนดรูว์ เจ. เวิร์คแมน ใน “Recollections of the Prophet Joseph Smith,” Juvenile Instructor, Oct. 15, 1892, 641.

  5. ดู latterdaysaintcharities.org.