2020
พระเจ้าทรงนำศาสนจักรของพระองค์ผ่านศาสดาพยากรณ์และอัครสาวก
มีนาคม 2020


พระเจ้าทรงนำศาสนจักรของพระองค์ผ่าน ศาสดาพยากรณ์และอัครสาวก

First Presidency and Twelve Apostles in front of Christus

งานของพระเจ้าจำเป็นต้องมีองค์การที่พระเจ้าทรงนำผ่านผู้นำที่พระองค์ทรงเลือกและทรงมอบอำนาจ พระองค์ทรงกำกับดูแลผู้นำเหล่านั้นในการทำให้จุดประสงค์ของพระองค์ลุล่วง ประวัติในพระคัมภีร์แสดงให้เห็นว่าผู้นำเช่นนั้นคือศาสดาพยากรณ์ หรือไม่ก็ศาสดาพยากรณ์และอัครสาวก นี่เป็นแบบแผนในช่วงหลายปีของอิสราเอลในพันธสัญญาและในความเรืองโรจน์แห่งเวลา และดำเนินต่อเนื่องไปในศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์

พระเจ้าทรงนำผู้คนของพระองค์ผ่านองค์การ

จุดประสงค์ของพระบิดาบนสวรรค์คือ “การทำให้เกิดความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์” ของบุตรธิดาของพระองค์ (โมเสส 1:39) ในสมัยการประทานนี้พระองค์ทรงทำเช่นนี้ผ่านศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อ “ช่วยบุคคลและครอบครัวให้คู่ควรแก่การรับความสูงส่ง”1

“ความรับผิดชอบอันสำคัญยิ่งสามด้านที่ศาสนจักรต้องทำ” ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ (1910–2008) สอนดังนี้ คือ “หนึ่ง นำพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ไปให้ชาวโลก สอง ทำให้พระกิตติคุณนั้นเกิดผลในชีวิตสมาชิกของศาสนจักร และสาม ขยายพรของพระกิตติคุณผ่านการทำงานแทนผู้ล่วงลับไปอยู่หลังม่านแห่งความตาย”2

ในสมัยของเราดูเหมือนคนจำนวนมากต้องการความเข้มแข็งทางวิญญาณหรือศาสนาแต่คิดว่าตนสามารถมีได้โดยไม่ต้องมีองค์การศาสนา คนที่คิดว่าตนสามารถบรรลุสิ่งนี้ได้โดยไม่ต้องมีองค์การอย่างเป็นทางการต่างมองข้ามประวัติที่บันทึกไว้เป็นอย่างดีเกี่ยวกับสิ่งที่พระเจ้าพระเยซูคริสต์ทรงสถาปนาเพื่อให้พระกิตติคุณและคำสอนของพระองค์มีความต่อเนื่องและเกิดประสิทธิผล ดังที่เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเตือนใจเราในคำพูดการประชุมใหญ่สามัญที่น่าจดจำเมื่อห้าปีก่อน “ในความเรืองโรจน์แห่งเวลา พระเยซูทรงจัดระเบียบงานของพระองค์ในวิธีซึ่งจะสามารถสถาปนาพระกิตติคุณได้พร้อมกันในหลายประชาชาติและในหมู่คนที่แตกต่างกัน”3 องค์การนั้นรวมถึงอัครสาวกและเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ดังที่อธิบายไว้ในพันธสัญญาใหม่

เหตุใดจึงต้องมีองค์การเพื่อทำให้บรรลุจุดประสงค์ของพระเจ้า? ถึงแม้พระผู้ช่วยให้รอดทรงรักและช่วยเหลือเราเป็นรายบุคคลเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์สำหรับบุตรธิดาทั้งกลุ่มของพระผู้เป็นเจ้า—โดยเฉพาะผู้คนในพันธสัญญาของพระองค์—แต่พระองค์ทรงดำเนินงานผ่านองค์การที่นำโดยศาสดาพยากรณ์และอัครสาวก

โดยผ่านองค์การเท่านั้นที่สมาชิกแต่ละคนของกลุ่มคนที่อัครสาวกเปาโลเรียกว่า “กายของพระคริสต์” (1 โครินธ์ 12:27) จะได้รับโอกาสที่พวกเขาต้องมีเพื่อบรรลุการเติบโตทางวิญญาณอันเป็นจุดประสงค์ของการสร้างพวกเขา องค์การที่มีพรสวรรค์ต่างกันและมีความพยายามหลากหลายเท่านั้นจึงจะสามารถบรรลุสิ่งที่จำเป็นต่อการทำงานของพระเจ้าให้สำเร็จ

สิ่งที่จะทำสำเร็จผ่านกลุ่มองค์กรผู้เชื่อเท่านั้นครอบคลุมถึงความพยายามหลักๆ ในการช่วยเหลือคนยากจน ประกาศพระกิตติคุณไปทั่วโลก สร้างและทำนุบำรุงพระวิหาร ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธกล่าวว่าวัตถุประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าในการรวบรวมผู้คนของพระองค์คือ “สร้างพระนิเวศน์แด่พระเจ้าซึ่งที่นั่นพระองค์ทรงสามารถเปิดเผย … ศาสนพิธีแห่งพระนิเวศน์ของพระองค์และรัศมีภาพแห่งอาณาจักรของพระองค์ และทรงสอนผู้คนถึงหนทางสู่ความรอด”4

จำเป็นต้องมีองค์การเพื่อบรรลุผลตามพระบัญชาของพระเจ้าให้ “เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน; และหากเจ้าไม่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเจ้าก็มิใช่ของเรา” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 38:27) ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดสอนว่า เราไม่สามารถบรรลุความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันนั้น—ความเป็นเอกภาพนั้น—เป็นรายบุคคล “เราต้องแสวงหาและมีคุณสมบัติคู่ควรจะได้สิ่งนี้ร่วมกับผู้อื่น จึงไม่น่าแปลกใจ” ท่านตั้งข้อสังเกต “ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงกระตุ้นให้เรามารวมกันเพื่อพระองค์จะประทานพรเราได้”5

ผู้เชื่อแต่ละคนจำต้องมีประสบการณ์ทางศาสนาผ่านองค์การศาสนาเช่นกันเพราะในวิธีนี้เท่านั้นเราจึงจะสามารถถูกว่ากล่าวหรือตีสอนจากผู้มีสิทธิอำนาจสำหรับบาปและความผิดของเรา การตีสอนเช่นนั้นจำเป็นต่อการเติบโตทางวิญญาณของเรา (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 136:31; 101:4–5; ดู โมไซยาห์ 23:21–22 ด้วย)

เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์ (1926–2004) ให้เหตุผลอีกประการหนึ่งสำหรับการจัดกลุ่มคนทางศาสนาหรือทางวิญญาณ “เพราะความดีตามแต่โอกาสของแต่ละคนมีไม่พอต่อสู้กับความชั่วร้าย”6

Christ ordaining the Twelve Apostles

พระคริสต์ทรงแต่งตั้งอัครสาวกสิบสอง โดย แฮรรีย์ แอนเดอร์สัน

ศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์ปกครองโดยศาสดาพยากรณ์และอัครสาวก

องค์การศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ต้องมีผู้นำที่พระองค์ทรงเลือกตลอดจนประทานพลังอำนาจและสิทธิอำนาจให้ประกาศพระประสงค์ของพระองค์ต่อผู้คนของพระองค์

“ท่านไม่ได้เลือกเรา” พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอน “แต่เราเลือกพวกท่านและแต่งตั้งท่านให้ไปเกิดผลและเพื่อให้ผลของท่านคงอยู่” (ยอห์น 15:16) พระคัมภีร์ไบเบิลพูดชัดเจนว่าใครเลือกศาสดาพยากรณ์และอัครสาวก ในพันธสัญญาเดิมเราเห็นชัดในการเลือกโมเสสกับซามูเอล และในพันธสัญญาใหม่เราเห็นในการเรียกอัครสาวกสิบสองและอัครสาวกเปาโล (ดู อพยพ 3; 1 ซามูเอล 3; มาระโก 3; กิจการ 9) ผู้นำเหล่านี้ไม่ได้อาสา และผู้เชื่อไม่ได้เป็นคนเลือกพวกเขาขึ้นมา

พระคัมภีร์ไบเบิลแสดงให้เห็นเช่นกันว่าผู้นำทางศาสนาต้องมีสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งประสาทโดยผู้ดำรงสิทธิอำนาจนั้นอยู่แล้ว คำอธิบายในพระคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับการเรียกและการมอบอำนาจให้อาโรน สมาชิกในอัครสาวกสิบสอง และสาวกเจ็ดสิบเป็นตัวอย่างของหลักธรรมนี้ (ดู อพยพ 28:1–4; มาระโก 3:14–15; ลูกา 10:1, 17 สิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตไม่ได้มาจากการอ่านพระคัมภีร์หรือจากความปรารถนาจะรับใช้ การแต่งตั้งที่ประสาทสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตมาจากหัวหน้าของศาสนจักร และเป็นที่รู้กันทั่วไป (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:11)

ในพันธสัญญาเดิม ผู้นำทางวิญญาณคือ ศาสดาพยากรณ์ เราพูดถึงพวกท่านในสามบทบาทต่างกัน บางท่านเป็นบุรุษศักดิ์สิทธิ์ผู้ปฏิบัติหน้าที่ศาสดาพยากรณ์ให้ลูกหลานของพวกท่าน อย่างเช่นอับราฮัม บางท่านเป็นผู้นำที่ใช้อำนาจทางการเมืองรวมทั้งอำนาจปุโรหิต อย่างเช่นโมเสสและโยชูวา ส่วนใหญ่ปฏิบัติบทบาทศาสดาพยากรณ์โดยไม่เกี่ยวกับตำแหน่งปิตุหรือตำแหน่งทางการเมือง อย่างเช่น ซามูเอลและอิสยาห์ พระคัมภีร์มอรมอนพูดถึงตำแหน่งศาสดาพยากรณ์สามตำแหน่งเหมือนกันนี้ ได้แก่ ลีไฮ (ปิตุ) กษัตริย์เบ็นจามิน (ผู้นำทางการเมือง) และแอลมาผู้บุตร (หลังจากท่านสละตำแหน่งหัวหน้าผู้พิพากษา) (ดู 1 นีไฟ 1–2; โมไซยาห์ 1–6; แอลมา 4–5) อย่างไรก็ดี เห็นชัดว่าศาสดาพยากรณ์ทุกท่านที่อยู่ก่อนพระเยซูคริสต์ล้วนเรียกผู้คนให้กลับใจ และส่วนใหญ่พวกท่านพยากรณ์ถึงพระเมสสิยาห์ที่จะเสด็จมา7

ตำแหน่งอัครสาวกมีกล่าวไว้ครั้งแรกในพันธสัญญาใหม่เมื่อพระผู้ช่วยให้รอดทรงเรียกอัครสาวกขณะพระองค์ทรงจัดระเบียบการปฏิบัติศาสนกิจของพระองค์เพื่อประกาศ บัพติศมา และรักษา อัครสาวกเปาโลเขียนว่าศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ “สร้างขึ้นบนรากฐานของบรรดาอัครทูตและบรรดาผู้เผยพระวจนะ มีพระเยซูคริสต์เป็นศิลาหัวมุม” (เอเฟซัส 2:20) พระเยซูทรงเรียกสาวกเจ็ดสิบเช่นกันและทรงส่งพวกท่านออกไปปฏิบัติศาสนกิจ (ดู ลูกา 10:1, 17) และทรงมอบอำนาจให้เรียกเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ เช่น ศิษยาภิบาลและผู้สอน (ดู เอเฟซัส 4:11)

First Presidency waving

หน้าที่สูงสุดของอัครสาวกในศาสนจักรที่พระเยซูทรงสถาปนาคือถือกุญแจทั้งหลายของฐานะปุโรหิต เมื่อพระผู้ช่วยให้รอดทรงสัญญาจะมอบ “ลูกกุญแจต่างๆ แห่งแผ่นดินสวรรค์” ให้อัครสาวกเปโตร พระองค์ทรงเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นพลังอำนาจที่ “สิ่งใดที่ท่านกล่าวห้ามในโลก สิ่งนั้นก็จะถูกกล่าวห้ามในสวรรค์” (มัทธิว 16:19) กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ กุญแจเหล่านั้นรับประกันการกระทำโดยอำนาจของสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตบนแผ่นดินโลกว่ามีผลในสวรรค์ อัครสาวกผู้ถือกุญแจของฐานะปุโรหิตมีสิทธิและความรับผิดชอบในการควบคุมและกำกับดูแลกิจกรรมต่างๆ ของฐานะปุโรหิตของพระผู้เป็นเจ้าและศาสนจักรของพระเยซูคริสต์บนแผ่นดินโลก8 ซึ่งรวมถึงการประกอบศาสนพิธีและการควบคุมดูแลศาสนพิธีที่จำเป็นของพระกิตติคุณ

ความรับผิดชอบส่วนหนึ่งของศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกคือพวกท่านมีของประทานและหน้าที่ศาสดาพยากรณ์ในการสอนความจริงของพระกิตติคุณและเป็นพยานในฐานะ “พยานพิเศษถึงพระนามของพระคริสต์ในทั่วโลก” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:23) พวกท่านระบุความจริงและความผิดและกล่าวอย่างผู้มีสิทธิอำนาจว่า “พระเจ้าตรัสไว้ดังนี้” ประธานเจ. รูเบน คลาร์ก จูเนียร์ (1871–1961) ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสูงสุดประกาศว่าอัครสาวก “มีสิทธิ์ พลังอำนาจ และสิทธิอำนาจในการประกาศพระดำริและพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าต่อผู้คนของพระองค์ภายใต้พลังอำนาจและสิทธิอำนาจทั้งหมดของประธานศาสนจักร”9

ในฐานะผู้รับใช้ของพระบิดาและพระบุตร อัครสาวกและศาสดาพยากรณ์สอนและแนะนำตามที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงนำ โดยไม่มีความปรารถนาอื่นใดนอกจากพูดสิ่งที่เป็นความจริงและกระตุ้นทุกคนให้เดินตามทางไปสู่พรของพระผู้เป็นเจ้า รวมถึงจุดหมายสูงสุดของพระองค์สำหรับบุตรธิดาทุกคนของพระองค์ นั่นคือ ชีวิตนิรันดร์ “ของประทานนี้สำคัญที่สุดในบรรดาของประทานทั้งปวงของพระผู้เป็นเจ้า” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 14:7) เราวางใจเสียงของพวกท่านได้

ประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด รักษาการประธานโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวไว้ว่า “ในโลกทุกวันนี้ที่นักวิเคราะห์ข่าวทางโทรทัศน์และวิทยุเสนอความเห็นขัดแย้งกันวันละ 24 ชั่วโมง ที่นักการตลาดแย่งชิงกันทุกอย่างตั้งแต่เงินของท่านไปจนถึงคะแนนเสียงของท่าน มีเสียงหนึ่งชัดเจน ไม่ปนเปื้อน และไม่มีอคติที่ท่านไว้ใจได้เสมอ เสียงนั้นคือเสียงของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่และอัครสาวก เจตนาเดียวของพวกท่านคือ ‘ความผาสุกอันเป็นนิจของจิตวิญญาณ’ (2 นีไฟ 2:30)”10

การเข้าถึงคำสอนของอัครสาวกและศาสดาพยากรณ์เป็นทั้งพรและความรับผิดชอบอันสำคัญยิ่ง พรคือเราเข้าถึงสิ่งที่พระเจ้าทรงประสงค์ให้เราได้ยินทันที ความรับผิดชอบคือการเข้าถึงคำสอนของพระเจ้านี้ทำให้เรามีภาระรับผิดชอบที่ต้องฟังและเอาใจใส่คำสอนเหล่านั้น น่าเสียดายที่ผู้เชื่อบางคนล้มเหลวในความรับผิดชอบนี้ ไม่แปลกที่คนมากมายในโลกปฏิเสธข้อเท็จจริงที่ว่าพระผู้เป็นเจ้าประทานสิทธิอำนาจและการดลใจให้อัครสาวกและศาสดาพยากรณ์พูดในพระนามของพระองค์ มากยิ่งกว่านั้น ปฏิเสธศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกเพราะพวกเขาปฏิเสธการดำรงอยู่ของพระผู้เป็นเจ้าหรือการดำรงอยู่ของความถูกผิดที่เป็นจริงเสมอ

โชคดีที่คนจำนวนมากเลือกเชื่อและทำตามคำสอนของศาสดาพยากรณ์ พวกเขาได้รับพรที่สัญญาไว้ ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนดังนี้ “รูปแบบที่พระผู้เป็นเจ้าทรงวางไว้นานแล้วในการสอนบุตรธิดาของพระองค์ผ่านศาสดาพยากรณ์ทำให้เราเชื่อมั่นว่าพระองค์จะทรงอวยพรศาสดาพยากรณ์แต่ละท่านและพระองค์จะทรงอวยพรคนที่ต้องการคำแนะนำของศาสดาพยากรณ์”11

Joseph Smith and Apostles

ภาพประกอบโจเซฟและอัครสาวก โดย แดน เบอร์

ศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกดำเนินงานผ่านสภา

พระเจ้าทรงนำศาสนจักรของพระองค์ผ่านศาสดาพยากรณ์ (หลายท่าน) และอัครสาวก (หลายท่าน) ขณะพวกท่านดำเนินงานผ่านสภา มีตัวอย่างมากมายของเรื่องนี้

พระเจ้าทรงเรียกศาสดาพยากรณ์หนึ่งคนให้เริ่มสมัยการประทานใหม่ จากนั้น เมื่อการฟื้นฟูใหม่เติบโตเต็มที่แล้ว พระองค์ทรงเปิดเผยและทรงสอนหลักคำสอนและนโยบายสำหรับกลุ่มผ่านองค์การที่นำโดยอัครสาวกและศาสดาพยากรณ์ ด้วยเหตุนี้ เมื่อศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูเติบโตเต็มที่ในสมัยการประทานสุดท้ายนี้ พระเจ้าจึงทรงเปิดเผยว่ากิจธุระสำคัญที่สุดและเรื่องยากที่สุดของศาสนจักรควรตัดสินใจโดยสภาของฝ่ายประธานสูงสุดและอัครสาวกสิบสอง (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:78–79) ที่นั่น คำตัดสินทุกอย่าง “ต้องเกิดขึ้นโดยเสียงเอกฉันท์ของโควรัมเหล่านี้” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:27) หาไม่แล้วคำตัดสินของพวกท่านจะไม่มี “สิทธิ์ในพรเดียวกับคำตัดสินของโควรัมประธานสามคนซี่งมีในสมัยโบราณ” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:29)

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นทิศทางของพระเจ้าว่าศาสนจักรของพระองค์ต้องปกครองโดยสภาอัครสาวกและศาสดาพยากรณ์ คุ้มครองและส่งเสริมความเป็นเอกภาพซึ่งจำเป็นต้องมีในศาสนจักรของพระเจ้า

“ในตอนเริ่มต้นงานนี้พระเจ้าทรงเปิดเผยว่าควรจะมีมหาปุโรหิต สามคน ควบคุมฐานะปุโรหิตระดับสูงในศาสนจักรของพระองค์และควบคุมทั้งศาสนจักร” ประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธ (1838–1918) สอนในการประชุมใหญ่สามัญที่ท่านได้รับการสนับสนุนเป็นประธานศาสนจักร12 ท่านยืนยันความสำคัญของมหาปุโรหิตสามคนในฝ่ายประธานโดยประกาศว่า “ไม่ถูกต้องที่ชายหนึ่งคนใช้สิทธิอำนาจและพลังอำนาจทั้งหมดของฝ่ายประธานในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย”13 ท่านเสริมว่า “พระเจ้าไม่ทรงประสงค์ให้ชายหนึ่งคนมีอำนาจทั้งหมด และเพราะเหตุผลดังกล่าวพระองค์จึงทรงวางประธาน อัครสาวก มหาปุโรหิต สาวกเจ็ดสิบ [ฯลฯ] ไว้ในศาสนจักรของพระองค์”14

คำสอนที่คุ้นเคยนี้ของประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ (1876–1972) กล่าวถึง ศาสดาพยากรณ์ และ อัครสาวก หลายคนไว้ชัดเจนเช่นกัน: “มีเรื่องหนึ่งที่เราควรมีความชัดเจนอย่างยิ่งในความคิดเรา ประธานศาสนจักร ฝ่ายประธานสูงสุด หรือเสียงเอกฉันท์ของฝ่ายประธานสูงสุดและอัครสาวกสิบสองจะไม่มีวันนำวิสุทธิชนไปผิดทางหรือให้คำแนะนำแก่ชาวโลกขัดกับพระดำริหรือพระประสงค์ของพระเจ้า”15

คำสอนแต่ละเรื่องของอัครสาวกและแม้แต่ศาสดาพยากรณ์ต้องได้รับการยืนยันผ่านขั้นตอนการอนุมัติโดยอัครสาวกและศาสดาพยากรณ์คนอื่นๆ ก่อนจึงจะกลายเป็นหลักคำสอนทางการของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ เราเห็นตัวอย่างนี้ในพระคัมภีร์ไบเบิลในการแสดงความเห็นชอบของอัครสาวกเมื่อเปโตรรายงานว่าเขาได้รับการเปิดเผยให้นำพระกิตติคุณไปให้คนต่างชาติ (ดู กิจการของอัครทูต 11:1, 18) ในทำนองเดียวกัน เมื่อเหล่าอัครสาวกทราบว่ามีการโต้เถียงกันในเรื่องความจำเป็นของการเข้าสุหนัต เปโตรจึงทำให้พวกท่านนึกถึงความสำคัญของการเปิดเผยที่ตนได้รับ และจากนั้นสภาเห็นชอบให้ยุติการโต้เถียงด้วยสาส์นยืนยันต่อศาสนจักร (ดู กิจการของอัครทูต 15)

ทำนองเดียวกัน ในศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟู หลักคำสอนยังไม่เป็นทางการจนกว่าองค์ประชุมของศาสนจักรรับไว้โดยกฎของความเห็นชอบร่วมกัน (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 26:2; 28:13) หลักธรรมดังกล่าวได้รับการเปิดเผยในปี 1830 และนำมาใช้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา16 ธรรมเนียมปฏิบัตินี้ป้องกันไม่ให้ความคิดส่วนตัวหรือความเห็นเฉพาะบุคคลเปลี่ยนแปลงหรือส่งผลต่อความจริงของพระกิตติคุณ ซึ่งศาสนจักรทั้งหลายที่อยู่ในช่วงของการละทิ้งความเชื่อต่างไม่ยอมปฏิบัติตามธรรมเนียมดังกล่าว

สุดท้ายนี้ ศาสนจักรจึงรักษาความเป็นเอกภาพที่จำเป็นในเรื่องหลักคำสอนในหมู่ผู้นำต่างๆ โดยใช้กฎเกณฑ์ที่มีมายาวนาน นั่นคือ คำถามที่ส่งให้อัครสาวกหรือเจ้าหน้าที่ท่านอื่นเป็นรายบุคคลเกี่ยวกับหลักคำสอนหรือนโยบายที่ไม่ได้นิยามไว้ชัดเจนในพระคัมภีร์หรือคู่มือต้องส่งต่อให้ฝ่ายประธานสูงสุด (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 124:126)17

ศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์

ในช่วงการปฏิบัติศาสนกิจของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธท่านสอนดังนี้ “พระผู้เป็นเจ้าทรงปกครองอับราฮัม อิสอัค และยาโคบเป็นครอบครัว และทรงปกครองลูกหลานอิสราเอลทั้งประเทศฉันใด เราในฐานะศาสนจักรต้องอยู่ภายใต้การนำทางของพระองค์ด้วยฉันนั้นถ้าเราอยากรุ่งเรือง อยู่รอดปลอดภัยและได้รับการค้ำจุน”18

บทความนี้อธิบายว่าพระเจ้าทรงงานของพระองค์ตลอดหลายยุคหลายสมัยอย่างไร แบบแผนและระเบียบปฏิบัตินี้ดำเนินต่อเนื่องในสมัยของเราอย่างไร ดังที่อัครสาวกเปโตรสอน “บรรดาผู้เผยพระวจนะ” ล้วนเป็น “พยาน” ถึงพระคริสต์ (กิจการของอัครทูต 10:43) ในสมัยของเรา พระเจ้าทรงดำเนินงานของพระองค์ผ่านศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกผู้ได้รับมอบอำนาจให้กระทำในพระนามของพระองค์เพื่อทำให้เกิดชีวิตนิรันดร์ของมนุษย์

อ้างอิง

  1. คู่มือเล่ม 2: การบริหารงานศาสนจักร (2010), 2.2.

  2. Teachings of Gordon B. Hinckley (1997), 118.

  3. ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน, “เหตุใดจึงต้องมีศาสนจักร,” เลียโฮนา, พ.ย. 2015, 108 (คำพูดนี้เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญสำหรับตอน 1 ของบทความนี้); ดู David A. Edwards, “We Need Christ’s Church,” youth.ChurchofJesusChrist.org ด้วย.

  4. คำสอนของประธานศาสนาจักร:โจเซฟ สมิธ (2007), 448.

  5. เฮนรีย์ บี. อายริงก์, “ใจเราผูกพันเป็นหนึ่งเดียว,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 85.

  6. นีล เอ. แม็กซ์เวลล์, “Why Not Now?” Ensign, Nov. 1974, 13.

  7. ดู Bible Dictionary, “Prophet.”

  8. ดู คู่มือเล่ม 2, 2.2.

  9. เจ. รูเบน คลาร์ก จูเนียร์ ในบอยด์ เค. แพคเกอร์, “อัครสาวกสิบสอง,” เลียโฮนา, ม.ค. 1997, 6.

  10. เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด ใน “Sustaining Our Prophets and Apostles,” ChurchofJesusChrist.org; ดู “Here Am I, Send Me” (Brigham Young University devotional, Mar. 13, 2001), 5, speeches.byu.edu ด้วย.

  11. Teachings of Russell M. Nelson (2018), 305.

  12. คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ เอฟ. สมิธ (1998), 246.

  13. โจเซฟ เอฟ. สมิธ, Gospel Doctrine, 5th ed. (1939), 176–177.

  14. โจเซฟ เอฟ. สมิธ, Gospel Doctrine, 177.

  15. โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ, “Eternal Keys and the Right to Preside,” Ensign, July 1972, 88.

  16. ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา บทนำของภาค 138; คำอธิบายเกี่ยวกับ ข้อประกาศอย่างเป็นทางการ 2; และบอยด์ เค. แพคเกอร์, The Holy Temple (1980), 202.

  17. ดู เจมส์ อี. เฟาสท์, Reach Up for the Light (1990), 28–29; ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:4 และคำอธิบายของข้อนั้นในโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ, Doctrines of Salvation, comp. Bruce R. McConkie (1954), 1:185–86 ด้วย.

  18. คำสอนของประธานศาสนาจักร:โจเซฟ สมิธ, (2007), 173.