2020
วิธีจัดการอุปกรณ์ดิจิทัลและนำครอบครัวของท่านกลับมา
สิงหาคม 2020


บ้านเรา ครอบครัวเรา

วิธีจัดการอุปกรณ์ดิจิทัลและ นำครอบครัวของท่านกลับมา

ต่อไปนี้เป็นเกร็ดความรู้เจ็ดข้อเพื่อทำให้แน่ใจว่าอุปกรณ์ดิจิทัลเป็นผู้รับใช้ของเราและไม่ใช่นายของเรา

ภาพ
woman with baby looking at phone

ภาพถ่ายจาก Getty Images

ขอให้นึกภาพเหตุการณ์สมมติต่อไปนี้

  • ครอบครัวหนึ่งนั่งอยู่ในร้านอาหารแห่งหนึ่ง รออาหารของพวกเขา แต่แทนที่จะคุยกัน ทุกคนต่างจ้องไปที่สมาร์ทโฟนของตน

  • วัยรุ่นคนหนึ่งรู้สึกด้อยค่าและเหงาขณะเธอเลื่อนดูกิจกรรมที่เลือกไว้อย่างดีของเพื่อนๆ ในสื่อสังคม

  • เด็กสาวตัวน้อยในสวนสาธารณะพยายามทำให้พ่อของเธอเงยหน้าขึ้นจากโทรศัพท์ของเขาและสนใจเธอบ้าง

  • สามีคอยแต่ตรวจดูการแจ้งเตือนเรื่องกีฬาในนาฬิกาสมาร์ตวอตช์ของเขาขณะภรรยาพูดกับเขา

  • เยาวชนชายคนหนึ่งส่งข้อความไม่หยุดตลอดบทเรียนยามค่ำที่บ้าน

แต่ละตัวอย่างที่ยกมา—และตัวอย่างอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ต้องสงสัยเลยว่าท่านเคยประสบ—เป็นเรื่องสลดใจเล็กๆ น้อยๆ สมาร์ทโฟนและอุปกรณ์ดิจิทัลอื่นๆ เป็นทั้งพรและการสาปแช่ง สิ่งเหล่านี้เชื่อมโยงเรากับโลกอันน่าทึ่งของข้อมูลข่าวสาร สิ่งเหล่านี้ช่วยเราทำประวัติครอบครัว ศึกษาพระคัมภีร์ และพูดคุยกับครอบครัวข้ามระยะทางอันไกลโพ้น แต่เมื่อไม่จัดการอย่างถูกต้อง อุปกรณ์ดิจิทัลสามารถทำลายความสัมพันธ์ในครอบครัวและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของจิตใจ วิญญาณ และร่างกายเราได้เช่นกัน

ความย้อนแย้งของเทคโนโลยี

ในฐานะนักบำบัดชีวิตแต่งงานและครอบครัว ผมเป็นพยานถึงเรื่องท้าทายที่ทวีขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อนของผู้คนที่ตั้งใจต่อสู้กับหน้าจอเพื่อได้ความสนใจจากคนที่ตนรัก นี่เป็นเรื่องย้อนแย้งอย่างยิ่ง อุปกรณ์เดียวกันที่ควรจะช่วยเชื่อมโยงเราและพัฒนาความสัมพันธ์ที่เรามี ในบางกรณี กลับทำให้ความสัมพันธ์ยิ่งตื้นเขินและทำให้ผู้คนรู้สึกไม่มั่นคง อันที่จริง นักวิจัยหลายท่านกำลังค้นพบว่ารายงานที่กำลังพุ่งสูงขึ้นของอาการซึมเศร้า วิตกกังวล การกลั่นแกล้ง และฆ่าตัวตายมีส่วนเกี่ยวเนื่องกับการระบาดของความโดดเดี่ยว ที่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยการขยายตัวของการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนตัว1

ในบ้านของเรา แม้ทุกคนจะอยู่ร่วมกันทางกายภาพ แต่เมื่อนำอุปกรณ์ออกมา อุปกรณ์เหล่านั้นสามารถสร้างความรู้สึกโดดเดี่ยวและขาดการติดต่อได้ทันที ถ้าเราต้องการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันและการติดต่อกันในความสัมพันธ์ของครอบครัว เราต้องตระหนักในการแบ่งความสนใจที่เกิดขึ้นทันทีเมื่อมีอุปกรณ์แทรกซึมเข้ามาขณะครอบครัวเราอยู่ร่วมกัน

เราไม่จำเป็นต้องแสดงปฏิกิริยาตอบโต้จนเกินเหตุและไม่ต้องขจัดเทคโนโลยีออกไปจากชีวิตเราโดยสิ้นเชิง แทนที่จะทำเช่นนั้น เราต้องวางเทคโนโลยีไว้ในตำแหน่งที่ถูกต้องเพื่อให้สิ่งนี้รับใช้ความสัมพันธ์ของเราแทนที่จะกัดกร่อน

สัณฐานของโลกเสมือนจริง

การหมกมุ่นอยู่กับอุปกรณ์ของเราทำให้โลกทางกายภาพรอบตัวเราแคบลง—ด้วยทุกสิ่งไม่ว่าจะเป็นเสียง ข้อความ ภาพ และสัมผัสอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วนที่โลกทางกายภาพมี—เราแลกสิ่งเหล่านั้นกับโลกเสมือนจริงที่ไม่ได้เชื่อมต่อเราอย่างลึกซึ้งกับร่างกายและสภาพแวดล้อมของเรา ผลก็คือ เราอาจพลาดสัญญาณสำคัญทางกายภาพซึ่งบอกเราถึงสิ่งที่เราจำเป็นต้องมีเพื่อรักษาสุขภาพ ตัวอย่างเช่น การใช้เวลากับหน้าจอนานเกินควรอาจทำให้เราไม่ทันสังเกตว่าเราเหนื่อย หิว หรือเครียด

การขาดการติดต่อจากโลกทางกายภาพแบบนั้นสามารถบ่อนทำลายความรู้สึกปีติของเราได้ด้วย ตัวอย่างเช่น มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดระหว่างการได้รับอีโมจิหัวเราะบนหน้าจอกับประสบการณ์ตรงหน้าที่เราได้ยินเสียงหัวเราะด้วยความปีติยินดีของคนที่เรารัก

ความจำเป็นของการเป็นผู้พิทักษ์ดิจิทัล

อุปกรณ์ดิจิทัลเป็นผลงานด้านวิศวกรรมที่ไม่อาจห้ามใจได้และยากที่จะวางลง อันที่จริง เป้าหมายของผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และโทรศัพท์หลายคนคือเจตนาจะมุ่งไปที่ความเปราะบางของมนุษย์เราเพื่อทำให้เราต้องตรวจสอบและเลื่อนดูข้อมูลที่ป้อนเข้ามาอย่างไม่มีวันจบสิ้นอยู่ตลอดเวลา2

การพึ่งพาอุปกรณ์เหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดาจนง่ายที่จะไม่สนใจว่ามันส่งผลต่อตัวเราอย่างไรบ้าง ดังนั้น ผู้เยาว์จึงจำเป็นต้องมีผู้ใหญ่ที่เป็นแบบอย่างการใช้อุปกรณ์เหล่านี้อย่างเหมาะสมและสามารถให้ความรู้แก่เด็กๆ เกี่ยวกับผลกระทบของอุปกรณ์เหล่านี้ได้

ตามที่ประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด รักษาการประธานโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่าอุปกรณ์ดิจิทัล “ต้องเป็นผู้รับใช้เรา ไม่ใช่นายเรา”3

โดยคำนึงถึงแนวคิดนี้ ต่อไปนี้คือเกร็ดความรู้เจ็ดข้อในการจัดการอุปกรณ์ดิจิทัลของเรา:

ภาพ
father and young son

1. จงเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอด: ให้ความเอาใจใส่ที่ไม่ถูกแบ่งแยก

พระผู้ช่วยให้รอดทรงแสดงให้เราเห็นว่าการอยู่กับผู้อื่นอย่างแท้จริงโดยไม่ถูกเบนความสนใจนั้นเป็นอย่างไร ตลอดการปฏิบัติศาสนกิจของพระองค์ ทรงมุ่งเน้นเป็นรายบุคคลเสมอ (ดู มาระโก 5:25–34; 35–42; ลูกา 19:2–8)—พระคริสต์ประทานความเอาใจใส่อย่างเต็มที่ต่อพวกเขาทุกคน เมื่อพระองค์ทรงแสดงบาดแผลของพระองค์ให้ชาวนีไฟดู พระองค์มิได้ทรงรีบร้อนเลย ตรงกันข้าม ฝูงชนได้ “ออกไป ทีละคน จนพวกเขาทั้งหมดได้ออกไป” (3 นีไฟ 11:15; เน้นตัวเอน)

ขณะเราแสดงแบบอย่างการปฏิบัตินี้ เรา สอนลูกของเราถึงวิธีที่จะแน่วแน่ในจุดสนใจจุดหนึ่งในเวลาเดียวแทนที่จะแบ่งความสนใจระหว่างอุปกรณ์กับผู้คนรอบข้าง เมื่อท่านกำลังสนทนากับใครสักคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกหรือคู่สมรส ให้ความเอาใจใส่ต่อพวกเขาอย่างเต็มที่โดยวางโทรศัพท์ลง

น่าเศร้าที่การหันไปจากผู้ที่เรารักเพื่อตอบข้อความและเอาใจใส่ต่อความต้องการของคนอื่นกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว การทำเช่นนี้อาจส่งผลร้ายต่อความสัมพันธ์ของเราและอาจเป็นการส่งข่าวสารว่าบุคคลที่อยู่ต่อหน้าเราสำคัญน้อยกว่าโดยไม่ได้ตั้งใจ

ผูกมัดตนเองต่อผู้ที่อยู่ตรงหน้าท่านว่าพวกเขาคือความสำคัญอันดับแรกเหนือสิ่งรบกวนจากสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์ใดๆ สบตาพวกเขา ฟังดังที่พระผู้ช่วยให้รอดจะทรงฟัง จดจ่อ

2. ชะลอการให้สมาร์ทโฟนและบัญชีสื่อสังคมแก่ลูก

ชะลอการมีสมาร์ทโฟนเป็นของตนเองและการมีส่วนร่วมในสื่อสังคม จนกว่าลูกๆ และวัยรุ่นจะพัฒนาทักษะทางสังคมในตนเองอย่างเพียงพอ เช่น การฟัง การสบตา การแสดงความเห็นใจ และการนึกถึงผู้อื่น ก่อนที่เด็กจะเข้าสู่โลกของประชากรชาวดิจิทัล เป็นสิ่งสำคัญสำหรับพวกเขาที่จะฝึกการเป็นประชากรที่ดีโดยมีความคารวะและเชื่อมสัมพันธ์กับผู้อื่น

เหตุผลอย่างหนึ่งที่เป็นเหตุให้อายุเฉลี่ยของการเห็นสื่อลามกคือ 11 ปี4 (และอายุน้อยกว่านั้นในหลายกรณี) คือเด็กหลายคนได้รับสมาร์ทโฟนเมื่ออายุยังน้อย ขอให้คำนึงถึงสิ่งนี้ด้วย: ถึงแม้ลูกๆ ของท่านอาจมีวุฒิภาวะพอที่จะมีบัญชีสื่อสังคม แต่ผู้คนมากมายในระบบออนไลน์ที่จะเข้ามาในบัญชีสื่อสังคมของลูกท่านอาจไม่มีวุฒิภาวะพอ5

ภาพ
girls in soccer outfits

ภาพถ่ายจาก Getty Images

3. สร้างกฎของครอบครัวและตั้งขีดจำกัด

กำหนดขอบเขตที่ชัดเจนในบ้านของท่านว่าจะใช้สมาร์ทโฟนและอุปกรณ์ได้เมื่อใดและจะไม่ใช้เมื่อใด

ข้อแนะนำหนึ่งข้อที่สำคัญยิ่ง: เชิญทุกคนในครอบครัวให้ไตร่ตรองเรื่องหยุดใช้อุปกรณ์ของพวกเขาชั่วคราวโดยกำหนดเวลาที่แน่นอนเป็นประจำ ท่านอาจกำหนดสถานที่ให้เก็บอุปกรณ์ไว้ อาจเป็นจุดที่ไม่สามารถหยิบมาใช้ได้ง่ายๆ—ตัวอย่างเช่น อาจเป็นตะกร้าซักใบหนึ่งในครัว

ครอบครัวหนึ่งตัดสินใจว่าต้องนำอุปกรณ์ต่างๆ ไปเสียบปลั๊กและเก็บไว้ห่างตัวระหว่างและหลังจากอาหารมื้อค่ำเพื่อให้สมาชิกในครอบครัวจดจ่ออยู่กับการใช้เวลาอยู่ด้วยกันโดยไม่ถูกขัดจังหวะ

เมื่อเราตั้งใจกำหนดข้อจำกัดการใช้อุปกรณ์ของเรา สมาชิกในครอบครัวจะเริ่มรู้สึกถึงการเชื่อมโยงกันมากขึ้น

4. อย่าใช้การส่งข้อความเป็นค่าเริ่มต้น

เมื่อจะแบ่งปันความรู้สึกจากใจหรือความคิดที่สำคัญกับผู้อื่น จงทำให้เป็นประสบการณ์แบบเข้าถึงตัวบุคคลให้มากที่สุดเท่าที่สถานการณ์จะเอื้ออำนวย ถ้าการสื่อสารแบบต่อหน้าไม่อยู่ในวิสัยที่ทำได้ ให้พยายามใช้การสื่อสารด้วยวีดิทัศน์เพื่อที่ท่านจะเห็นและได้ยินบุคคลนั้น ถ้าเลือกทำเช่นนั้นไม่ได้ ให้โทรศัพท์หากันเพื่อที่ท่านจะได้ยินเสียงของบุคคลนั้น

ภาพ
father in raincoat covering child

5. หลีกเลี่ยงการเล่นเกมหรือเลื่อนหน้าจอดูไปเรื่อยๆ

เป็นเรื่องง่ายที่เราจะหันเข้าหาอุปกรณ์เพียงเพื่อผ่อนคลาย เบนความสนใจ และสนุกไปเรื่อยๆ อย่ายอมต่อการกระตุ้นแบบนั้น แทนที่จะทำเช่นนั้น ให้วางอุปกรณ์ลงแล้วทำอย่างอื่นที่ท่านต้องใช้สัมผัสรับรู้ต่างๆ เช่นการออกไปข้างนอก

ในเดือนมิถุนายน ปี 2018 ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันเชิญเยาวชนของศาสนจักร “ให้เลิกพึ่งพาสื่อสังคมออนไลน์ตลอดเวลาโดยการละเว้นสื่อสังคมออนไลน์เจ็ดวัน”6

ในฐานะบิดามารดา ท่านสามารถเชื้อเชิญเช่นเดียวกันนั้นในครอบครัวท่าน โดยจัดให้มีช่วงเวลาละเว้นจากการเล่นเกม สื่อสังคม หรือสิ่งรบกวนทางดิจิทัลอื่นๆ เป็นครั้งคราว

6. ฝึกตนเองให้เลิกตอบรับทันทีทันใด

ให้พิจารณาว่าท่านจำเป็นต้องตอบรับข้อความและการเตือนทุกอย่างหรือไม่ อุปกรณ์ของเรากำลังฝึกเราให้เชื่อว่าการขัดจังหวะทุกครั้งเป็นเรื่องด่วนและสำคัญยิ่ง ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะเบนความสนใจของเราจากสิ่งที่สำคัญที่สุด ให้พยายามตอบรับข้อความต่างๆ ให้ช้าลงและชะลอไว้ก่อนเพื่อที่ท่านจะสามารถรับรู้และอยู่กับสิ่งรอบข้างได้นานขึ้น เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองให้ข้อสังเกตว่าบางคนในศาสนจักร “มองข้ามสัมพันธภาพนิรันดร์เพราะสิ่งรบกวนสมาธิของอุปกรณ์ดิจิทัล สิ่งบันเทิงเริงรมย์ และสิ่งเบี่ยงเบนที่ไม่มีคุณค่าจีรัง”7

7. กำหนดเขตปลอดดิจิทัล

จัดให้มีเขตศักดิ์สิทธิ์ซึ่งห้ามใช้อุปกรณ์เด็ดขาด ตัวอย่างเช่น ครอบครัวหนึ่งตัดสินใจว่าเมื่อพวกเขาขับรถไปตามถนนในเมือง ห้ามทุกคนใช้โทรศัพท์หรืออุปกรณ์ใดๆ ในยานพาหนะนั้นเพื่อที่สมาชิกในครอบครัวจะสนทนากันได้ ข้อจำกัดแบบนี้ช่วยให้รักษาความเอาใจใส่และการเชื่อมโยงกัน ซึ่งสามารถป้องกันไม่ให้เกิดความโดดเดี่ยวในครอบครัวได้

ชำระบ้านของเราให้บริสุทธิ์

การทำให้บ้านของเราเป็นที่หลบภัยจากโลกเรียกร้องความพยายามและความระแวดระวังโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการรบกวนทางดิจิทัลที่มีอยู่มากมายรอบตัวเรา เพื่อเห็นแก่ความสัมพันธ์และสุขภาพในครอบครัวของเรา ความพยายามทุกอย่างล้วนคุ้มค่า

อ้างอิง

  1. ดู Jeremy Nobel, “Forging Connection against Loneliness,” American Foundation for Suicide Prevention, Sept. 25, 2018, afsp.org.

  2. ดู Avery Hartman, “These Are the Sneaky Ways Apps like Instagram, Facebook, Tinder Lure You In and Get You ‘Addicted,’” Business Insider, ก.พ. 17, 2018, businessinsider.com.

  3. เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด, “จงนิ่งเถิดและรู้ว่าเราคือพระผู้เป็นเจ้า” (การให้ข้อคิดทางวิญญาณระบบการศึกษาของศาสนจักร, 4 พ.ค., 2014), broadcasts.ChurchofJesusChrist.org

  4. ดู Jane Randel and Amy Sánchez, “Parenting in the Digital Age of Pornography,” HuffPost blog, Feb. 26, 2017, huffpost.com.

  5. ดู “Cyberbullying,” Ensign, Aug. 2013, 39.

  6. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน “ความหวังอิสราเอล” (การให้ข้อคิดทางวิญญาณสำหรับเยาวชนทั่วโลก 3 มิถุนายน 2018), HopeofIsrael.ChurchofJesusChrist.org.

  7. เดวิด เอ. เบดนาร์, “เรื่องดังที่เป็นจริง,” เลียโฮนา, มิ.ย. 2010, 25.

พิมพ์