ดิจิทัลเท่านั้น: คนหนุ่มสาว
สำหรับผู้สอนศาสนาที่มีปัญหาสุขภาพจิต
หญิงสาวคนหนึ่งกับชายหนุ่มคนหนึ่งแบ่งปันว่าพวกเขาแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตระหว่างเป็นผู้สอนศาสนาอย่างไร
งานเผยแผ่เต็มเวลาสามารถเป็นบ่อเกิดอันแสนวิเศษของพร—ทั้งสำหรับผู้สอนศาสนาและคนที่พวกเขารับใช้ ดังที่เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์ (1928–2015) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าว:
“งานเผยแผ่จะให้พรพิเศษเหนือธรรมดาแก่ท่านในเวลานี้และตลอดชีวิต …
“… ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าการทุ่มเทรับใช้ของผู้สอนศาสนาเต็มเวลาคือบ่อเกิดของความสุขอันยิ่งใหญ่และพรมากมาย” (“ถึงเวลาแล้วที่จะรับใช้งานเผยแผ่!” เลียโฮนา, พ.ค. 2006, 109)
แต่งานเผยแผ่จะเป็นประสบการณ์ที่ยากอย่างคาดไม่ถึงได้เช่นกัน ประธานโธมัส เอส. มอนสัน (1927–2018) สอนว่า “งานเผยแผ่ศาสนาเป็นงานยาก ต้องใช้พลังงานของคนนั้นอย่างมาก ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ และเรียกร้องให้พยายามถึงที่สุด … ไม่มีงานใดเรียกร้องเวลายาวนานหรือความทุ่มเทมากกว่างานนี้หรือเรียกร้องการเสียสละและการสวดอ้อนวอนด้วยศรัทธาแรงกล้าเช่นนั้น” (“That All May Hear,” Ensign, May 1995, 49) ในฐานะผู้สอนศาสนา ท่านจะใช้เวลาทั้งวันกับคนที่อาจเข้ากันได้ดีหรืออาจเข้ากันไม่ได้ ท่านจะพบเจอการปฏิเสธและการต่อต้านทั่วทุกหัวระแหง และท่านไม่มีความสุขสบายทุกวันเหมือนอยู่บ้านและไม่มีคนที่ท่านรักอยู่ใกล้ๆ คอยช่วยให้ท่านทำต่อไป ปัจจัยทั้งหมดนี้สามารถส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพจิตและอารมณ์ของท่านในฐานะผู้สอนศาสนาเต็มเวลา
คนสองคนคิดไม่เหมือนกัน ฉะนั้นถ้าท่านพบตนเองกำลังประสบปัญหา ให้ปรึกษาพระบิดาบนสวรรค์ ประธานคณะเผยแผ่ของท่าน และคู่ของท่านเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา ต่อไปนี้เราจะแบ่งปันประสบการณ์จากหนุ่มสาวสองคนที่พยายามแก้ปัญหาเรื่องความวิตกกังวลและโรคซึมเศร้าของพวกเขาขณะรับใช้งานเผยแผ่เต็มเวลา
ก่อนไปเป็นผู้สอนศาสนาที่เพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ดิฉันเริ่มประสบความวิตกกังวล แผนงานเผยแผ่ของดิฉันถูกเลื่อนออกไปชั่วคราวขณะดิฉันพยายามแก้ไขสิ่งที่ตนกำลังรู้สึก ประธานคณะเผยแผ่ต้องการให้จิตใจดิฉันอยู่ในสภาพดีเพราะงานเผยแผ่จะก่อให้เกิดความเครียดและความวิตกกังวลมากมาย
ดิฉันพยายามแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตของตนและออกไปทำงานเผยแผ่หลังจากได้รับความเห็นชอบจากผู้ให้คำปรึกษา
ทุกอย่างดีจนกระทั่งดิฉันมาถึงเขตที่สาม จากการที่เข้ากับคู่ไม่ได้ไปจนถึงพยายามหาคนสอน ความวิตกกังวลของดิฉันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนถึงจุดที่ดิฉันแทบจะลุกจากเตียงตอนเช้าไม่ได้ มีหลายช่วงที่ดิฉันรู้สึกวิตกกังวลมากจนแทบหายใจไม่ออก และกำลังประสบภาวะซึมเศร้าจากเหตุการณ์ที่เข้ามาในชีวิต ดิฉันติดต่อประธานคณะเผยแผ่ในท้ายที่สุด ท่านแนะนำดิฉันด้วยความรักให้พูดคุยกับผู้ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตของคณะเผยแผ่ การพูดคุยกับพวกเขาช่วยได้ แต่ไม่ได้แก้ปัญหาทั้งหมด
สิ่งที่ช่วยให้ดิฉันกลับมาอยู่กับร่องกับรอยเหมือนเดิมคือเครื่องมือและแนวทางปฏิบัติที่ดิฉันได้เรียนรู้จากการขอคำปรึกษา ดิฉันใช้สิ่งเหล่านั้นรักษาสุขภาพจิต แม้ไม่ทำให้ความวิตกกังวลหายไปจนหมดสิ้น แต่ก็จัดการได้มากพอจะสามารถรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาต่อไปได้
ต่อไปนี้เป็นเคล็ดลับของดิฉันที่คุณใช้จัดการกับความวิตกกังวลในงานเผยแผ่ของคุณได้:
ทางร่างกาย:
ดูแลตนเอง! การอ่านพระคัมภีร์และการสวดอ้อนวอนจะช่วยเยียวยาวิญญาณคุณ แต่ถ้าคุณต้องใช้เวลาพอสมควรกับตัวคุณเองทุกวันเพื่อดูแลตนเอง (อาจจะระหว่างเวลารับประทานอาหาร หรือเมื่อคุณกำลังเตรียมตัวสำหรับวันนั้นหรือเตรียมเข้านอน) ให้ทำสิ่งนี้ก่อนเพื่อรักษาสุขภาพจิตของคุณ
ทำสิ่งที่คุณชอบเมื่อคุณสามารถทำได้ คุณอาจจะรับใช้พระเจ้า แต่คุณยังเป็นคุณอยู่! เขียนในบันทึกส่วนตัว วาดรูป ร้องเพลง ฟังเพลง พูดคุยกับครอบครัวและคนที่คุณรักในวันเตรียม เขียนจดหมาย—ทำสิ่งที่ช่วยให้คุณรู้สึกสงบ
ในแต่ละวันจดสิ่งที่คุณสำนึกคุณห้าอย่าง การปฏิบัติเช่นนี้จะเปลี่ยนสมองของคุณให้ดีขึ้นแน่นอน
คุณอาจกินยาตามแพทย์สั่งหากจำเป็น
ให้คู่ของคุณรู้ถ้าคุณกำลังมีปัญหาและเขาจะช่วยคุณได้อย่างไร
ฝึกโยคะ ทำสมาธิ หรือฝึกจิตช่วงออกกำลังกายตอนเช้าหรือตอนเย็น
พูดคุยกับผู้ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตหากจำเป็น
ทางวิญญาณ/จิตใจ:
มีบันทึกส่วนตัว “ที่น่าเกลียด” ไว้เขียนระบายความคิดลบๆ ความรู้สึกลบๆ และความวิตกกังวลทั้งหมดของคุณ แต่อย่าหมกมุ่นกับมัน จุดประสงค์คือแสดงความรู้สึกเหล่านี้ออกมาแล้วเดินหน้าต่อไป บางครั้งการขยำหรือฉีกหน้ากระดาษแผ่นนั้นหลังจากคุณเขียนระบายความรู้สึกออกมาแล้วก็ช่วยได้ เพราะนั่นแสดงว่าคุณกำลังปล่อยความคิดและความรู้สึกลบๆ เหล่านั้นไป
ขอพรฐานะปุโรหิตเมื่อคุณต้องการพลังเพิ่ม
อ่านปิตุพรของคุณบ่อยๆ
จดจ่อกับข้อดีของคุณ ไม่ใช่ข้อเสีย
พูดแย้งความคิดลบ! อ่าน “การปรับตัวให้เข้ากับชีวิตผู้สอนศาสนา” เพื่อดูความช่วยเหลือเพิ่มเติม
อ่านและไตร่ตรองคำพูดการประชุมใหญ่สามัญ โดยเฉพาะคำพูดที่เน้นเรื่องสุขภาพจิต เช่น ซิสเตอร์ เรย์นา ไอ. อะบูร์โตเรื่อง “ยามทุกข์หรือสุข โปรดทรงสถิตกับข้า!” (เลียโฮนา, พ.ย. 2019, 57–59) และเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์เรื่อง “เหมือนภาชนะแตก” (เลียโฮนา, พ.ย. 2013, 40–42)
อ่านพระคัมภีร์ โดยไตร่ตรองวิธีที่ศาสดาพยากรณ์และผู้สอนศาสนาพบพลังและศรัทธาเมื่อประสบความยากลำบาก
การปฏิบัติเล็กๆ น้อยๆ และเรียบง่ายเหล่านี้ส่งผลใหญ่หลวงต่อความสามารถในการรับใช้พระเจ้าด้วยสุดใจ พลัง ความนึกคิด และพละกำลังของดิฉัน การมีปัญหาสุขภาพจิตไม่ใช่เรื่องน่าอาย และมีความหวังเสมอผ่านพระเยซูคริสต์ว่าจะพบพลัง ความหวัง และการเยียวยา พระบิดาบนสวรรค์ประทานเครื่องมือมากมายให้เราใช้รักษาจิตใจ ร่างกาย และวิญญาณเราให้มีสุขภาพดี เราแค่ต้องเต็มใจใช้เครื่องมือเหล่านั้น
เฟธ เฟอร์กูสัน, รัฐไอดาโฮ สหรัฐอเมริกา
ผมเผชิญหน้ากับโรคซึมเศร้าครั้งแรกช่วงท้ายๆ ของการเป็นผู้สอนศาสนาในแอฟริกาใต้ ผมไม่มีความสุขอย่างประหลาด วิญญาณตกต่ำ มองบวกน้อยลง และศรัทธาสั่นคลอน ยิ่งไปกว่านั้น คุณแม่ของผมไม่สบายและครอบครัวมีความท้าทายอีกหลายอย่าง ผมแสร้งทำเป็นว่าทุกอย่างปรกติ แต่จริงๆ ไม่ใช่ ครู่หนึ่งผมจัดการกับความเครียดทุกรูปแบบได้ดีและครู่ต่อมาผมเครียดถึงจุดที่ผมทนไม่ไหว ความคิดของผมบดขยี้ผมและดูเหมือนทุกอย่างหันมาต่อต้านผม
ผมไม่มีกะจิตกะใจจะทำอะไรทั้งสิ้น ผมจึงตัดสินใจอดอาหารและสวดอ้อนวอนขอการนำทาง ด้วยเหตุนี้ ผมจึงได้รับการกระตุ้นเตือนชัดเจนสามอย่างคือ
หนึ่ง พูดคุยกับประธานคณะเผยแผ่ ในที่สุดการบอกปัญหาของผมอย่างไม่ปิดบังช่วยให้ผมรู้สึกดีขึ้นและรู้ว่าผมไม่โดดเดี่ยว
สอง ผมได้รับการกระตุ้นเตือนว่าการเรียนรู้จากพระเยซูคริสต์จะช่วยให้ผมผ่านเรื่องนี้ไปได้ เมื่อผมศึกษาเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์และพระผู้ช่วยให้รอด ผมเห็นชัดว่าทั้งสองพระองค์ทรงทราบความเจ็บปวดของผมและทรงรู้สึกเศร้าไปกับผม ผมพึ่งพลังจากพระองค์เมื่อผมรู้สึกว่าไม่มีพลัง
การกระตุ้นเตือนที่สามมาจากคำพูดอ้างอิงของประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์: “การรับใช้เป็นยารักษาความสมเพชตัวเอง ความเห็นแก่ตัว ความสิ้นหวัง และความเหงาได้ดีที่สุด” (คำสอนของประธานศาสนจักร: กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ [2016], 242) เมื่อผมมองออกนอกตัวและมุ่งรับใช้ผู้อื่น ผมรู้สึกมีความสุขมากขึ้น มั่นใจมากขึ้น และวางใจในพระบิดาบนสวรรค์มากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
ผมเป็นผู้สอนศาสนาจนจบแต่เกิดภาวะซึมเศร้าอีกครั้งในช่วงสองสามเดือนแรกในมหาวิทยาลัย ผมเพิ่งย้ายจากแซมเบียมาอยู่มาเลเซียและอยู่ไกลบ้าน ไม่มีเพื่อนหรือครอบครัวอยู่ใกล้ๆ ผมไม่รู้แม้กระทั่งว่าสาขาของผมประชุมกันที่ไหน
ผมได้แต่หวังและรู้สึกถึงการกระตุ้นเตือนให้อดอาหารและสวดอ้อนวอนขอการนำทางอีกครั้ง จากตรงนั้น พระองค์ทรงนำผมให้เป็นเพื่อนกับหญิงสาวคนหนึ่งในห้องเรียนที่ช่วยให้ผมพบสาขาใกล้ที่สุด ขณะเดินเข้าไปในโบสถ์วันอาทิตย์แรกนั้น ผมรู้สึกว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงยกภาระผมออกไป ผมรู้ว่าผมสามารถทำตามขั้นตอนการรักษาที่ผมทำเมื่อเป็นผู้สอนศาสนา ผมพูดกับผู้นำศาสนจักรอีกครั้งเพื่อขอความช่วยเหลือ ศึกษาพระชนม์ชีพและคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอด แล้วมุ่งรับใช้ผู้อื่น ผมพบคนให้พูดคุยและติดต่อด้วย ช่วยเหลือคนอื่นๆ ที่มหาวิทยาลัย และยอมรับการเรียกที่โบสถ์
ผมเรียนรู้มากมายเกี่ยวกับสุขภาพจิตจากการประสบภาวะซึมเศร้า เราอาจยุ่งเกินกว่าจะตรวจสอบตัวเราเองหรือคนรอบข้าง แต่เราต้องบอกให้คนอื่นรู้ปัญหาของเราอย่างไม่ปิดบัง—เพื่อตัวเราเองและเพื่อพวกเขา บาป ความเหงา ความโศกเศร้า ความผิดหวัง และความเสียใจอย่างมากสามารถส่งผลต่อเราแต่ละคนทางอารมณ์ จิตใจ และวิญญาณ ส่วนยากที่สุดส่วนหนึ่งของโรคซึมเศร้าคือคุณรู้สึกห่างจากพระผู้เป็นเจ้า
แต่เราไม่มีวันโดดเดี่ยว เมื่อเรากำลังประสบปัญหา เราสามารถจดจ่อกับการมาหาพระคริสต์ เพราะพระองค์ทรงสามารถทำให้สิ่งอ่อนแอกลับเข้มแข็ง (ดู อีเธอร์ 12:27)
ผมรู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงรักเราและเราเป็นลูกของพระองค์ ถ้าเราพึ่งพาพระเยซูคริสต์และรักษาพระบัญญัติของพระองค์ เราจะได้รับพรและเข้มแข็งขึ้น เพราะพระองค์ผมจึงได้รับพลังผ่านการชดใช้ของพระองค์และชื่นชมพรแห่งสันติและปีติอย่างต่อเนื่อง
อคาสิวา วามุนยิมา, มาเลเซีย