จงตามเรามา
การเสียสละ ผลของความชอบธรรม
แบบอย่างของอับราฮัมสอนเราว่าเมื่อเราให้พระเจ้ามาก่อน พรจะตามมา
เ มื่อข้าพเจ้าเป็นประธานสาขาในไนจีเรีย ซิสเตอร์สาวคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสแสดงความปรารถนาจะรับใช้งานเผยแผ่ คุณพ่อผู้ไม่ได้เป็นสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับแผนของเธอ สภาสาขาของเราสนทนากันถึงสถานการณ์นี้ เราตัดสินใจว่าจะเป็นความเหมาะสมที่ฝ่ายประธานสาขาจะไปพูดคุยกับคุณพ่อของเธอ
การพูดคุยยังไม่เปิดทางสู่ความสำเร็จจนกระทั่งข้าพเจ้ารู้สึกได้รับการดลใจให้แบ่งปันกับคุณพ่อของเธอถึงเรี่องราวความเต็มใจของอับราฮัมที่ยอมสละอิสอัคบุตรชายของท่าน ดังที่เล่าไว้ในปฐมกาลบทที่ 22 อับราฮัมเป็นแบบอย่างหนึ่งของความวางใจและศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า แม้อิสอัคจะเป็นบุตรชายคนเดียวของอับราฮัมและซาราห์ ถือกำเนิดเมื่อทั้งสองชราแล้ว แต่อับราฮัมก็เต็มใจเชื่อฟังเมื่อพระเจ้าทรงขอให้เสียสละ
ขณะอับราฮัมกำลังจะสละชีวิตบุตรชายของท่าน ทูตสวรรค์เข้ามาขวางไว้ “อย่าแตะต้องเด็กนั้น” ทูตสวรรค์ว่า “อย่าทำอะไรเขาเลย เพราะบัดนี้เรารู้แล้วว่าเจ้ายำเกรงพระเจ้า และเจ้าไม่ได้หวงบุตรชายคือบุตรชายคนเดียวของเจ้าไว้จากเรา” (ปฐมกาล 22:12) คำว่า ยำเกรง ในข้อนี้หมายถึง “การรู้สึกถึงความคารวะและความยำเกรง [พระผู้เป็นเจ้า] และเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์”1
ใจที่อ่อนโยนลง
คุณพ่อรู้สึกซาบซึ้งกับข้อเตือนใจเรื่องการเชื่อฟังของอับราฮัม เขากล่าวว่าไม่เคยนึกมาก่อนว่าจะได้รับการร้องขอให้ทำเรื่องเช่นนี้ แม้จะไม่ยิ่งใหญ่เท่า เขายอมรับการให้ลูกสาวไปรับใช้และสนับสนุนเธอด้านการเงินเป็นเวลา 18 เดือน
ซิสเตอร์ท่านนั้นรับใช้อย่างสมเกียรติ เมื่อกลับมา เธอแต่งงานกับชายหนุ่มในสาขาเดียวกัน พวกเขายังคงรับใช้ในศาสนจักรอย่างซื่อสัตย์และมีบุตรด้วยกันสามคน พี่น้องของเธอทุกคนเข้าเป็นสมาชิกของศาสนจักร น้องชายของเธอรับใช้งานเผยแผ่ด้วย และน้องสาวคนสุดท้องของเธอแต่งงานกับน้องชายคนสุดท้องของข้าพเจ้า
เมื่อนึกย้อนถึงเรื่องการตัดสินใจของคุณพ่อคนนี้ ข้าพเจ้าประทับใจมาก เขายอมให้ลูกคนโตซึ่งเปลี่ยนใจเลื่อมใสในความเชื่อที่แตกต่างกันไปรับใช้งานเผยแผ่ นอกจากนั้น เรื่องนี้ยังเตือนให้ข้าพเจ้านึกถึงพรที่ครอบครัวของเขาได้รับเมื่อลูกเข้าเป็นสมาชิกศาสนจักรเพิ่มขึ้น ปัจจุบันพวกเขาแต่งงานอย่างมีความสุขกับคู่สมรสที่มีค่าควร ดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์อย่างซื่อสัตย์ คุณพ่อคนนี้ไม่ได้เข้าร่วมศาสนจักร แต่แน่นอนว่าการเสียสละของเขา เหมือนศรัทธาของอับราฮัมในพระผู้เป็นเจ้าซึ่ง “ถือว่าเป็นความชอบธรรมแก่ท่าน” (ปฐมกาล 15:6)
รูปแบบที่เหมือนกัน
แน่นอน ความเต็มใจเสียสละของอับราฮัมเป็น “รูปแบบที่เหมือนกับพระผู้เป็นเจ้าและพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดจากพระองค์” (เจคอบ 4:5) แผนภูมินี้เน้นรูปแบบที่เหมือนกันบางอย่าง
พระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า |
อิสอัค บุตรชายของอับราฮัม |
พระผู้เป็นเจ้าทรงอธิบายว่าพระเยซูคริสต์คือพระบุตรที่รักของพระองค์ (ดู มัทธิว 3:17; โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:17) |
พระผู้เป็นเจ้าทรงอธิบายว่าอิสอัคคือบุตรชายที่อับราฮัมรัก (ดู ปฐมกาล 22:2) |
พระผู้ช่วยให้รอดคือ พระเมษโปดกของพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงรับบาปของโลกไป (ดู ยอห์น 1:29; 1 นีไฟ 11:21, 33; โมไซยาห์ 14:7; แอลมา 7:14) |
อิสอัคเป็น ลูกแกะ ที่อับราฮัมจะถวายบูชา (ดู ปฐมกาล 22:7–8) |
พระผู้เป็นเจ้าประทานพระบุตรของพระองค์เพราะความรักที่ทรงมีต่อเรา (ดู ยอห์น 3:16) |
อับราฮัมเต็มใจถวายบุตรชายของท่านเพราะความรักที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้า (ดู ปฐมกาล 22:12) |
พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็น ทายาท สืบทอดบัลลังก์ของพระบิดา (ดู โรม 8:17; ฮีบรู 1:2) |
อิสอัคเป็น ทายาท ของอับราฮัม (ดู ปฐมกาล 15:4) |
โดยพระคริสต์ เราเป็นทายาทสืบทอดอาณาจักร (ดู โรม 8:17; กาลาเทีย 3:29) |
โดยอิสอัค (หรือโดยพันธสัญญา) เราถูกนับเป็นเชื้อสายของอับราฮัม (ดู ปฐมกาล 21:12–13) |
การพลีพระชนม์ชีพของพระเจ้าเป็นสิ่งจำเป็นต่อการไถ่ โดยความซื่อสัตย์ ศาสนพิธี และพันธสัญญา เราสามารถเป็นเหมือนพระองค์ |
เนื่องจากสัญญาที่ทำไว้กับอับราฮัมและอิสอัค เราสามารถเป็นบุตรธิดาแห่งพันธสัญญาที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเลือก |
เมื่อเราเต็มใจเชื่อฟังพระบัญญัติของพระเจ้า เราเสียสละเพื่อพระองค์ ขณะเราทำเช่นนั้น เรารู้สึกถึงเดชานุภาพของพระองค์มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เรายึดชีวิตนิรันดร์ไว้มั่นหลังจากเราขยายความพยายามของเราเองจนสุดความสามารถแล้ว (ดู 2 นีไฟ 25:23; โมโรไน 7:25) เมื่อเราน้อมรับการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด เรารักพระองค์มากขึ้น เรารู้สึกใกล้ชิดพระองค์มากขึ้น ทำให้เราอยู่ในวิสัยที่จะทำทุกสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์ให้เราทำ
การเสียสละที่เต็มใจ
พระคัมภีร์มีแบบอย่างมากมายของผู้ที่เต็มใจเสียสละและจากนั้นได้รับการเสริมพลังจากพระผู้เป็นเจ้า
ตัวอย่างเช่น ท่านบิดาลีไฮ ละทิ้งทุกสิ่งไว้เบื้องหลังเพื่อไปยังแผ่นดินที่สัญญาไว้ จากนั้นพระผู้เป็นเจ้าทรงช่วยให้บุตรชายของลีไฮได้แผ่นทองเหลืองจากเลบัน มอบเลียโฮนาเพื่อนำทางพวกเขาผ่านแดนทุรกันดาร แสดงให้นีไฟเห็นวิธีต่อเรือ และทรงคุ้มครองสมาชิกครอบครัวของเขาขณะข้ามมหาสมุทร (ดู 1 นีไฟ 2–18)
แอลมาผู้บุตรสละตำแหน่งหัวหน้าผู้พิพากษาเพื่ออุทิศตนให้การเรียกที่ศักดิ์สิทธิ์กว่าคือการเป็นมหาปุโรหิต (ดู แอลมา 4:11–20) จากนั้นท่านก่อตั้ง “ระเบียบของศาสนจักร” (แอลมา 6:4) ทำงานกับอมิวเลคเพื่อสอนจิตวิญญาณมากมาย และหนีจากเรือนจำด้วยพลังอำนาจของพระเจ้า (ดู แอลมา 8–16)
การที่แอลมายอมสละหนึ่งตำแหน่งเพื่อจดจ่ออยู่กับอีกตำแหน่งหนึ่งเตือนให้ข้าพเจ้านึกถึงประสบการณ์ของตนเองเมื่อได้รับเรียกเป็นสาวกเจ็ดสิบภาค ไม่นานหลังได้รับเรียก บริษัทที่ข้าพเจ้าทำงานต้องการให้รับงานมอบหมายระยะเวลาสี่ปีในยุโรป งานมอบหมายนี้หมายถึงต้องย้ายที่อยู่ ข้าพเจ้าจึงปฏิเสธ ข้าพเจ้าอธิบายกับคนที่แปลกใจกับการตัดสินใจนี้ว่าพระเจ้าจะไม่ทรงเรียกข้าพเจ้าให้รับใช้ในภาคแอฟริกาตะวันตกในเดือนเมษายนเพียงเพื่อให้ข้าพเจ้าลาออกแล้วไปยุโรปในเดือนพฤษภาคม ข้าพเจ้านึกถึงเรื่องราวของโยนาห์ในพันธสัญญาเดิม (ดู โยนาห์ 1–3) ข้าพเจ้าทราบว่าพระเจ้าทรงเรียก และข้าพเจ้าจะไม่ละทิ้งการเรียกของข้าพเจ้า
องค์ประกอบสำคัญของพระกิตติคุณ
การเสียสละเป็นผลของความชอบธรรม เพื่อเสียสละเราต้องเอาชนะความเป็นมนุษย์ปุถุชนขณะเรายอมต่อการชักจูงของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ (ดู โมไซยาห์ 3:19) ในฐานะสมาชิกของศาสนจักร นี่คือการเสียสละบางอย่างที่เราทำเป็นประจำ
การรักษากฎส่วนสิบ “ดูเถิด, บัดนี้ เรียกว่าวันนี้จนกว่าการเสด็จมาของบุตรแห่งพระมหาบุรุษ, และตามจริงแล้วเป็นวันแห่งการเสียสละ, และวันที่เราจะเก็บส่วนสิบจากผู้คนของเรา;” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:23) ให้นึกว่าพระเจ้าตรัสกับท่านดังนี้ “บัดนี้เรารู้แล้วว่าเจ้ามีความคารวะพระผู้เป็นเจ้า เพราะเจ้าไม่ได้หวงส่วนสิบของเจ้า”
การให้เกียรติวันสะบาโต เราเสียสละความพึงพอใจของเราเพื่อทำให้วันสะบาโตเป็นวันปีติยินดีแด่พระเจ้า และพระองค์ทรงสัญญาพรอันประเสริฐแก่ผู้ที่ให้เกียรติวันสะบาโต (ดู อิสยาห์ 58:13–14) “บัดนี้เรารู้แล้วว่าเจ้ามีความคารวะพระผู้เป็นเจ้า เพราะเจ้าให้เกียรติวันสะบาโต”
การรับใช้เป็นผู้สอนศาสนา อนุชนรุ่นหลังจะ “ละทิ้งแห” (มัทธิว 4:20) หรือสิ่งใดก็ตามที่รั้งพวกเขาไว้ แล้วตามพระเจ้าไปโดยรับใช้งานเผยแผ่ได้หรือไม่? “บัดนี้เรารู้แล้วว่าเจ้ามีความคารวะพระผู้เป็นเจ้า เพราะเจ้าไม่หวงตนเองไว้จากการรับใช้งานเผยแผ่”
การยอมรับและขยายการเรียกอย่างซื่อสัตย์ เมื่อเราเต็มใจยอมรับการเรียกให้รับใช้พระเจ้า เราแสวงหาการนำทางของพระองค์ที่จะทำทุกสิ่งที่เราทำได้ “บัดนี้เรารู้แล้วว่าเจ้ามีความคารวะพระผู้เป็นเจ้า เพราะเจ้าทำทุกสิ่งที่เรียกร้องและเกินกว่านั้น”
การรับใช้ผู้อื่น การเสียสละเวลาและทรัพยากรของเราในการปฏิบัติศาสนกิจ การเยี่ยม การช่วยเหลือและการยกระดับผู้อื่นทำให้เราเป็นสานุศิษย์ที่แท้จริงของพระคริสต์ การทำงานประวัติครอบครัวและการรับใช้ในพระวิหารทำให้ได้รับใช้ผู้ที่ผ่านม่านไปแล้ว “บัดนี้เรารู้แล้วว่าเจ้ามีความคารวะพระผู้เป็นเจ้า เพราะเจ้ารับใช้บุตรธิดาของพระองค์”
การแสดงออกถึงความรัก
ประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด รักษาการประธานโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า “การเสียสละคือการแสดงออกซึ่งความรักอันบริสุทธิ์ ระดับของความรักที่เรามีต่อพระเจ้า พระกิตติคุณ และเพื่อนมนุษย์วัดได้จากสิ่งที่เราเต็มใจเสียสละเพื่อพระองค์และสิ่งเหล่านั้น”2
เมื่อเราทำให้พระบัญชาของพระเจ้าสำเร็จโดยไม่รั้งตนเองไว้กับสิ่งใด เราเติบโตเพื่อเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้น และเรากลายเป็นอิสราเอล ดังที่ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอน ท่านถามว่า “ท่าน เต็มใจให้พระผู้เป็นเจ้าทรงมีชัยในชีวิตท่าน … ท่าน เต็มใจ ให้สิ่งใดที่พระองค์ทรงประสงค์ให้ท่านทำสำคัญกว่าความทะเยอทะยานอื่นทั้งหมดหรือไม่? ท่าน เต็มใจ ให้ความประสงค์ของท่านถูกกลืนเข้าไปในพระประสงค์ของพระองค์หรือไม่?”3
เมื่อเรายอมให้พระผู้เป็นเจ้าทรงมีชัยในชีวิต เราเห็นเครื่องพลีบูชาที่เราถวายพระองค์เป็นการขอบพระทัยต่อความรักของพระองค์ เราเห็นการรับใช้ในอาณาจักรของพระองค์เป็นสิทธิพิเศษ ไม่ใช่ภาระ การเสียสละกลายเป็นเรื่องง่ายด้วยศรัทธาในพระเจ้าขณะเรายินดีในความรักแห่งการไถ่ของพระองค์