ดิจิทัลเท่านั้น
การช่วยเด็กและเยาวชนพัฒนาวิธีคิดเพื่อการเติบโต
เราจะช่วยให้เด็กเรียนรู้ เติบโต และเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้นในขณะยืดหยุ่นพอในการเรียนรู้จากความล้มเหลวไปพร้อมกันได้อย่างไร?
ในโปรแกรมเด็กและเยาวชน แต่ละคนจะได้รับการกระตุ้นให้แสวงหาการเปิดเผยส่วนตัวขณะพวกเขาวางแผนเพื่อเติบโตทางวิญญาณ ทางสังคม ทางร่างกาย และทางสติปัญญา และเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์มากขึ้น บิดามารดาให้การสนับสนุนที่สำคัญแก่เด็กๆ ในความพยายามเหล่านั้น
บางครั้งเราตื่นเต้นเกี่ยวกับการบรรลุเป้าหมายและการช่วยให้เด็กทำสำเร็จเช่นเดียวกัน แต่เมื่อสิ่งต่างๆ เริ่มยุ่งเหยิง เมื่อเราหรือเด็กหมดแรงจูงใจ หรือเมื่อชีวิตไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เราอาจคิดว่า ทำไมจะต้องวุ่นวายกับการตั้งเป้าหมายในเมื่อเราก็ไปไม่ถึงอยู่ดี?
ทักษะสำคัญที่เราสามารถสอนเด็กได้คือการบรรลุเป้าหมายด้วยวิธีคิดเพื่อการเติบโต:1 การมีมุมมองที่เราเรียนรู้จากความพยายาม การดิ้นรน และแม้แต่ความผิดพลาด
จะเกิดอะไรขึ้นหากเด็กเผชิญอุปสรรคขณะพยายามเพื่อบรรลุเป้าหมาย?
อุปสรรคเป็นเรื่องปกติ (ดู 2 นีไฟ 2:11) นอกจากการพูดคุยกับเด็กเกี่ยวกับประเด็นสำคัญของการบรรลุเป้าหมายแล้ว เราอาจพูดถึง “อุปสรรค” ระหว่างเส้นทางได้อีกด้วย บางครั้งเมื่อเด็กและเยาวชนพูดถึงความสำเร็จ พวกเขาหลงลืมไปว่าเส้นทางนั้นก็รวมไปถึงช่วงเวลาสั้นๆ ของการดิ้นรนเพื่อความก้าวหน้า
เมื่อเร็วๆ นี้เจสสิก้าพูดคุยกับหนุ่มสาวโสดคนหนึ่งที่รู้สึกท้อแท้เกี่ยวกับความล้มเหลวและการดิ้นรนว่าจะไปทางไหนดี เขาเปรียบเทียบตนเองกับคนที่เขาชื่นชม เจสสิก้าเตือนเขาว่าทุกคนมีทั้งช่วงขาขึ้นและขาลงในเส้นทางของตน แม้แต่ผู้คนเหล่านั้นที่เราชื่นชมก็ตาม จากนั้นเธอแสดงศรัทธาว่าเขาจะก้าวข้ามความท้าทายต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายได้
เราจะช่วยให้เด็กเอาชนะความรู้สึกที่ไม่ดีของการเป็นคนสมบูรณ์แบบได้อย่างไร?
การดิ้นรนเพื่อความก้าวหน้านิรันดร์ต้องใช้วิธีคิดเพื่อการเติบโต บ่อยครั้งที่หลายคนสูญเสียมุมมองและรู้สึกกดดันจากความคาดหวังของผู้อื่นและความปรารถนาของตนเองที่ดูเหมือนว่าพวกเขาจัดการได้ รูปแบบของอุดมคตินิยมนี้เป็นอุปสรรคต่อการกำหนดเป้าหมายและความก้าวหน้าสูงสุด ซึ่งส่งผลต่อทั้งบิดามารดาและลูกๆ
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองยอมรับว่าเมื่อเรามองว่าพระบัญญัตินั้นสมบูรณ์แบบ (ดู มัทธิว 5:48) ด้วยมุมมองที่ไม่สมบูรณ์แบบ “เราอยากจะกลับไปนอนคลุมโปง” ท่านกระตุ้นให้มองในระยะยาว โดยพึ่งพาพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ตลอดทาง “นอกจากพระเยซูแล้ว” เอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์ย้ำเตือนเราว่า “ไม่มีชีวิตใดสมบูรณ์แบบในการเดินทางบนแผ่นดินโลกซึ่งเรากำลังดำเนินอยู่ ดังนั้นขณะอยู่ในความเป็นมรรตัย ขอให้เราพยายามปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอโดยไม่หมกมุ่นอยู่กับพฤติกรรมที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า ‘ความสมบูรณ์แบบที่เป็นพิษ’”2 แผนของพระบิดาบนสวรรค์เปิดโอกาสให้เราเรียนรู้จากความผิดพลาดและเอาชนะบาปผ่านพระเยซูคริสต์เพื่อเติบโตและเป็นเหมือนพระองค์ (ดู แอลมา 42:4, 13–15)
หากเด็กและเยาวชนเรียนรู้ที่จะพึ่งพาพระบิดาบนสวรรค์และพระผู้ช่วยให้รอดในทุกด้านของชีวิต พวกเขามีแนวโน้มที่จะพัฒนาพรสวรรค์ของตนเองที่พระผู้เป็นเจ้าประทานให้ การตั้งเป้าหมายช่วยให้ตัวเราก้าวออกมาจากจุดที่คุ้นเคย การเติบโตนี้เป็นส่วนหนึ่งในแผนของพระบิดาบนสวรรค์ที่ทรงมีให้เรา
ดังที่ประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด รักษาการประธานโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “แผนของพระบิดาบนสวรรค์ได้แก่การประทานชีวิตมรรตัยให้เราเติบโต ทำสุดกำลัง และเรียนรู้ ซึ่งโดยสิ่งนั้นเราจะเป็นเหมือนพระองค์ได้มากขึ้น”3 การแสวงหาการเติบโตนี้หมายความว่าบางครั้งเราอาจผิดพลาดไปจากสิ่งที่เราต้องการทำให้สำเร็จหรืออาจต้องใช้ความพยายามหลายวิธีในการประสบความสำเร็จ เราต้องเติบโตอย่าง “บรรทัดมาเติมบรรทัด” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 98:12) แต่เราไม่จำเป็นต้องเติบโตเพียงลำพัง
เพราะพระผู้ช่วยให้รอดของเรา—ผู้ทรงวางแบบแผนที่เราควรทำตาม—และการชดใช้ของพระองค์ เราสามารถได้รับพระเดชานุภาพอันกอปรด้วยพระปรีชาสามารถผ่านพระองค์เพื่อทำให้สำเร็จมากกว่าที่เราจะทำได้ด้วยตัวเราเอง โดยผ่านพระคุณ “วิธีช่วยเหลือหรือความเข้มแข็งจากสวรรค์ที่ประทานโดยพระเมตตาและความรักอันมากมายของพระเยซูคริสต์” เราสามารถ “ได้รับความเข้มแข็งและความช่วยเหลือเพื่อทำงานดีซึ่ง [เรา] จะไม่สามารถทำได้หากปล่อยให้เป็นไปตามวิธี [ของเรา]”4
เมื่อเด็กเรียนรู้ที่จะพึ่งพาพระผู้ช่วยให้รอดเพื่อช่วยให้พวกเขาเติบโตในประสบการณ์เล็กๆ น้อยๆ ในการตั้งเป้าหมาย พวกเขาจะพัฒนาแบบแผนที่จะช่วยพวกเขาในประสบการณ์ที่ยากขึ้นในชีวิตและเมื่อพวกเขาต้องการกลับใจจากบาป พวกเขาจะรู้วิธีหันไปขอความช่วยเหลือจากพระบิดาบนสวรรค์และพระผู้ช่วยให้รอด (ดู แอลมา 37:6–7, 36–37)
เราจะช่วยเด็กจัดการกระบวนการเรียนรู้และเติบโตในขณะยืดหยุ่นเพียงพอในการเรียนรู้จากความล้มเหลวไปพร้อมกันได้อย่างไร ?
กลยุทธ์หนึ่งอยู่ในแนวคิดที่เรียกว่า นั่งร้าน5 เมื่อมีการสร้างอาคาร นั่งร้านจะเป็นโครงสร้างชั่วคราวที่ช่างก่อสร้างสามารถใช้เพื่อไปถึงระดับความสูงจุดใหม่ในการดำเนินโครงการให้เสร็จสิ้น ในทำนองเดียวกัน เราสามารถช่วยจัดหานั่งร้านให้เด็กเพื่อใช้พัฒนาตนเองในขณะที่พวกเขาสร้างทักษะใหม่ๆ เพื่อบรรลุสิ่งที่เหนือกว่าความสามารถในปัจจุบัน นั่งร้านนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิธีที่เราสามารถช่วย “ฝึกเด็กในทางที่เขาควรจะเดินไป” (สุภาษิต 22:6) ต่อไปนี้เป็นหลักธรรมบางประการสำหรับนั่งร้านที่เป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาส่วนบุคคลของเด็ก
-
การเริ่มต้นใหม่ (เช่น ต้นปีการศึกษา วันเกิด หรือปีใหม่) เป็นช่วงเวลาที่ดีในการตั้งเป้าหมายเพราะเรารู้สึกมีแรงจูงใจมากขึ้น
-
แม้รางวัลเล็กๆ น้อยๆ เช่น การชมเชยหรือการกอดจะช่วยให้ลูกๆ ของเราเปลี่ยนแผนของพวกเขาให้เป็นนิสัยที่ดี แต่รางวัลใหญ่ๆ เช่น การได้สิ่งของราคาแพงสำหรับที่เรียนได้เกรดดีจะลดคุณค่าที่แท้จริงของการทำงานหนักลงไป6 เราต้องการให้เด็กและเยาวชนซึมซับกับบทเรียนและการเติบโตทางวิญญาณที่พวกเขาประสบ—วิธีที่พวกเขาเข้าใกล้พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์มากขึ้น และวิธีที่พวกเขาพัฒนาความสามารถมากขึ้นเพื่อรับใช้ผู้อื่นเช่นเดียวกับที่ทั้งสองพระองค์ทรงกระทำ—แทนที่จะมองหารางวัลจากภายนอก
-
การแบ่งย่อยเป้าหมายใหญ่ออกเป็นส่วนๆ จะทำให้พวกเขารู้สึกหนักใจน้อยลงและมีโอกาสสำเร็จมากขึ้น
-
หลักการของโกลดิล็อกส์นั้นมีประโยชน์—เป้าหมายไม่ควรง่ายเกินไปหรือยากเกินไป เราต้องการให้เด็กและเยาวชนพยายามอย่างเต็มที่เพื่อเติบโต แต่ไม่มากจนพวกเขารู้สึกท้อแท้และยอมแพ้7
-
เด็กเรียนรู้จากแบบอย่าง ดังนั้นการตั้งเป้าหมายของเราเองในฐานะบิดามารดาและแบ่งปันความก้าวหน้าที่เราทำต่อพวกเขาจึงเป็นวิธีที่ดีในการสอนการตั้งเป้าหมาย
-
การหาเวลาประจำเพื่อทบทวนเป้าหมายเป็นครอบครัวหรือในการสนทนาแบบตัวต่อตัวสามารถช่วยให้จดจ่ออยู่กับเป้าหมายนั้นๆ ได้
-
การย้ำเตือนกันและกันถึงคุณค่าที่แท้จริงโดยไม่คำนึงถึงความสำเร็จทำให้เกิดมุมมองอีกด้วย
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเด็กๆ ไม่ได้ตั้งเป้าหมายใดๆ ไว้เลย?
เราสามารถช่วยให้เด็กและเยาวชนคิดว่าพวกเขาต้องการอยู่จุดไหนในอนาคตด้วยน้ำเสียงแสดงความอยากรู้ ตัวอย่างเช่น บิดามารดาอาจถามว่า “ลูกหวังว่าจะทำอะไรสำเร็จบ้างที่โรงเรียนในปีนี้?” แล้วช่วยพวกเขาทำตามขั้นตอนง่ายๆ สู่เป้าหมายระยะยาว ประธานบัลลาร์ดสอนว่า “ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ข้าพเจ้าสังเกตว่าคนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกคือผู้มีวิสัยทัศน์ในชีวิต พร้อมทั้งเป้าหมายที่ช่วยให้พวกเขามุ่งไปยังวิสัยทัศน์และแผนซึ่งมียุทธวิธีบรรลุเป้าหมายนั้น” การรู้จุดหมายและวิธีไปถึงจุดหมายของท่านสามารถนำความหมาย จุดประสงค์ และความสำเร็จมาสู่ชีวิต”8
อีกวิธีหนึ่งคือช่วยให้พวกเขาค้นพบความสนใจและของประทานพิเศษที่พระบิดาบนสวรรค์ประทานแก่พวกเขา (ดู 1 โครินธ์ 12:4–31; โมโรไน 10:8–18; หลักคำสอนและพันธสัญญา 46:8–26) บางคนอาจตื่นเต้นเกี่ยวกับเรื่องของม้า บางคนอาจชอบฟุตบอล ดนตรี ละครเวที หรือสิ่งแวดล้อม เด็กหรือเยาวชนบางคนอาจมีกำลังใจเมื่อนึกถึงคนที่พวกเขาชื่นชมในวอร์ด ในครอบครัว หรือในอาชีพที่พวกเขาต้องการจะทำ
การพูดคุยกับพวกเขาเกี่ยวกับขั้นตอนที่ท่านทำเพื่อบรรลุความสำเร็จและวิธีที่ท่านทำงานผ่านความผิดหวังอาจเป็นประโยชน์ โดยสนับสนุนความสนใจของพวกเขา เรามีโอกาสที่จะสอนการตั้งเป้าหมายและช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์สนพระทัยที่จะช่วยพวกเขาพัฒนาในทุกด้านของชีวิต