2022
พระเจ้าทรงนำทางศาสนจักรของพระองค์ตามภาษาและความเข้าใจของเรา
สิงหาคม 2022


หมายเหตุ: บทความนี้ได้รับการตรวจทานโดยแผนกพระวิหาร

ดิจิทัลเท่านั้น

พระเจ้าทรงนำทางศาสนจักรของพระองค์ตามภาษาและความเข้าใจของเรา

ตลอดประวัติศาสตร์ พระเจ้าทรงเปิดเผยการเปลี่ยนแปลงนโยบายเกี่ยวกับศาสนพิธีและการนมัสการพระกิตติคุณ

ผู้เขียนอาศัยอยู่ในยูทาห์ สหรัฐอเมริกา

ภาพ
ไบเบิลแบบเก่าตัวพิมพ์แบบโกธิคเปิดอยู่

ภาพถ่ายโดย แมรี่ อลิซ โกรเวอร์ เบเคอร์

ในพระคัมภีร์มอรมอน นีไฟจบบันทึกของเขาด้วยข้อคิดที่สำคัญเกี่ยวกับวิธีที่พระเจ้าทรงสอนและแนะนำผู้คนของพระองค์ “เพราะพระเจ้าพระผู้เป็นเจ้าประทานความสว่างให้แก่ความเข้าใจ; เพราะพระองค์รับสั่งแก่มนุษย์ตามภาษาของพวกเขา, สู่ความเข้าใจของพวกเขา” (2 นีไฟ 31:3; เน้นตัวเอน)

“ตามภาษาของพวกเขา”

พวกเราส่วนใหญ่ตระหนักดีว่าพระเจ้าตรัสกับลูกทุกคนของพระองค์ในภาษาของพวกเขาเอง เราคงเคยเห็นวิธีที่พระองค์ทรงสื่อสารกับเราในภาษาของเรา และวิธีที่พระองค์สื่อสารกับผู้อื่นในภาษาของพวกเขาเอง สิ่งนี้เห็นได้ชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเรามีโอกาสได้อยู่ในประเทศอื่นที่ไม่ใช่ของเราเอง ผมเริ่มตระหนักถึงหลักธรรมนี้ครั้งแรกเมื่อเป็นผมผู้สอนศาสนาวัยหนุ่ม เมื่อคู่คนแรกกับผมสอนพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ในภาษาอิตาลีมาตรฐาน ภาษาที่ไม่ใช่ภาษาแม่ของเรา

ระหว่างที่เราอยู่ด้วยกันในเมืองลูกาโน สวิตเซอร์แลนด์ ผมกับคู่พบและสอนครอบครัวหนึ่งจากซิซิลี ประเทศอิตาลี เราพูดภาษาอิตาลี แต่ครอบครัวนี้พูดภาษาซิซิลี ซึ่งแตกต่างจากภาษาอิตาลีมาตรฐานพอสมควรจนถือว่าเป็นคนละภาษา สมาชิกสาขาในท้องที่พูดภาษาอิตาลีรูปแบบต่างไปที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักนั่นคือ ภาษาอิตาลีสวิส ทว่าสมาชิกสาขาใช้ภาษาอิตาลีสวิสช่วยเหลือเราในการผูกมิตรและสอนครอบครัววัยหนุ่มสาวนี้

แม้จะมีความแตกต่างระหว่างภาษาอิตาลีมาตรฐาน ภาษาอิตาลีสวิส และซิซิลี พระเจ้าตรัสต่อเราและผ่านเราแต่ละคนโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ตามภาษาและความเข้าใจของเรา ในที่สุด ครอบครัวหนุ่มสาวนี้เข้าสู่น้ำแห่งบัพติศมาและได้รับการยืนยันเป็นสมาชิกของศาสนจักร

ดังที่พระองค์ทรงทำกับประสบการณ์ของผมในสวิตเซอร์แลนด์ตอนใต้ พระเจ้าตรัสกับเราแต่ละคนด้วยภาษาของเรา เมื่อพระเจ้าตรัสกับนักเรียนชั้นประถมศึกษาอายุแปดขวบในเมืองลิมา ประเทศเปรู พระองค์ตรัสในภาษาที่เด็กคนนั้นเข้าใจ เช่นเดียวกับเมื่อพระองค์ตรัสกับอาจารย์มหาวิทยาลัยในโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น พระองค์ตรัสในภาษาที่อาจารย์คนนั้นเข้าใจ

สิ่งที่อาจไม่คุ้นเคยสำหรับเราคือพระเจ้าตรัสในบริบททางวัฒนธรรมของชีวิตและเวลาของบุคคลหรือผู้คนด้วย พระองค์ทรงสื่อสารตามความเข้าใจของพวกเขา

“ตามความเข้าใจของพวกเขา”

ผมค้นพบว่าในช่วงเวลาและสถานที่ต่างๆ ตลอดทุกยุคทุกสมัย พระเจ้าตรัสกับบุตรธิดาของพระองค์เสมอตามภาษาและความเข้าใจของพวกเขาเมื่อพระองค์แบ่งปันข่าวสาร ศาสนพิธี และความจริงของพระองค์ในภาษาและวัฒนธรรมของผู้คน แม้ว่าบุตรธิดาของพระเจ้าจะถูกจำกัดในภาษาของพวกเขา (ไม่มีภาษาใดที่สมบูรณ์แบบ) และจำกัดความเข้าใจในวัฒนธรรมของพวกเขา (วัฒนธรรมปรับ ยืม และเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา) พระเจ้าก็ทรงพระกรุณาที่จะสื่อสารพระประสงค์ของพระองค์ในภาษาและวัฒนธรรมของพวกเขา เพื่อพระองค์จะทรงสามารถสั่งสอน และช่วยเหลือพวกเขา ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:24พระเจ้าตรัสว่า :

“ดูเถิด เราคือพระผู้เป็นเจ้าและพูดสิ่งนี้ไว้; บัญญัติเหล่านี้มาจากเรา, และให้ไว้แก่ผู้รับใช้ของเราในความอ่อนแอของพวกเขา, ตามลักษณะภาษาของพวกเขา เพื่อพวกเขาจะเข้าถึงความเข้าใจ” (เน้นตัวเอน)

ดังนั้น เมื่อวัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากตามกาลเวลา เราไม่ควรแปลกใจที่พระเจ้าผู้ทรงเป็นเหมือนเดิมในทุกวันนี้ดังที่พระองค์ทรงเป็นในสมัยโบราณ (ดู ฮีบรู 13:8) จะทรงเปิดเผยพระดำริของพระองค์ในบริบททางวัฒนธรรมใหม่ตามเวลา สถานที่ และความเข้าใจของผู้คน

จุมพิตศักดิ์สิทธิ์และคำทักทาย

ตัวอย่างเช่น เมื่ออัครสาวกเปาโลเขียนถึงวิสุทธิชนในกรุงโรม เมืองโครินธ์ และเมืองเธสะโลนิกา ท่านเชิญให้พวกเขา “จงทัก‍ทาย​กัน​ด้วย​ธรรม‌เนียม​จูบ​อัน​บริ‌สุทธิ์” (โรม 16:16; ดู 1 โครินธ์ 16:20 ด้วย; 2 โครินธ์ 13:12; 1 เธสะโลนิกา 5:26 ด้วย) คำแนะนำนี้เหมาะสมอย่างยิ่งในวัฒนธรรมเมดิเตอร์เรเนียนโบราณซึ่งผู้ชายทักทายกันด้วยการจุมพิต

การทักทายใครสักคนในทุกวัฒนธรรม ทั้งแบบโบราณและแบบสมัยใหม่ เป็นสัญลักษณ์ของความรัก มิตรภาพ การเป็นที่ยอมรับ และความเคารพ อย่างไรก็ตาม รูปแบบที่แน่นอนของคำทักทายเหล่านั้นมักขึ้นอยู่กับสิ่งที่เหมาะสมหรือคาดหวังสำหรับโอกาสและวัฒนธรรมที่เฉพาะเจาะจง ในบางเวลาและสถานที่ อาจอยู่ในรูปแบบของการโค้งคำนับ การจับมือ กอด จูบที่ริมฝีปากหรือแก้ม หรือการเสียดสีจมูก

คำประกาศของเปาโลให้วิสุทธิชนทักทายกัน “ด้วย​ธรรม‌เนียม​จูบ​อัน​บริ‌สุทธิ์” จะให้ความรู้สึกเหมือนเป็นสัญลักษณ์ของการผูกมิตรที่สะดวกใจและคุ้นเคยในบริบทเมดิเตอร์เรเนียนโบราณของเขา แต่ในบริบททางวัฒนธรรมตะวันตกของอเมริกาในทศวรรษ 1800 พระเจ้าทรงดลใจให้โจเซฟ สมิธปรับพระบัญชาในพันธสัญญาใหม่นี้ให้คารวะกันด้วยคำทักทายอันศักดิ์สิทธิ์1 ซึ่งอาจจะเป็นวิธีนำแนวคิดนี้ไปใช้กับผู้คนของพระองค์ที่อาศัยอยู่ในต่างเวลาและสถานที่ซึ่งการจูบไม่ได้ถูกมองว่าเป็นการทักทายที่สะดวกใจในบรรดาผู้คนของศาสนจักร

เมื่อสถานการณ์ของบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา บริบทนี้อาจเป็นวิธีหนึ่งที่พระเจ้าตรัสกับผู้คนของพระองค์ “เพื่อพวกเขาจะเข้าถึงความเข้าใจ”

การเปลี่ยนแปลงในบริบททางวัฒนธรรม

สิ่งนี้อาจอธิบายได้บางส่วนเช่นกันว่าเหตุใดเราจึงอาจพบว่าเรื่องราวพระคัมภีร์บางเรื่องยากต่อการเข้าใจ แม้จะแปลพระคัมภีร์เป็นภาษาของเราแล้วก็ตาม บริบททางวัฒนธรรมของเรามักจะแตกต่างอย่างมากจากเวลาที่เหตุการณ์ในพระคัมภีร์เกิดขึ้นจนเป็นผลทำให้เข้าใจเรื่องราวนั้นในปัจจุบันได้ยาก (ดู 2 นีไฟ 25:1)

เมื่อพระเจ้าสถาปนาพันธสัญญาและศาสนพิธีของพระองค์กับผู้คนของพระองค์ สิ่งนั้นจะอยู่ในบริบทของวัฒนธรรมหนึ่งๆ ในเวลาและสถานที่เฉพาะ “การปรับเปลี่ยนใดๆ ที่มีต่อศาสนพิธีและระเบียบปฏิบัติไม่เปลี่ยนลักษณะอันศักดิ์สิทธิ์ของพันธสัญญาที่ทำ”2 พระเจ้าทรงรักษาธรรมชาตินิรันดร์ของคำสัญญาของพระองค์ที่พบในพันธสัญญากับบุตรธิดาของพระองค์เสมอ

มาร์ค อลัน ไรท์ ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยบริคัมยังก์ตั้งข้อสังเกตว่า “ภาษาไม่ได้จำกัดอยู่แค่คำที่เราใช้แต่ยังมีเครื่องหมาย สัญลักษณ์ และท่าทางทางร่างกายที่เปี่ยมด้วยความหมายโดยวัฒนธรรมที่สร้างพวกมันขึ้นมา”3 พระคัมภีร์ให้ตัวอย่างถึงสิ่งนี้

แบบอย่างจากพันธสัญญาเดิม

ในบริบทของภาคพันธสัญญาเดิมของตะวันออกใกล้ในสมัยโบราณ ไม่น่าแปลกใจเมื่อพบว่ามีการกล่าวถึงการเอามือวางไว้ใต้ต้นขาของอีกคนหนึ่งเพื่อสาบานใน ปฐมกาล 24:9 และ 47:29 ในขณะนั้น การปฏิบัตินี้เป็นวิธีที่เหมาะสมทางวัฒนธรรมในการให้คำมั่นสัญญาหรือสาบานว่าจะจงรักภักดีต่อใครบางคน รวมทั้งระหว่างบิดากับบุตรชาย

แนวทางปฏิบัติทั่วไปอีกอย่างหนึ่งในตะวันออกใกล้ในสมัยโบราณคือการแบ่งครึ่งสัตว์และนกเพื่อให้ผู้คนสามารถเดินไปมาระหว่างพวกมันได้ขณะที่พวกเขาทำพันธสัญญา—การแสดงออกทางพิธีกรรมที่ทำโดยอับราฮัมและคนอื่นๆ ในพันธสัญญาเดิม4

นอกจากนี้ พันธสัญญาแห่งอับราฮัมยังรวมถึงการเข้าสุหนัต ซึ่งเป็นเครื่องหมายของพันธสัญญา (ดู ปฐมกาล 12–17)

ในโลกพันธสัญญาเดิม พระเจ้ามักจะเปิดเผยพันธสัญญานิรันดร์ของพระองค์ในรูปแบบและคำศัพท์ที่คล้ายกับข้อตกลงสนธิสัญญาในตะวันออกกลางโบราณที่อยู่โดยรอบ สิ่งนี้สมเหตุสมผลเนื่องจากพระเจ้าตรัสกับผู้คนของพระองค์ในบริบททางวัฒนธรรมของพวกเขา “เพื่อพวกเขาจะเข้าถึงความเข้าใจ”

การปฏิบัติศีลระลึก

ระหว่างการปฏิบัติศาสนกิจขณะเป็นมรรตัยของพระผู้ช่วยให้รอด พระองค์ทรงเปิดเผยพันธสัญญาของพระองค์ในวิธีใหม่ ในตัวอย่างนี้ พระเยซูทรงรับเครื่องหมายของเทศกาลปัสกาและประทานความหมายและความสำคัญใหม่แก่พวกเขาระหว่างพระกระยาหารมื้อสุดท้าย สัญลักษณ์เหล่านี้รวมถึงขนมปังไร้เชื้อและเหล้าองุ่นซึ่งดื่มจากถ้วยเดียว (ดู มัทธิว 26:20–29)

ในเวลาและสถานที่แตกต่างไปจากการปฏิบัติศาสนกิจขณะทรงเป็นมรรตัยของพระองค์ในโลกเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกในศตวรรษแรก พระเจ้าทรงเปิดเผยสิ่งต่อไปนี้แก่โจเซฟ สมิธในโลกอเมริกาเหนือในศตวรรษที่สิบเก้า

“จงฟังสุรเสียงของพระเยซูคริสต์, พระเจ้าของเจ้า, พระผู้เป็นเจ้าของเจ้า, และพระผู้ไถ่ของเจ้า, ซึ่งพระคำของพระองค์มีชีวิตและทรงพลัง. เพราะ, ดูเถิด, เรากล่าวแก่เจ้า, ว่าไม่สำคัญว่าเจ้าจะกินอะไรหรือเจ้าจะดื่มอะไรเมื่อเจ้ารับส่วนศีลระลึก, หากเป็นไปว่าเจ้าทำสิ่งนี้โดยดวงตาที่เห็นแก่รัศมีภาพของเราอย่างเดียว—โดยระลึกถึงกายของเราต่อพระพักตร์พระบิดาซึ่งยอมพลีเพื่อเจ้า, และโลหิตของเราซึ่งหลั่งให้เพื่อการปลดบาปของเจ้า.” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 27:1–2)

ศีลระลึกไม่จำเป็นต้องใช้ขนมปังไร้เชื้อและเหล้าองุ่นอีกต่อไป อย่างไรก็ตามการใช้ถ้วยร่วมกันยังคงดำเนินต่อไป จัสติน เบรย์จากแผนกประวัติศาสนจักรสังเกตว่าการใช้ถ้วยร่วมกันเป็นเรื่องปกติในขณะนั้น: “นอกเหนือบริบททางศาสนา การใช้ถ้วยร่วมกันเป็นเรื่องธรรมดาในอเมริกาในศตวรรษที่ 19 การดื่มน้ำพุในโรงเรียนของรัฐ สวนสาธารณะ และรถราง มักมาพร้อมกับถ้วยหรือกระบวยที่ล่ามโซ่ไว้ซึ่งทุกคนจะดื่มจากถ้วยเดียวกัน”5

ในที่สุด พระเจ้าทรงดลใจศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกของพระองค์ให้เลิกใช้ถ้วยร่วมกันในการถวายศีลระลึกในปี 19126 แม้ว่าสิ่งนี้จะเป็นสัญลักษณ์ที่สวยงามของความสามัคคีและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการดื่มจากถ้วยเดียวกันซึ่งทุกคนร่วมกันรับศีลระลึกโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างของพวกเขา แต่วัฒนธรรมได้เปลี่ยนไป พระเจ้าตรัสกับผู้คนของพระองค์อีกครั้ง “ในความอ่อนแอของพวกเขา … เพื่อพวกเขาจะเข้าถึงความเข้าใจ”7

บทบาทของพระผู้ช่วยให้รอดและผู้ติดตามพระองค์

กระนั้น พระเจ้าเตือนชายหญิงว่าไม่ใช่อภิสิทธิ์ของพวกเขาที่จะเปลี่ยนวิธีหรือถ้อยคำในวิธีที่เราทำพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ที่พระองค์ทรงเปิดเผย8.

มีเพียงพระเยซูคริสต์เท่านั้นที่มีสิทธิ์แก้ไขศาสนพิธีและขั้นตอนซึ่งเราได้รับพันธสัญญาของพระองค์ตามเวลา สถานที่ และสภาวการณ์ของผู้คนของพระองค์ เรามีสิทธิ์ยอมรับพันธสัญญาเหล่านั้นเท่านั้น ไม่เปลี่ยนแปลงพันธสัญญาหรือศาสนพิธี ด้วยเหตุนี้ ผู้คนของพระเจ้าจึงยอมรับสิทธิของพระองค์ในการยุติเข้าสุหนัตและสัตวบูชาทั้งหมด 9 พวกเขายอมรับการเปลี่ยนแปลงวันสะบาโตของพระองค์จากวันเสาร์เป็นวันอาทิตย์เพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งพันธสัญญาของชาวคริสต์ เป็นโอกาสเช่นเดียวกันที่เราจะติดตามพระองค์ไม่ว่าพระองค์จะทรงเปิดเผยผ่านศาสดาพยากรณ์ของพระองค์ว่าประกอบงานของพระองค์อย่างไรในปัจจุบัน

การเปิดเผยแก่ศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิต รวมถึงการนมัสการในพระวิหารด้วย

เราได้เห็นแล้วว่าพระเจ้าทรงดลใจศาสดาพยากรณ์ยุคปัจจุบันของพระองค์ ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันให้เปิดเผยคำสอน พันธสัญญา และศาสนพิธีของพระองค์ใน “ภาษา” ของเรา ตาม “ความเข้าใจ” ของเรา รวมทั้งพยานสำหรับพิธีบัพติศมา10 หรืออายุสำหรับการแต่งตั้งฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน 11 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการนมัสการในพระวิหาร

การปรับเปลี่ยนที่ได้รับการดลใจจากฝ่ายประธานสูงสุดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา—ตามสภาวการณ์ สถานที่ และเวลาของเรา—ได้รับการเปิดเผย “เพื่อปรับปรุงประสบการณ์พระวิหารสำหรับสมาชิกให้ดีขึ้นและช่วยให้ทุกคนที่เข้าไปรู้สึกถึงการเชื่อมโยงที่ใกล้ชิดขึ้นกับพระผู้เป็นเจ้าภายในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้”12

ขณะที่เราได้รับพรอันเป็นเอกลักษณ์ของการดลใจจากสวรรค์และการเปิดเผยผ่านศาสดาพยากรณ์สมัยใหม่อย่างนอบน้อม ขอให้เราระลึกถึงหลักแห่งศรัทธาข้อที่เก้าที่กล่าวว่า “เราเชื่อทุกสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเปิดเผย ทุกสิ่งที่พระองค์ทรงเปิดเผยในเวลานี้ และเราเชื่อว่าพระองค์จะยังทรงเปิดเผยสิ่งที่สำคัญและยิ่งใหญ่มากมายเกี่ยวกับอาณาจักรของพระเจ้า” (เน้นตัวเอน)

พิมพ์