“ความหวังและการปลอบโยนในพระคริสต์,” เลียโฮนา, ก.ย. 2022.
ความหวังและการปลอบโยนในพระคริสต์
ขอให้เรายึดมั่นกับพระสัญญาที่ว่าพระเจ้าทรงจดจำและประทานรางวัลแก่วิสุทธิชนที่ซื่อสัตย์ของพระองค์
เจนส์และแอน แคธรีน แอนเดอร์เซ็นมีประจักษ์พยานที่ลึกซึ้งและแนบสนิทในความจริงของพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์ แม้จะมีฝูงชนและชุมชนที่เกรี้ยวกราดรวมทั้งการข่มเหงในเขตศาสนา แต่ทั้งสองยังเข้าร่วมศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายในปี 1861
ฤดูใบไม้ผลิปีต่อมา พวกเขาใส่ใจการเรียกแห่งไซอัน ซึ่งเรียกหาจากหุบเขาซอลท์เลคที่อยู่ไกลออกไป 5,000 ไมล์ (8,000 กม.) การไปรวมกันที่ไซอันหมายถึงการละทิ้งชีวิตที่สุขสบายของตนในเดนมาร์กไว้เบื้องหลัง—รวมถึงเพื่อนๆ ญาติพี่น้อง และฟาร์มอันสวยงามที่สืบทอดกันมาหลายรุ่นจากพ่อสู่ลูกชายคนโต ฟาร์มที่กว้างใหญ่และมีผลผลิตสูง ตั้งอยู่ในหมู่บ้านเวดดัม ใกล้ออลบอร์ บนคาบสมุทรจัตแลนด์อันอุดมสมบูรณ์ทางตอนเหนือของเดนมาร์ก ฟาร์มนี้ว่าจ้างคนงานหลายสิบคนอีกทั้งนำเกียรติและทรัพย์สินมาสู่ครอบครัวแอนเดอร์เซ็น
โดยแบ่งปันทรัพย์สินเหล่านั้นแก่เพื่อนผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใส เจนส์และแอน แคธรีนออกค่าใช้จ่ายการย้ายถิ่นฐานของวิสุทธิชนคนอื่นๆ ประมาณ 60 คนเพื่อเดินทางมาสู่ไซอัน วันที่ 6 เมษายน ปี 1862 ครอบครัวแอนเดอร์เซ็น พร้อมลูกชายวัย 18 ปี แอนดรูว์ กับวิสุทธิชนชาวเดนมาร์กอื่นๆ อีก 400 คนร่วมเดินทางด้วยเรือกลไฟขนาดเล็ก อัลบียอน ไปยังเมืองฮัมบูร์ก เยอรมนี สองวันต่อมาก็ถึงเมืองฮัมบูร์ก พวกเขารวมตัวกับวิสุทธิชนที่มาชุมนุมกันมากกว่าเดิมและลงเรือโดยสารขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อเริ่มเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก
แต่ในไม่ช้า ปีติของการไปรวมตัวกันที่ไซอัน ก็เปลี่ยนเป็นความโศกเศร้า เด็กหลายคนที่เริ่มเดินทางมากับเรือ อัลบียอน เป็นพาหะนำเชื้อไวรัสโรคหัด เมื่อโรคแพร่ระบาดไปในหมู่ผู้อพยพ เด็ก 40 คนและผู้ใหญ่อีกหลายคนตายและถูกฝังร่างไว้ในทะเล ในบรรดาผู้ตายมีเจนส์ แอนเดอร์เซ็นวัย 49 ปี คุณตาเทียดของข้าพเจ้า
ความฝันของเจนส์ที่จะไปถึงและร่วมสร้างไซอันกับครอบครัวและเพื่อนวิสุทธิชนชาวเดนมาร์กดับวูบลงเพียง 10 วันหลังออกจากฮัมบูร์ก นักประวัติศาสตร์คนหนึ่งเขียนว่า “ผู้ปลดปล่อยคนหนึ่งซึ่งเปรียบดังโมเสสผู้ไม่เคยย่างเท้าของตนเหยียบแผ่นดินแห่งคำสัญญาคือเจนส์ แอนเดอร์เซ็นแห่ง [เวดดัม] ออลบอร์ ผู้ช่วยให้เพื่อนของตนไม่น้อยกว่าหกสิบคนอพยพย้ายถิ่นฐาน เขาพบความตายในทะเลเหนือในปี 1862 ไม่นานหลังออกจาก [เยอรมนี] ”1
การทดลองของความเป็นมรรตัย
การเสียสละของครอบครัวแอนเดอร์เซ็น—ที่ต้องละทิ้งฟาร์มที่สุขสบายและต้องสูญเสียสามีและบิดาที่รักของตนไป—เป็นเรื่องคุ้มค่าหรือไม่? ข้าพเจ้ามั่นใจว่าคำตอบของโลกคือ ไม่ แต่โลกไร้ศรัทธา การเห็นล่วงหน้า และ “มุมมองนิรันดร์”2 ที่พระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์มอบให้
มุมมองนั้นช่วยให้เราเข้าใจชีวิตมรรตัยของเราและการทดลองมากมายในนั้น เราเผชิญความกลัว การหักหลัง การล่อลวง บาป การสูญเสีย และความอ้างว้าง โรคภัย ภัยพิบัติ ภาวะซึมเศร้า และความตายทำลายความฝันของเรา บางครั้ง ภาระเหล่านั้นดูเหมือนมากเกินกว่าที่เราจะแบกรับไหว
“แม้ว่ารายละเอียดจะแตกต่างกัน เหตุการณ์ร้ายแรง การทดสอบและการทดลองที่คาดไม่ถึง ทั้งทางร่างกายและทางวิญญาณ เกิดขึ้นกับเราแต่ละคนเพราะนี่คือความเป็นมรรตัย” เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าว ท่านเสริมว่า: “เราแสวงหาความสุข เราปรารถนาสันติสุข เราหวังจะได้รับความรัก พระเจ้าทรงเทพรแสนวิเศษมาให้เราอย่างล้นเหลือ แต่ที่แอบปะปนมากับปีติและความสุข สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือ: จะมีช่วงเวลา ชั่วโมง วัน บางครั้งเป็นปีเมื่อจิตวิญญาณของท่านจะบาดเจ็บ”3
เรากล้ารับรสความขม เพื่อชื่นชมรสหวาน (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 29:39) ในถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์อิสยาห์ เราทุกคนถูกขัดเกลา—แล้ว ได้รับเลือก—“ในเตาของความทุกข์ยาก” (อิสยาห์ 48:10)
คำสัญญาเรื่องการชดใช้
ความทุกข์ยากเป็นส่วนหนึ่งใน “แผนอันสำคัญยิ่งแห่งความสุข” (แอลมา 42:8; ดู 2 นีไฟ 2:11 ด้วย) แต่ศูนย์กลางของแผนนั้นคือการปลอบโยนและความหวังซึ่งมาจาก “การชดใช้ที่ยิ่งใหญ่และเรืองโรจน์”4 ผ่านการชดใช้ของพระองค์ พระเยซูคริสต์เสด็จมาช่วยชีวิตเรา (ดู แอลมา 36:3)
พระผู้ช่วยให้รอด “เสด็จลงต่ำกว่าสิ่งทั้งปวง” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:6) เพื่อทรงสามารถรับเอาความยากลำบากและความผิดพลาดของเราไว้กับพระองค์ ทรงทราบวิธีปฏิบัติศาสนกิจกับเราโดยเข้าใจเป็นอย่างดีว่าเจ็บตรงไหนและทำไมจึงเจ็บ
“เนื่องจากพระผู้ช่วยให้รอดทรงเคยทนทุกข์ในทุกเรื่องที่เรารู้สึกหรือประสบ พระองค์จึงทรงสามารถช่วยคนอ่อนแอให้กลับเข้มแข็งได้” ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์ (1920–2007) ที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานสูงสุดกล่าว “ทรงประสบมาด้วยพระองค์เองทั้งหมดนั้น พระองค์เข้าพระทัยความเจ็บปวดของเราและจะทรงดำเนินกับเราแม้ในช่วงเวลาที่มืดสนิทที่สุดของเรา”5
นั่นคือเหตุผลที่เราสามารถยึดเหนี่ยวความหวังสูงสุดของเราได้ในพระองค์และการชดใช้ของพระองค์
“สิ่งที่เรามีคือโลกที่มองแง่ร้ายและเหยียดหยามกัน—โลกที่ ในระยะยาว ไม่มีความหวังในพระเยซูคริสต์ทั้งไม่มีความหวังในแผนของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อความสุขของมนุษย์” ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันกล่าว “ทำไมจึงมีความขัดแย้งและความหดหู่ไปทั่วโลก? เหตุผลนั้นธรรมดามาก หากไม่มีความหวังในพระคริสต์ ย่อมไม่มีการรับรู้แผนอันสูงส่งสำหรับการไถ่มนุษยชาติ เมื่อไม่มีความรู้ดังกล่าว ผู้คนจึงเชื่อกันอย่างผิดๆ ว่าการดำรงอยู่วันนี้ตามมาด้วยการดับสูญในวันพรุ่งนี้—ว่าความสุขและความสัมพันธ์ในครอบครัวอยู่ชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น”6
ข้าพเจ้าพบความหวังและการเยียวยาในพระเยซูคริสต์เมื่อเข้าพระวิหารและฟังถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิต ข้าพเจ้าพบการปลอบโยนเมื่อศึกษาพระคัมภีร์และเป็นพยานในพระองค์และการชดใช้ของพระองค์ เมื่อความเป็นมรรตัยข่มขวัญ “สันติ [ของท่าน] ให้ลี้ลับตา”7 จงหันไปพึ่งสิ่งที่ข้าพเจ้าเรียกว่า “ข้อพระคัมภีร์แห่งการปกป้อง” นี่คือบางข้อที่ข้าพเจ้าชอบมาก:
พันธสัญญาเดิม
-
“พระองค์จะทรงกลืนความตายเสียเป็นนิตย์แล้วพระยาห์เวห์องค์เจ้านายจะทรงเช็ดน้ำตาจากทุกใบหน้า” (อิสยาห์ 25:8)
-
“แน่ทีเดียวท่านแบกความเจ็บไข้ของพวกเราและหอบความเจ็บปวดของเราไป … แต่ท่านถูกแทงเพราะความทรยศของเราท่านบอบช้ำเพราะความบาปผิดของเรา: การตีสอนที่ตกบนท่านนั้นทำให้พวกเรามีสวัสดิภาพ และที่ท่านถูกเฆี่ยนตีก็ทำให้เราได้รับการรักษา” (อิสยาห์ 53:4–5)
พันธสัญญาใหม่
-
“บรรดาผู้เหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนัก จงมาหาเรา และเราจะให้ท่านทั้งหลายได้หยุดพัก” (มัทธิว 11:28)
-
“ในโลกนี้ท่านจะประสบความทุกข์ยาก แต่จงมีใจกล้าเถิด เพราะว่าเราชนะโลกแล้ว” (ยอห์น 16:33)
พระคัมภีร์มอรมอน
-
“และพระองค์จะทรงรับเอาความตาย, เพื่อพระองค์จะทรงทำให้สายรัดแห่งความตายที่ผูกมัดผู้คนของพระองค์หลุดออก; และพระองค์จะทรงรับเอาความทุพพลภาพของพวกเขา, เพื่ออุทรของพระองค์จะเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา, ตามเนื้อหนัง, เพื่อพระองค์จะทรงรู้ตามเนื้อหนังว่าจะทรงช่วยผู้คนของพระองค์ตามความทุพพลภาพของพวกเขาได้อย่างไร” (แอลมา 7:12)
-
“และอะไรเล่าที่ท่านจะหวัง? ดูเถิดข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่านว่าท่านจะมีความหวังโดยผ่านการชดใช้ของพระคริสต์และเดชานุภาพแห่งการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์, เพื่อยกท่านขึ้นสู่นิรันดรแห่งชีวิต, และนี่เพราะศรัทธาของท่านในพระองค์ตามสัญญา” (โมโรไน 7:41)
หลักคำสอนและพันธสัญญา
-
“ดังนั้น, จงรื่นเริงเถิด, และอย่ากลัวเลย, เพราะเราพระเจ้าอยู่กับเจ้า, และจะยืนเคียงข้างเจ้า; และเจ้าจะกล่าวคำพยานถึงเรา, แม้พระเยซูคริสต์, ว่าเราคือพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระชนม์, ว่าเราเคยดำรงอยู่, ว่าเราดำรงอยู่, และว่าเราจะมา” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:6)
-
“ดังนั้น, อย่ากลัวเลยแม้จนถึงความตาย; เพราะในโลกนี้ปีติของเจ้าไม่บริบูรณ์, แต่ในเราปีติของเจ้าบริบูรณ์” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:36)
ข้อเหล่านี้และข้อพระคัมภีร์อื่นๆ อีกจำนวนหนึ่งที่เป็นพยาน อยู่ในถ้อยคำของประธานบอยด์ เค. แพ็คเกอร์ (1924–2015) ประธานโควรัมอัครสาวกสิบสองในหัวข้อ “สัญญาแห่งการชดใช้ของพระคริสต์”8
คำวิงวอนของศาสดาพยากรณ์
เมื่อเราเข้าใจบทบาทสำคัญที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงมีในความสุขของเราขณะนี้และในโลกที่จะมา เราเข้าใจว่าเหตุใดประธานเนลสันจึง วิงวอน เราให้ทำให้พระองค์ทรงเป็นรากฐานทางวิญญาณของชีวิตเรา:
“พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าวิงวอนท่านให้จัดสรรเวลาให้พระเจ้า! ทำให้รากฐานทางวิญญาณของท่านมั่นคงและสามารถทนต่อบททดสอบแห่งเวลาโดยทำสิ่งที่ช่วยให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสถิตกับท่าน ตลอดเวลา” การจัดสรรเวลาให้พระเจ้า ประธานเนลสันเสริม โดยรวมการจัดสรร “เวลาให้พระเจ้าในพระนิเวศน์ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ ” ผ่านการรับใช้และการนมัสการในพระวิหาร9
“สำหรับทุกท่านที่ทำพันธสัญญาพระวิหารแล้ว ขอให้ท่านพยายาม—อย่างสม่ำเสมอร่วมกับการสวดอ้อนวอน—เพื่อที่จะเข้าใจพันธสัญญาและศาสนพิธีพระวิหาร …
“… เมื่อใดก็ตามที่เกิดความวุ่นวายใดๆ ในชีวิต สถานที่ปลอดภัยที่สุด ทางวิญญาณ ก็คือการดำเนินชีวิต ภายใน พันธสัญญาพระวิหารของท่าน!
“โปรดเชื่อเมื่อข้าพเจ้าพูดว่าเมื่อท่านสร้างรากฐานทางวิญญาณเป็นปึกแผ่นบนพระเยซูคริสต์ ท่าน ไม่ต้องกลัว”10
สลักไว้บนฝ่าพระหัตถ์
เกิดอะไรขึ้นกับแอน แคธรีนและแอนดรูว์ บุตรชายของเธอ? พวกเขาสิ้นหวังและกลับไปเดนมาร์กหรือไม่ หลังการเดินทางอันน่าเศร้าสู่กรุงนิวยอร์กเป็นเวลาหกสัปดาห์? ไม่ โดยพึ่งพาประจักษ์พยานในพระผู้ช่วยให้รอดของตนรวมทั้งแผนแห่งความรอด ผนวกกับความวางใจในพระผู้เป็นเจ้า พวกเขารุดหน้าต่อไปอย่างกล้าหาญด้วยรถไฟ เรือกลไฟ และขบวนเกวียน พวกเขามาถึงหุบเขาซอลท์เลคเมื่อวันที่ 3 กันยายน ปี 1862 และเข้าร่วมการสร้างไซอัน
พวกเขาตั้งรกรากในเอฟราอิม ยูทาห์ ที่นั่นแอนดรูว์แต่งงานและเริ่มชีวิตครอบครัว ต่อมาแอนดรูว์ย้ายครอบครัว รวมทั้งคุณแม่ ไปลีไฮ ยูทาห์ ที่นั่นเขากลายเป็นเกษตรกร นายธนาคาร และนายกเทศมนตรีที่ประสบความสำเร็จ เขารับใช้เป็นผู้สอนศาสนาสามปีที่ประเทศบ้านเกิด เป็นฝ่ายอธิการนานกว่าสองทศวรรษ และอยู่ในสภาสูงหรือโควรัมมหาปุโรหิตเกินกว่าสามทศวรรษ ลูกชายสามคนของเขารับใช้เป็นผู้สอนศาสนาในเดนมาร์กและนอรเวย์
ด้วยดวงตามรรตัย เราไม่อาจเห็นบทสุดท้ายที่รุ่งโรจน์จากบทเริ่มต้นที่นองน้ำตา แต่ด้วยศรัทธาในพระคริสต์ เราสามารถมองอนาคตด้วยความหวัง และเราสามารถยึดมั่นกับพระสัญญาที่ว่าพระเจ้าทรงจดจำและประทานรางวัลแก่วิสุทธิชนที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ รวมถึงเจนส์ แอน แคธรีน และแอนดรูว์ พระเจ้าทรงระลึกถึงพวกเขา และทรงระลึกถึงเรา ทรงสัญญาไว้ว่า:
“แต่เราก็จะไม่ลืมเจ้า
“ดูสิ เราได้สลักเจ้าไว้บนฝ่ามือของเรา” (อิสยาห์ 49:15–16)