2023
การปฏิบัติศาสนกิจด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน
กุมภาพันธ์ 2023


“การปฏิบัติศาสนกิจด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน,” เลียโฮนา, ก.พ. 2023.

หลักธรรมของการปฏิบัติศาสนกิจ

การปฏิบัติศาสนกิจด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน

การพัฒนาความอ่อนน้อมถ่อมตนให้มากขึ้นจะช่วยปรับปรุงความสามารถของเราในการปฏิบัติศาสนกิจให้เป็นดังที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำ

ยอห์นถวายบัพติศมาพระเยซู

ยอห์นถวายบัพติศมาพระเยซู โดย แฮร์รีย์ แอนเดอร์สัน

ยอห์นผู้ถวายบัพติศมาเป็นแบบอย่างของความอ่อนน้อมถ่อมตน

ยอห์นผู้ถวายบัพติศมาประสบความสำเร็จอย่างมากในการปฏิบัติศาสนกิจ เขาทำให้ผู้คนมากมายเข้าใจความจริงมากขึ้น แต่ยอห์นเข้าใจว่าบทบาทหลักของเขาคือการเตรียมผู้คนให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงโดยพระผู้ช่วยให้รอด ยอห์นรู้ว่าพระเยซู “ต้องยิ่งใหญ่ขึ้น แต่ [เขา] ต้องด้อยลง” (ยอห์น 3:30) เขายกย่องชมเชยผู้ที่สมควรได้รับคำชื่นชมและรัศมีภาพ เขารู้ว่าพลังอำนาจในการทำความดีนั้นมาจากที่ใด คนอื่นอาจรู้สึกดีกับสิ่งที่พวกเขาทำแต่ยอห์นเป็นแบบอย่างให้เห็นเด่นชัดถึงคุณลักษณะของความอ่อนน้อมถ่อมตนเหมือนพระคริสต์

เมื่อพระเยซูเสด็จมาหายอห์นและขอให้เขาบัพติศมาพระองค์ ยอห์นตอบรับด้วยความประหลาดใจอย่างอ่อนน้อมว่า “ข้าพระองค์ต้องการจะรับบัพติศมาจากพระองค์ ควรหรือที่พระองค์จะเสด็จมาหาข้าพระองค์?” (มัทธิว 3:14) แล้วยอห์นก็แสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนอีกครั้งโดยเชื่อฟังการนำทางของพระผู้ช่วยให้รอดและทำตามที่พระองค์ทรงร้องขอ

เพราะความอ่อนน้อมถ่อมตนของยอห์น เขาจึงสามารถเตรียมทางให้ผู้คนมากมายมาหาพระเยซูคริสต์

ชายชรากำลังสวดอ้อนวอน

การฝึกฝนความอ่อนน้อมถ่อมตนในการปฏิบัติศาสนกิจ

การพยายามเรียนรู้ความอ่อนน้อมถ่อมตนจะช่วยสนับสนุนความพยายามของเราในการปฏิบัติศาสนกิจต่อกัน

1. การยอมรับงานมอบหมายให้ปฏิบัติศาสนกิจจากผู้นำของเราที่ได้รับเรียกต้องอาศัยความอ่อนน้อมถ่อมตน (ดู 1 เปโตร 5:1–6; ฟีลิปปี 2:8) ความอ่อนน้อมถ่อมตนช่วยให้เราก้าวไปข้างหน้าด้วยศรัทธาเชื่อมั่นว่าพระเจ้าจะประทานพรให้กับความพยายามของเรา (ดู อีเธอร์ 12:27; หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:28)

2. การแสวงหาการนำทางและทำตามการกระตุ้นเตือนต้องอาศัยความอ่อนน้อมถ่อมตน การเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนทำให้เราว่านอนสอนง่ายและเปิดรับการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณได้มากขึ้น (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 112:10) ใจที่อ่อนน้อมถ่อมตนพร้อมรับการดลใจมากกว่า อ่อนโยนกว่า และเปี่ยมด้วยความเมตตา การได้รับการดลใจจะช่วยให้เรารับใช้ในวิธีที่ดีที่สุดสำหรับคนที่เราจะปฏิบัติศาสนกิจด้วย

3. การมีส่วนร่วมและรับใช้ผู้คนที่แตกต่างจากเราต้องอาศัยความอ่อนน้อมถ่อมตน (ดู โรม 12:3–5; ฟีลิปปี 2:1–3) ไม่ว่าเราจะแตกต่างกันอย่างไร การพยายามทำความเข้าใจว่าเรามีความเหมือนกันจะช่วยให้เราเชื่อมความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้น การฝึกทักษะการรับฟังอย่างตั้งใจจะช่วยให้เราเข้าใจ เรียนรู้ และตระหนักได้ว่าจะช่วยพวกเขาอย่างไร การถามตัวเราเองว่า “ถ้าฉันเป็นพวกเขา อะไรจะช่วยฉันได้มากที่สุด?” อาจให้แนวคิดที่ดีกับเรา

4. การตระหนักว่าเราทุกคนยังคงต้องเรียนรู้และเติบโตไปด้วยกันต้องอาศัยความอ่อนน้อมถ่อมตน เราสามารถอดทนกับผู้อื่นและหวังว่าพวกเขาจะอดทนกับเราได้ (ดู โคโลสี 3:12–13) การขอความคิดเห็นเกี่ยวกับวิธีปรับปรุงตนเองต้องอาศัยความอ่อนน้อมถ่อมตน

5. ทางด้านผู้รับการปฏิบัติศาสนกิจ การยอมรับความช่วยเหลือไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป โดยธรรมชาติแล้วเราต้องการรู้สึกว่าเราสามารถรับมือกับปัญหาด้วยตัวเราเอง อย่างไรก็ตาม การยอมรับการปฏิบัติศาสนกิจจากผู้อื่นเป็นวิธีหนึ่งในการเสริมสร้างมิตรภาพเนื่องจากการรับใช้ผู้อื่นช่วยส่งเสริมความรักที่มีต่อกัน การยอมให้ผู้อื่นรับใช้เราต้องอาศัยจิตใจที่อ่อนโยนและอ่อนน้อมซึ่งเราทุกคนควรปฏิบัติ (ดู 1 เปโตร 3:8–9)

ผู้หญิงอ่านพระคัมภีร์

พัฒนาความอ่อนน้อมถ่อมตน

เมื่อเรารู้จักพระผู้ช่วยให้รอด เราจะรู้ได้ดีขึ้นว่าพระองค์จะทรงทำอย่างไรหากต้องทรงปฏิบัติศาสนกิจแทนเรา เราจะพัฒนาคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์ด้านความอ่อนน้อมถ่อมตนได้อย่างไร?

  1. เราสามารถอดอาหารและสวดอ้อนวอนเพื่อทูลขอความอ่อนน้อมถ่อมตน (ดู ฮีลามัน 3:35; สดุดี 35:13)

  2. เราสามารถจดจำและสำนึกคุณต่อสิ่งที่พระองค์ทรงทำเพื่อเรา (ดู โมไซยาห์ 4:11)

  3. เราสามารถตระหนักถึงการพึ่งพาพระองค์ (ดู โมไซยาห์ 2:23–25; อีเธอร์ 12:27)

  4. เราสามารถกลับใจ (ดู แอลมา 5:26–29)

  5. ความอ่อนน้อมถ่อมตนของเราจะเพิ่มพูนเมื่อเราเชื้อเชิญให้พระวิญญาณเข้ามาในชีวิตเรา (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 11:12 )