ดิจิทัลเท่านั้น
เจ็ดวิธีในการเป็นชุมชนวิสุทธิชนที่เป็นหนึ่งเดียวกันและเป็นมิตรมากขึ้น
การเสริมสร้างที่ประชุมของเราเริ่มที่ตัวเรา
ในศาสนจักรที่มีสมาชิกอยู่ทั่วโลก ประจักษ์พยานของเราเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์และพระเจ้าพระเยซูคริสต์รวมชุมชนวิสุทธิชนยุคสุดท้ายของเราเป็นหนึ่งเดียวกัน เราพยายามด้วยกันที่จะเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น โดยน้อมรับความจริงของพระองค์ที่ว่า “จงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน; และหากเจ้าไม่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเจ้าก็มิใช่ของเรา” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 38:27)
ใน 4 นีไฟ เราอ่านเรื่องราวของความรุ่งเรืองและการล่มสลายของสังคมที่มีพระคริสต์เป็นศูนย์กลาง พวกเขาไม่มีความขัดแย้ง พวกเขามี “สิ่งของทั้งหมดเพื่อใช้ร่วมกัน” (4 นีไฟ 1:3) พวกเขาดูแลคนยากจน และพวกเขาได้รับแรงบันดาลใจจาก “ความรักของพระผู้เป็นเจ้า” (4 นีไฟ 1:15) ซึ่งอยู่ในใจพวกเขา พวกเขาเป็นหนึ่งเดียวกัน (ดู 4 นีไฟ 1:17) อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปพวกเขาละทิ้งค่านิยมเหล่านี้และประจันหน้ากัน สูญเสียสังคมของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่พวกเขาเคยมี
เราจะก้าวไปสู่ชุมชนที่มีพระคริสต์เป็นศูนย์กลางอย่างที่พวกเขาเคยมีได้อย่างไร? ต่อไปนี้เป็นแนวคิดเจ็ดข้อที่สามารถช่วยให้เราเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้นในฐานะบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า
1. แนะนำตัวเองกับคนที่ท่านไม่รู้จัก
ในฐานะผู้เลี้ยงที่ดี พระผู้ช่วยให้รอดทรงรู้จักเราเป็นการส่วนตัวและ “เรียกชื่อแกะของท่าน” (ยอห์น 10:3) เราสามารถทำตามแบบอย่างของพระองค์ได้โดยพยายามทำความรู้จักและเข้าใจซึ่งกันและกัน เรายังช่วยให้ผู้อื่นรู้สึกมีคุณค่าได้อีกด้วย ไม่ว่าสเตคของท่านจะใหญ่หรือสาขาของท่านจะเล็กเพียงใด ย่อมมีคนที่ท่านสามารถทำความรู้จักได้ดีขึ้นเสมอ
การแนะนำตัวเองแสดงว่าท่านห่วงใยพี่น้องของท่าน ไม่ว่าท่านจะพูดคุยกับคนที่มาโบสถ์เป็นครั้งแรกหรือพูดคุยกับสมาชิกที่รู้จักกันมานานซึ่งท่านไม่ค่อยได้สนทนาด้วย เป็นการแสดงความสำนึกคุณต่อสิ่งที่เอ็ลเดอร์แรนดี ดี. ฟังก์ เมื่อท่านเป็นสมาชิกแห่งสาวกเจ็ดสิบเรียกว่า “ความเต็มใจที่จะเข้ามาในคอกและอยู่ในคอก”1 ในการสนทนาครั้งต่อๆ ไป ให้นึกถึงแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดว่าการเรียกชื่อใครสักคนนั้นทรงพลังและเอาใจใส่เพียงใด
2. เน้นที่งานอย่างเดียวกันของเรา—งานแห่งความรอดและความสูงส่ง
อัครสาวกเปาโลเขียนถึงวิสุทธิชนในเมืองโครินธ์ ท่านวิงวอนว่า “อย่ามีความแตกแยกในพวกท่าน แต่ขอให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในความคิดและความเห็น” (1 โครินธ์ 1:10) วิธีหนึ่งที่จะมีความคิดเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันคือทำงานร่วมกันต่อความพยายามเดียวกันในการไปต่อและอยู่บนเส้นทางพันธสัญญา ไม่ว่าตอนนี้เราแต่ละคนจะอยู่ที่ใดในการเดินทางของเรา การเชื้อเชิญให้ดำเนินชีวิต ดูแล เชื้อเชิญ และเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในงานแห่งความรอดและความสูงส่ง2 ให้โอกาสที่เป็นหนึ่งเดียวกันแก่เราในฐานะผู้รักษาพันธสัญญา
เราสามารถมุ่งเน้นไปที่ความรับผิดชอบที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้ทั้งสี่อย่างนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของหน่วยและชุมชนในท้องที่ของเรา ในฐานะสาขา วอร์ด สเตค หรือคณะเผยแผ่ สมาชิกและผู้นำสามารถหารือร่วมกันเพื่อทำความเข้าใจถึงวิธีปฏิบัติศาสนกิจต่อกันในอุดมการณ์เดียวกัน การทำงานเคียงข้างกันในอุดมการณ์เดียวกันนี้สามารถรวมเราเข้าด้วยกันในรูปแบบที่พิเศษ
3. หลีกเลี่ยงการปล่อยหรือกระจายข่าวลือ
ข่าวลือหรือข่าวซุบซิบที่ทำร้ายจิตใจซึ่งอาจเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม สามารถสร้างการรับรู้เชิงลบต่อผู้อื่นและฉีกสายสัมพันธ์ของเราออกจากกัน อย่าเชื่อข่าวลือที่เป็นอันตราย เนื่องจากการทำเช่นนั้นจะสร้างรอยร้าวในรากฐานของชุมชนศาสนจักรของเรา แม้ว่าข่าวลือจะเป็นจริง หลีกเลี่ยงการเผยแพร่หรือเริ่มต้นข่าวนั้น ไม่มีใครดีพร้อมและไม่มีใครได้รับยกเว้นจากความต้องการให้พระผู้เป็นเจ้าทรงช่วยเหลือ ดังนั้นอย่าเป็นคนแรกที่ขว้างหินของท่าน (ดู ยอห์น 8:7)
ถ้าสมาชิกวอร์ดหรือสาขาต้องการคำตักเตือน ผู้นำควรหารือร่วมกับเขาเป็นการส่วนตัว พระคริสต์ทรงบัญชาว่า “หากพี่น้องของท่านคนหนึ่งทำผิดต่อท่าน จงไปหาและชี้ความผิดต่อเขาสองต่อสองเท่านั้น” (มัทธิว 18:15)
4. ปฏิบัติศาสนกิจด้วยรอยยิ้ม
เอ็ลเดอร์เอเดรียน โอชวาแห่งสาวกเจ็ดสิบกล่าวว่าพระเจ้า “ทรงต้องการให้ท่านเป็นส่วนหนึ่งในงานอันสำคัญยิ่งของพระองค์ แผนแห่งความรอดเป็นจริงได้มากที่สุดเมื่อท่านช่วยผู้อื่นให้ดำเนินชีวิตตามแผนนั้น”3 งานมอบหมายในการปฏิบัติศาสนกิจเป็นวิธีหนึ่งที่เราทำได้อย่างมีความสุข
ไม่ว่าท่านจะปฏิบัติศาสนกิจอยู่บ่อยๆ หรือต้องการทราบว่างานมอบหมายในการปฏิบัติศาสนกิจของท่านคืออะไร เราสามารถแสวงหาพระวิญญาณได้เสมอเพื่อให้รู้ว่าพระเจ้าทรงประสงค์ให้เราทำอะไรเพื่อรับใช้ผู้อื่นในนามของพระองค์ เมื่อเราพยายามทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดในการปฏิบัติศาสนกิจต่อคนคนหนึ่ง เราจะสัมผัสปีติและความดีงามแห่งพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ในการสร้างชุมชนที่เป็นมิตร
5. พยายามเข้าใจซึ่งกันและกันให้ดีขึ้น
พวกเราทุกคนมีบุคลิกและคุณลักษณะที่แตกต่างกัน และเราทุกคนเป็นที่ต้องการในกายของพระคริสต์ (ดู 1 โครินธ์ -31) เราสามารถพยายามเข้าใจและเห็นคุณค่าของทุกคนได้ดีขึ้น ขณะที่เราพยายามทำความรู้จักกันมากขึ้น เราอาจพบว่าเราสามารถสนับสนุนความต้องการของกันและกันได้ดีขึ้น
ตัวอย่างเช่น อุปนิสัยอย่างหนึ่งที่อาจแตกต่างกันในหมู่พวกเราคือระหว่างคนเก็บตัวกับคนเปิดเผย คนบางคนที่มักเรียกกันว่า “คนเปิดเผย” รู้สึกสบายใจมากในสภาพแวดล้อมแบบกลุ่มใหญ่หรือการมอบหมายงานที่ต้องการให้พวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับคนที่พวกเขาไม่รู้จัก คนอื่นๆ ที่เรียกว่า “คนเก็บตัว” มักจะชอบสถานการณ์ที่ช่วยให้พวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับคนกลุ่มเล็กๆ ที่พวกเขาสามารถติดต่อได้อย่างใกล้ชิดมากกว่า ทั้งสองแบบมีคุณสมบัติที่สำคัญในงานของพระเจ้า ศาสนจักรจัดเตรียมโอกาสมากมายที่บางครั้งเป็นธรรมชาติมากกว่าสำหรับคนเปิดเผย เช่น การพูดในโบสถ์ การทำงานเผยแผ่ศาสนา หรือการเข้าร่วมกิจกรรมกับผู้อื่นที่พวกเขาไม่รู้จักดี ขณะที่เราพยายามเสริมสร้างชุมชนของเรา เราสามารถตระหนักถึงความต้องการของคนเก็บตัวและดำเนินการเพื่อช่วยให้พวกเขามีส่วนร่วมในงานแห่งความรอดและความสูงส่งได้อย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้นด้วยวิธีที่เสริมจุดแข็งและคุณสมบัติการเก็บตัวของพวกเขา
วิธีอื่นๆ ที่เราสามารถพยายามเข้าใจและสนับสนุนซึ่งกันและกันได้ดีขึ้น ได้แก่ การคำนึงถึงภูมิหลังของครอบครัว เศรษฐกิจ ความต้องการด้านสุขภาพ ความสนใจ และจุดที่แต่ละคนอยู่บนเส้นทางพันธสัญญา ในการเตรียมกิจกรรม ชั้นเรียน การประชุม และปฏิสัมพันธ์ทุกประเภท เราสามารถระลึกไว้เสมอว่าจะช่วยให้ทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วมและเห็นว่าพวกเขาเป็นที่ต้องการอย่างไรในงานของพระเจ้า สิ่งนี้เป็นจริงในการเข้าถึงสมาชิกที่มีความสนใจและภูมิหลังที่หลากหลายเช่นกัน
6. ให้อภัยและแสวงหาการให้อภัย
พันธสัญญาใหม่พูดถึงการรักษาที่น่าอัศจรรย์มากมายและการเรียกจากสวรรค์มาสู่การเป็นสาวก เป็นพยานนิรันดร์ถึงความสามารถของเราในการเปลี่ยนแปลง การชุมนุมที่ต้อนรับและมีพระคริสต์เป็นศูนย์กลางจะไม่สมบูรณ์หากไม่มีหลักคำสอนเรื่องการให้อภัย เป็นสิ่งสำคัญที่เมื่อเราทำผิดต่อผู้อื่นและเมื่อพวกเขาทำผิดต่อเรา เราทุกคนสามารถคืนดีกันได้ผ่านทางพระผู้ไถ่ของเรา (ดู 2 โครินธ์ 5:18)
ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันกระตุ้นให้เรา “ใช้ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความกล้าหาญ และความเข้มแข็งที่จำเป็นทั้งต่อการให้อภัยและแสวงหาการให้อภัย”4 แม้ว่าการให้อภัยผู้อื่นอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สิ่งนี้จะขยายขีดความสามารถของเราในการรัก แม้ว่าการแสวงหาการให้อภัยจากผู้อื่นอาจเป็นเรื่องฝืนใจ แต่สิ่งนี้จะเสริมสร้างความสามารถในการกลับใจของเราได้
การแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อข้อบกพร่องและความผิดพลาดของผู้อื่นทำให้ความรักของพระเจ้าเข้าถึงเรามากขึ้น การให้อภัยทำให้กลุ่มวิสุทธิชนยุคสุดท้ายของเราเข้าใกล้พระคริสต์มากขึ้นและช่วยให้เราได้ “ผูกพันกันไว้ในความเป็นหนึ่งเดียวและในความรักที่มีต่อกัน” อย่างเต็มที่มากขึ้น (โมไซยาห์ 18:21)
7. สร้างชุมชนแห่งเสรีภาพทางศาสนาท่ามกลางทุกศาสนาและความเชื่อ
การสร้างชุมชนทางศาสนาที่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและเป็นมิตรมากขึ้นนั้นขยายเกินขอบเขตศาสนาของเรา เมื่อสมาชิกศาสนจักรรับใช้ทั่วโลกตั้งแต่อาร์เจนตินาถึงซิมบับเว เราสามารถรักทุกคนได้ โดยไม่คำนึงถึงความเชื่อทางศาสนาของพวกเขา
เอ็ลเดอร์โรนัลด์ เอ. ราสแบนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “ศาสนจักรเราร่วมมือกับศาสนาอื่นที่ปกป้องคนทุกความเชื่อทุกศาสนาและสิทธิ์ของพวกเขาในการพูดถึงสิ่งที่ตนเชื่อมั่น นี่ไม่ได้หมายความว่าเรายอมรับความเชื่อของกันและกัน แต่เรามีหลายอย่างเหมือนกันมากกว่าคนที่ปรารถนาจะปิดปากเรา” 5
สนทนากับผู้อื่นว่าทำไมพวกเขาจึงรักความเชื่อของพวกเขา และแบ่งปันกับพวกเขาว่าทำไมท่านจึงรักความเชื่อของท่าน มองหาสิ่งที่ท่านทำร่วมกันได้เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ชุมชนของท่าน การผูกมิตรกับผู้ที่นับถือศาสนาต่างจากเราสร้างความสามัคคีที่ไม่อาจทำลายได้ซึ่งทำให้พระผู้เป็นเจ้าพอพระทัย เพราะว่าเรา “ทั้งหลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในพระเยซูคริสต์” ดู กาลาเทีย 3:28)