“ข้าพเจ้าอยากให้ท่านจดจำ,” เลียโฮนา, ก.ย. 2023.
“ข้าพเจ้าอยากให้ท่านจดจำ”
โมไซยาห์ 5:12
เราแต่ละคนได้รับเครื่องเตือนใจเฉพาะตัวให้ระลึกถึงพระคริสต์ มุ่งไปที่สิ่งเหล่านั้นเพื่อระลึกถึงพระองค์
เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ในโลกมรรตัย เราทุกคนไม่เพียงได้รับผลของม่านบังความจำเท่านั้นแต่ยังได้รับ เงื่อนไข ของความหลงลืมด้วย ม่านบังความจำทำให้เราลืมภาพและความจริงที่เราเคยรู้ในสถานะก่อนชีวิตมรรตัยของเรา เงื่อนไขของความหลงลืมทำให้เราลืมและหลงไปจากความจริงที่เราเคยเรียนรู้หรือเรียนรู้ซ้ำในชีวิตนี้ หากไม่สามารถเอาชนะสภาวะที่ตกไปเพราะความหลงลืมได้ เราจะกลายเป็นคนที่ “ว่องไวในการทำความชั่วช้าสามานย์แต่เชื่องช้าในการระลึกถึงพระเจ้าพระผู้เป็นเจ้า [ของเรา]” (1 นีไฟ 17:45)
สิ่งเตือนความจำเกี่ยวกับพระคริสต์
ในทุกพระบัญญัติ พระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญาที่จะ “ทรงเตรียมทางไว้ให้พวก [เรา] เพื่อพวก [เรา] จะทำสำเร็จในสิ่งซึ่งพระองค์ทรงบัญชา” (1 นีไฟ 3:7) เพื่อที่เราจะเชื่อฟังพระบัญญัติที่ให้ระลึกถึง พระเจ้าทรงเตรียมเครื่องเตือนใจไว้
แท้จริงแล้ว ทุกสิ่ง สร้างไว้และรังสรรค์ไว้เพื่อกล่าวคำพยานและเตือนใจเราถึงพระคริสต์ (ดู โมเสส 6:63; ดู แอลมา 30:44 ด้วย) ตัวอย่างเช่น เป็นพระประสงค์ที่เราจะระลึกถึงพระองค์ “คราข้าท่องทั่วไปในกลางป่าพนาลี ยินเหล่าปักษีร้องไพเราะเสนาะป่า”1 แม้ศิลายังส่งเสียงร้องเพื่อเป็นพยานและเป็นเครื่องเตือนใจถึงพระเยซู (ดู ลูกา 19:40) อันที่จริง โลกทั้งใบทั้งที่ได้ยินและมองเห็นเป็นพยานอันล้ำเลิศและให้เครื่องเตือนใจที่น่าทึ่งถึงพระผู้สร้าง
เครื่องเตือนใจที่ดูเหมือนจะมีอยู่ดาษดื่นในการสร้างทุกอย่างได้รับการเสริมเพิ่มขึ้นด้วยเครื่องเตือนใจที่เป็นทางการยิ่งกว่าที่เราพบในศาสนพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ อบินาไดสอนว่าพระเจ้าทรงบัญชาให้อิสราเอลยุคโบราณประกอบศาสนพิธีที่เคร่งครัดเพื่อ “ระลึกถึงพระผู้เป็นเจ้าและหน้าที่ของพวกเขาที่มีต่อพระองค์” (โมไซยาห์ 13:30) ศาสดาพยากรณ์ยุคปัจจุบันสอนเรื่องเดียวกัน ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ (1895–1985) ประกาศว่า “ข้าพเจ้าเชื่อว่าจะไม่มีการละทิ้งความเชื่อ อีกทั้งอาชญากรรมใดๆ เกิดขึ้นเลยหากผู้คนจะระลึกถึงอย่างแท้จริงถึงสิ่งที่พวกเขาทำพันธสัญญาไว้ที่ริมน้ำหรือที่โต๊ะศีลระลึกและในพระวิหาร”2
การชดใช้ของพระคริสต์มีผลต่อคนทั้งโลกและรายบุคคล เครื่องเตือนใจของพระองค์ก็เป็นเช่นนั้น นั่นคือ นอกจากศาสนพิธีต่างๆ ที่ทำในรูปแบบเดียวกันสำหรับทุกคน พระองค์ยังประทานเครื่องเตือนใจที่แตกต่างกันไปแก่เรา ตัวอย่างเช่น ดินเหนียวธรรมดาหรือโคลนที่ไม่น่าจะทำให้ผู้คนมากมายระลึกถึงพระเยซูหรือเปี่ยมล้นด้วยอารมณ์และความสำนึกคุณต่อพระองค์ แต่สำหรับชายที่ได้การมองเห็นคืนมาเมื่อพระเยซูทรงเจิมดวงตาของเขาด้วยดินเหนียวอาจระลึกถึงพระเยซูเป็นพิเศษทุกครั้งที่มองไปที่ดินเหนียวจากโคลน! (ดู ยอห์น 9:6–7) ในทำนองเดียวกันคงไม่มีสักครั้งที่นาอามานจะมองดูแม่น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่น้ำจอร์แดนโดยไม่ระลึกถึงพระเจ้าผู้ทรงเยียวยาเขาให้หายที่นั่น (ดู 2 พงศ์กษัตริย์ 5:1–15) เราแต่ละคนได้รับเครื่องเตือนใจเฉพาะตัวให้ระลึกถึงพระคริสต์ มุ่งไปที่สิ่งเหล่านั้นเพื่อระลึกถึงพระองค์
กล่าวคำพยานถึงพระคริสต์
บันทึกและประวัติศาสตร์เป็นสิ่งเพิ่มเติมที่พระเจ้าทรงทำให้เป็นการเตรียมช่วยให้เราทำตามพระบัญญัติของพระองค์ที่จะระลึกถึง พระคัมภีร์—บันทึกเกี่ยวกับสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงปฏิบัติต่อบุตรธิดาของพระองค์มักกล่าวถึงการเป็นพยาน หรือ “[กล่าวคำ] พยาน” ถึงพระองค์ (ดู 2 โครินธ์ 8:3; 1 ยอห์น 5:7; 1 นีไฟ 10:10; 12:7; หลักคำสอนและพันธสัญญา 109:31; 112:4)
บันทึกศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงบันทึกประจำวันส่วนตัวช่วยให้เรากล่าวคำพยาน ในช่วงเวลานั้น ช่วงเวลาที่ลึกซึ้งอยู่กับพระวิญญาณเป็นของประทานที่เชื่อว่าเราจะไม่มีวันลืม แต่เงื่อนไขของความหลงลืมทำให้เกิดความสั่นคลอนแม้เป็นประสบการณ์ที่ลึกซึ้งที่สุดก็จางหายไปตามกาลเวลา การบันทึกประจำวัน ภาพ หรือบันทึกไม่เพียงช่วยให้เราจดจำช่วงเวลาที่ลึกซึ้งได้เท่านั้นแต่ยังนำอารมณ์นั้นกลับมาด้วยรวมถึงการรู้สึกถึงพระวิญญาณ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่พระบัญญัติข้อแรกหลังการจัดตั้งศาสนจักรในสมัยการประทานนี้มีความว่า “จะต้องมีการเขียนบันทึกในบรรดาพวกเจ้า” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 21:1) การเก็บบันทึกอย่างเหมาะสมขยายความทรงจำของเราและทำให้เราสำนึกในความผิดพลาดของเราและนำเราไปหาพระผู้เป็นเจ้า (ดู แอลมา 37:8)
แน่นอน สิ่งที่สมบูรณ์แบบที่สุดคือเราสามารถกล่าวคำพยานถึงความจริงเพราะเราได้รับการเป็นพยานถึงความจริงจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ ผู้ทรงเป็น “พยานแห่งสวรรค์” (โมเสส 6:61) ในบทบาทนี้ พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นพยานความจริงใน “แผ่นดวงใจ [ของเรา]” (2 โครินธ์ 3:3) ทรงช่วยให้เราระลึกถึงพระเยซูและทุกสิ่งที่ทรงสอนเรา (ดู ยอห์น 14:26)
การเชื่อมโยงระหว่างพระเยซู คำพยาน พระวิญญาณบริสุทธิ์ กับการระลึกถึงมีอยู่ใน โมโรไน 10:3–5 เราได้รับสัญญาว่าถ้าเราอ่านพระคัมภีร์มอรมอน คำพยานศักดิ์สิทธิ์ ในวิญญาณของการระลึกถึงและทูลถามพระผู้เป็นเจ้าในพระนามของพระคริสต์ด้วยใจจริง ด้วยเจตนาแท้จริงโดยมีศรัทธาในพระคริสต์ พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงแสดงความจริงของคำพยานนี้ให้ประจักษ์แก่เรา และหากคำพยานที่พิเศษเฉพาะนี้เป็นความจริง เช่นนั้นพระเยซูคือพระคริสต์
ระลึกถึงเพื่อรับการไถ่
ระลึกถึงพระเยซูนำไปสู่การไถ่และความรอด จงพิจารณาบทบาทของการระลึกถึงที่อยู่ในการไถ่แอลมาผู้บุตร เมื่อเทพปรากฏต่อแอลมา เทพแจ้งพระบัญชาที่ให้แอลมา “อย่าพยายามทำลายศาสนจักรอีกต่อไป” แต่ก่อนจะแจ้งประกาศิตนั้น เทพประกาศว่า “จง ระลึกถึง การเป็นเชลยของบรรพบุรุษเจ้า … และ นึกถึง สิ่งสำคัญยิ่งเพียงใดที่ [พระคริสต์] ทรงกระทำเพื่อคนเหล่านั้น; เพราะพวกเขาอยู่ในความเป็นทาส, และพระองค์ทรงปลดปล่อยพวกเขา” (โมไซยาห์ 27:16; เน้นตัวเอน)
คำบัญชาให้ระลึกถึงของเทพไม่ได้เป็นเพียงการชี้นำที่ชาญฉลาดและนำไปใช้ได้อย่างกว้างขวาง สำหรับแอลมา นี่เป็นการบอกใบ้ที่จำเพาะเจาะจง เบาะแสที่เปี่ยมด้วยรัก สำหรับการที่ท่านจะรอดชีวิตจากประสบการณ์เฉียดตายที่กำลังจะได้รับ
ยี่สิบปีต่อมา แอลมาเล่ารายละเอียดที่น่าสะเทือนใจให้ฮีลามันบุตรของตนฟังเกี่ยวกับสิ่งที่ท่านต้องผ่านพ้นขณะนอนเป็นอัมพาตและเป็นใบ้อยู่สามวัน “โดยกลับใจจนแทบถึงแก่ความตาย” (โมไซยาห์ 27:28) หลังจากเทพจากไป ทันใดนั้นแอลมาระลึกถึง แต่สิ่งที่ท่านจำได้คือบาปของท่าน
“พ่อถูกทรมานด้วยความทรมานนิรันดร์,” แอลมาเล่า “… แท้จริงแล้ว, พ่อจำบาปและความชั่วช้าสามานย์ทั้งหมดของพ่อได้, ซึ่งทรมานพ่อด้วยความเจ็บปวดแห่งนรก” (แอลมา 36:12–13) ความคิดเรื่องยืนอยู่เบื้องพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้าทำให้แอลมาเต็มไปด้วย “ความสะพรึงกลัวอันเกินกว่าจะพรรณนาได้” จนทำให้ท่านคิดหนี ใช่เพียงด้วยความตายแต่ด้วยการ “สาบสูญไปทั้งจิตวิญญาณและร่างกาย” (แอลมา 36:14–15)
เราต้องหยุดเพื่อทำความเข้าใจ: แอลมาไม่เพียงถูกทำโทษด้วยเวลาสามวันอันเลวร้ายซึ่งกำหนดมาล่วงหน้าแล้วว่าเป็นผลอันสาสมกับบาปของท่าน ไม่เลย ท่านอยู่ในช่วงแรก—สามวันแรก—ของการถูก “ล้อมรอบด้วยโซ่ อันเป็นนิจ แห่งความตาย” (แอลมา 36:18 เน้นตัวเอน)
แน่นอนว่า ท่านจะต้องอยู่ในสภาวะอันเลวร้ายเช่นนี้เกินสามวัน—จนไม่มีที่สิ้นสุด—หากไม่ใช่เป็นเพราะความจริงที่ว่า ด้วยความเมตตา และด้วยเหตุบางอย่าง และจากที่ใดสักแห่งท่านระลึกได้ว่าบิดาของท่านได้พยากรณ์ “เกี่ยวกับการเสด็จมาของพระเยซูคริสต์องค์หนึ่ง, พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า, เพื่อทรงชดใช้บาปของโลก” จากนั้นท่านกล่าวว่า
“บัดนี้, เมื่อจิตของพ่อนึกได้ถึงความคิดนี้, พ่อร้องอยู่ภายในใจพ่อ : ข้าแต่พระเยซู, พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า, ขอพระองค์ทรงเมตตาข้าพระองค์, ผู้อยู่ในดีแห่งความขมขื่น, และถูกล้อมรอบด้วยโซ่อันเป็นนิจแห่งความตาย.
“และบัดนี้, ดูเถิด, เมื่อพ่อคิดดังนี้, พ่อจำความเจ็บปวดของพ่อไม่ได้อีก; แท้จริงแล้ว, พ่อไม่ปวดร้าวด้วยความทรงจำถึงบาปของพ่ออีก” (แอลมา 36:17–19)
แอลมาทำตามบัญชาของเทพที่ให้ระลึกถึง ท่านระลึกถึงพระเยซู และเช่นเดียวกับที่พระเยซูทรงปลดปล่อยบิดาของแอลมาจากการเป็นเชลย พระองค์ทรงปลดปล่อยแอลมาเช่นเดียวกัน
ช่างเป็นความเมตตาอันละเอียดอ่อนและการปลดปล่อยที่ทรงอานุภาพอะไรเช่นนี้! ช่างเป็นการเปลี่ยนแปลงของใจและความคิดที่น่าพิศวงอะไรเช่นนี้! แอลมาซึ่งก่อนหน้านี้คิดจะหลบหนีพระสิริของพระผู้เป็นเจ้าด้วยการสาบสูญไป บัดนี้กลับมานึกเห็นภาพพระผู้เป็นเจ้าและเหล่าเทพผู้บริสุทธิ์ของพระองค์และ “ใฝ่ฝันที่จะอยู่ที่นั่น” (แอลมา 36:22)
การเปลี่ยนแปลงอันน่าอัศจรรย์ครั้งนี้เกิดขึ้นจากความทรงจำที่เรียบง่าย ประสบการณ์ของแอลมาให้ความหมายที่แท้จริงตามถ้อยคำสุดท้ายของคำเทศนาครั้งสุดท้ายของกษัตริย์เบ็นจามิน: “และบัดนี้, โอ้มนุษย์, จงจำไว้, และอย่าพินาศเลย” (โมไซยาห์ 4:30)
พระองค์ทรงระลึกถึงเรา!
เมื่อเราพยายามระลึกถึงพระเยซูตลอดเวลา เป็นสิ่งสำคัญที่จะคิดไว้ในใจเสมอว่าพระองค์ทรงระลึกถึงเราตลอดเวลา พระคริสต์ทรงสลักเราไว้บนฝ่าพระหัตถ์ของพระองค์ (ดู อิสยาห์ 49:16) ลองคิดดู—พระเยซูผู้เปี่ยมด้วยพระเมตตาจะไม่ทรงลืม ไม่สามารถลืม กระนั้นพระองค์ทรงลืมบาปของเราอย่างง่ายดายและเต็มพระทัย ซึ่งทำให้พระองค์ทรงเจ็บปวด
นั่น เป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การระลึกถึง