“การอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์: มองเห็นพระผู้ช่วยให้รอดในพระคัมภีร์,” เลียโฮนา, ม.ค. 2024.
การอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์: มองเห็น พระผู้ช่วยให้รอดในพระคัมภีร์
การใช้แนวทางการอ่านที่หยิบยืมมาจากการดูงานศิลปะจะช่วยให้เรามองเห็นพระเยซูคริสต์ในพระคัมภีร์มอรมอน
มีเกลันเจโลใช้เวลากว่าหนึ่งปีในการสร้างประติมากรรม La Pietà [เวทนาสงสาร] ซึ่งเป็นประติมากรรมอันน่าทึ่งที่มารีย์อุ้มพระศพพระเยซูหลังการตรึงกางเขน เลโอนาร์โด ดา วินชีใช้เวลานานกว่านั้นประมาณสามปีในการวาดภาพ พระกระยาหารมื้อสุดท้าย อันโด่งดังของเขา
ถ้าให้เดา ท่านจะบอกว่าผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะใช้เวลาดูงานศิลปะแต่ละชิ้นโดยเฉลี่ยนานเท่าใด?
มีการค้นคว้าหนึ่งครั้งที่ให้คำตอบว่า 17 วินาที1
ท่านลองนึกภาพตามว่าท่านใช้เวลาเพียง 17 วินาทีในการดูงานศิลปะที่ศิลปินอาจใช้เวลาสร้างสรรค์เป็นเวลาหลายปี
แต่ถึงกระนั้นก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะในพิพิธภัณฑ์มีภาพวาดและประติมากรรมอยู่หลายร้อยชิ้น และเราไม่ได้มีเวลาว่างเหลือเฟือ เราจึงรีบเดินดูงานศิลปะเหล่านั้นอย่างรีบเร่งเพื่อจะได้ดูผลงานให้ได้มากที่สุด ช่างน่าขันที่ความกลัวของเราเองเป็นตัวการให้เราพลาดบางสิ่งบางอย่างไป เพราะท้ายที่สุดแล้วเราก็พลาดจุดประสงค์ที่แท้จริงของศิลปะ ซึ่งนั่นก็คืออารมณ์และความคิดที่ศิลปินต้องการให้เราสัมผัส เราสอดส่ายสายตามองผลงานทุกชิ้นในพิพิธภัณฑ์ แต่แท้จริงแล้วเรากลับมองผลงานเหล่านั้นไม่ เห็น เลยแม้แต่ชิ้นเดียว จากนั้นเราเดินออกจากพิพิธภัณฑ์อย่างเหนื่อยล้าและไร้แรงบันดาลใจ เราอาจสงสัยด้วยซ้ำว่าผู้คนมองเห็นอะไรในงานศิลปะจริงหรือเปล่า—หรือแท้จริงแล้วศิลปะเหล่านั้นไม่ได้มีไว้สำหรับทุกคน แต่มีไว้สำหรับคนที่มีการศึกษาสูงเท่านั้น
การมองอย่างพินิจพิเคราะห์
เพื่อแก้ไขปัญหานี้ พิพิธภัณฑ์ศิลปะทั่วโลกจึงสนับสนุนให้ผู้เข้าชมฝึกฝนสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “การมองอย่างพินิจพิเคราะห์”2 พวกเขาเชื้อเชิญให้ผู้คนเลือกงานศิลปะชิ้นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ ทำใจให้สบาย และมองดูอย่างละเอียดสักครู่หนึ่ง—5 ถึง 10 นาที มองจากหลายๆ มุม ก้าวเข้ามาใกล้เพื่อดูรายละเอียดให้ลึกขึ้น แล้วขยับออกไปมองภาพโดยรวม บางครั้งทางพิพิธภัณฑ์ถึงกับมีการแจ้งผู้เข้าชมด้วยซ้ำว่าอย่าอ่านป้ายตีความของพิพิธภัณฑ์ที่วิเคราะห์งานศิลปะ—อย่างน้อยก็จนกว่าผู้เข้าชมจะมีโอกาสสร้างความคิดเห็นและค้นพบบางสิ่งด้วยตนเอง
การมองอย่างพินิจพิเคราะห์ได้เปลี่ยนแปลงประสบการณ์ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะของหลายๆ คนไป บางคนที่ไม่เคยคิดว่าตนเองจะหลงรักศิลปะก็กลับกลายเป็นคนหลงใหลในงานศิลปะขึ้นมาได้ เพราะคนเหล่านี้มีความมั่นใจว่าตนสามารถค้นพบความหมายในงานศิลปะชิ้นใดก็ได้ และพวกเขามีความสุขกับสิ่งที่ค้นพบ พวกเขาเรียนรู้ว่าไม่จำเป็นต้องจบปริญญาด้านประวัติศาสตร์ศิลปะเพื่อจะเข้าถึงงานศิลปะได้ พวกเขาแค่ต้องไม่เร่งรีบและให้โอกาสศิลปะได้ทำหน้าที่ตามจุดประสงค์ที่ทำให้ศิลปะได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นมา
หลักการเดียวกันนี้สามารถประยุกต์ใช้กับการอ่านพระคัมภีร์ได้หรือไม่—ตัวอย่างเช่น กับการศึกษา จงตามเรามา ของพระคัมภีร์มอรมอนในปีนี้?
เรารู้ว่าพระคัมภีร์มอรมอน ซึ่งเป็นพยานหลักฐานอีกเล่มหนึ่งของพระเยซูคริสต์ เขียนขึ้นโดยมีเจตนาจะเสริมสร้างศรัทธาของเราในพระผู้ช่วยให้รอด (ดู 1 นีไฟ 6:4) เรารู้ว่าพระคัมภีร์มอรมอนเขียนขึ้นโดยศาสดาพยากรณ์ผู้ได้รับการดลใจของพระผู้เป็นเจ้า และมีไว้สำหรับยุคสมัยของเราโดยเฉพาะ (ดู มอรมอน 8:35 เป็นตัวอย่าง) เรารู้ว่าศาสดาพยากรณ์สมัยโบราณผู้เขียนพระคัมภีร์มอรมอนต้องเสียสละตนเองอย่างมาก เพียงแค่ขั้นตอนการแกะสลักคำบนแผ่นโลหะก็นับว่าต้องใช้ความอุตสาหะและแรงกาย (ดู เจคอบ 4:1) และบางคนถึงกับยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อรักษาบันทึกนี้ไว้ให้เราได้อ่านกันในทุกวันนี้ (ดู มอรมอน 6:6; โมโรไน 1)
แต่บางครั้ง เมื่อคราวที่เรายุ่งวุ่นวาย เราก็เร่งอ่านพระคัมภีร์มอรมอนโดยไม่ใส่ใจรายละเอียด เราอาจจะอ่านบางข้อผ่านๆ ไปในช่วงเวลาอาหารเช้าหรือระหว่างเดินทางไปทำงาน เราอาจจะเห็นทุกคำในบทหนึ่งผ่านสายตาไป แต่เราก็ไม่ได้จดจำถ้อยคำเหล่านั้นมากนัก แม้จะไม่ใช่ทุกครั้ง แต่บางครั้งเราก็ปิดหนังสือหรือแอปพลิเคชันไปพร้อมความรู้สึกที่ไม่ต่างไปจากตอนที่เพิ่งเริ่มอ่านเลย
การอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์
หากผลงานวิจิตรศิลป์สมควรได้รับการชื่นชมผ่านการมองอย่างพินิจพิเคราะห์ พระคัมภีร์มอรมอนก็อาจจะคู่ควรแก่การให้เราได้ “อ่านอย่างพินิจพิเคราะห์” เช่นกัน ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราต้องใช้เวลาในการศึกษาพระคัมภีร์นานขึ้น แต่ควรจะนานพอที่เราจะได้ประโยชน์จากจังหวะการอ่านที่เปลี่ยนไปนี้ แทนที่จะรีบอ่านให้จบสักบทหนึ่ง วันนี้ท่านอาจจะศึกษาแค่สามหรือสี่ข้อ แต่ควรจะศึกษาให้เข้าใจข้อเหล่านั้นอย่างถ่องแท้จริงๆ เราสังเกตเห็นรายละเอียด คำ และวลีต่างๆ เราไตร่ตรองว่าเหตุใดแต่ละข้อจึงสำคัญ—ข้อนั้นสอนอะไรฉันเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดหรือไม่? ความรักที่ฉันมีต่อพระองค์และศรัทธาในพระองค์ลึกซึ้งขึ้นหรือไม่? มีบางอย่างที่พระองค์ต้องการให้ฉันรู้หรือไม่?
การอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์ทำให้เราสังเกตเห็นสิ่งต่างๆ ในพระคัมภีร์มอรมอนซึ่งเราจะไม่สังเกตเห็นเลยถ้าไม่ได้ตั้งใจอ่านจริงๆ สิ่งสำคัญที่สุดคือ การอ่านด้วยวิธีนี้สามารถช่วยให้เรามองเห็นพระผู้ช่วยให้รอดบ่อยขึ้นในหนังสือเล่มนี้ซึ่งเขียนขึ้นเพื่อเป็นพยานถึงพระองค์ การอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์เป็นวิธีเปิดตา ความคิด และใจของเราให้มองเห็นประจักษ์พยานอันทรงพลังถึงพระเยซูคริสต์ในพระคัมภีร์มอรมอน เมื่อเราใช้เวลาดูงานศิลปะที่สร้างแรงบันดาลใจเหล่านั้นจริงๆ บางทีอาจจะทำให้ชีวิตของคนๆ หนึ่งเปลี่ยนไปได้ ในวิธีที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น การมองเห็นพระผู้ช่วยให้รอดในพระคัมภีร์อาจจะมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อความคิดและความรู้สึกของเรา—และส่งผลต่อชีวิตเราเป็นลำดับถัดไป
ตัวอย่างเช่น สมมติว่าท่านกำลังอ่าน 1 นีไฟ บทที่ 1 ท่านรู้สึกสนใจข้อ 6 เป็นพิเศษ ดังนั้นท่านจึงอ่านช้าลงและใช้เวลากับข้อนั้นสักพัก ท่านอาจจะสนใจคำว่า “เสาเพลิง” ที่ลีไฮเห็นว่า “อยู่บนก้อนศิลา” เพราะนั่นเป็นพฤติกรรมที่ผิดปกติของเพลิง สิ่งนี้หมายถึงอะไร? ความคิดของท่านอาจมุ่งไปที่เสาเพลิงอื่นๆ ที่ถูกกล่าวถึงในพระคัมภีร์ (เชิงอรรถสามารถช่วยให้ข้อมูลท่านได้) ท่านอาจไตร่ตรองว่าเหตุใดการประทับของพระเจ้าจึงเปรียบได้กับเพลิง สิ่งนี้บอกอะไรเกี่ยวกับพระองค์? พระองค์เคยเป็นเหมือนเสาเพลิงในชีวิตของท่านหรือไม่?
ท่านจะเห็นว่ามีเรื่องให้คิดมากมาย ทั้งๆ ที่ยังอ่านข้อนี้ไม่จบเลยด้วยซ้ำ
แน่นอนว่าการอ่านพระคัมภีร์มอรมอนอย่างรวดเร็วนั้นก็มีประโยชน์ เพราะสามารถช่วยให้เราเรียนรู้โครงเรื่องโดยรวมและทำความเข้าใจหัวข้อกว้างๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มีหลายสิ่งที่ต้องเรียนรู้แบบลงรายละเอียดเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ในพระคัมภีร์มอรมอน และบางครั้งวิธีที่ดีที่สุดในการมองเห็นรายละเอียดเหล่านั้นคือการอ่านให้ช้าลงและมองดูอย่างตั้งใจ
นีไฟพูดถึงถ้อยคำที่เขาเขียนในพระคัมภีร์มอรมอนว่า “ถ้อยคำเหล่านี้เป็นพระวจนะของพระคริสต์, และพระองค์ประทานแก่ข้าพเจ้า; และ … พระคริสต์จะทรงแสดงแก่ท่าน, ด้วยพระเดชานุภาพและรัศมีภาพอันยิ่งใหญ่” (2 นีไฟ 33:10–11) ท่านไม่จำเป็นต้องเป็นนักอ่านที่เชี่ยวชาญจึงจะพบพระวจนะของพระผู้ช่วยให้รอดในพระคัมภีร์มอรมอน ท่านแค่ต้องอ่านช้าลงและให้โอกาสพระคัมภีร์มอรมอนทำตามจุดประสงค์ของการสร้างพระคัมภีร์เล่มนี้—สร้างศรัทธาของท่านในพระเยซูคริสต์