“พระเยซูคริสต์ในพระคัมภีร์มอรมอน,” เลียโฮนา, ม.ค. 2024.
พระเยซูคริสต์ ในพระคัมภีร์มอรมอน
ในพระคัมภีร์มอรมอนกล่าวถึงพระเจ้ากี่ครั้ง?
ท่านคิดว่าบุคคลสำคัญในพระคัมภีร์มอรมอนคือใคร? แม้บางคนอาจแนะนำว่าเป็นนีไฟ แอลมา หรือมอรมอน แต่บุคคลสำคัญที่แท้จริงคือพระเยซูคริสต์ นีไฟเขียนไว้ดังนี้
“เราทำงานอย่างขยันหมั่นเพียรที่จะเขียน, เพื่อชักชวนลูกหลานเรา … ให้เชื่อในพระคริสต์ …
“และเราพูดถึงพระคริสต์, เราชื่นชมยินดีในพระคริสต์, เราสั่งสอนเรื่องพระคริสต์, เราพยากรณ์ถึงพระคริสต์” (2 นีไฟ 25:23, 26)
ในปี 1978 ซูซาน วอร์ด อีสตันจัดพิมพ์บทความสำคัญ โดยในบทความมีการแสดงตัวเลขว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นบุคคลสำคัญในพระคัมภีร์มอรมอน เธอระบุพระนามต่างๆ ของพระเยซูคริสต์และแสดงให้เห็นว่ามีผู้กล่าวถึงพระองค์ด้วยชื่อหรือพระสมัญญานามจำนวน 3,925 ครั้งในพระคัมภีร์มอรมอน ซึ่งเฉลี่ยแล้วจะมีการกล่าวถึงหนึ่งครั้งในทุกๆ 1.7 ข้อ1
งานค้นคว้าอันล้ำค่านี้เน้นความเป็นศูนย์กลางของพระผู้ช่วยให้รอดในพระคัมภีร์มอรมอน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้ยังถือว่า นับไม่ครบ อย่างเห็นได้ชัดเนื่องจากไม่ได้นับรวมคำสรรพนามว่า “พระองค์” ที่อ้างอิงถึงพระคริสต์ไว้ด้วย
ท้ายที่สุด จำนวนการอ้างอิงถึงพระเยซูคริสต์ไม่ใช่รายละเอียดที่สำคัญที่สุดในการเรียนรู้จากพระคัมภีร์มอรมอน แต่ถึงกระนั้น การอ้างอิงถึงพระองค์แต่ละครั้งสามารถสอนเราเกี่ยวกับธรรมชาติและพระพันธกิจอันสูงส่งของพระองค์ เราได้พินิจพิเคราะห์พระคัมภีร์มอรมอนอย่างถี่ถ้วน โดยมองหาการกล่าวถึงพระเยซูคริสต์ทั้งหมด รวมทั้งพระสมัญญานามและคำสรรพนาม เราพบการอ้างอิงถึงพระองค์ทั้งหมด 7,452 ครั้ง—โดยเฉลี่ยแล้วมีการอ้างอิงมากกว่าหนึ่งครั้งต่อข้อ2 พระสมัญญานามของพระคริสต์คิดเป็นประมาณร้อยละ 50 ของการอ้างอิงถึงพระคริสต์ในพระคัมภีร์มอรมอน ส่วนพระนามที่เหลือมาจากคำสรรพนาม
การมองหาพระเยซูคริสต์เป็นวิธีที่พิเศษสุดในการเรียนรู้เกี่ยวกับพระองค์ พิจารณาว่าข้อต่อไปนี้เน้นย้ำถึงพระองค์อย่างไร: “เริ่มเชื่อใน พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า, ว่า พระองค์ จะเสด็จมาไถ่ผู้คน ของพระองค์, และว่า พระองค์ จะทรงรับทุกขเวทนาและสิ้นพระชนม์เพื่อชดใช้บาปของพวกเขา; และว่า พระองค์ จะทรงลุกขึ้นจากบรรดาคนตายอีก, ซึ่งจะทำให้เกิดการฟื้นคืนชีวิต, เพื่อมนุษย์ทั้งปวงจะยืนอยู่ต่อพระพักตร์ พระองค์, เพื่อรับการพิพากษาในวันสุดท้ายและวันพิพากษา, ตามแต่งานของพวกเขา”(แอลมา 33:22; เน้นตัวเอน)
ในการศึกษาดั้งเดิมของซิสเตอร์อีสตัน ข้อนี้นับเป็นการอ้างอิงถึงพระคริสต์จากพระสมัญญานาม “พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า” อย่างไรก็ตาม มีการกล่าวถึงพระผู้ช่วยให้รอดเพิ่มอีกห้าครั้ง ข้อนี้ไม่เพียงเน้นว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า แต่ยังทรงเป็นผู้ที่ไถ่เราผ่านการชดใช้อันเป็นนิจและการฟื้นคืนพระชนม์ และจะทรงเป็นผู้พิพากษาของเรา
บางทีสิ่งที่ทรงพลังที่สุดอาจจะเป็นการที่พระคริสต์รับสั่งถึงพระองค์เองในพระคัมภีร์มอรมอน ตัวอย่างเช่น เราอ่านพระดำรัสที่พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่า “หากมนุษย์มาหา เรา เรา จะแสดงให้พวกเขาเห็นความอ่อนแอของพวกเขา. เรา ให้ความอ่อนแอแก่มนุษย์เพื่อพวกเขาจะนอบน้อม; และพระคุณ ของเรา เพียงพอสำหรับคนทั้งปวงที่นอบน้อมถ่อมตนต่อหน้า เรา; เพราะหากพวกเขานอบน้อมถ่อมตนต่อหน้า เรา, และมีศรัทธาใน เรา, เมื่อนั้น เรา จะทำให้สิ่งที่อ่อนแอกลับเข้มแข็งสำหรับพวกเขา” (อีเธอร์ 12:27; เน้นตัวเอน) แม้ว่าพระนามของพระคริสต์จะไม่ปรากฏในข้อนี้ แต่พระผู้ช่วยให้รอดตรัสถึงพระองค์เองถึงแปดครั้ง บทบาทของพระองค์ได้รับการเน้นให้โดดเด่นเมื่อเรามองหาพระผู้ช่วยให้รอดในข้อนี้
ข้อต่อไปนี้แสดงความเชื่อมโยงส่วนตัวที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงมีต่อแต่ละคนและสิ่งที่พวกเขารู้สึกต่อพระองค์
“ออกมาหา เรา, เพื่อเจ้าจะได้แยงมือเข้าไปในสีข้าง ของเรา, และเพื่อเจ้าจะได้สัมผัสรอยตะปูที่มือ เรา และเท้า เรา ด้วย, เพื่อเจ้าจะรู้ว่า เรา คือ พระผู้เป็นเจ้าแห่งอิสราเอล, และ พระผู้เป็นเจ้าของทั้งแผ่นดินโลก, และถูกประหารเพื่อบาปของโลก.
“… ฝูงชนได้ออกไป, และยื่นมือพวกเขาเข้าไปในพระปรัศว์ของ พระองค์, และสัมผัสรอยตะปูที่พระหัตถ์ ของพระองค์ และที่พระบาท ของพระองค์” (3 นีไฟ 11:14–15; เน้นตัวเอน)
แม้ว่าเราจะไม่สามารถสัมผัสรอยแผลของพระองค์ด้วยตัวเราเอง แต่เราสามารถทำให้พยานส่วนตัวของเราถึงพระเยซูคริสต์ลึกซึ้งยิ่งขึ้นได้ผ่านพระคัมภีร์มอรมอน
การอ้างอิงถึงพระเจ้าบ่อยครั้งในพระคัมภีร์มอรมอนช่วยให้เราเห็นความเป็นศูนย์กลางของพระองค์ในงานศักดิ์สิทธิ์นี้ การค้นหาพระผู้ช่วยให้รอดในพระคัมภีร์มอรมอน: พยานหลักฐานอีกเล่มหนึ่งของพระเยซูคริสต์ เป็นวิธีที่ทรงพลังในการเข้าใกล้พระองค์มากขึ้น