“การทําสิ่งที่อ่อนแอให้เข้มแข็ง,” เลียโฮนา, ก.พ. 2024.
การทําสิ่งที่อ่อนแอให้ เข้มแข็ง
นีไฟแสดงให้เราเห็นวิธีทําตามสัญญาของพระเจ้า ซึ่งพระองค์จะทรง “ทำให้สิ่งที่อ่อนแอกลับเข้มแข็งสำหรับ [เรา]” (อีเธอร์ 12:27)
เช่นเดียวกับพวกเราทั้งหลาย บางครั้งฉันพยายามดิ้นรนอย่างเต็มที่เพื่อให้รู้ว่าฉันมีค่า และพระเจ้าทรงสามารถและทรงรักฉัน ฉันสงสัยถึงอนาคตของตนเอง และสงสัยว่าพรที่ทรงสัญญาไว้จะเกิดสัมฤทธิผลหรือไม่ ฉันกังวลว่าฉันจะเอาชนะความอ่อนแอเพื่อกลายเป็นบุคคลที่พระผู้เป็นเจ้าทรงต้องการให้ฉันเป็นได้หรือไม่ หลายครั้งที่ชีวิตดูเหมือนทําให้ท้อใจ และสิ่งอ่อนแอในชีวิตทําให้ความสุขที่ฉันพบผ่านพระผู้ช่วยให้รอดของฉันบั่นทอนลง
แต่ในการอ่านพระคัมภีร์ ฉันเรียนรู้ถึงศาสดาพยากรณ์ที่เผชิญปัญหาการรู้คุณค่าของตนในการสั่งสอนพระกิตติคุณ (ดู โมเสส 6:31) รู้สึกเป็นที่รักและเป็นที่จดจํา (ดู โมไซยาห์ 24:10–12; หลักคําสอนและพันธสัญญา 121:1, 6) อยู่เหนือโทมนัส (ดู โมไซยาห์ 24:15–16; หลักคําสอนและพันธสัญญา 3:1–3, 9–10) และเห็นจุดประสงค์ของพวกเขาในแผนของพระบิดาบนสวรรค์ (ดู โมเสส 1:19–20; อับราฮัม 1:4, 16–19; โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:10–20) ฉันพบความหวังผ่านเรื่องราวของพวกเขา เมื่อฉันแสวงหาพระเจ้า ฉันสามารถเตรียมพร้อมและเอาชนะความท้าทายทั้งหมดได้ ฉันรู้ว่าฉันอาจประสบกับอุปสรรคและความโศกเศร้า แต่ฉันสามารถเรียนรู้ ทํา และเป็นได้มากขึ้นผ่านพระผู้ช่วยให้รอดของฉัน
ความอ่อนแอ
ถึงแม้ความเป็นมรรตัยเป็นของประทาน แต่เราประสบกับความอ่อนแอมากมายในชีวิตนี้ ถ้าเราตระหนักถึงความอ่อนแอของเราและอ่อนน้อมถ่อมตนด้วยตนเอง เมื่อนั้นเราจะเอาชนะ “ความอ่อนแอ”—ซึ่งมักแสดงให้ประจักษ์ในรูปแบบของความหยิ่งยโส ความเกียจคร้าน หรือบางทีเป็นการไม่กลับใจ—สามารถเอาชนะได้ผ่านพระเจ้า และสามารถนําเราเข้าใกล้พระองค์ (ดู อีเธอร์ 12:27–28) ดังที่เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า “พระผู้เป็นเจ้าจะทรงแสดงให้เราเห็นข้อบกพร่องและความล้มเหลวของเรา แต่พระองค์จะทรงช่วยเราเปลี่ยนความอ่อนแอเป็นความเข้มแข็งเช่นกัน”1
นีไฟเศร้าใจเมื่อครอบครัวของตนยอมแพ้ต่อธรรมชาติวิสัยของมนุษย์ที่อ่อนแอ (ดู 1 นีไฟ 2:18; 15:4; 2 นีไฟ 4:13; 5:1) แต่นีไฟร่ำไห้ถึงความอ่อนแอของตนเองด้วย แม้จะรักพระเจ้า แต่นีไฟพูดถึง “บาปซึ่งได้รุกรานข้าพเจ้าได้ง่าย” (2 นีไฟ 4:18) ทําให้เขาครวญคราง ร้องไห้ และจมอยู่ในบาป (ดู ข้อ 19, 26, 28) เขารู้สึกถูกล้อมด้วยเครื่องเตือนใจถึงบาปของตน และด้วยเหตุนี้จึงรู้สึกเจ็บปวด (ดู ข้อ 17–19)
แต่เขาไม่ได้ “รั้งรออยู่ในหุบเขาแห่งโทมนัส” และยอมให้ “เนื้อหนังสูญสิ้นไป” หรือ “กําลังของตนถดถอย” (ข้อ 26) เขาเลือกวางใจพระเจ้า และเป็นคนที่ดีขึ้น เมื่อนีไฟเลือกละทิ้งบาปและความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น เขาพบพลังใหม่ นั่นคือ ความปีติยินดี ความวางใจ ความรู้ ความชื่นชมยินดี การไถ่ และการปลดปล่อย (ดู ข้อ 15–20, 26–34) นีไฟพบปีติในพระเยซูคริสต์ ฉันรู้ว่าเรา ทุกคน สามารถพบปีติในพระผู้ช่วยให้รอด เมื่อเราดําเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระองค์ “สิ่งที่อ่อนแอ [จะ] กลับเข้มแข็ง” ในชีวิตเรา (อีเธอร์ 12:27)
ความเข้มแข็ง
การเรียนรู้ว่าเราเป็นใครในฐานะบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าจะช่วยให้เราเห็นคุณค่าของเรา และนําพระวิญญาณเข้ามาในชีวิตเรา นีไฟเข้าใจเรื่องนี้ หลังจากรําพันถึงทุกสิ่งที่ทําผิดแล้ว เขาเล็งเห็นว่าเขาเป็นที่รัก เป็นที่รู้จัก และมีความสําคัญ การตระหนักเช่นนี้ทําให้เขามีพลัง และทําตามปณิธานเหล่านี้
“ตื่นเถิด, จิตวิญญาณข้าพเจ้า! อย่าจมอยู่ในบาปอีกต่อไปเลย จงชื่นชมยินดีเถิด, โอ้ใจข้าพเจ้า, และอย่าให้ที่แก่ศัตรูของจิตวิญญาณข้าพเจ้าต่อไปเลย
“อย่าได้โกรธอีก … อย่าทําให้กําลังของข้าพเจ้าถดถอย …
“จงชื่นชมยินดีเถิด … และจงร้องทูลพระเจ้า, และทูลว่า : ข้าแต่พระเจ้า, ข้าพระองค์จะสรรเสริญพระองค์ตลอดกาล …
“ข้าแต่พระเจ้า, พระองค์จะทรงไถ่จิตวิญญาณข้าพระองค์หรือ? พระองค์จะทรงปลดปล่อยข้าพระองค์ออกจากเงื้อมมือพวกศัตรูของข้าพระองค์หรือ? พระองค์จะทรงทำให้ข้าพระองค์สั่นต่อสิ่งที่ปรากฏเป็นบาปหรือ? …
“ข้าแต่พระเจ้า, ข้าพระองค์วางใจในพระองค์, และข้าพระองค์จะวางใจในพระองค์ตลอดกาล” (2 นีไฟ 4:28-31, 34)
“ข้าพเจ้า, นีไฟ, ร้องทูลมากมายต่อพระเจ้า พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า …
“และเรายึดถือต่อการรักษาคำพิพากษา, กฎเกณฑ์, และพระบัญญัติของพระเจ้าในทุกสิ่ง …
“และพระเจ้าทรงอยู่กับเรา” (2 นีไฟ 5:1, 10–11)
เฉกเช่นนีไฟ เราทําได้มากขึ้นผ่านพระเยซูคริสต์ ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์ ที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานสูงสุดสรุปกระบวนการนี้ว่า “ผู้ไม่เห็นความอ่อนแอของตนย่อมไม่ก้าวหน้า การรับรู้ความอ่อนแอของท่านเองจึงเป็นพรเพราะจะช่วยให้ท่านยังคงนอบน้อมถ่อมตนและหันไปหาพระผู้ช่วยให้รอด พระวิญญาณไม่เพียงปลอบโยนท่านแต่พระองค์ยังเป็นตัวแทนที่การชดใช้จะเกิดผลและเปลี่ยนตัวตนของท่านอีกด้วย แล้วสิ่งที่อ่อนแอจะกลับเข้มแข็ง”2
เราสามารถเลือกในวันนี้เพื่อเป็นสานุศิษย์ที่มุ่งมั่นมากขึ้นของพระเยซูคริสต์ เพื่อเป็นคนใหม่ผ่านทางพระองค์ เฉกเช่นนีไฟ การรับรู้ความอ่อนแอของเรานําเราไปสู่การทูลวิงวอนพระบิดาบนสวรรค์อย่างอ่อนน้อมถ่อมตนเพื่อขอความช่วยเหลือในการเอาชนะความอ่อนแอเหล่านั้น โดยผ่านพระเจ้า ความอ่อนแอและความสงสัยจะหมดไป ค้นพบคุณค่า และเพิ่มพูนความเข้าใจของเรา ถึงแม้ฉันอาจไม่มีคําตอบทั้งหมดและอาจจะยังลําบากอยู่ แต่ฉันวางใจว่าพระเจ้าจะทรงช่วยฉันให้ผ่านพ้นไปได้ พระองค์จะทรงช่วยให้ฉันเอาชนะความอ่อนแอ และพัฒนาความเข้มแข็งให้ฉัน
ผู้เขียนอาศัยอยู่ในไอดาโฮ สหรัฐอเมริกา