เลียโฮนา
“ถึงเวลาเลิกขุ่นเคืองแล้ว”
สิงหาคม 2024


ดิจิทัลเท่านั้น

“ถึงเวลาเลิกขุ่นเคืองแล้ว”

“ความขุ่นเคืองเป็น การเลือก ที่เราทำ ไม่ใช่ สภาพ ที่บางคนหรือบางสิ่งยัดเยียดให้เรา”

ภาพ
ภาพคนโกรธกําลังพูดกับภาพคนสงบและไม่ใส่ใจ

ในแต่ละวันเรามีปฏิสัมพันธ์กับคนกี่คน? เราอ่านข่าวสารหรือความคิดเห็นกี่ข้อความ? ไม่ว่าจะเป็นแบบเจอตัว ทางโทรศัพท์ หรือผ่านโซเชียลมีเดีย ตัวเลขอาจสูงเป็นพิเศษ ณ จุดใดจุดหนึ่ง เราจะเจอใครบางคนที่จะพูดหรือทําบางสิ่งที่ถือว่าเป็นการละเมิดต่อเราไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า “เมื่อได้รับสิทธิ์เสรี ท่านและข้าพเจ้าเป็นตัวแทน และในเบื้องต้นเราต้องกระทําและไม่เพียงแค่ถูกกระทํา การเชื่อว่าบางคนหรือบางสิ่ง ทำให้ เรารู้สึกขุ่นเคือง โกรธ เจ็บใจ หรือเจ็บแค้นจะบั่นทอนสิทธิ์เสรีทางศีลธรรมของเราและเปลี่ยนเราเป็นวัตถุที่ถูกกระทำ แต่ในฐานะตัวแทน ท่านและข้าพเจ้ามีอำนาจที่จะกระทำและเลือกว่าเราจะตอบสนองอย่างไรต่อสถานการณ์ที่ทำให้ขุ่นเคืองหรือเจ็บใจ”

พิจารณาว่าท่านอาจทําอย่างไรในสถานการณ์ต่อไปนี้ที่โดยปกติผู้คนอาจขุ่นเคือง—และไตร่ตรองว่าท่านจะเลือกไม่ขุ่นเคืองได้อย่างไร:

  1. ท่านเตรียมอาหารให้ผู้อื่นด้วยความปรารถนาดี ขณะรับประทานอาหารมีคนบอกว่าอาหารมีรสชาติเหม็นหืน

  2. บางคนพูดกับคนกลุ่มหนึ่งว่าผมท่านดูยุ่งรุงรัง และคนอื่นๆ ก็หัวเราะ

  3. ระหว่างการสนทนาที่โรงเรียนวันอาทิตย์ หลังจากท่านแบ่งปันประสบการณ์ทางวิญญาณที่ประทับใจแล้ว มีคนวิจารณ์คําพูดของท่าน

การเลือกวิธีปฏิบัติและตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เจ็บปวดไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างไรก็ดี ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันเตือนให้เรานึกถึงจุดที่เราสามารถจดจ่อแทนได้ “เมื่อท่านทําการเลือก ข้าพเจ้าขอให้ท่านมองให้ไกล—ไกลถึงนิรันดร ให้พระเยซูคริสต์มาเป็นอันดับแรก เพราะชีวิตนิรันดร์ของท่านขึ้นอยู่กับศรัทธาที่ท่านมีในพระองค์และในการชดใช้ของพระองค์”

รากฐานอันเป็นหลักคำสอนในพระคริสต์

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีพร้อมของการไม่ยอมให้คําพูดและการกระทําของผู้อื่นส่งผลกระทบต่อหน้าที่ของพระองค์ (ดู 1 นีไฟ 19:9) ระหว่างคําเทศนาบนภูเขา พระเยซูทรงสอนให้เรารักศัตรูของเราและทรงบัญชาให้เราดีพร้อม ซึ่งเป็นไปได้ผ่านการชดใช้ของพระองค์ (ดู มัทธิว 5)

เมื่อเราพยายามเข้าใกล้พระบิดาบนสวรรค์มากขึ้น เราจะได้รับพลังเสริมความสามารถและการเสริมสร้างความเข้มแข็งผ่านพระเยซูคริสต์เพื่อช่วยให้เราเอาชนะความเจ็บปวดและความขุ่นเคืองของเรา

เอ็ลเดอร์เบดนาร์สอนว่า “โดยผ่านพลังแห่งการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ที่ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็ง ท่านและข้าพเจ้าจะได้รับพรให้หลีกเลี่ยงและเอาชนะความขุ่นเคืองได้”

จงเป็นนักสืบ

หลังจากได้รับความคิดเห็นหรือการแสดงท่าทีหยาบคาย เราอาจรู้สึกว่าจําเป็นต้องตอบโต้อย่างรวดเร็ว อาจจะตอบโต้ด้วยความโกรธ หรือเก็บกลั้นอารมณ์ไว้จนทนไม่ไหว เราจะถอยออกมาก่อนแล้วระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดได้อย่างไร?

แนวคิดหนึ่งคือเราต้องเป็นนักสืบให้กับตนเอง เราสามารถพยายามเข้าใจอารมณ์ที่อยู่เบื้องหลังความขุ่นเคือง มีการสื่อสารที่ผิดพลาดหรือไม่? เรากําลังคิดด้วยสมองที่แจ่มใสหรือพลุ่งพล่านด้วยอารมณ์ไหม? เรากำลังตอบสนองต่อสิ่งใด?

เอ็ลเดอร์ดีเทอร์ เอฟ.อุคท์ดอร์ฟ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า “เรามักแก้ตัวว่าความโกรธของเราเป็นความชอบธรรม การตัดสินของเราเชื่อถือได้และเหมาะสม … เรามีข้อยกเว้นเมื่อเราเองเป็นผู้ได้รับความขมขื่นเพราะเรารู้สึกว่าในกรณีของเรา เรามีข้อมูลทั้งหมดที่เราต้องการเพื่อมองคนอื่นอย่างเหยียดหยาม”

ถึงแม้การเป็นนักสืบให้กับตัวเราเองอาจต้องอาศัยการฝึกฝน แต่การเข้าใจสถานการณ์และอารมณ์ของเราให้ดีขึ้นอาจช่วยให้เราระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอด แทนที่จะรู้สึกถึงอารมณ์ด้านลบที่อาจดึงเราออกห่างจากพระองค์

หลังจากลองใช้กลยุทธ์นี้แล้ว บางครั้งสิ่งที่พูดหรือทําออกไปยังมีความเจ็บปวดอยู่ ถ้าเป็นเช่นนั้น เอ็ลเดอร์เบดนาร์กล่าวว่า: “ข้อผูกมัดประการแรกของเราคือไม่ขุ่นเคือง และจากนั้นพูดคุยเป็นการส่วนตัว อย่างตรงไปตรงมา และโดยตรงกับบุคคลดังกล่าว วิธีนี้จะเชื้อเชิญการดลใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ ชี้แจงในสิ่งที่เข้าใจผิดและเข้าใจเจตนาที่แท้จริง”

สําหรับการสนับสนุนเพิ่มเติม อ่าน “Emotional Resilience Helps Us to Prepare for Emergencies” และหมวดย่อยต่อไปนี้ใน Emergency Preparedness Manual, และดูที่ emotional resilience course จาก Self-Reliance Services

ค้นหาสันติสุขวันนี้

เมื่อมีคนพูดหรือทําบางอย่างที่อาจทําให้ขุ่นเคือง เราสามารถพึ่งพาคําเตือนของเอ็ลเดอร์อุคท์ดอร์ฟได้:

“เราต้องตระหนักว่าเราทุกคนไม่ดีพร้อม—ว่าเราเป็นขอทานต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า …

“เพราะเราทุกคนพึ่งพาพระเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า เราจะปฏิเสธพระคุณที่เราปรารถนาอย่างยิ่งนั้นต่อผู้อื่นได้อย่างไร? พี่น้องที่รักทั้งหลาย เราไม่ควรให้อภัยหรอกหรือตราบที่เรายังปรารถนาที่จะได้รับการให้อภัย?”

ท้ายที่สุด การเยียวยาที่แท้จริงเกิดขึ้นโดยและผ่านพระผู้ช่วยให้รอด ทําให้เรามีสันติสุขที่จะมุ่งหน้าต่อไป

“เรามอบสันติสุขไว้กับพวกท่าน สันติสุขของเราที่ให้กับท่านนั้น เราไม่ได้ให้อย่างที่โลกให้ อย่าให้ใจของท่านเป็นทุกข์ อย่ากลัวเลย” (ยอห์น 14:27)

อ้างอิง

  1. เดวิด เอ. เบดนาร์, “และไม่มีสิ่งใดทำให้พวกเขาขุ่นเคืองได้,” เลียโฮนา, พ.ย. 2006, 113-14.

  2. เดวิด เอ. เบดนาร์, “และไม่มีสิ่งใดทำให้พวกเขาขุ่นเคืองได้,” 114.

  3. เดวิด เอ. เบดนาร์, “และไม่มีสิ่งใดทำให้พวกเขาขุ่นเคืองได้,” 114.

  4. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “คิดแบบซีเลสเชียล!,” เลียโฮนา, พ.ย. 2023, 118.

  5. เดวิด เอ. เบดนาร์, “และไม่มีสิ่งใดทำให้พวกเขาขุ่นเคืองได้,” 114.

  6. ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “ผู้มีใจกรุณาย่อมได้รับพระกรุณา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2012, 70.

  7. เดวิด เอ. เบดนาร์, “และไม่มีสิ่งใดทำให้พวกเขาขุ่นเคืองได้,” เลียโฮนา, พ.ย. 2006, 115-16.

  8. ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “ผู้มีใจกรุณาย่อมได้รับพระกรุณา,” 75.

พิมพ์