เซมินารี
3 นีไฟ 15–16: “คอกเดียว, และเมษบาลเดียว”


“3 นีไฟ 15–16: ‘คอกเดียว, และเมษบาลเดียว’” พระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู (2024)

“3 นีไฟ 15–16” พระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู

3 นีไฟ 15–16

“คอกเดียว, และเมษบาลเดียว”

ภาพ
พระคริสต์ทรงอุ้มลูกแกะอย่างอ่อนโยน

ขณะที่พระเยซูคริสต์ทรงสอนผู้คนในแผ่นดินอุดมมั่งคั่ง พระองค์ทรงแสดงให้เห็นถึงความรักที่พระองค์ทรงมีต่อบุคคลทุกคน แต่ละคนได้รับเชิญให้มาสัมผัสกับความรักของพระองค์ที่มีต่อตนเอง (ดู 3 นีไฟ 11) จากนั้นพระองค์ทรงช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าพระองค์ทรงรู้สึกรักบุตรธิดาทุกคนของพระผู้เป็นเจ้าเช่นเดียวกัน พระองค์ทรงปรารถนาที่จะนับทุกคนจากทุกหนแห่งให้อยู่ในฝูงแกะของพระองค์ บทเรียนนี้มีไว้เพื่อช่วยให้ท่านรู้สึกถึงความปรารถนาของพระผู้ช่วยให้รอดในการรวมท่านและทุกคนไว้กับพระองค์

ส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่มีการยอมรับและความเคารพ มุ่งมั่นที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับภูมิหลังและสถานการณ์ของนักเรียนแต่ละคน ท่านจะช่วยให้นักเรียนรู้สึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งได้ โดยเชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันมุมมองที่ไม่เหมือนใครและแจ้งให้ทราบว่าการมีส่วนร่วมของพวกเขามีคุณค่า

การเตรียมของนักเรียน: เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาจะตอบคำถามนี้อย่างไร: “มีหลักฐานอะไรบ้างที่ท่านเห็นว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงต้องการรวบรวมทุกคนมาหาพระองค์?”

กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้

พระนามและพระสมัญญานามของพระคริสต์

ท่านอาจติดภาพพระเยซูคริสต์ตรงกลางกระดาน เชื้อเชิญให้นักเรียนทำงานเป็นกลุ่มเล็กๆ เพื่อดูว่าพวกเขาจำหรือหาพระนามและพระสมัญญานามของพระองค์ได้กี่รายการในสองถึงสามนาที จากนั้นให้แต่ละกลุ่มเลือกพระนามหรือพระสมัญญานามที่ต้องการแบ่งปันกับชั้นเรียน ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างบางส่วนจากพระคัมภีร์มอรมอน

หมายเหตุ: หากนักเรียนของท่านจะได้รับประโยชน์จากการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันมากขึ้น ให้ดู “ทางเลือกการเริ่มต้นเข้าสู่บทเรียน” ในหมวด “กิจกรรมเสริมการเรียนรู้”

  • พระนามหรือพระสมัญญานามของพระองค์ที่ท่านชื่นชอบคืออะไร? สิ่งนี้สอนอะไรท่านเกี่ยวกับพระองค์?

แกะของพระผู้ช่วยให้รอด

ใน 3 นีไฟ 15–16 พระเยซูทรงสอนผู้คนที่อยู่ใกล้พระวิหารในแผ่นดินอุดมมั่งคั่งต่อ หลังจากอธิบายว่ากฎของโมเสสเกิดสัมฤทธิผลในพระองค์แล้ว พระองค์ทรงเปิดเผยพระสมัญญานามของพระองค์เองที่จะช่วยให้เราเข้าใจความสัมพันธ์ของเรากับพระองค์

อ่าน 3 นีไฟ 15:17 และพิจารณาทำเครื่องหมายพระสมัญญานามที่พระเยซูประทานให้พระองค์เอง

ท่านอาจแทนที่ภาพของพระเยซูคริสต์บนกระดานด้วยภาพของพระองค์ในฐานะพระเมษบาลเช่นภาพในตอนต้นของบทเรียนนี้ เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองในใจถึงบทบาทของพระองค์ในฐานะพระเมษบาล โดยใช้ข้อความกระตุ้นเตือนตามที่แสดงในย่อหน้าต่อไปนี้

เรามักจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับแกะที่พลัดหลงกับพระเยซูจนหลงทางและกระจัดกระจายไปอยู่บ่อยๆ ไตร่ตรองสักครู่ว่าอุปมานี้ตรงกับชีวิตท่านในบางช่วงบางเวลาหรือไม่ กี่ครั้งแล้วที่ท่านหรือคนที่ท่านรักเคยพลัดหลงกับพระเมษบาลพระเยซูคริสต์?

  • การเข้าใจความรู้สึกของพระเยซูที่มีต่อแกะที่กระจัดกระจายของพระองค์อาจส่งผลต่อความหวังของบางคนที่จะกลับมาหาพระองค์อย่างไร?

“แกะอื่น”

ท่านอาจให้นักเรียนดูภาพต่อไปนี้เพื่อช่วยให้นักเรียนนึกภาพ “คอก” ออก

ภาพ
แกะในคอกแกะ

คนเลี้ยงแกะในสมัยของพระผู้ช่วยให้รอดมักจะสร้าง “คอก” ที่ปิดมิดชิดเช่นเดียวกับในภาพนี้ เพื่อปกป้องแกะให้ปลอดภัยจากนักล่าและอันตรายอื่นๆ ศาสนจักรของพระผู้ช่วยให้รอดเป็นตัวอย่างของคอกที่พระองค์ทรงปกป้องเราจากอันตรายในโลก

ท่านอาจให้ดูข้ออ้างอิงพระคัมภีร์สองข้อต่อไปนี้และคำถามที่ตามมาแต่ละข้อ ท่านอาจแบ่งนักเรียนออกเป็นคู่เพื่ออ่านข้อพระคัมภีร์และสนทนาคำถามที่เกี่ยวข้อง

ยอห์น 10:14–16 (พระเยซูตรัสกับ “แกะ” ของพระองค์ในอิสราเอลสมัยโบราณ)

  • ท่านคิดว่าพระเยซูทรงรู้จักแกะของพระองค์และแกะก็รู้จักพระองค์หมายความว่าอย่างไร?

3 นีไฟ 15:13–17, 21 (พระเยซูตรัสกับ “แกะ” ของพระองค์ในทวีปอเมริกาสมัยโบราณ)

หลังจากให้นักเรียนสนทนาคำถามก่อนหน้านี้แล้ว ท่านอาจแบ่งพวกเขาออกเป็นคู่ๆ เพื่อแสดงบทบาทสมมติ และอาจจินตนาการถึงการมอบพระคัมภีร์มอรมอนให้เพื่อนต่างความเชื่อที่เต็มใจยอมรับหากพวกเขาแสดงให้เห็นได้ว่าในพระคัมภีร์ไบเบิลมีการกล่าวถึงผู้คนในพระคัมภีร์มอรมอน นักเรียนอาจใช้ ยอห์น 10:16 และ 3 นีไฟ 15:21 เพื่ออธิบายว่าพระเยซูตรัสถึงผู้คนในพระคัมภีร์มอรมอนดังที่พระองค์ทรงสอนสานุศิษย์ของพระองค์ในเยรูซาเล็ม ฟังคำอธิบายของนักเรียนและช่วยพวกเขาตามความจำเป็น

จากนั้นแสดงข้ออ้างอิงและคำถามต่อไปนี้เพื่อสนทนากับคู่

3 นีไฟ 16:1–3 (“แกะ” เหล่านี้รวมถึง “เผ่าอิสราเอลที่หายไป” [3 นีไฟ 17:4])

  • พระบัญญัติของพระบิดาบนสวรรค์ในข้อพระคัมภีร์สอนอะไรท่านเกี่ยวกับพระองค์?

พระเมษบาลผู้ประเสริฐ

ความจริงข้อหนึ่งที่เราเรียนรู้ได้จากบทเหล่านี้คือ พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ทรงปรารถนาที่จะรวบรวมทุกคนให้อยู่ในคอกของพระผู้ช่วยให้รอด

  • พระเยซูทรงใช้คอกของพระองค์ปกป้องเราจากอันตรายอะไรบ้างในปัจจุบัน?

ท่านอาจเขียนเกี่ยวกับอันตรายบางอย่างที่นักเรียนกล่าวถึงบนกระดาน

อ่าน 1 นีไฟ 22:25, 28 และ 3 นีไฟ 16:11–13 โดยมองหาคำอธิบายเกี่ยวกับงานรวบรวมของพระเมษบาลในสมัยของเรา

  • มีถ้อยคำและวลีใดบ้างที่บรรยายถึงบุคคลที่พระเมษบาลทรงปรารถนาจะรวบรวม? เราต้องทำอะไรบ้างเพื่อยอมรับพระดำรัสเชิญอันเปี่ยมด้วยความรักของพระองค์?

การรวบรวมเข้าไปในคอกของพระผู้ช่วยให้รอด

ขณะศึกษาส่วนนี้ ท่านอาจนึกถึงเพื่อนคนหนึ่งที่ยังไม่ได้รับพรอย่างเต็มเปี่ยมที่พระผู้ช่วยให้รอดประทานแก่คนที่อยู่ในคอกของพระองค์ (ศาสนจักร) พวกเขาอาจพลัดหลงไปจากศาสนจักรของพระองค์หรืออาจยังไม่ได้รับบัพติศมา

อ่านข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้และคำกล่าวของเอ็ลเดอร์เดล จี. เรนลันด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง หรือท่านอาจดูวีดิทัศน์เรื่อง “พระเมษบาลผู้ประเสริฐของเรา” ที่ ChurchofJesusChrist.org ตั้งแต่รหัสเวลา 3:13 to 4:44 มองหาสิ่งที่ท่านต้องการให้เพื่อนรู้เกี่ยวกับพระเมษบาลของเรา

ในฐานะพระเมษบาลผู้ประเสริฐ พระเยซูคริสต์ทรงมองว่าโรคในแกะของพระองค์เป็นอาการที่ต้องรักษา ดูแล และสงสาร พระเมษบาลผู้ประเสริฐองค์นี้ทรงมีปีติเมื่อทรงเห็นแกะที่เป็นโรคมีอาการดีขึ้นจนหายเป็นปกติ …

การปฏิบัติศาสนกิจขณะพระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นมรรตัยแสดงถึงความรัก ความสงสาร และความเห็นใจ พระองค์ไม่ทรงดำเนินบนถนนฝุ่นคลุ้งของกาลิลีและยูเดียอย่างเหยียดหยันพลางผงะเมื่อเห็นคนบาป พระองค์ไม่ทรงหลบเลี่ยงพวกเขาด้วยความหวาดกลัว ไม่เลย พระองค์เสวยกับพวกเขา พระองค์ทรงช่วยเหลือ ประทานพร หนุนใจ จรรโลงใจ ทรงแทนที่ความกลัวและความหมดหวังด้วยความหวังและปีติ เฉกเช่นพระเมษบาลองค์จริง พระองค์ทรงเสาะหาเราเพื่อให้การบรรเทาทุกข์และความหวัง (เดล จี. เรนลันด์, “พระเมษบาลผู้ประเสริฐของเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2017, 30)

  • ท่านต้องการให้เพื่อนรู้อะไรเกี่ยวกับพระเมษบาลของเราจากข้อความเหล่านี้และจากคำกล่าวของเอ็ลเดอร์เรนลันด์? เพราะเหตุใด?

  • ตัวอย่างวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงรวบรวมผู้คนมาหาพระองค์มีอะไรบ้าง? (อาจรวมถึงคนที่ท่านรู้จักเป็นการส่วนตัว ผู้คนจากพระคัมภีร์ หรือแม้แต่ตัวท่านเอง)

ท่านอาจจบชั้นเรียนโดยร้องเพลง ฟัง หรืออ่านเพลงสวด “ของรักจากใจพระผู้เลี้ยงแกะ” (เพลงสวด, บทเพลงที่ 107) เชื้อเชิญให้นักเรียนตรึกตรองว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงรู้สึกต่อพวกเขาอย่างไร จากนั้นเชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันว่าพวกเขารู้ได้อย่างไรว่าเนื้อร้องของเพลงสวดสอนความจริง (ตามสิ่งที่ได้รู้สึก เห็น หรือประสบมา)

แสดงประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับความปรารถนาของพระผู้ช่วยให้รอดที่จะรวบรวมทุกคนมาหาพระองค์

พิมพ์