เซมินารี
3 นีไฟ 18:1–14: “ด้วยความระลึกถึงเรา”


“3 นีไฟ 18:1–14: ‘ด้วยความระลึกถึงเรา’” พระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู (2024)

“3 นีไฟ 18:1–14” พระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู

3 นีไฟ 18:1–14

“ด้วยความระลึกถึงเรา”

ถ้วยศีลระลึกที่มีน้ำและขนมปัง

เรามีโอกาสรับส่วนศีลระลึกเป็นประจำ ใน 3 นีไฟ 18 พระเยซูทรงสอนว่าศีลระลึกจะเป็นพรแก่ชีวิตเราได้อย่างไร และทรงสอนวิธีประกอบศาสนพิธีนี้ บทเรียนนี้จะช่วยให้ท่านมีประสบการณ์ที่มีความหมายในการระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดขณะรับส่วนศีลระลึก

ช่วยให้ผู้เรียนค้นพบความเกี่ยวข้องในความจริงพระกิตติคุณ นักเรียนบางคนอาจมองไม่เห็นว่าพระกิตติคุณเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของพวกเขาอย่างไร แสวงหาวิธีร่วมกับการสวดอ้อนวอนเพื่อช่วยให้นักเรียนรู้สึกว่าสิ่งที่พวกเขากำลังเรียนรู้ล้วนมีความหมายและเป็นประโยชน์ต่อสภาวการณ์ คำถาม และความต้องการของตน

การเตรียมของนักเรียน: เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าประสบการณ์ศีลระลึกของพวกเขามีความหมายเพียงใด กระตุ้นให้นักเรียนไตร่ตรองสิ่งที่พวกเขาจะทำได้เพื่อปรับปรุงตนเอง

กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้

ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น

แนวคิดต่อไปนี้จะช่วยให้นักเรียนคิดออกว่าความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นตั้งอยู่บนอะไร กระบวนความคิดนี้จะช่วยให้นักเรียนใคร่ครวญความสัมพันธ์ของตนกับพระผู้ช่วยให้รอดและสำรวจวิธีเข้าใกล้พระองค์มากขึ้น วิธีหนึ่งในการใคร่ครวญคือผ่านศีลระลึก

นึกถึงคนที่ท่านรู้สึกสนิทจริงๆ และมีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับพวกเขา

  • ท่านหรือพวกเขาได้ทำอะไรบ้างเพื่อกระชับความสัมพันธ์เหล่านั้น?

ตอนนี้ให้คิดดูว่าท่านสนิทกับพระผู้ช่วยให้รอดมากเพียงใด

  • ท่านคิดว่าอะไรจะช่วยท่านกระชับความสัมพันธ์กับพระผู้ช่วยให้รอด?

ขณะศึกษาวันนี้ ให้อัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์มาสอนวิธีเข้าใกล้พระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้นและกระชับความสัมพันธ์ของท่านกับพระองค์

พระเยซูคริสต์ทรงจัดตั้งศีลระลึก

พระผู้ช่วยให้รอดทรงเปี่ยมด้วยความสงสารผู้คนเมื่อทรงรับรู้ว่าพวกเขาปรารถนาจะให้พระองค์ทรงอยู่กับพวกเขานานขึ้น (ดู 3 นีไฟ 17:1–6) หลังจากทรงให้พรเด็กๆ คนเจ็บป่วย และคนมีทุกข์แล้ว พระผู้ช่วยให้รอดทรงเตรียมวิธีให้ผู้คนมีพระวิญญาณของพระองค์อยู่กับพวกเขาตลอดเวลา

อ่าน 3 นีไฟ 18:1–11 และมองหาสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำ

ท่านอาจจะให้นักเรียนกลุ่มหนึ่งอ่าน 3 นีไฟ 18:1–7 ส่วนอีกกลุ่มอ่าน 3 นีไฟ 18:8–11 เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงคำถามที่พวกเขามีเกี่ยวกับความหมายของข้อที่อ่านหรือศาสนพิธีศีลระลึก หากต้องการ ท่านสามารถหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้ที่ Gospel Topics “Sacrament (ศีลระลึก)topics.ChurchofJesusChrist.org

ท่านอาจฉายวีดิทัศน์เรื่อง “Jesus Christ Introduces the Sacrament to the People” ที่ ChurchofJesusChrist.org ตั้งแต่รหัสเวลา 0:12 ถึง 6:12 หลังจากนักเรียนอ่านข้อพระคัมภีร์หรือขณะพวกเขาอ่านตาม คำถามต่อไปนี้จะช่วยนักเรียนเรื่องการสนทนาหลังดูวีดิทัศน์: ท่านประทับใจอะไรเป็นพิเศษ? ท่านคิดว่าผู้คนรู้สึกอย่างไรเมื่อพวกเขารับส่วน? เพราะเหตุใด? ท่านคิดว่าประสบการณ์ของท่านจะต่างจากเดิมอย่างไรหากพระผู้ช่วยให้รอดทรงปฏิบัติศีลระลึกให้กับท่าน?

10:50
  • ท่านค้นพบอะไรเกี่ยวกับศีลระลึกจากคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอด?

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงสัญญาอะไรในคำสวดอ้อนวอนศีลระลึกถ้าเราระลึกถึงพระองค์ตลอดเวลา?

ท่านอาจทำเครื่องหมายหลักธรรมใน 3 นีไฟ 18:7, 11 ว่า เมื่อเรารับส่วนศีลระลึกและระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดตลอดเวลา เราจะมีพระวิญญาณของพระองค์อยู่กับเรา

เมื่อพระเยซูคริสต์ตรัสว่าเราจะมี พระวิญญาณของพระองค์ อยู่กับเรา พระองค์ทรงหมายถึงของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์

  • มีวิธีใดบ้างที่เราจะระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดตลอดเวลาในชีวิตประจำวันของเรา? การระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดตลอดเวลาจะช่วยให้เรามีพระวิญญาณบริสุทธิ์อยู่กับเราได้อย่างไร?

  • การมีพระวิญญาณบริสุทธิ์อยู่กับท่านจะเป็นพรแก่ชีวิตท่านตอนนี้อย่างไร?

ประสบการณ์ของเรากับศีลระลึก

ท่านอาจเขียนรายการสำรวจเหล่านี้บนกระดานหรือบนกระดาษแยกข้อ นักเรียนจะตอบแบบสำรวจลงในสมุดบันทึกโดยไม่มีการแบ่งปันคำตอบ

คิดดูว่าความสัมพันธ์ของท่านกับพระผู้ช่วยให้รอดจะแน่นแฟ้นขึ้นได้อย่างไรถ้าท่านมีประสบการณ์ที่มีความหมายมากขึ้นขณะรับส่วนศีลระลึก ตอบข้อความแต่ละข้อด้วย “เสมอ” “บางครั้ง” “นานๆ ครั้ง” หรือ “ไม่เคย”

  1. ก่อนไปโบสถ์ฉันใช้เวลาเตรียมตัวรับศีลระลึก

  2. ระหว่างศีลระลึก ฉันพยายามระลึกถึงพระเยซูคริสต์

  3. ประสบการณ์ของฉันกับศีลระลึกมีอิทธิพลต่อการกระทำของฉันระหว่างสัปดาห์

กิจกรรมต่อไปนี้จะช่วยเยาวชนสร้างวิธีที่มีความหมายในการระลึกถึงพระคริสต์ระหว่างศีลระลึก ท่านอาจสร้างแผนภูมินี้บนกระดาน และให้นักเรียนเขียนคำตอบ นักเรียนบางคนอาจมีแนวคิดอยู่แล้วว่าอะไรช่วยให้พวกเขาระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอด ขอให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาทำอยู่แล้วเพื่อช่วยสร้างแนวคิด

หรือจะให้นักเรียนทำแผนภูมิที่เป็นส่วนตัวมากขึ้นในสมุดบันทึกการศึกษาก็ได้ พวกเขาจะถ่ายรูปแผนภูมิหลังจากนั้นไว้เป็นเครื่องเตือนใจเวลารับส่วนศีลระลึกครั้งต่อไป

ประสบการณ์ศีลระลึกที่มีความหมายมากขึ้น

  • ฉันต้องการระลึกถึงอะไรเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์?

    พิจารณาดังนี้:

    • สิ่งที่พระองค์ทรงทนทุกข์

    • สิ่งที่พระองค์ทรงทำเพื่อฉันหรือคนอื่นๆ ที่ฉันรู้จัก

  • ฉันจะเตรียมรับศีลระลึกได้อย่างไร?

  • ฉันจะทำอะไรได้บ้างระหว่างศีลระลึกเพื่อระลึกถึงพระเยซูคริสต์?

คำสัญญาของการรับศีลระลึก

อ่าน 3 นีไฟ 18:12–14 และมองหาสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสัญญาไว้กับคนที่ระลึกถึงพระองค์และรับส่วนศีลระลึก

  • ท่านคิดว่าการสร้างบนศิลาของพระผู้ช่วยให้รอดหมายความว่าอย่างไร?

    หากนักเรียนต้องการให้ช่วยพวกเขาเข้าใจความหมายของการสร้างบนศิลาของพระผู้ช่วยให้รอด ท่านจะอธิบายว่าหมายถึงเราทำและรักษาพันธสัญญากับพระองค์ พยายามทำตามแบบอย่างของพระองค์ และด้วยเหตุนี้จึงได้รับพรแห่งพระเมตตาและความเข้มแข็งจากพระองค์

  • การรับส่วนศีลระลึกจะช่วยเราสร้างบนศิลาของพระผู้ช่วยให้รอดได้อย่างไร?

  • ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อทำให้การรับส่วนศีลระลึกมีความหมายมากขึ้นในแต่ละสัปดาห์?

เป็นพยานว่าศีลระลึกจะช่วยให้เราสร้างชีวิตบนศิลาของพระผู้ช่วยให้รอดได้อย่างไร ท่านอาจแบ่งปันบางอย่างที่ท่านทำเพื่อทำให้ศีลระลึกมีความหมายสำหรับท่าน ขอให้นักเรียนไตร่ตรองและแบ่งปันพรที่อาจจะได้รับถ้าพวกเขาระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดขณะเตรียมตัวและรับส่วนศีลระลึก