พันธสัญญาใหม่ 2023
13 สิงหาคม พระเยซูคริสต์จะทรงช่วยฉันเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร? โรม 1–6


“13 สิงหาคม พระเยซูคริสต์จะทรงช่วยฉันเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร? โรม 1–6” จงตามเรามา—สำหรับโควรัมฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนและชั้นเรียนเยาวชนหญิง: หัวข้อหลักคำสอนปี 2023 (2022)

“13 สิงหาคม พระเยซูคริสต์จะทรงช่วยฉันเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร?” จงตามเรามา—สำหรับโควรัมฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนและชั้นเรียนเยาวชนหญิง: หัวข้อหลักคำสอนปี 2023

บัพติศมา

13 สิงหาคม

พระเยซูคริสต์จะทรงช่วยฉันเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร?

โรม 1–6

ไอคอนหารือกัน

หารือกัน

นำโดยสมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายประธานโควรัมหรือฝ่ายประธานชั้นเรียน ประมาณ 10–20 นาที

เมื่อเริ่มการประชุม ให้ท่อง สาระสำคัญเยาวชนหญิง หรือ สาระสำคัญโควรัมฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน พร้อมกัน จากนั้นนำการสนทนาเกี่ยวกับงานแห่งความรอดและความสูงส่งโดยใช้คำถามด้านล่างหนึ่งข้อหรือมากกว่านั้นหรือคำถามของท่านเอง (ดู คู่มือทั่วไป, 10.2, 11.2) วางแผนวิธีปฏิบัติตามที่ท่านสนทนา

  • ดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ เราจะพบปีติในการทำตามพระเยซูคริสต์อย่างไร?

  • ดูแลคนขัดสน ใครในวอร์ดหรือชุมชนของเราต้องการความช่วยเหลือจากเรา? เราจะช่วยเหลือพวกเขาได้อย่างไร?

  • เชื้อเชิญให้ทุกคนรับพระกิตติคุณ เราจะช่วยกันเตรียมตัวรับใช้งานเผยแผ่ศาสนาได้อย่างไร?

  • ทำให้ครอบครัวเป็นหนึ่งเดียวกันชั่วนิรันดร์ เราจะมีส่วนช่วยวอร์ดของเราในการพยายามทำงานพระวิหารและประวัติครอบครัวได้อย่างไร?

ตอนจบบทเรียนให้ทำดังต่อไปนี้เมื่อเห็นเหมาะสม:

  • เป็นพยานถึงหลักธรรมที่สอน

  • เตือนความจำสมาชิกโควรัมหรือสมาชิกชั้นเรียนเกี่ยวกับแผนและคำเชื้อเชิญที่ทำไว้ระหว่างการประชุม

ไอคอนสอนหลักคำสอน

สอนหลักคำสอน

นำโดยผู้นำที่เป็นผู้ใหญ่หรือเยาวชน ประมาณ 25–35 นาที

เตรียมตัวท่านทางวิญญาณ

“พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ เป็น พระกิตติคุณของการเปลี่ยนแปลง!” ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน กล่าว (“การตัดสินใจเพื่อนิรันดร,” เลียโฮนา, พ.ย. 2013, 108) อัครสาวกเปาโลอธิบายทำนองเดียวกันว่าเมื่อเรารับบัพติศมา เรา “ดำ‌เนิน​ตาม​ชีวิต​ใหม่” (โรม 6:4) เพราะพระเยซูคริสต์ ทุกๆ วัน—ไม่ใช่แค่วันที่เรารับบัพติศมา—สามารถทำให้เกิด “ชีวิตใหม่” หรือโอกาสเดินห่างจากบาปและเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น การดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์หมายถึงการกลับใจและเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น—สม่ำเสมอ บางครั้งทีละนิด—โดยรู้ว่าความพยายามของเราจะนำเราไปสู่ความบริบูรณ์แห่งปีติ

ไตร่ตรองว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงกำลังเปลี่ยนแปลงท่านและคนที่ท่านสอนอย่างไร ท่านจะรับเดชานุภาพของพระผู้ช่วยให้รอดในการเปลี่ยนแปลงท่านได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้นอย่างไร? คิดถึงเรื่องนี้ขณะที่ท่านอ่าน โรม 1–6 และขณะเตรียมสอน ท่านอาจจะทบทวนข่าวสารของประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันเรื่อง “เราสามารถทำได้ดีขึ้นและเป็นคนดีขึ้น” (เลียโฮนา, พ.ค. 2019, 67–69) หรือข่าวสารของซิสเตอร์เบคกี้ เครเวนเรื่อง “เก็บการเปลี่ยนแปลง” (เลียโฮนา, พ.ย. 2020, 58–60)

เรียนรู้ด้วยกัน

สำหรับพวกเราบางคน “ชีวิตใหม่” ที่พระคริสต์ทรงมอบให้ (โรม 6:4) มองออกยากเพราะเกิดขึ้นทีละนิด ขณะที่สำหรับคนอื่นการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นเร็วกว่า ท่านอาจจะเชิญสมาชิกชั้นเรียนหรือสมาชิกโควรัมแบ่งปันว่า “ดำเนินตามชีวิตใหม่” มีความหมายต่อพวกเขาอย่างไร คำหรือวลีใดบ้างจาก โรม 6 ที่พูดถึงชีวิตเราทั้งที่มีและไม่มีอิทธิพลของพระผู้ช่วยให้รอด? (ถ้าเยาวชนต้องการความช่วยเหลือ พวกเขาอาจจะดูใน ข้อ 6, 11, 22–23) เรานึกถึงคำและวลีใดอีกบ้าง? พระผู้ช่วยให้รอดทรงเสนอจะช่วยเราเปลี่ยนแปลงอย่างไร? กิจกรรมดังต่อไปนี้จะทำให้สนทนาหัวข้อนี้ได้ลึกซึ้งขึ้น

  • เพื่อช่วยชั้นเรียนหรือโควรัมนึกถึงการเปลี่ยนแปลงที่พระผู้ช่วยให้รอดจะทรงช่วยพวกเขาได้ ให้เชิญพวกเขาอ่านนิยามใต้ “กลับใจ (การ)” ในคู่มือพระคัมภีร์ (scriptures.ChurchofJesusChrist.org) นอกจากนี้อาจจะสนทนานิยามการกลับใจของประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันด้วยในเจ็ดย่อหน้าแรกของข่าวสารเรื่อง “เราสามารถทำได้ดีขึ้นและเป็นคนดีขึ้น” เราเรียนรู้ความจริงสำคัญๆ อะไรบ้างเกี่ยวกับการกลับใจจากนิยามเหล่านี้? ท่านอาจจะให้เวลาชั้นเรียนหรือโควรัมไตร่ตรองรายการของประธานเนลสันเกี่ยวกับสิ่งที่พระเยซูทรงขอให้เราเปลี่ยนแปลง (ในข่าวสารของท่าน ย่อหน้าที่ห้า) กระตุ้นให้พวกเขาจดสิ่งเฉพาะเจาะจงบางอย่างที่รู้สึกได้รับการกระตุ้นเตือนให้เปลี่ยนแปลง แสดงประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับเดชานุภาพของพระผู้ช่วยให้รอดในการช่วยให้เรากลับใจและเปลี่ยนแปลง

  • ซิสเตอร์เบคกี้ เครเวนกล่าวว่าบางครั้งเพื่อนๆ ที่ไม่เจอกันนานพูดกับเธอว่า “เธอไม่เปลี่ยนเลย!” ท่านอาจจะแบ่งปันความเห็นของซิสเตอร์เครเวนในเรื่องนี้ (ดู “เก็บการเปลี่ยนแปลง,” 59–60) ขอให้สมาชิกชั้นเรียนหรือสมาชิกโควรัมสมมติว่าในห้าหรือสิบปีข้างหน้า พวกเขาเจอเพื่อนที่ไม่ได้เจอมานาน อะไรที่เพื่อนๆ ของเราน่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด? เราหวังว่าเราจะเปลี่ยนไปในด้านใดบ้าง? ศรัทธาในพระเยซูคริสต์จะช่วยให้เราเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร? (ดู โมไซยาห์ 5:2–5, 7; แอลมา 5:11–13; อีเธอร์ 12:27 หรือ “แบบแผนเพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง” ที่ซิสเตอร์เครเวนพูดไว้ในข่าวสารสี่ย่อหน้าของเธอเริ่มตั้งแต่ “สมัยยังสาว”) ท่านอาจจะขอให้เยาวชนแบ่งปันประสบการณ์เมื่อพระเยซูคริสต์ทรงช่วยพวกเขาเปลี่ยนแปลง

  • บางครั้งเราอาจคิดว่าเราถูกคาดหวังให้เปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงทุกอย่างในชีวิตเราด้วยตนเอง นี่ต่างจากการกลับใจที่แท้จริงอย่างไร? เพื่อช่วยชั้นเรียนหรือโควรัมสนทนาคำถามนี้ ท่านอาจจะทบทวนข้อความใน “แหล่งข้อมูลสนับสนุน” ด้วยกัน เราจะทำอะไรได้บ้างตอนนี้เพื่อแสวงหาความช่วยเหลือและเดชานุภาพของพระผู้ช่วยให้รอดทั้งนี้เพื่อการเปลี่ยนแปลงของเราจะถาวรและน่ายินดี? นี่อาจจะเป็นโอกาสดีให้เยาวชนได้พิจารณาเป้าหมายการพัฒนาตนเอง เราจะรวมพระผู้ช่วยให้รอดไว้ในเป้าหมายของเราได้อย่างไร?

เยาวชนหญิงกำลังเดิน

ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ช่วยให้เรากลับใจและเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้นทุกวัน

กระทำด้วยศรัทธา

กระตุ้นให้สมาชิกโควรัมหรือสมาชิกชั้นเรียนไตร่ตรองและบันทึกสิ่งที่พวกเขาจะทำเพื่อกระทำตามการกระตุ้นเตือนที่ได้รับวันนี้ พวกเขาอาจแบ่งปันแนวคิดของตน ถ้าต้องการ เชื้อเชิญให้พวกเขาตรึกตรองว่าการกระทำตามการกระตุ้นเตือนเหล่านั้นจะกระชับความสัมพันธ์ของพวกเขากับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์อย่างไร

แหล่งข้อมูลสนับสนุน

  • ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันอธิบายว่า: “เราสามารถเปลี่ยนพฤติกรรม แม้ความปรารถนาของเราก็เปลี่ยนแปลงได้ อย่างไรน่ะหรือ? มีเพียงหนทางเดียว การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง—การเปลี่ยนแปลงถาวร—สามารถเกิดขึ้นได้ผ่านอำนาจการรักษา ชำระล้าง และทำให้เป็นไปได้แห่งการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ พระองค์ทรงรักท่าน—ท่านทุกคน! ทรงยอมให้ท่านเข้าถึงเดชานุภาพของพระองค์เมื่อท่านรักษาพระบัญญัติด้วยความกระตือรือร้น จริงจัง และเคร่งครัด” (“การตัดสินใจเพื่อนิรันดร,” 108)

  • เอ็ลเดอร์เดล จี. เรนลันด์สอนว่า: “พลังอำนาจที่ทำให้การกลับใจเป็นไปได้ [คือ] การพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด การกลับใจที่แท้จริงต้องรวมถึงศรัทธาในพระเจ้าพระเยซูคริสต์ ศรัทธาว่าพระองค์จะทรงให้อภัยเรา และศรัทธาว่าพระองค์จะทรงช่วยเราหลีกเลี่ยงความผิดที่มากขึ้น ศรัทธาเช่นนี้ทำให้การชดใช้ของพระองค์มีผลในชีวิตเรา เมื่อเรา … ‘หันกลับ’ [กลับใจ] ด้วยความช่วยเหลือจากพระผู้ช่วยให้รอด เราจะรู้สึกได้ถึงความหวังในคำสัญญาของพระองค์และปีติจากการให้อภัย หากไม่มีพระผู้ไถ่ ความหวังและปีติโดยเนื้อแท้หายไป และการกลับใจเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงแก้ไขพฤติกรรมอันน่าสังเวชเท่านั้น แต่โดยใช้ศรัทธาในพระองค์ เราเปลี่ยนใจเลื่อมใสสู่ความสามารถและความเต็มพระทัยของพระองค์ในการให้อภัยบาป” (เดล จี. เรนลันด์, “การกลับใจ: การเลือกอันน่าปีติยินดี,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 122)

การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด

กิจกรรมในโครงร่างนี้นำเสนอวิธีที่จะช่วยให้ชั้นเรียนหรือโควรัมเรียนรู้ด้วยกันเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและเดชานุภาพของพระองค์ในการช่วยเราเปลี่ยนแปลง อาจมีอีกหลายวิธีที่จะใช้ได้ผลมากขึ้นกับคนที่ท่านสอน จงแสวงหาการนำทางของพระวิญญาณร่วมกับการสวดอ้อนวอนขณะที่ท่านวางแผนวิธีสร้างศรัทธาในพระเยซูคริสต์