พันธสัญญาใหม่ 2023
22 ตุลาคม ฉันจะยืนหยัดมั่นคงในคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร? 1 และ 2 เธสะโลนิกา


“22 ตุลาคม ฉันจะยืนหยัดมั่นคงในคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร? 1 และ 2 เธสะโลนิกา” จงตามเรามา—สำหรับโควรัมฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนและชั้นเรียนเยาวชนหญิง: หัวข้อหลักคำสอนปี 2023 (2022)

“22 ตุลาคม ฉันจะยืนหยัดมั่นคงในคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร?” จงตามเรามา—สำหรับโควรัมฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนและชั้นเรียนเยาวชนหญิง: หัวข้อหลักคำสอนปี 2023

ภาพ
เยาวชนกำลังเดิน

22 ตุลาคม

ฉันจะยืนหยัดมั่นคงในคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร?

1 และ 2 เธสะโลนิกา

ภาพ
ไอคอนหารือกัน

หารือกัน

นำโดยสมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายประธานโควรัมหรือฝ่ายประธานชั้นเรียน ประมาณ 10–20 นาที

เมื่อเริ่มการประชุม ให้ท่อง สาระสำคัญเยาวชนหญิง หรือ สาระสำคัญโควรัมฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน พร้อมกัน จากนั้นนำการสนทนาเกี่ยวกับงานแห่งความรอดและความสูงส่งโดยใช้คำถามด้านล่างหนึ่งข้อหรือมากกว่านั้นหรือคำถามของท่านเอง (ดู คู่มือทั่วไป, 10.2, 11.2) วางแผนวิธีปฏิบัติตามที่ท่านสนทนา

  • ดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ เมื่อเร็วๆ นี้มีประสบการณ์อะไรเสริมสร้างประจักษ์พยานของเราบ้าง?

  • ดูแลคนขัดสน ใครต้องการความช่วยเหลือและคำสวดอ้อนวอนของเรา? เรารู้สึกถึงการกระตุ้นเตือนให้ทำอะไรเพื่อช่วยเหลือพวกเขา?

  • เชื้อเชิญให้ทุกคนรับพระกิตติคุณ เราจะเป็นแสงสว่างให้กับสมาชิกครอบครัวและเพื่อนๆ ที่มีความเชื่อไม่เหมือนเราได้อย่างไร?

  • ทำให้ครอบครัวเป็นหนึ่งเดียวกันชั่วนิรันดร์ เราจะแสดงความรักและการสนับสนุนครอบครัวเรามากขึ้นและทำให้บ้านเราเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้อย่างไร?

ตอนจบบทเรียนให้ทำดังต่อไปนี้เมื่อเห็นเหมาะสม:

  • เป็นพยานถึงหลักธรรมที่สอน

  • เตือนความจำสมาชิกโควรัมหรือสมาชิกชั้นเรียนเกี่ยวกับแผนและคำเชื้อเชิญที่ทำไว้ระหว่างการประชุม

ภาพ
ไอคอนสอนหลักคำสอน

สอนหลักคำสอน

นำโดยผู้นำที่เป็นผู้ใหญ่หรือเยาวชน ประมาณ 25–35 นาที

เตรียมตัวท่านทางวิญญาณ

พวกเราส่วนใหญ่รู้จักคนที่ครั้งหนึ่งดูเหมือนทุ่มเทเต็มที่ให้กับพระเยซูคริสต์แต่ได้ละทิ้งศรัทธาไปแล้ว เป็นธรรมดาที่จะสงสัยว่า “ฉันจะเป็นแบบนั้นไหม?” เปาโลสรรเสริญวิสุทธิชนชาวเธสะโลนิกาสำหรับความมีศรัทธาของพวกเขาแต่รู้สึกได้รับการดลใจให้เตือนพวกเขาเรื่องคำสอนเท็จและอิทธิพลอื่นที่อาจบั่นทอนศรัทธาของพวกเขาได้ ไม่ว่าตอนนี้คำมั่นสัญญาของเราต่อพระผู้ช่วยให้รอดจะหนักแน่นเพียงใด แต่มีมากมายเสมอที่เราทำได้เพื่อ “เพิ่มพูน [ศรัทธาของเรา] ในส่วนที่ยังขาดอยู่ให้บริบูรณ์” (1 เธสะโลนิกา 3:10)

ขณะสวดอ้อนวอนเกี่ยวกับคนในชั้นเรียนหรือโควรัมของท่าน ให้ฟังการกระตุ้นเตือนที่พระเจ้าทรงส่งให้ท่าน ท่านรู้สึกว่าอะไรจะช่วยให้พวกเขายังคงซื่อสัตย์ต่อพระผู้เป็นเจ้าแม้พวกเขาจะเผชิญการต่อต้าน? อะไรช่วยท่านมาแล้ว? ขณะเตรียมสอน ท่านอาจจะทบทวนข่าวสารของเอ็ลเดอร์เดล จี. เรนลันด์เรื่อง “การปวารณาตนแน่วแน่ต่อพระเยซูคริสต์” (เลียโฮนา, พ.ย. 2019, 22–25) นอกเหนือจาก 1 และ 2 เธสะโลนิกา

เรียนรู้ด้วยกัน

เพื่อช่วยเยาวชนทบทวนสิ่งที่พวกเขาได้อ่านใน 1 และ 2 เธสะโลนิกา และนำเข้าสู่หัวข้อเรื่องการยืนหยัดมั่นคงในคำมั่นสัญญาต่อพระผู้ช่วยให้รอด ท่านอาจจะอ่าน 2 เธสะโลนิกา 2:1–3 ด้วยกัน สนทนาว่า “การกบฏ (ละทิ้ง)” น่าจะหมายความว่าอย่างไร? โดยเฉพาะการที่บุคคลกบฏต่อ (ละทิ้ง) พระเยซูคริสต์หมายความว่าอย่างไร? ท่านอาจจะเปรียบเทียบคำนี้กับวลีอื่นที่เปาโลใช้ เช่น “มั่นคงอยู่ในองค์พระผู้เป็นเจ้า” (1 เธสะโลนิกา 3:8) และ “อย่าอ่อนใจที่จะทำความดี” (2 เธสะโลนิกา 3:13) จากนั้นอาจจะทบทวน 1 เธสะโลนิกา 5:15–23 การทำตามคำแนะนำของเปาโลในข้อเหล่านี้จะช่วยป้องกันไม่ให้เราละทิ้งศรัทธาในพระเยซูคริสต์—แม้เมื่อเราเผชิญการต่อต้านได้อย่างไร? ใช้กิจกรรมดังต่อไปนี้ช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนหรือสมาชิกโควรัมยังยืนหยัดมั่นคงในคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับพระผู้ช่วยให้รอด

  • การเรียนรู้จากแบบอย่างของคนที่ไม่หวั่นไหวในคำมั่นสัญญาต่อพระคริสต์จะสร้างแรงบันดาลใจได้ เช่น ท่านอาจจะศึกษาแบบอย่างของชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮด้วยกันผู้เคยเป็น “คนป่าเถื่อนและแข็งกระด้างและดุร้าย” แต่ “ไม่เคยตกเลย” หลังจาก “เปลี่ยนใจเลื่อมใสมาหาพระเจ้า” (แอลมา 17:14; 23:6–8) แอลมา 24:8–18 บอกอะไรเกี่ยวกับสาเหตุที่พวกเขายังคงซื่อสัตย์? พวกเขาทำการเลือกสำคัญๆ อะไรบ้าง? พระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยเหลือพวกเขาอย่างไร? ตัวอย่างเพิ่มเติมอยู่ในข่าวสารของเอ็ลเดอร์เดล จี. เรนลันด์เรื่อง “การปวารณาตนแน่วแน่ต่อพระเยซูคริสต์” เยาวชนสองสามคนอาจจะอ่านบางตัวอย่างเหล่านี้และแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้เกี่ยวกับการซื่อตรงต่อพระคริสต์ เรายังคงแน่วแน่ต่อพระเจ้าอย่างไรแม้เรามีข้อบกพร่อง?

  • ในการพยายามเสริมสร้างศรัทธาของเรา การรู้ทันอิทธิพลที่พยายามบั่นทอนศรัทธาของเราจะเป็นประโยชน์ นิมิตของลีไฮเกี่ยวกับต้นไม้แห่งชีวิตพูดถึงอิทธิพลบางอย่างเหล่านี้ ท่านอาจจะให้ดูภาพนิมิตดังกล่าว (ดู หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009] ภาพที่ 69) และทบทวนรายละเอียดใน 1 นีไฟ 8:10–34 ด้วยกัน ในนิมิตนั้นอะไรขัดขวางไม่ให้ผู้คนได้กินผลของต้นไม้? อะไรช่วยให้ผู้คนไปถึงต้นไม้และอยู่ที่นั่น? สิ่งเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของอะไรในชีวิตเรา?

  • ในข่าวสารเรื่อง “พลังอำนาจในการเอาชนะปฏิปักษ์” (เลียโฮนา, พ.ย. 2019, 110–112) เอ็ลเดอร์ปีเตอร์ เอ็ม. จอห์นสันระบุสามวิธีที่ซาตานพยายามทำให้เราอ่อนแอ ท่านอาจจะมอบหมายให้เยาวชนอ่านคนละวิธีและยกตัวอย่างให้ชั้นเรียนหรือโควรัมฟังว่าซาตานใช้เครื่องมือนี้กับเยาวชนยุคปัจจุบันอย่างไร จากนั้นให้พวกเขาอ่านข้อเสนอแนะสี่ประการของเอ็ลเดอร์จอห์นสันคนละข้อสำหรับการเอาชนะกลยุทธ์ของปฏิปักษ์และแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้

ภาพ
พระเยซูคริสต์

อย่ากลัวเลย โดย ไมเคิล มาล์ม

กระทำด้วยศรัทธา

กระตุ้นให้สมาชิกโควรัมหรือสมาชิกชั้นเรียนไตร่ตรองและบันทึกสิ่งที่พวกเขาจะทำเพื่อกระทำตามการกระตุ้นเตือนที่ได้รับวันนี้ พวกเขาอาจแบ่งปันแนวคิดของตน ถ้าต้องการ เชื้อเชิญให้พวกเขาตรึกตรองว่าการกระทำตามการกระตุ้นเตือนเหล่านั้นจะกระชับความสัมพันธ์ของพวกเขากับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์อย่างไร

แหล่งข้อมูลสนับสนุน

การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด

ในหลายๆ กรณี อาจเห็นควรให้เชื้อเชิญผู้เรียนหาคำตอบของคำถามของพวกเขาด้วยกัน เมื่อพระวิญญาณกระตุ้นเตือน ท่านอาจตัดสินใจทำเช่นนี้แม้จะรู้สึกว่าท่านรู้คำตอบ

พิมพ์