จงตามเรามา
18–24 มีนาคม: “นี่คือทางนั้น” 2 นีไฟ 31–33


“18–24 มีนาคม: ‘นี่คือทางนั้น’ 2 นีไฟ 31–33,” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: พระคัมภีร์มอรมอน 2024 (2024)

“18–24 มีนาคม 2 นีไฟ 31–33,” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: 2024 (2024)

พระเยซูทรงสอนสานุศิษย์ของพระองค์

พระคริสต์ทรงสอนสาวกของพระองค์ โดย จัสติน คุนซ์

18–24 มีนาคม: “นี่คือทางนั้น”

2 นีไฟ 31–33

ในบรรดาถ้อยคำสุดท้ายของนีไฟที่บันทึกไว้ เราพบคำประกาศนี้ “พระเจ้าทรงบัญชาข้าพเจ้าไว้ดังนั้น, และข้าพเจ้าต้องเชื่อฟัง” (2 นีไฟ 33:15) นี่เป็นบทสรุปที่ดีเกี่ยวกับชีวิตของนีไฟ เขาพยายามทำความเข้าใจพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าและกล้าหาญที่จะเชื่อฟัง—ไม่ว่าจะต้องเสี่ยงชีวิตเพื่อไปเอาแผ่นจารึกทองเหลืองมาจากเลบัน ต่อเรือข้ามทะเล หรือสอนหลักคำสอนของพระคริสต์อย่างซื่อสัตย์ด้วยความชัดเจนและมีพลัง นีไฟพูดโน้มน้าวให้ “มุ่งหน้าด้วยความแน่วแน่ในพระคริสต์” ให้เดินตาม “ทางคับแคบและแคบนี้ซึ่งนำไปสู่ชีวิตนิรันดร์” (2 นีไฟ 31:20, 18) เพราะนั่นคือเส้นทางที่เขาเดินตาม เขารู้จากประสบการณ์ว่าเส้นทางนี้แม้จะเรียกร้องบ้างในบางครั้งแต่เปี่ยมด้วยปีติเช่นกัน และ “ไม่มีทางอื่นทั้งนามอื่นใดประทานไว้ภายใต้ฟ้าสวรรค์ ซึ่งโดยทางนั้นมนุษย์จะได้รับการช่วยให้รอดได้ในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า” (2 นีไฟ 31:21)

แนวคิดสำหรับการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์

2 นีไฟ 31

พระเยซูคริสต์และหลักคำสอนของพระองค์เป็นทางเดียวสู่ชีวิตนิรันดร์

ถ้าท่านต้องสรุปเส้นทางสู่ชีวิตนิรันดร์ในคำพูดไม่กี่คำ ท่านจะพูดว่าอะไร? สังเกตวิธีที่นีไฟอธิบายไว้ใน 2 นีไฟ 31 ท่านอาจวาดเส้นทางและเขียนหลักธรรมหรือขั้นตอนบางอย่างที่ท่านพบในบทเหล่านี้ตามเส้นทางนั้น ท่านอาจเพิ่มข้อสรุปของตนเองเกี่ยวกับสิ่งที่นีไฟสอนหลักธรรมแต่ละข้อลงในภาพวาดของท่าน

ขณะที่ท่านอ่าน 2 นีไฟ 31:18–20 ให้ประเมินความพยายามของท่านในการ “มุ่งหน้า” ตามเส้นทางพระกิตติคุณ

ดู “รีบรุดสิทธิชน,” เพลงสวด, บทเพลงที่ 32 ด้วย

ครอบครัวสวดอ้อนวอนด้วยกัน

การทำตามคำสอนของพระเยซูคริสต์นำเราสู่ชีวิตนิรันดร์

2 นีไฟ 31:4–13

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างที่สมบูรณ์พร้อมของการเชื่อฟังเมื่อพระองค์ทรงรับบัพติศมา

ไม่ว่าท่านจะรับบัพติศมาเมื่อวานนี้หรือเมื่อ 80 ปีก่อน เวลานั้นนับเป็นช่วงเวลาสำคัญทั้งสิ้น เพราะท่านเข้าสู่พันธสัญญานิรันดร์ที่จะติดตามพระเยซูคริสต์ นึกถึงบัพติศมาของท่านขณะท่านอ่านเกี่ยวกับบัพติศมาของพระผู้ช่วยให้รอดใน 2 นีไฟ 31:4–13 การตอบคำถามเช่นนี้อาจช่วยได้:

  • เหตุใดพระเยซูทรงรับบัพติศมา? เหตุใดฉันจึงเลือกรับบัพติศมา?

  • ฉันทำสัญญาอะไรบ้างเมื่อฉันรับบัพติศมา? พระเจ้าทรงสัญญาอะไรตอบแทน? (ดู ข้อ 12–13; ดู โมไซยาห์ 18:10, 13 ด้วย)

  • ฉันจะแสดงให้เห็นได้อย่างไรว่าฉันยังคงมุ่งมั่นที่จะติดตามพระเยซูคริสต์?

2 นีไฟ 31:15–20

“ผู้ใดที่อดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่, ผู้เดียวกันนั้นจะได้รับการช่วยให้รอด”

speeches.byu.eduขณะที่ท่านอ่าน 2 นีไฟ 31:15–20 ให้ถามตัวท่านเองว่า “ฉันจะรู้ได้อย่างไรว่าฉันกำลังอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่?” สิ่งใดที่ท่านเรียนรู้จากนีไฟที่ช่วยท่านตอบคำถามนี้?

เอ็ลเดอร์เดล จี. เรนลันด์สอนว่า “การอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ไม่ใช่ขั้นตอนที่แยกออกมาต่างหากในหลักคำสอนของพระคริสต์—เหมือนกับว่าเราทำสี่ขั้นตอนแรกเสร็จแล้วจึงย่อตัวลง กัดฟัน และรอความตาย แต่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น การอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่คือการทำซ้ำขั้นตอนต่างๆ อย่างกระตือรือร้นและตั้งใจ” (“Lifelong Conversion” [การให้ข้อคิดทางวิญญาณที่มหาวิทยาลัยบริคัมยังก์ 14 ก.ย. 2021], 2 ) ท่านจะทำซ้ำขั้นตอนในหลักคำสอนของพระคริสต์ (ศรัทธา การกลับใจ บัพติศมา และการรับพระวิญญาณบริสุทธิ์) ได้อย่างไร?

ไอคอนเซมินารี

2 นีไฟ 32; 33:2

พระผู้เป็นเจ้าจะทรงแสดงให้ฉันเห็นว่าควรทำอย่างไรผ่านพระวจนะของพระคริสต์และพระวิญญาณบริสุทธิ์

ท่านเคยรู้สึกไม่แน่ใจว่าจะทำอะไรต่อไปในชีวิตหรือไม่? ผู้คนของนีไฟมีความกังวลคล้ายกัน (ดู 2 นีไฟ 32:1) มองหาคำตอบของนีไฟใน 2 นีไฟ 32:2–9 ท่านจะกล่าวถึงสิ่งที่นีไฟสอนด้วยคำพูดของตัวท่านเองว่าอย่างไร? ประสบการณ์ใดสอนท่านว่าคำพูดของนีไฟเป็นความจริง?

ท่านอาจเขียนการตัดสินใจหรือสถานการณ์ (ทั้งในปัจจุบันและอนาคต) ที่ท่านต้องการการนำทางจากพระผู้เป็นเจ้าออกมาเป็นข้อๆ ท่านสามารถเรียนรู้อะไรจาก 2 นีไฟ 32 ที่จะช่วยให้ท่านประสบความสำเร็จในการรับการดลใจจากพระองค์ได้? อะไรอาจทำให้ผู้คน “ใจแข็งกระด้างต่อพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์”? (2 นีไฟ 33:2)

ขณะที่ท่านไตร่ตรองคำแนะนำของนีไฟ ให้นึกถึงวิธีที่ท่านศึกษาพระวจนะของพระผู้ช่วยให้รอด ท่านจะบรรยายพระวจนะของพระผู้ช่วยให้รอดว่าเป็นการรับประทานของว่าง รับประทานอาหาร หรือรับประทานอาหารในงานเลี้ยงหรือไม่? ความแตกต่างระหว่างสิ่งข้างต้นคืออะไรในความคิดของท่าน? พิจารณาว่าท่านจะทำให้ประสบการณ์ของท่านกับพระวจนะของพระผู้ช่วยให้รอดเป็นเหมือนงานเลี้ยงได้อย่างไร ท่านอาจสอบถามแนวคิดจากเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวได้เช่นกัน

ดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์ มีวิธีดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์อยู่หลายวิธี เช่น การสวดอ้อนวอนขอการดลใจ ถามคำถามก่อนและระหว่างการศึกษา นิยามคำ ไตร่ตรอง ทำการอ้างโยง จดบันทึก มองหาความจริงพระกิตติคุณ และประยุกต์ใช้พระคัมภีร์กับชีวิตท่าน (ดู 1 นีไฟ 19:23)

ท่านจะอัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้เป็นเพื่อนที่ยั่งยืนในชีวิตท่านแทนที่จะมาเยี่ยมเยียนเป็นครั้งคราวได้อย่างไร? อ่านคำแนะนำสามข้อของเดวิด เอ. เบดนาร์เพื่อทำให้การมีพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นเพื่อนเป็น “ความจริงที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง” ใน “ได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์” (เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 94–97) ท่าน​จะ​ใช้​คำ​แนะ​นำ​ของ​เขา​อย่าง​ไร?

2 นีไฟ 33

พระคัมภีร์มอรมอนชักชวนให้เราทุกคนเชื่อในพระคริสต์

ใน 2 นีไฟ 33 ขณะนีไฟสรุปงานเขียนของเขา เขาอธิบายเหตุผลว่าทำไมเขาจึงเขียน ท่านพบเหตุผลอะไรในบทนี้? ใคร่ครวญเรื่องราวและคำสอนใน 1 นีไฟ และ 2 นีไฟที่ท่านอ่านจนถึงตอนนี้ สิ่งใดที่มีอิทธิพลต่อท่านและความเชื่อของท่านในพระคริสต์มากที่สุด?

ท่านสามารถดูแนวคิดเพิ่มเติมได้ในนิตยสาร เลียโฮนา และ เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน ฉบับเดือนนี้

แนวคิดสำหรับการสอนเด็ก

2 นีไฟ 31:4–13

เมื่อฉันรับบัพติศมา ฉันติดตามพระเยซูคริสต์

  • ในตอนท้ายของโครงร่างนี้มีภาพพระเยซูทรงรับบัพติศมา เด็กอาจใช้ภาพดังกล่าวเพื่อบอกท่านว่าพวกเขารู้อะไรเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ (ดู มัทธิว 3:13–17 ด้วย) เพราะเหตุใดพระเยซูทรงต้องการให้เรารับบัพติศมาเหมือนพระองค์? ท่านอาจให้เด็กฟังเหตุผลขณะที่ท่านอ่าน 2 นีไฟ 31:4–13 บางส่วนด้วยกัน การให้คนที่เพิ่งรับบัพติศมาออกมาเล่าประสบการณ์ของตนเองอาจเป็นประโยชน์

2 นีไฟ 31

พระเยซูคริสต์ทรงสอนให้ฉันรู้วิธีกลับไปหาพระบิดาบนสวรรค์

  • เพื่อช่วยให้เด็กเห็นภาพคำสอนใน 2 นีไฟ 31 พวกเขาอาจวาดเส้นทางที่มีภาพพระคริสต์อยู่ที่ปลายทาง ท่านสามารถช่วยเด็กค้นหาหรือวาดภาพที่แสดงขั้นตอนบนเส้นทางนั้น เช่น ศรัทธาในพระคริสต์ การกลับใจ บัพติศมา ของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ และการอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ท่านอาจให้เด็กชี้ไปที่รูปภาพขณะที่ท่านอ่าน 2 นีไฟ 31:17–20 ด้วยกัน

2 นีไฟ 32:3–5

ฉันสามารถดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์

  • เพื่อสอนเรื่อง “การดื่มด่ำ” พระวจนะของพระคริสต์ ท่านอาจขอให้เด็กแสดงท่าทางว่าพวกเขาจะรับประทานอาหารจานโปรดอย่างไร นีไฟบอกว่าเราควรดื่มด่ำอะไรใน 2 นีไฟ 32:3? การดื่มด่ำพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าแตกต่างจาก การอ่าน เพียงอย่างเดียวอย่างไร? ท่านอาจให้เด็กแสดงบทบาทสมมติเกี่ยวกับความแตกต่างนั้น บอกพวกเขาเกี่ยวกับพรที่ท่านเคยได้รับเมื่อท่านดื่มด่ำพระคัมภีร์

2 นีไฟ 32:8–9

พระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้ฉันสวดอ้อนวอนเสมอ

  • หลังจากอ่าน 2 นีไฟ 32:8–9 แล้ว ให้พูดคุยกับเด็กเกี่ยวกับสาเหตุที่ซาตานไม่ต้องการให้เราสวดอ้อนวอน เพราะเหตุใดพระผู้เป็นเจ้าทรงต้องการให้เรา “สวดอ้อนวอนเสมอ”? เด็กอาจวาดภาพหรือเขียนสถานการณ์ที่พวกเขาสวดอ้อนวอนได้ออกมาเป็นข้อๆ จากนั้นให้ท่านร้องเพลงที่สอนเรื่องการสวดอ้อนวอน เช่น “สวดอ้อนวอนหรือเปล่า?” (เพลงสวด, บทเพลงที่ 61) ท่านสามารถแทนที่คำบางคำในเพลงด้วยคำจากรายการที่เด็กเขียน พระผู้เป็นเจ้าทรงอวยพรเราอย่างไรเมื่อเราสวดอ้อนวอนเสมอ?

สำหรับแนวคิดเพิ่มเติม โปรดดูนิตยสาร เพื่อนเด็ก ฉบับเดือนนี้

ยอห์นผู้ถวายบัพติศมากำลังถวายบัพติศมาพระเยซู

เพื่อทำให้ความชอบธรรมทั้งปวงเกิดสัมฤทธิผล โดย ลิซ เลมอน สวินเดิล