จงตามเรามา
25–31 มีนาคม: “พระองค์จะทรงลุกขึ้น … พร้อมด้วยปีกของพระองค์ที่รักษาหาย” อีสเตอร์


“25–31 มีนาคม: ‘พระองค์จะทรงลุกขึ้น … พร้อมด้วยปีกของพระองค์ที่รักษาหาย’ อีสเตอร์,” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: พระคัมภีร์มอรมอน 2024 (2023)

“25–31 มีนาคม อีสเตอร์,” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: 2024 (2023)

พระคริสต์ผู้ฟื้นคืนพระชนม์กับอัครสาวกของพระองค์

พระคริสต์กับอัครสาวก โดย เดล พาร์สัน

25–31 มีนาคม: “พระองค์จะทรงลุกขึ้น … พร้อมด้วยปีกของพระองค์ที่รักษาหาย”

อีสเตอร์

อัครสาวกสมัยโบราณองอาจในประจักษ์พยานของพวกเขาเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ (ดู กิจการของอัครทูต 4:33) ผู้คนหลายล้านคนเชื่อในพระเยซูคริสต์และพยายามติดตามพระองค์เพราะถ้อยคำเหล่านั้นที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์ไบเบิล แต่บางคนอาจสงสัยว่าถ้าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของคนทั้งโลก แล้วเหตุใดพยานที่เห็นพระองค์จึงมีเพียงไม่กี่คนในภูมิภาคเล็กๆ แห่งหนึ่ง?

พระคัมภีร์มอรมอนเป็นพยานเพิ่มเติมที่ทำให้มั่นใจว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของโลก “ทรงแสดงองค์ให้ประจักษ์แก่ประชาชาติทั้งปวง” (หน้าชื่อเรื่องของพระคัมภีร์มอรมอน) และประทานความรอดให้ทุกคนที่มาหาพระองค์ นอกจากนี้ พยานปากที่สองนี้ยังให้ความกระจ่างเช่นกันว่าความรอดหมายถึงอะไร นี่คือสาเหตุที่นีไฟ เจคอบ มอรมอน และศาสดาพยากรณ์ทั้งหมดทำงาน “อย่างขยันหมั่นเพียรเพื่อจารึกถ้อยคำเหล่านี้บนแผ่นจารึก”—เพื่อประกาศต่อคนรุ่นต่อๆ ไปว่าพวกเขา “รู้เรื่องพระคริสต์, และ … มีความหวังในรัศมีภาพของพระองค์” เช่นกัน (เจคอบ 4:3–4) เทศกาลอีสเตอร์ปีนี้ จงใคร่ครวญประจักษ์พยานในพระคัมภีร์มอรมอนที่ว่าเดชานุภาพของพระผู้ช่วยให้รอดมีผลกับคนทั้งโลกและแต่ละคน—ไถ่คนทั้งโลกและไถ่ท่าน

แนวคิดสำหรับการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์

ไอคอนเซมินารี
เพราะพระเยซูคริสต์ ฉันจึงจะฟื้นคืนชีวิต

การไตร่ตรองการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ในช่วงเทศกาลอีสเตอร์เป็นประเพณีสืบต่อกันมา แต่จริงๆ แล้วการฟื้นคืนชีวิตหมายความว่าอย่างไร? พระคัมภีร์มอรมอนให้ข้อคิดอะไรเกี่ยวกับการฟื้นคืนชีวิต? ในเทศกาลอีสเตอร์นี้ ท่านอาจเขียนความจริงเกี่ยวกับการฟื้นคืนพระชนม์ที่พบใน 2 นีไฟ 9:6–15, 22; แอลมา 11:42–45; 40:21–25; 3 นีไฟ 26:4–5

ท่านอาจจะบันทึกด้วยว่าความจริงเกี่ยวกับการฟื้นคืนชีวิตเหล่านี้มีอิทธิพลต่อการกระทำและวิธีดำเนินชีวิตของท่านอย่างไร ตัวอย่างเช่น พิจารณาว่าท่านจะเติมประโยคเหล่านี้อย่างไร: ถ้าฉันไม่รู้เรื่องนี้ ฉันจะ … และ เพราะฉันรู้เรื่องนี้ ฉันจึง …

เพลงสวดอย่าง “ฉันรู้พระผู้ไถ่ทรงพระชนม์” (เพลงสวด, บทเพลงที่ 59) จะช่วยให้ท่านคิดไตร่ตรองว่าเหตุใดการฟื้นคืนพระชนม์ของพระผู้ช่วยให้รอดจึงสำคัญสำหรับท่าน ขณะที่ท่านร้องเพลง ฟัง หรืออ่านเพลงสวด ท่านอาจถามตนเองว่า “ชีวิตของฉันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรเนื่องจากพระเยซูคริสต์ฟื้นคืนพระชนม์?”

คลังค้นคว้าพระกิตติคุณมีชุด วีดิทัศน์อีสเตอร์ ที่อาจเป็นส่วนที่มีความหมายในการศึกษาของท่าน ท่านอาจดูวีดิทัศน์เหล่านี้อย่างน้อยหนึ่งเรื่องและไตร่ตรองว่าวีดิทัศน์เหล่านั้นเพิ่มอะไรให้กับความเข้าใจและความซาบซึ้งของท่านต่อการฟื้นคืนพระชนม์ของพระผู้ช่วยให้รอด

ดู ลูกา 24:36–43; กิจการของอัครทูต 24:15; 1 โครินธ์ 15:12–23; เรย์นา ไอ. อะบูร์โต, “หลุมศพไม่มีชัยชนะ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2021, 85–86 ด้วย

พระเยซูคริสต์ทรงรับเอาบาป ความเจ็บปวด และความทุพพลภาพของฉันไว้กับพระองค์

พระคัมภีร์ไบเบิลสอนชัดเจนว่าพระเยซูคริสต์ทรงชดใช้บาปของเรา แต่พระคัมภีร์มอรมอนขยายความเข้าใจของเราในเรื่องการพลีพระชนม์ชีพและการทนทุกข์ของพระคริสต์ในด้านสำคัญๆ ท่านจะพบคำสอนเหล่านี้บางข้อใน โมไซยาห์ 3:7; 15:5–9; แอลมา 7:11–13 หลังจากท่านอ่านข้อเหล่านี้แล้ว ท่านอาจจะบันทึกสิ่งที่ท่านค้นพบลงในแผนภูมิลักษณะนี้

พระผู้ช่วยให้รอดทรงทนทุกข์อะไร?

เหตุใดพระองค์ทรงทนทุกข์?

สิ่งนี้มีความหมายต่อท่านอย่างไร?

การมองหาเพลงสวดที่ท่านรู้สึกว่าตรงกับข้อความที่สอนเป็นอีกวิธีหนึ่งในการศึกษาข้อความเหล่านี้ วลีใดจากเพลงสวดและพระคัมภีร์เหล่านี้ช่วยให้ท่านเห็นคุณค่าการเสียสละของพระผู้ช่วยให้รอดได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น?

ดู อิสยาห์ 53; ฮีบรู 4:14–16; เจราลด์ คอสเซ, “พยานที่มีชีวิตอยู่ของพระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2020, 38–40 ด้วย

พระเยซูคริสต์ทรงชำระฉันและทรงช่วยให้ฉันสมบูรณ์แบบได้

อาจจะกล่าวได้ว่าพระคัมภีร์มอรมอนเป็นเรื่องราวของคนที่เปลี่ยนแปลงเพราะการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ ท่านสามารถอ่านประสบการณ์บางอย่างเหล่านี้ได้ใน โมไซยาห์ 5:1–2; 27:8–28; แอลมา 15:3–12; 24:7–19 หรืออาจนึกถึงตัวอย่างอื่นๆ เพื่อศึกษาได้เช่นกัน ท่านสังเกตเห็นว่าประสบการณ์เหล่านี้มีอะไรเหมือนกัน? ท่านสังเกตเห็นความแตกต่างอะไรบ้าง? ประสบการณ์เหล่านี้สอนอะไรท่านเกี่ยวกับวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดจะสามารถเปลี่ยนแปลงท่านได้?

ดู แอลมา 5:6–14; 13:11–12; 19:1–16; 22:1–26; 36:16–21; อีเธอร์ 12:27; โมโรไน 10:32–33 ด้วย

ท่านสามารถดูแนวคิดเพิ่มเติมได้ในนิตยสาร เลียโฮนา และ เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน ฉบับเดือนนี้

แนวคิดสำหรับการสอนเด็ก

เพราะวันอาทิตย์นี้เป็นวันอาทิตย์ที่ห้าของเดือน เราจึงขอให้ครูปฐมวัยใช้กิจกรรมการเรียนรู้ใน “ภาคผนวก ข: การเตรียมเด็กให้อยู่บนเส้นทางพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าไปตลอดชีวิต

เพราะพระเยซูคริสต์ฟื้นคืนพระชนม์ ฉันจะฟื้นคืนชีวิตด้วย

  • ท่านสามารถใช้ “บทที่ 53: พระเยซูทรงถูกตรึงกางเขน” และ “บทที่ 54: พระเยซูคืนพระชนม์” (ใน เรื่องราวในพันธสัญญาใหม่, 136–138, 139–144) เพื่อเล่าให้เด็กฟังเกี่ยวกับการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ หรือให้เด็กเล่าเรื่องราวโดยใช้รูปภาพในบทเหล่านี้

  • การเสด็จเยือนทวีปอเมริกาของพระผู้ช่วยให้รอดเป็นพยานอันทรงพลังถึงการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ ท่านอาจเล่าให้เด็กฟังโดยใช้ 3 นีไฟ 1117; เพลง “โฮซันนา อิสเตอร์”; หรือเพลง “เรื่องในพระคัมภีร์มอรมอน” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 142–143, 62–63) ท่อนสุดท้าย กระตุ้นให้เด็กนึกภาพว่าจะเป็นอย่างไรถ้าได้สัมผัสบาดแผลของพระเยซู (ดู 3 นีไฟ 11:14–15) หรือเป็นเด็กคนหนึ่งที่พระองค์ทรงให้พร (ดู 3 นีไฟ 17:21) แบ่งปันความรู้สึกของท่านเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์

  • เพื่อช่วยให้เด็กค้นพบสิ่งที่พระคัมภีร์มอรมอนสอนเกี่ยวกับการฟื้นคืนชีวิต ท่านอาจเชื้อเชิญให้พวกเขาแสร้งทำเป็นว่าท่านไม่รู้อะไรเลยและขอให้พวกเขาอธิบายให้ท่านฟัง ช่วยเด็กหาคำตอบของคำถามที่ว่า: การฟื้นคืนชีวิตหมายความว่าอย่างไร? ใน 2 นีไฟ 9:10–15; แอลมา 11:41–45; และ แอลมา 40:21–23 ใครจะฟื้นคืนชีวิต? เชื้อเชิญให้พวกเขาแสดงประจักษ์พยานถึงการฟื้นคืนพระชนม์ของพระผู้ช่วยให้รอดด้วยอันเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบของพวกเขา

พระเยซูคริสต์ทรงรู้วิธีปลอบโยนฉัน

  • โมไซยาห์ 3:7 และ แอลมา 7:11 อธิบายถึงสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงพบเจอในการชดใช้ของพระองค์ ท่านอาจจะอ่านข้อเหล่านี้ให้เด็กฟังและขอให้พวกเขาฟังคำพูดที่บอกว่าพระเยซูทรงทนทุกข์เพื่อเราอย่างไร จากนั้นท่านอาจจะอ่าน แอลมา 7:12 เพื่อหาสาเหตุที่พระองค์ทรงทนทุกข์ เป็นพยานว่าพระเยซูคริสต์ทรงรู้สึกถึงความเจ็บปวดและความป่วยไข้ทั้งหมดของเราเพื่อพระองค์จะสามารถปลอบโยนเราได้

  • เด็กมีเพลงสวดหรือเพลงโปรดเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์หรือไม่? ท่านสามารถร้องเพลงด้วยกันหรือเรียนรู้เพลงใหม่ๆ ได้ พูดถึงคำหรือวลีในเนื้อเพลงที่สอนท่านเกี่ยวกับการปลอบโยนและสันติสุขที่พระผู้ช่วยให้รอดประทานแก่เรา

พระคริสต์ทรงสวดอ้อนวอนในสวนเกทเสมนี

เกทเสมนี โดย ไมเคิล ที. มาล์ม

พระเยซูคริสต์สามารถชำระฉันและช่วยฉันเปลี่ยนแปลงได้

  • พระคัมภีร์มอรมอนให้ตัวอย่างมากมายของคนที่ถูกเปลี่ยนเพราะการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด ท่านอาจให้เด็กเลือกเรียนรู้เกี่ยวกับคนใดคนหนึ่ง เช่น อีนัส (ดู อีนัส 1:2–8) แอลมาผู้บุตร (ดู โมไซยาห์ 27:8–24) หรือชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮ (ดู แอลมา 24:7–19) การชดใช้ของพระเยซูคริสต์ช่วยให้บุคคลหรือคนกลุ่มนี้เปลี่ยนแปลงอย่างไร? เราจะทำตามแบบอย่างของพวกเขาได้อย่างไร?

  • ท่านและเด็กอาจเปรียบเทียบสิ่งที่สะอาดกับสิ่งที่สกปรก และพูดคุยกันว่าสิ่งที่สกปรกจะกลายเป็นสิ่งที่สะอาดได้อย่างไร อ่าน แอลมา 13:11–13 ด้วยกัน พระเยซูทรงทำอะไรเพื่อชำระเราจากบาป? สิ่งนี้ทำให้เรารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับบาป? สิ่งนี้ทำให้เรารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด?

สำหรับแนวคิดเพิ่มเติม โปรดดูนิตยสาร เพื่อนเด็ก ฉบับเดือนนี้

ดำเนินชีวิตคู่ควรกับการนำทางของพระวิญญาณ พระวิญญาณคือครูที่แท้จริง ขณะท่านแสวงหาการนำทางจากพระองค์และดำเนินชีวิตอย่างมีค่าควร พระองค์จะประทานความคิดและความประทับใจให้ท่านรู้วิธีตอบสนองความต้องการของคนที่ท่านสอน

พระคริสต์ทรงทักทายชาวนีไฟ

ภาพประกอบพระคริสต์กับชาวนีไฟ โดย เบ็น เซาเวิร์ดส์