จงตามเรามา
11–17 มีนาคม: “งานอัศจรรย์และการอันน่าพิศวง” 2 นีไฟ 26–30


“11–17 มีนาคม: ‘งานอัศจรรย์และการอันน่าพิศวง’ 2 นีไฟ 26–30,” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: พระคัมภีร์มอรมอน 2024 (2024)

“11–17 มีนาคม 2 นีไฟ 26–30,” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: 2024 (2024)

พระเยซูทรงยื่นพระหัตถ์ให้หญิงคนหนึ่ง

พระองค์จะทรงจูงมือนำเจ้าไป โดย แซนดรา ราสต์

11–17 มีนาคม: “งานอัศจรรย์และการอันน่าพิศวง”

2 นีไฟ 26–30

“ข้าพเจ้าพยากรณ์ต่อท่านเกี่ยวกับวันเวลาสุดท้าย” นีไฟเขียน (2 นีไฟ 26:14) กล่าวอีกนัยหนึ่ง เขากำลังเขียนเกี่ยวกับยุคสมัยของเรา เรามีเหตุผลที่จะต้องกังวลในสิ่งที่เขาเห็น นั่นคือ ผู้คนปฏิเสธอำนาจและการอัศจรรย์ของพระผู้เป็นเจ้า ส่งผลให้ความริษยาและความขัดแย้งแผ่กระจายออกไป แต่นอกจากปฏิปักษ์นำ “งานแห่งความมืด” ในยุคสุดท้ายเหล่านี้แล้ว (2 นีไฟ 26:10, 22) นีไฟยังได้พูดถึง “งานอัศจรรย์และการอันน่าพิศวง” ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงนำด้วยพระองค์เองเช่นกัน (2 นีไฟ 27:26) ศูนย์กลางของงานนั้นน่าจะเป็นหนังสือ—หนังสือที่เปิดโปงคำโกหกของซาตานและรวบรวมคนชอบธรรม หนังสือเล่มนั้นคือพระคัมภีร์มอรมอน งานอัศจรรย์คืองานของศาสนจักรของพระเจ้าในยุคสุดท้าย และการอันน่าพิศวงคือ—อย่างน้อยก็ในบางส่วน—การที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเชื้อเชิญให้เราทุกคนมีส่วนร่วมในการรวบรวมแม้ว่าเราจะมีความอ่อนแอ

แนวคิดสำหรับการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์

2 นีไฟ 26–27; 29–30

พระผู้เป็นเจ้าทรงเตรียมพระคัมภีร์มอรมอนให้ยุคสมัยของเรา

ใน 2 นีไฟ 26–27 นีไฟอ้างถึงคำพยากรณ์ก่อนหน้าของอิสยาห์ (ดู อิสยาห์ 29) เป็นหลักและปรับใช้คำพยากรณ์นั้นกับผู้คนของเขาและบันทึกของพวกเขา—พระคัมภีร์มอรมอน เขารู้โดยการเปิดเผย แม้ก่อนเขียนพระคัมภีร์มอรมอนเสร็จสมบูรณ์ว่าวันหนึ่งพระคัมภีร์เล่มนี้จะ “มีคุณค่าอย่างใหญ่หลวงต่อลูกหลานมนุษย์” (2 นีไฟ 28:2) เหตุใดพระคัมภีร์มอรมอนจึงมีคุณค่าอย่างใหญ่หลวงต่อท่าน? ตรึกตรองคำถามนี้ขณะท่านอ่าน 2 นีไฟ 29–30 งาน “อัศจรรย์” (2 นีไฟ 27:26) อะไรที่พระผู้เป็นเจ้าทรงทำสำเร็จในโลกและในชีวิตท่านผ่านพระคัมภีร์มอรมอน?

ดู โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:62–65 ด้วย

ไอคอนเซมินารี

2 นีไฟ 26:23–33

พระเยซูคริสต์ทรงเชื้อเชิญให้เราทุกคนมาหาพระองค์

มีความจริงที่สวยงามมากมายให้พิจารณาใน 2 นีไฟ 26:23–24 ตัวอย่างเช่น ท่านอาจนึกถึงสิ่งที่พระเยซูคริสต์ทรงทำ “เพื่อประโยชน์ของโลก”—และเพื่อตัวท่านเอง พระองค์ทรง “จูงใจมนุษย์ทั้งปวง”—และท่าน— “มาหาพระองค์” อย่างไร? ท่านรู้สึกได้รับการดลใจให้ทำอะไรตอบแทนความรักของพระองค์?

อ่านและมองหาความจริงเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดใน ข้อ 25–33 ให้สังเกตคำเชื้อเชิญของพระองค์เป็นพิเศษ ท่านจะสรุปข่าวสารของพระเยซูคริสต์ถึงท่านออกมาในประโยคเดียวอย่างไร? เพลงสวดอย่าง “มาหาพระเยซู” (เพลงสวด, บทเพลงที่ 49) อาจเปิดใจให้ท่านรับความประทับใจเพิ่มเติมได้

พิจารณาว่าข้อเหล่านี้จะมีอิทธิพลอย่างไรต่อวิธีที่ท่านมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นและวิธีเชื้อเชิญให้พวกเขามาหาพระคริสต์ ท่านอาจพบแนวคิดบางอย่างในข่าวสารของเอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันเรื่อง “หลักคำสอนเรื่องการเป็นส่วนหนึ่ง” (เลียโฮนา, พ.ย. 2022, 53–56)

ดู 3 นีไฟ 18:30–32; ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำอะไรเพื่อเราบ้าง?,” เลียโฮนา, พ.ค. 2021, 75–77 ด้วย

อย่ากลัวความเงียบ คำถามที่ดีใช้เวลาในการตอบ คำถามดังกล่าวต้องการการค้นคว้า การคิดไตร่ตรอง และการดลใจ เวลาที่ท่านใช้รอคำตอบอาจเป็นเวลาศักดิ์สิทธิ์ของการไตร่ตรอง หลีกเลี่ยงความรู้สึกอยากจบช่วงเวลานี้เร็วเกินไปโดยการเปลี่ยนไปเรื่องอื่น

2 นีไฟ 28

ซาตานหมายมั่นหลอกลวง

คำโกหกและอุบายหลายอย่างของซาตานถูกเปิดโปงใน 2 นีไฟ 28 มองหาคำโกหกและอุบายใน ข้อ 6, 8, 21–23, 29 เหตุใดท่านจึงต้องรู้คำเท็จของซาตาน? ท่านจะทำอะไรเมื่อปฏิปักษ์พยายามหลอกลวงท่าน?

รายการด้านล่างนี้เป็นข้อพระคัมภีร์บางข้อที่ปฏิเสธคำโกหกของซาตาน ดูว่าท่านสามารถจับคู่หลักคำสอนที่แท้จริงในข้อเหล่านี้กับหลักคำสอนเท็จที่นีไฟเตือนเราใน 2 นีไฟ 28 ได้หรือไม่:

ดู แกรีย์ อี. สตีเวนสัน, “อย่าหลอกข้าพเจ้าเลย,” เลียโฮนา, พ.ย. 2019, 93–96 ด้วย

2 นีไฟ 28:27–3129

พระผู้เป็นเจ้าประทานการเปิดเผยต่อเนื่องเพื่อนำทางบุตรธิดาของพระองค์

ในฐานะวิสุทธิชนยุคสุดท้าย เราได้รับพรด้วยพระวจนะอันมากมายของพระผู้เป็นเจ้า และดังที่นีไฟเตือน เราต้องไม่รู้สึกว่า “เรามีเพียงพอ!” ขณะที่ท่านอ่านคำเตือนใน 2 นีไฟ 28:27–31 และ 2 นีไฟ 29 ให้ไตร่ตรองคำถามทำนองนี้:

  • พระผู้เป็นเจ้าทรงต้องการให้ฉันรู้สึกและตอบสนองอย่างไรต่อพระวจนะของพระองค์?

  • เหตุใดบางครั้งผู้คนจึง “โกรธ” เพราะได้รับความจริงมากขึ้นจากพระผู้เป็นเจ้า? (2 นีไฟ 28:28) ฉันเคยรู้สึกแบบนั้นหรือไม่? ถ้าเคย ฉันจะเปลี่ยนแปลงความรู้สึกนั้นได้อย่างไร?

  • การรับพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าหมายความว่าอย่างไร? ฉันจะแสดงให้พระองค์เห็นได้อย่างไรว่าฉันต้องการรับพระวจนะของพระองค์มากขึ้น?

ท่านสามารถดูแนวคิดเพิ่มเติมได้ในนิตยสาร เลียโฮนา และ เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน ฉบับเดือนนี้

แนวคิดสำหรับการสอนเด็ก

2 นีไฟ 26:23–28, 33

พระเยซูคริสต์ทรงต้องการให้ทุกคนมาหาพระองค์

  • เพื่อสอนเด็กเกี่ยวกับคำเชื้อเชิญของพระผู้ช่วยให้รอดในข้อเหล่านี้ ท่านอาจจะพูดคุยกับพวกเขาเกี่ยวกับเวลาที่พวกเขาเชิญคนมาร่วมงานพิเศษ เช่น งานวันเกิด จากนั้นท่านอาจจะอ่าน 2 นีไฟ 26:23–28 ด้วยกันและดูว่าพระเยซูทรงเชื้อเชิญให้เราทำอะไร ท่านอาจให้เด็กทำบัตรเชิญให้ผู้อื่นมาหาพระเยซูคริสต์ กระตุ้นให้พวกเขานำวลีจากข้อเหล่านี้ไปใช้ในการเชิญดังกล่าว

  • ภาพวาดที่ส่วนท้ายของโครงร่างนี้แสดงให้เห็นผู้คนจากหลากหลายภูมิหลัง ท่านอาจให้เด็กดูรูปนี้ขณะที่ท่านอ่าน 2 นีไฟ 26:33 ท่านสามารถพูดวลี “พระเยซูทรงเชื้อเชิญให้ทุกคนมาหาพระองค์” ซ้ำขณะที่เด็กชี้ไปที่คนแต่ละคนในภาพ—แล้วชี้ไปที่ตนเอง เรามาหาพระเยซูได้อย่างไร?

  • เพลงเกี่ยวกับการรักทุกคน เช่น “ฉันเดินกับเธอ” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 78–79) สามารถช่วยท่านสอนข่าวสารใน 2 นีไฟ 26:33 ได้

2 นีไฟ 28:2; 29:7–11; 30:3–6

พระคัมภีร์มอรมอนเป็นพร

  • เพื่อช่วยให้เด็กรู้สึกว่าพระคัมภีร์มอรมอน “มีคุณค่าอย่างใหญ่หลวง” (2 นีไฟ 28:2) ท่านอาจห่อพระคัมภีร์เล่มหนึ่งเป็นของขวัญและให้พวกเขาเดาว่ามีอะไรอยู่ข้างใน พวกเขาอาจมองหาเบาะแสใน 2 นีไฟ 30:3–6 บอกเด็กว่าทำไมพระคัมภีร์มอรมอนจึงมีคุณค่าอย่างใหญ่หลวงสำหรับท่าน และให้พวกเขาแบ่งปันความรู้สึกของตนเองด้วย

  • ท่านอาจขอให้เด็กจินตนาการว่าเพื่อนคนหนึ่งพูดว่า “ฉันไม่จำเป็นต้องอ่านพระคัมภีร์มอรมอน เพราะฉันอ่านพระคัมภีร์ไบเบิลแล้ว” เราจะพูดกับเพื่อนว่าอย่างไร? อ่าน 2 นีไฟ 29:7–11 ด้วยกันเพื่อเรียนรู้สาเหตุที่พระผู้เป็นเจ้าทรงต้องการให้เรามีหนังสือทั้งสองเล่ม

2 นีไฟ 28:30–31

พระบิดาบนสวรรค์ทรงสอนฉันทีละเล็กละน้อย

  • ท่านอาจจะนึกถึงบทเรียนที่ใช้อุปกรณ์ที่จะช่วยให้เด็กเข้าใจว่าการเรียนรู้ “บรรทัดมาเติมบรรทัด” หมายความว่าอย่างไร ตัวอย่างเช่น ท่านอาจให้เด็กต่อจิ๊กซอว์หรือสร้างบางสิ่งด้วยบล็อก โดยทำทีละชิ้น หรือท่านจะสอนทักษะอย่างหนึ่งให้เด็กทีละขั้นตอน เช่น การผูกโบว์หรือการวาดภาพได้เช่นกัน จากนั้นท่านอาจจะอ่าน 2 นีไฟ 28:30 และสนทนาว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงสอนความจริงเราทีละข้ออย่างไร

  • อีกแนวคิดหนึ่งที่ท่านนำไปใช้ได้คือการเลือกวลีจาก 2 นีไฟ 28:30 และผลัดให้แต่ละคนเขียนคนละคำ กิจกรรมนี้คล้ายกับวิธีที่พระผู้เป็นเจ้าประทานความจริงแก่เราอย่างไร? เหตุใดพระผู้เป็นเจ้าทรงเปิดเผยความจริงต่อเรา “บรรทัดมาเติมบรรทัด, กฎเกณฑ์มาเติมกฎเกณฑ์, ที่นี่นิดและที่นั่นหน่อย” แทนที่จะเปิดเผยทั้งหมดในคราวเดียว? เราจะแสดงให้พระผู้เป็นเจ้าเห็นได้อย่างไรว่าเราต้องการรับความจริงจากพระองค์ให้มากยิ่งขึ้น?

สำหรับแนวคิดเพิ่มเติม โปรดดูนิตยสาร เพื่อนเด็ก ฉบับเดือนนี้

พระเยซูคริสต์ทรงอยู่ท่ามกลางฝูงชน

พระคริสต์ทรงอยู่ตรงกลาง โดย จูดิธ เอ. เมียร์