หลักคำสอนเรื่องการเป็นส่วนหนึ่ง
หลักคำสอนเรื่องการเป็นส่วนหนึ่งสุดท้ายแล้วสำหรับเราแต่ละคนคือ: ฉันเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสต์ในพันธสัญญาพระกิตติคุณ
ข้าพเจ้าอยากพูดเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่าหลักคำสอนเรื่องการเป็นส่วนหนึ่งในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย หลักคำสอนนี้มีสามส่วน: (1) บทบาทของการเป็นส่วนหนึ่งในการรวบรวมผู้คนแห่งพันธสัญญาของพระเจ้า (2) ความสำคัญของการรับใช้และการเสียสละในการเป็นส่วนหนึ่ง และ (3) ความเป็นศูนย์กลางของพระเยซูคริสต์ต่อการเป็นส่วนหนึ่ง
ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายในช่วงแรกๆ ส่วนใหญ่ประกอบด้วยวิสุทธิชนผิวขาวชาวอเมริกาเหนือและชาวยุโรปเหนือ กับเพียงหยิบมือเดียวที่เป็นชนพื้นเมืองอเมริกัน ชาวแอฟริกันอเมริกัน และชาวเกาะแปซิฟิก ปัจจุบันแปดปีหลังจากก่อตั้งครบ 200 ปี ศาสนจักรมีจำนวนและความหลากหลายเพิ่มมากขึ้นในอเมริกาเหนือและยิ่งมากขึ้นไปอีกในส่วนที่เหลือของโลก
เมื่อการรวบรวมผู้คนแห่งพันธสัญญาของพระเจ้าในยุคสุดท้ายตามที่มีพยากรณ์มานานเริ่มขับเคลื่อนเร็วขึ้น ศาสนจักรจะประกอบด้วยสมาชิกจากทุกประชาชาติ ตระกูล ภาษา และผู้คนอย่างแท้จริง1 นี่ไม่ใช่ความหลากหลายที่มีการวางแผนหรือบีบให้เกิดขึ้น แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติอย่างที่เราคงคาดการณ์ โดยรับรู้ว่าแหพระกิตติคุณรวบรวมทุกคนจากทุกชนชาติ
เป็นพรอย่างยิ่งที่เราได้เห็นวันที่ไซอันกำลังสถาปนาขึ้นพร้อมๆ กันทุกทวีปและในท้องที่ของเรา ตามที่ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธกล่าว ผู้คนของพระผู้เป็นเจ้าในทุกยุคทุกสมัยตั้งตารอวันนี้ด้วยความคาดหวังอันเปี่ยมปีติและ “เราเป็นคนโปรดที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเลือกให้นำรัศมีภาพยุคสุดท้ายออกมา”2
โดยที่ได้รับสิทธิพิเศษนี้ เราจึงไม่ยอมให้มีการเหยียดเชื้อชาติ อคติต่อชนเผ่า หรือการแบ่งแยกใดๆ ในศาสนจักรยุคสุดท้ายของพระคริสต์ พระเจ้าทรงบัญชาเราว่า “จงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน; และหากเจ้าไม่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เจ้าก็มิใช่ของเรา”3 เราควรมุมานะในการขจัดอคติและการเลือกปฏิบัติออกจากศาสนจักร ออกจากบ้าน และสำคัญที่สุดคือออกจากใจเรา ขณะที่ประชากรศาสนจักรมีความหลากหลายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราต้องต้อนรับด้วยความอบอุ่นเป็นกันเองมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน เราต้องมีกันและกัน4
ในสาส์นฉบับแรกถึงชาวโครินธ์ เปาโลประกาศว่าทุกคนที่รับบัพติศมาเข้ามาในศาสนจักรล้วนเป็นหนึ่งเดียวในพระกายของพระคริสต์:
“เพราะว่าเหมือนกับร่างกายเดียวที่มีหลายๆ อวัยวะ และอวัยวะทั้งหมดของร่างกายนั้นแม้จะมีหลายส่วนก็ยังเป็นร่างกายเดียว พระคริสต์ก็ทรงเป็นเช่นนั้น
“เพราะว่าไม่ว่าจะเป็นยิวหรือกรีก ทาสหรือเสรีชน เราได้รับบัพติศมาในพระวิญญาณองค์เดียวเข้าเป็นกายเดียวกัน และพระวิญญาณองค์เดียวกันเป็นเหมือนน้ำที่ประทานให้เราทุกคนได้ดื่ม …
“เพื่อไม่ให้มีการแตกแยกกันในร่างกาย แต่ให้อวัยวะต่างๆ มีความห่วงใยแบบเดียวกันต่อกันและกัน
“ถ้าอวัยวะหนึ่งทุกข์ อวัยวะทั้งหมดก็ร่วมทุกข์ด้วย ถ้าอวัยวะหนึ่งได้รับเกียรติ อวัยวะทั้งหมดก็ร่วมชื่นชมยินดีด้วย”5
ความรู้สึกเป็นส่วนสำคัญต่อความผาสุกทางกาย ทางจิตใจ และทางวิญญาณของเรา ทว่าเป็นไปได้มากที่บางครั้งเราอาจจะรู้สึกว่าเราไม่เข้าพวก ในช่วงที่เราท้อใจ เราอาจรู้สึกว่าเราจะไม่มีวันถึงระดับมาตรฐานสูงของพระเจ้าหรือความคาดหวังของผู้อื่น6 เราอาจยัดเยียดความคาดหวังให้ผู้อื่น—หรือแม้แต่ตัวเองโดยไม่รู้ตัว—ที่ไม่ใช่ความคาดหวังของพระเจ้า เราอาจสื่อสารเป็นนัยว่าค่าของจิตวิญญาณขึ้นอยู่กับความสำเร็จหรือการเรียกบางอย่าง แต่นี่ไม่ใช่มาตรวัดสถานะของเราในสายพระเนตรของพระเจ้า “พระยาห์เวห์ทอดพระเนตรจิตใจ”7 พระองค์สนพระทัยความปรารถนาและความต้องการของเราและสิ่งที่เราจะเป็น8
ซิสเตอร์โจดี้ คิงเขียนเล่าประสบการณ์เมื่อหลายปีก่อนของเธอว่า:
“ดิฉันไม่เคยรู้สึกแปลกแยกที่โบสถ์จนกระทั่งดิฉันกับคาเมรอนสามีเริ่มมีปัญหาเรื่องการมีบุตรยาก เด็กและครอบครัวที่ปกติทำให้ดิฉันเบิกบานใจเมื่อเห็นพวกเขาที่โบสถ์ เวลานี้เริ่มทำให้ดิฉันโศกเศร้าและเจ็บปวด
“ดิฉันรู้สึกแห้งแล้งเมื่อไม่มีเด็กในอ้อมแขนหรือไม่ได้ถือกระเป๋าผ้าอ้อม …
“วันอาทิตย์ที่ยากที่สุดคือวันอาทิตย์แรกของเราในวอร์ดใหม่ เพราะเราไม่มีบุตร จึงมีคนถามว่าเราเพิ่งแต่งงานใหม่หรือเปล่า และเราวางแผนจะเริ่มสร้างครอบครัวเมื่อใด ดิฉันตอบคำถามเหล่านี้ได้ดีโดยไม่ปล่อยให้คำถามมีผลต่อดิฉัน—เพราะรู้ว่าพวกเขาไม่มีเจตนาจะทำร้าย
“แต่ในวันอาทิตย์วันหนึ่ง การตอบคำถามเหล่านั้นยากเป็นพิเศษ เราเพิ่งทราบว่าเราไม่ตั้งครรภ์—อีกแล้ว—หลังจากที่มีหวัง
“ดิฉันเดินเข้าไปในการประชุมศีลระลึกด้วยความรู้สึกสิ้นหวัง และตอบคำถาม ‘ทำความรู้จักกัน’ ตามปกติได้ยากมาก …
“แต่โรงเรียนวันอาทิตย์นั่นเองที่ทำให้ดิฉันใจสลาย บทเรียนนั้น—ซึ่งตั้งใจจะเป็นเรื่องบทบาทอันศักดิ์สิทธิ์ของมารดา—ถูกเปลี่ยนเป็นช่วงระบายความในใจอย่างรวดเร็ว ใจดิฉันหดหู่และน้ำตาไหลอาบแก้มเงียบๆ ขณะฟังผู้หญิงบ่นเกี่ยวกับพรที่ดิฉันจะยอมสละทุกอย่างเพื่อให้ได้มา
“ดิฉันผลุนผลันออกจากโบสถ์ ตอนแรกดิฉันไม่อยากกลับไป ดิฉันไม่อยากกลับมารู้สึกโดดเดี่ยวอีกครั้ง แต่คืนนั้นหลังจากพูดคุยกับสามี เรารู้ว่าเราจะไปโบสถ์เหมือนเดิม ไม่ใช่เพราะพระเจ้าทรงขอให้เราไปเท่านั้น แต่เพราะเราทั้งคู่รู้ว่าปีติที่มาจากการต่อพันธสัญญาและการรู้สึกถึงพระวิญญาณที่โบสถ์มีมากกว่าความเสียใจที่ดิฉันรู้สึกวันนั้น …
“ในศาสนจักรมีสมาชิกที่เป็นม่าย หย่าร้าง โสด คนที่สมาชิกครอบครัวละทิ้งพระกิตติคุณ คนที่เจ็บป่วยเรื้อรังหรือมีปัญหาด้านการเงิน สมาชิกที่เสน่หาเพศเดียวกัน สมาชิกที่พยายามเอาชนะการเสพติดหรือความสงสัย ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสใหม่ คนที่ย้ายเข้ามาใหม่ พ่อแม่ที่ลูกย้ายออกจากบ้านไปแล้ว และอีกหลายๆ กรณี …
“พระผู้ช่วยให้รอดทรงเชื้อเชิญให้เรามาหาพระองค์—ไม่ว่าสภาพการณ์ของเราเป็นเช่นไร เรามาโบสถ์เพื่อต่อพันธสัญญาของเรา เพิ่มพูนศรัทธาของเรา หาความสงบสุข และทำตามที่พระองค์ทรงทำไว้อย่างสมบูรณ์แบบในพระชนม์ชีพของพระองค์ นั่นคือ ปฏิบัติศาสนกิจต่อคนที่รู้สึกเหมือนตนไม่เป็นส่วนหนึ่ง”9
เปาโลอธิบายว่าพระผู้เป็นเจ้าประทานศาสนจักรและเจ้าหน้าที่ศาสนจักรเพื่อ “เตรียมธรรมิกชนสำหรับการปรนนิบัติและการเสริมสร้างพระกายของพระคริสต์
“จนกว่าเราทุกคนจะบรรลุถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในความเชื่อและในความรู้ถึงพระบุตรของพระเจ้า บรรลุถึงความเป็นผู้ใหญ่ คือโตเต็มถึงขนาดความบริบูรณ์ของพระคริสต์”10
มันเป็นความย้อนแย้งอันน่าเศร้า เมื่อคนที่รู้สึกว่าชีวิตตนเองไม่ได้สมบูรณ์แบบในทุกๆ ด้านสรุปว่าตัวเองไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในองค์กรที่พระผู้เป็นเจ้าทรงออกแบบมาเพื่อช่วยให้เราก้าวหน้าไปสู่ความสมบูรณ์แบบ
ขอให้เราปล่อยการตัดสินไว้ในพระหัตถ์พระเจ้าและคนที่พระองค์ทรงมอบหมาย จงพอใจที่จะรักและปฏิบัติต่อกันให้ดีที่สุด ขอให้เราทูลขอให้พระองค์ทรงแสดงให้เราเห็นทุกๆ วันถึงวิธี “พาคนยากจน คนพิการ คนตาบอด และคนง่อย [ซึ่งนั่นก็คือทุกคน]”11 มางานเลี้ยงใหญ่ของพระเจ้า
ด้านที่สองของหลักคำสอนเรื่องการเป็นส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับการมีส่วนช่วยของเราเอง ถึงแม้เราไม่ค่อยคิดเรื่องนี้ แต่การเป็นส่วนหนึ่งของเราส่วนมากมาจากการรับใช้และการเสียสละที่เราทำเพื่อผู้อื่นและเพื่อพระเจ้า การจดจ่ออยู่กับความต้องการส่วนตัวหรือความสบายของตัวเองมากเกินไปอาจทำลายความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง
เราพากเพียรทำตามหลักคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอด:
“ถ้ามีใครต้องการเป็นใหญ่ในพวกท่าน คนนั้นจะต้องเป็น ผู้ปรนนิบัติ ของท่าน …
“เพราะว่าบุตรมนุษย์ไม่ได้มาเพื่อรับการปรนนิบัติ แต่มาเพื่อจะปรนนิบัติคนอื่น และให้ชีวิตของท่านเป็นค่าไถ่คนจำนวนมาก”12
การเป็นส่วนหนึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อเรามัวแต่รอ แต่เมื่อเรายื่นมือช่วยเหลือกัน
ทุกวันนี้ น่าเสียดายที่การอุทิศถวายตนเองต่ออุดมการณ์หรือการเสียสละสิ่งใดเพื่อใครก็ตามกำลังกลายเป็นความแปลกแยกทางวัฒนธรรม ในบทความหนึ่งของ Deseret Magazine เมื่อปีที่แล้ว ผู้เขียนชื่อร็อด เดรเฮอร์เล่าเรื่องการสนทนากับคุณแม่วัยสาวในบูดาเปสต์ว่า:
“ผมอยู่บนรถรางบูดาเปสต์กับ … เพื่อนวัยสามสิบต้นๆ—เราจะเรียกเธอว่าคริสตินา—ขณะเราเดินทางไปสัมภาษณ์หญิงสูงวัย [ชาวคริสต์] ที่ร่วมมือกับสามีผู้ล่วงลับต่อต้านการข่มเหงจากรัฐคอมมิวนิสต์ ขณะนั่งรถโคลงเคลงไปตามถนนเมืองนั้น คริสตินาก็พูดถึงว่ามันยากแค่ไหนที่เธอจะบอกเพื่อนๆ วัยเดียวกันตามตรงว่าเธอประสบปัญหามากกับการเป็นภรรยาและมารดาของลูกเล็กๆ
“ความลำบากของคริสตินาเป็นเรื่องธรรมดาที่สุดสำหรับหญิงสาวที่กำลังฝึกเป็นมารดาและภรรยา—ทว่าทัศนคติที่แพร่หลายในคนรุ่นเธอคือความลำบากของชีวิตเป็นภัยคุกคามต่อความผาสุกและเราควรปฏิเสธมัน เธอกับสามีทะเลาะกันบ้างหรือเปล่า? ถ้าทะเลาะก็ไปจากเขาเลย คนเหล่านั้นบอก ลูกๆ รบกวนเธอหรือเปล่า? ถ้ารบกวนก็ส่งไปให้ศูนย์เลี้ยงเด็กเลย
“คริสตินากังวลที่เพื่อนๆ ไม่เข้าใจว่าความยากลำบากและแม้แต่ความทุกข์เป็นเรื่องปกติของชีวิต—และอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ดีด้วยซ้ำ ถ้าความทุกข์นั้นสอนเราให้อดทน มีเมตตา และรักผู้อื่น …
“… นักสังคมวิทยาศาสนาแห่งมหาวิทยาลัยนอเทรอดาม คริสเตียน สมิธ พบในการศึกษาผู้ใหญ่ [อายุ] 18 ถึง 23 ปีว่าส่วนใหญ่เชื่อว่าสังคมไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่า ‘แหล่งรวมปัจเจกบุคคลอิสระที่ออกมาสนุกกับชีวิต’”13
ตามปรัชญานี้ อะไรที่คนพบว่ายาก “คือการกดขี่แบบหนึ่ง”14
ตรงกันข้าม บรรพบุรุษผู้บุกเบิกของเราเกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง ความเป็นหนึ่งเดียวกัน และความหวังในพระคริสต์จากการเสียสละเพื่อรับใช้งานเผยแผ่ สร้างพระวิหาร ทิ้งบ้านที่สะดวกสบายภายใต้การข่มขู่แล้วมาเริ่มต้นใหม่ ตลอดจนอุทิศถวายตนเองและทรัพย์สินเงินทองในมากมายหลายวิธีเพื่ออุดมการณ์แห่งไซอัน พวกเขาเต็มใจสละแม้กระทั่งชีวิตหากจำเป็น และเราทุกคนเป็นผู้รับประโยชน์จากความทรหดของพวกเขา เช่นเดียวกับหลายคนในทุกวันนี้ที่อาจสูญเสียครอบครัวและมิตรสหาย เสียโอกาสด้านงานอาชีพ หรือทนทุกข์กับการเลือกปฏิบัติหรือความไม่อดทนอันเป็นผลจากการรับบัพติศมา แต่รางวัลของพวกเขาคือความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในหมู่ผู้คนพันธสัญญา การเสียสละใดก็ตามที่เราทำในอุดมการณ์ของพระเจ้าช่วยยืนยันฐานะของเรากับพระองค์ผู้ทรงสละพระชนม์ชีพเพื่อไถ่คนมากมาย
องค์ประกอบสุดท้ายและสำคัญที่สุดของหลักคำสอนเรื่องการเป็นส่วนหนึ่งคือบทบาทสำคัญของพระเยซูคริสต์ เราไม่ได้เข้าร่วมศาสนจักรเพราะการผูกมิตรอย่างเดียว แม้นั่นจะสำคัญก็ตาม เราเข้าร่วมเพราะการไถ่ผ่านความรักและพระคุณของพระเยซูคริสต์ เราเข้าร่วมเพื่อรับศาสนพิธีแห่งความรอดและความสูงส่งสำหรับตัวเราเองและคนที่เรารักทั้งสองด้านของม่าน เราเข้าร่วมเพื่อมีส่วนในโครงการยิ่งใหญ่เพื่อสถาปนาไซอันขณะเตรียมรับการเสด็จกลับมาของพระเจ้า
ศาสนจักรคือผู้อารักขาพันธสัญญาแห่งความรอดและความสูงส่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบให้เราผ่านศาสนพิธีของฐานะปุโรหิตศักดิ์สิทธิ์15 การรักษาพันธสัญญาเหล่านี้ทำให้เราเกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งได้สูงสุดและลึกซึ้งที่สุด ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันเขียนไม่นานมานี้ว่า:
“ทันทีที่ท่านและข้าพเจ้าทำพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้า ความสัมพันธ์ของเรากับพระองค์กลับใกล้ชิดมากขึ้นกว่าก่อนทำพันธสัญญา ขณะนี้เราถูกผูกมัดไว้ด้วยกัน เนื่องจากพันธสัญญาของเรากับพระผู้เป็นเจ้า จึงไม่มีวันที่พระองค์จะทรงระอาในความพยายามที่จะทรงช่วยเหลือเรา และขันติธรรมแห่งพระเมตตาของพระองค์จะไม่มีวันสูญสิ้นไปจากเรา เราแต่ละคนมีที่พิเศษในพระทัยพระผู้เป็นเจ้า …
“… พระเยซูคริสต์คือผู้ค้ำประกันพันธสัญญาเหล่านั้น (ดู ฮีบรู 7:22; 8:6)”16
ถ้าเราจะจดจำไว้ ความหวังสูงสุดที่พระเจ้าทรงมีต่อเราจะสร้างแรงใจไม่ให้เราท้อถอย
เราประสบปีติได้เมื่อเราพยายามทั้งส่วนตัวและส่วนรวมมุ่งไปสู่การ “โตเต็มถึงขนาดความบริบูรณ์ของพระคริสต์”17 แม้มีความผิดหวังและอุปสรรคระหว่างทาง แต่นั่นคือการทำภารกิจใหญ่ เราหนุนใจและให้กำลังใจกันขณะมุ่งหน้าบนเส้นทางสู่เบื้องบน โดยรู้ว่าแม้มีความลำบากและความล่าช้าเพียงใดในพรที่สัญญาไว้ เราสามารถ “มีใจกล้า … เพราะว่า [พระคริสต์ทรง] ชนะโลกแล้ว”18 และเราอยู่ฝ่ายพระองค์ การเป็นหนึ่งเดียวกับพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์คือจุดสูงสุดของการเป็นส่วนหนึ่งอย่างไม่ต้องสงสัย19
ดังนั้น หลักคำสอนเรื่องการเป็นส่วนหนึ่งสุดท้ายแล้วก็คือ—เราแต่ละคนยืนยันได้ว่า: พระเยซูคริสต์สิ้นพระชนม์เพื่อฉัน ทรงคิดว่าฉันคู่ควรกับพระโลหิตของพระองค์ ทรงรักฉันและทรงสร้างความแตกต่างสำคัญในชีวิตฉันได้ เมื่อฉันกลับใจ พระคุณของพระองค์จะเปลี่ยนฉัน ฉันเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ในพันธสัญญาพระกิตติคุณ ฉันเป็นส่วนหนึ่งในศาสนจักรและอาณาจักรของพระองค์ และฉันเป็นส่วนหนึ่งในอุดมการณ์ของพระองค์ที่จะนำการไถ่มาสู่ลูกทุกคนของพระผู้เป็นเจ้า
ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าท่านเป็นส่วนหนึ่งอย่างแน่นอน ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน