การประชุมใหญ่สามัญ
ถูกยกขึ้นบนกางเขน
การประชุมใหญ่สามัญเดือนตุลาคม 2022


13:6

ถูกยกขึ้นบนกางเขน

การจะเป็นผู้ติดตามพระเยซูคริสต์ บางครั้งบุคคลนั้นต้องแบกภาระและไปยังจุดที่ต้องเสียสละและทุกข์ทรมานอย่างเลี่ยงไม่ได้

หลายปีก่อน หลังจากสนทนาเรื่องประวัติศาสนาอเมริกาตอนเรียนปริญญาโท เพื่อนนักศึกษาคนหนึ่งถามข้าพเจ้าว่า “ทำไมวิสุทธิชนยุคสุดท้ายไม่ใช้ไม้กางเขนแบบที่ชาวคริสต์คนอื่นๆ ใช้เป็นสัญลักษณ์แทนความเชื่อ?”

เพราะว่าคำถามเกี่ยวกับไม้กางเขนมักเป็นคำถามเกี่ยวกับการผูกมัดตนของเราต่อพระคริสต์ ข้าพเจ้าจึงบอกเขาทันทีว่าศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายถือว่าการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระเยซูคริสต์เป็นข้อเท็จจริงศูนย์กลาง เป็นรากฐานที่จำเป็น เป็นหลักคำสอนสำคัญที่สุด และเป็นการแสดงความรักขั้นสูงสุดในแผนอันยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อความรอดของลูกๆ ของพระองค์1 ข้าพเจ้าอธิบายว่าพระคุณแห่งการช่วยให้รอดที่อยู่ในการกระทำนั้นเป็นส่วนที่ขาดไม่ได้ และเป็นของขวัญที่มอบให้ครอบครัวมนุษย์ทั้งมวลอย่างถ้วนหน้า ตั้งแต่อาดัมและเอวาจนถึงอวสานของโลก2 ข้าพเจ้าอ้างคำพูดศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธผู้กล่าวว่า “เรื่อง … ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาเราล้วนเป็นเพียงส่วนประกอบ” ของการชดใช้ของพระเยซูคริสต์3

จากนั้นข้าพเจ้าอ่านสิ่งที่นีไฟเขียนไว้เมื่อ 600 ปีก่อนพระเยซูประสูติให้เขาฟัง: “และ … เทพกล่าวแก่ข้าพเจ้าอีก, มีความว่า: ดูนั่นสิ! ข้าพเจ้าดูและเห็นพระเมษโปดกของพระผู้เป็นเจ้า, … ถูกยกขึ้นบนกางเขนและถูกปลงพระชนม์เพื่อบาปของโลก”4

ด้วยความที่เข้าเกียร์สูงไปแล้วในความกระตือรือร้นที่จะ “รัก แบ่งปัน และเชื้อเชิญ” ข้าพเจ้าจึงอ่านไปเรื่อยๆ! พระคริสต์ผู้ฟื้นคืนพระชนม์ตรัสกับชาวนีไฟในโลกใหม่ว่า “และพระบิดาของเราทรงส่งเรามาเพื่อเราจะได้ถูกยกขึ้นบนกางเขน; … เพื่อเราจะดึงมนุษย์ทั้งปวงมาหาเรา, … และเพราะเหตุนี้เราจึงได้รับการยกขึ้น”5

พอข้าพเจ้ากำลังจะอ้างคำพูดของอัครสาวกเปาโลก็สังเกตเห็นเพื่อนเริ่มตาลอย ดูเหมือนการเหลือบมองนาฬิกาข้อมือทำให้เขานึกขึ้นได้ว่าต้องไปที่ไหนสักแห่ง—ที่ไหนก็ได้—และเขาก็รีบไปตามนัดที่เขาสมมติขึ้นมา การสนทนาของเราจึงสิ้นสุดลง

เช้าวันนี้ ราว 50 ปีให้หลัง ข้าพเจ้าตั้งใจจะจบคำอธิบายนั้น—แม้ว่าทุกๆ ท่านแต่ละคนจะเริ่มดูนาฬิกาข้อมือแล้วก็ตาม ขณะพยายามอธิบายว่าทำไมเรา ไม่ ใช้รูปสัญลักษณ์ไม้กางเขน ข้าพเจ้าอยากชี้แจงให้กระจ่างชัดว่าเราเคารพและชื่นชมอย่างสุดซึ้งต่อเจตนาอันเปี่ยมด้วยศรัทธาและชีวิตที่อุทิศตนของผู้ที่ใช้สัญลักษณ์นี้

เหตุผลหนึ่งที่เราไม่เน้นไม้กางเขนเป็นสัญลักษณ์มีต้นกำเนิดมาจากรากฐานของเราเกี่ยวกับพระคัมภีร์ไบเบิล เพราะการตรึงกางเขนเป็นการประหารชีวิตที่ทรมานที่สุดรูปแบบหนึ่งของจักรวรรดิโรมัน ผู้ติดตามพระเยซูยุคแรกหลายคนจึงเลือกที่จะไม่เน้นความสำคัญของเครื่องมือทรมานอันโหดร้ายนั้น ความหมายการสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์สำคัญแน่นอนต่อศรัทธาของพวกเขา แต่เป็นเวลา 300 กว่าปีที่พวกเขาแสวงหาวิธีถ่ายทอดอัตลักษณ์พระกิตติคุณผ่านทางวิธีอื่นเป็นปกติวิสัย6

ราวสี่ถึงห้าร้อยปี ไม้กางเขนถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของศาสนาคริสต์ทั่วไป แต่ของเราไม่ใช่ “ศาสนาคริสต์ทั่วไป” เราไม่ใช่คาทอลิกหรือโปรเตสแตนท์ แต่เราคือศาสนจักรที่ ได้รับการฟื้นฟู คือศาสนจักรในพันธสัญญาใหม่ที่ ได้รับการฟื้นฟู ด้วยเหตุนี้ต้นกำเนิดและสิทธิอำนาจของเราจึงย้อนกลับไป ก่อน สมัยที่มีบรรดาสภา หลักข้อเชื่อต่างๆ และรูปบูชา7 ในแง่นี้การไม่มีสัญลักษณ์ที่มีใช้กันทั่วไปในภายหลัง ยังเป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่ยืนยันว่าศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเป็นการฟื้นฟูจุดเริ่มต้นจริงๆ ของศาสนาคริสต์

อีกเหตุผลหนึ่งที่ไม่ใช้ไม้กางเขนเป็นรูปบูชาเพราะเราเน้นถึงปาฏิหาริย์อันครบถ้วนแห่งพระพันธกิจของพระคริสต์—ทั้งการฟื้นคืนพระชนม์อันรุ่งโรจน์ รวมถึงการทนทุกข์และการสิ้นพระชนม์อันเกี่ยวกับการพลีบูชาด้วย เพื่อเน้นย้ำความสัมพันธ์นั้น ข้าพเจ้าจึงขอพูดถึงงานศิลปะสองชิ้น8ที่เป็นฉากหลังของฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสองในการประชุมศักดิ์สิทธิ์ประจำสัปดาห์ที่พระวิหารทุกวันพฤหัสบดีในซอลท์เลคซิตี้ ภาพวาดเหล่านี้เป็นเครื่องเตือนใจเราตลอดเวลาให้นึกถึงราคาที่พระองค์ผู้ซึ่งเรารับใช้ทรงจ่ายและชัยชนะที่พระองค์ทรงได้รับ

การตรึงกางเขน โดย แฮร์รีย์ แอนเดอร์สัน
การฟื้นคืนพระชนม์ โดย แฮร์รีย์ แอนเดอร์สัน

เราแสดงให้สาธารณชนเห็นชัยชนะสองส่วนนี้ของพระคริสต์มากขึ้นโดยใช้รูปธอร์วัลด์เซ็นเล็กๆ นี้ที่เป็นรูปพระคริสต์ผู้ฟื้นคืนพระชนม์เสด็จออกมาจากอุโมงค์ในรัศมีภาพโดยยังคงมีรอยแผลจากการตรึงกางเขน9

โลโก้ศาสนจักร

ท้ายนี้ เราย้ำกับตัวเราเองถึงสิ่งที่ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์เคยสอนว่า “ชีวิตผู้คนของเราจะ [เป็น] … สัญลักษณ์ถึง [ศรัทธา] ของเรา”10 การพิจารณาถึงสิ่งเหล่านี้—โดยเฉพาะเรื่องหลัง—นำข้าพเจ้าไปสู่สิ่งสำคัญที่สุดจากบรรดาข้ออ้างอิงพระคัมภีร์เกี่ยวกับไม้กางเขน ซึ่งไม่เกี่ยวกับจี้หรือเครื่องประดับ ยอดหลังคาหรือป้ายตามถนน แต่เกี่ยวกับความสุจริตดุจหินผาและความหนักแน่นทางศีลธรรมที่ชาวคริสต์ควรนำมาใช้กับการเรียกที่พระเยซูทรงมอบให้สานุศิษย์ทุกคนของพระองค์ พระองค์ตรัสกับเราทุกคนในทุกแผ่นดินและทุกสมัยว่า “ถ้าใครต้องการจะติดตามเรา ให้คนนั้นปฏิเสธตนเอง รับกางเขนของตนแบกและตามเรามา”11

นี่พูดถึงกางเขนที่เราแบกไม่ใช่ไม้กางเขนที่เราห้อยคอ การจะเป็นผู้ติดตามพระเยซูคริสต์ บางครั้งบุคคลนั้นต้องแบกภาระ—ของตนเองหรือของผู้อื่น—และไปยังจุดที่ต้องเสียสละและทุกข์ทรมานอย่างเลี่ยงไม่ได้ ชาวคริสต์ที่แท้จริงจะไม่ติดตามพระอาจารย์เฉพาะในเรื่องที่ตนเห็นด้วยเท่านั้น ไม่เลย เราติดตามพระองค์ไปทุกที่ และถ้าจำเป็นเราจะเข้าไปในสังเวียนที่เต็มไปด้วยน้ำตาและความลำบาก ที่บางครั้งเราอาจยืนโดดเดี่ยวเดียวดาย

ข้าพเจ้ารู้จักคนทั้งในและนอกศาสนจักรที่ติดตามพระคริสต์อย่างซื่อสัตย์ ข้าพเจ้ารู้จักเด็กๆ ที่ร่างกายพิการขั้นรุนแรง และรู้จักพ่อแม่ที่ดูแลพวกเขา ข้าพเจ้าเห็นคนเหล่านั้นที่บางครั้งทุกคนทำงานจนหมดแรง ต่างแสวงหาพลัง ความปลอดภัย และช่วงเวลาแห่งปีติเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่มาจากทางอื่น ข้าพเจ้ารู้จักผู้ใหญ่โสดหลายคนที่ปรารถนาและสมควรได้มีคู่ชีวิตที่รักกัน มีชีวิตแต่งงานที่ดี และมีบ้านที่เต็มไปด้วยลูกๆ ของตนเอง ไม่มีความปรารถนาใดชอบธรรมไปกว่านี้อีกแล้ว แต่ปีแล้วปีเล่าความโชคดีเช่นนั้นก็ยังมาไม่ถึง ข้าพเจ้ารู้จักคนที่ต่อสู้กับอาการป่วยทางจิตหลายรูปแบบ ที่ทูลขอความช่วยเหลือขณะสวดอ้อนวอนและใฝ่หาแผ่นดินที่สัญญาไว้ของความมั่นคงทางอารมณ์ ข้าพเจ้ารู้จักคนที่อยู่กับความยากจนข้นแค้นแต่ไม่ยอมสิ้นหวัง ขอเพียงแค่มีโอกาสทำให้ชีวิตคนที่ตนรักและคนขัดสนคนอื่นๆ รอบตัวดีขึ้น ข้าพเจ้ารู้จักหลายคนที่ต่อสู้กับเรื่องยากสุดขีดเกี่ยวกับอัตลักษณ์ เพศ และสภาพทางเพศ ข้าพเจ้าร้องไห้เห็นใจพวกเขา และร้องไห้กับพวกเขา เพราะรู้ว่าผลการตัดสินใจของพวกเขาจะมีนัยสำคัญเพียงใด

นี่เป็นเพียงไม่กี่อย่างของสถานการณ์ทดสอบมากมายที่เราเผชิญในชีวิต เป็นเครื่องเตือนใจสำคัญว่า มี ราคาของการเป็นสานุศิษย์ กษัตริย์ดาวิดตรัสกับอาราวนาห์ผู้พยายามถวายวัวและฟืนให้กษัตริย์สำหรับเครื่องเผาบูชาฟรีๆ ว่า “ไม่ได้ เพราะเราจะซื้อจากท่านจริงๆ ตามราคานั้น … [เพราะเรา] จะถวาย … แด่พระยาห์เวห์พระเจ้าของเรา โดยที่เราไม่เสียอะไรเลยนั้นไม่ได้”12 เราทุกคนต้องพูดแบบนั้นเช่นกัน

เมื่อเราแบกกางเขนติดตามพระองค์ คงจะน่าสลดใจเป็นแน่ถ้าน้ำหนักความท้าทายของเราไม่ได้ทำให้เราเห็นใจและใส่ใจมากขึ้นกับภาระที่ผู้อื่นกำลังแบก ความย้อนแย้งอันทรงพลังที่สุดอย่างหนึ่งของการตรึงกางเขนคือ พระพาหุของพระผู้ช่วยให้รอดกางออกแล้วถูกตอกตะปูที่นั่น นี่เป็นภาพที่แสดงออกมาอย่างไม่ตั้งใจแต่ถูกต้องว่า พระองค์ไม่เพียงต้อนรับชาย หญิง และเด็กทุกคนในครอบครัวมนุษย์ทั้งหมดเท่านั้น แต่ยังเชื้อเชิญให้มาสู่อ้อมกอดที่ไถ่และทำให้สูงส่งของพระองค์ด้วย13

การฟื้นคืนพระชนม์อันรุ่งโรจน์เกิดขึ้นหลังการตรึงกางเขนอันแสนเจ็บปวดฉันใด พรทุกรูปแบบก็หลั่งเทมาให้คนที่เต็มใจ “เชื่อในพระคริสต์, และพิจารณาการสิ้นพระชนม์ของพระองค์, และทนรับกางเขนของพระองค์” ฉันนั้น ดังที่เจคอบศาสดาพยากรณ์ในพระคัมภีร์มอรมอนกล่าว บางครั้งพรเหล่านั้นมาเร็ว บางคราวก็มาช้า แต่บทสรุปอันน่าอัศจรรย์ของ via dolorosa (มรรคาศักดิ์สิทธิ์) ส่วนตัวของเรา14 คือสัญญาจากองค์พระอาจารย์ว่าพรจะมาแน่นอน เพื่อให้ได้พรเช่นนั้น ขอให้เราติดตามพระองค์—อย่างไม่ลดละ ไม่ลังเลหรือหลบหนี แน่วแน่ต่อภารกิจ แม้เมื่อกางเขนของเราอาจจะหนักและเมื่อหนทางมืดลงชั่วขณะ ข้าพเจ้าขอบคุณสำหรับความเข้มแข็ง ความภักดี ความรักของท่าน วันนี้ข้าพเจ้าเป็นพยานในฐานะอัครสาวกถึงพระองค์ผู้ทรง “ถูกยกขึ้น”15 และถึงพรนิรันดร์ที่พระองค์ประทานแก่ผู้ที่ “ถูกยกขึ้น” กับพระองค์ แม้พระเจ้าพระเยซูคริสต์ เอเมน

อ้างอิง

  1. ดู Jeffrey R. Holland, Encyclopedia of Mormonism (1992), “Atonement of Jesus Christ,” 1:83.

  2. อมิวเล็คพูดถึงการชดใช้ของพระคริสต์ว่าเป็น “การพลีบูชาครั้งสุดท้ายและสำคัญยิ่ง” และ “ไม่มีขอบเขตและเป็นนิรันดร์” (แอลมา 34:10) เพราะ “คนทั้งปวงตกและหลงไป, และต้องพินาศเว้นแต่จะเป็นโดยผ่านการชดใช้” (แอลมา 34:9; ดู ข้อ 8–12 ด้วย) ประธานจอห์น เทย์เลอร์เสริมว่า: “[พระเยซู] ทรงแบกรับบาปหนักอึ้งของคนทั้งโลกในระดับที่เราไม่สามารถเข้าใจและอธิบายได้ ไม่เฉพาะของอาดัมเท่านั้น แต่ของลูกหลานอาดัมด้วย ในการทำเช่นนี้พระองค์ไม่เพียงทรงเปิดอาณาจักรสวรรค์ต้อนรับทุกคนที่เชื่อและทำตามกฎของพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น แต่ต้อนรับครอบครัวมนุษย์เกินครึ่งที่เสียชีวิตก่อนจะถึงวัยอันควร รวมทั้ง [คน] ที่ … เสียชีวิตโดยปราศจากกฎจะฟื้นคืนชีวิตโดยปราศจากกฎ และถูกพิพากษาโดยปราศจากกฎผ่านทางการเป็นคนกลางของพระองค์ และดังนั้นจึงมีส่วน … ในพรแห่งการชดใช้ของพระองค์” (An Examination into and an Elucidation of the Great Principle of the Mediation and Atonement of Our Lord and Savior Jesus Christ [1892], 148–149; Teachings of Presidents of the Church: John Taylor [2001], 52–53)

  3. คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ (2007), 52.

  4. 1 นีไฟ 11:32–33

  5. 3 นีไฟ 27:14–15

  6. แน่นอนว่ามีหลายข้อในคำสอนของเปาโลที่พูดถึงกางเขน (ดูตัวอย่างใน 1 โครินธ์ 1:17–18; กาลาเทีย 6:14; ฟีลิปปี 3:18) แต่ข้อเหล่านี้พูดถึงบางอย่างที่สำคัญยิ่งกว่าคานไม้สองท่อนที่ตอกติดกันหรือสัญลักษณ์ใดๆ ที่เล็กกว่าในลักษณะนั้น ดังนั้นเมื่อเปาโลพูดถึงกางเขน เขากำลังใช้หลักคำสอนย่อเพื่อพูดถึงความยิ่งใหญ่ของการชดใช้ นี่คือสังเวียนที่วิสุทธิชนยุคสุดท้ายเต็มใจสมทบและยกมากล่าวอ้าง

  7. ชาวคริสต์ดั้งเดิมยุคแรกๆ เช่น สหายของมาร์ติน ลูเธอร์ ชื่ออันเดรอัส คาร์ลชตัท (1486–1541) โต้แย้งตอนปลายยุคกลางว่า “การตรึงกางเขน [โดยตัวมันเอง] วาดให้เห็นเพียงความทุกข์ทรมานแบบมนุษย์ของพระคริสต์เท่านั้น แต่ไม่ได้แสดงถึงการฟื้นคืนพระชนม์และ [เดชานุภาพ] การไถ่ของพระองค์” (ใน John Hilton III, Considering the Cross: How Calvary Connects Us with Christ [2021], 17)

  8. Harry Anderson, The Crucifixion; Harry Anderson, Mary and the Resurrected Lord.

  9. ดู รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “เปิดฟ้าสวรรค์เพื่อรับความช่วยเหลือ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2020, 72–74.

  10. Gordon B. Hinckley, “The Symbol of Christ,” Ensign, May 1975, 92.

  11. มัทธิว 16:24

  12. 2 ซามูเอล 24:24

  13. “พระพาหุของพระองค์เอื้อมออกไปสู่ผู้คนทั้งปวงผู้จะกลับใจและเชื่อในพระนามของพระองค์” (แอลมา 19:36; ดู 2 นีไฟ 26:33; แอลมา 5:33 ด้วย)

  14. Via dolorosa เป็นวลีภาษาละตินหมายถึง “เส้นทาง ทางเดิน หรือประสบการณ์ยากๆ ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องอย่างเจ็บปวด” (Merriam-Webster.com Dictionary, “via dolorosa”) ส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับความเคลื่อนไหวของพระเยซูตั้งแต่การพิพากษาลงโทษด้วยน้ำมือของปีลาตไปจนถึงการตรึงกางเขนที่คัลวารี

  15. ดู 3 นีไฟ 27:14–15