“16–22 กันยายน: ‘จงเงยหน้าของเจ้าและรื่นเริงเถิด’ 3 นีไฟ 1–7” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: พระคัมภีร์มอรมอน 2024 (2023)
“16–22 กันยายน 3 นีไฟ 1–7” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: 2024 (2023)
16–22 กันยายน: “จงเงยหน้าของเจ้าและรื่นเริงเถิด”
3 นีไฟ 1–7
ในบางด้าน การเป็นผู้เชื่อในพระเยซูคริสต์เป็นเวลาที่น่าตื่นเต้น คำพยากรณ์กำลังเกิดสัมฤทธิผล—เครื่องหมายและปาฏิหาริย์อันสำคัญยิ่งในบรรดาผู้คนบ่งบอกว่าพระผู้ช่วยให้รอดจะประสูติในไม่ช้า แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นเวลาน่าวิตกสำหรับผู้เชื่อเช่นกันเพราะแม้จะมีปาฏิหาริย์ทั้งหมดนี้ แต่ผู้ไม่เชื่อยืนกรานว่า “เวลา [ที่พระผู้ช่วยให้รอดจะประสูติ] ผ่านไปแล้ว” (3 นีไฟ 1:5) คนเหล่านี้ก่อ “ความวุ่นวายครั้งใหญ่ตลอดทั่วแผ่นดิน” (3 นีไฟ 1:7) และถึงกับกำหนดวันสังหารผู้เชื่อทั้งหมดถ้าเครื่องหมายที่แซมิวเอลชาวเลมันพยากรณ์ไว้—คืนที่ปราศจากความมืด—ไม่ปรากฏ
ในสภาวการณ์ที่ยากลำบากเหล่านี้ ศาสดาพยากรณ์นีไฟ “ร้องทูลพระผู้เป็นเจ้าของท่านอย่างสุดกำลังเพื่อผู้คนของท่าน” (3 นีไฟ 1:11) พระดำรัสตอบของพระเจ้าสร้างแรงบันดาลใจให้ใครก็ตามที่ประสบการข่มเหงหรือความสงสัย และจำเป็นต้องรู้ว่าแสงสว่างจะชนะความมืดแน่นอน “จงเงยหน้าของเจ้าและรื่นเริงเถิด; … เราจะทำให้ทุกสิ่งซึ่งเราให้ปากของศาสดาพยากรณ์ผู้บริสุทธิ์ของเราพูดไว้เกิดสัมฤทธิผล” (3 นีไฟ 1:13)
แนวคิดสำหรับการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์
การเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ต้องอาศัยความอดทนและความพยายาม
3 นีไฟ 1–7 พูดถึงคนที่เปลี่ยนใจเลื่อมใสพระเจ้าและคนที่ไม่เปลี่ยนใจเลื่อมใส อะไรทำให้คนสองกลุ่มนี้แตกต่างกัน? แผนผังต่อไปนี้อาจจะช่วยท่านจัดระเบียบความคิดของท่านได้:
สิ่งที่บั่นทอนการเปลี่ยนใจเลื่อมใส |
สิ่งที่เสริมสร้างการเปลี่ยนใจเลื่อมใส | |
---|---|---|
ไม่เชื่อถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์และเยาะเย้ยคนชอบธรรม |
มีศรัทธาในถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์และสวดอ้อนวอนขอความช่วยเหลือ | |
เพราะพระเยซูคริสต์ ฉันจึง “รื่นเริง” ได้
พระบิดาบนสวรรค์ทรงทราบว่าชีวิตท่านจะมีช่วงเวลาที่ยากลำบาก แม้ถึงกับน่าหวาดกลัว แต่พระองค์ทรงต้องการให้ท่านประสบปีติเช่นกัน อ่าน 3 นีไฟ 1:1–23 เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับเหตุผลที่ชาวนีไฟที่ซื่อสัตย์ต้องกลัว พระเจ้าประทานเหตุผลอะไรให้พวกเขา “จงรื่นเริงเถิด”?
พระผู้ช่วยให้รอดทรงใช้วลี “จงรื่นเริงเถิด” หลายครั้ง—ตัวอย่างเช่น ใน มัทธิว 14:24–27; ยอห์น 16:33; หลักคำสอนและพันธสัญญา 61:36; 78:17–19 ท่านประทับใจอะไรเกี่ยวกับคำเชื้อเชิญเหล่านี้? ท่านอาจจะอ่านข้อก่อนและหลังเพื่อเข้าใจสภาวการณ์ซึ่งพระผู้ช่วยให้รอดตรัสคำเหล่านี้ ในแต่ละกรณี พระองค์ประทานเหตุผลอะไรในการช่วยผู้คนเผชิญความกลัว? พระองค์ทรงทำเช่นนี้กับท่านอย่างไร?
ท่านอาจจะศึกษาคำปราศรัยของประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันเรื่อง “ปีติและการอยู่รอดทางวิญญาณ,” (เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 81–84) ประธานเนลสันสอนอะไรท่านเกี่ยวกับการพบปีติในทุกสถานการณ์? สังเกตว่าประธานเนลสันใช้คำว่าจับตามองกี่ครั้ง ท่านอาจเปรียบเทียบการจับภาพกล้องหรือใช้เลนส์อื่นๆ กับการจับตามองที่พระเยซูคริสต์ ท่านจะจับตามองที่พระองค์มากขึ้นได้อย่างไร?
ดูหัวข้ออื่นในหมวด “ความช่วยเหลือในชีวิต” ของคลังค้นคว้าด้วย
พระเจ้าจะทรงทำให้พระวจนะของพระองค์เกิดสัมฤทธิผลในเวลาของพระองค์
อ่าน 3 นีไฟ 1:4–7 และคิดว่าท่านจะรู้สึกอย่างไรหากท่านเป็นหนึ่งในผู้เชื่อ พวกเขาทำอะไรเพื่อรักษาศรัทธาให้เข้มแข็ง? (ดู 3 นีไฟ 1:4–21 และ 5:1–3) ถ้อยคำของแซมิวเอลเกิดสัมฤทธิผลอย่างไร? (ดู 3 นีไฟ 1:19–21) พระเจ้าทรงทำให้พระวจนะของพระองค์เกิดสัมฤทธิผลในชีวิตท่านอย่างไร?
3 นีไฟ 1:4–15; 5:12–26; 6:10–15; 7:15–26
ฉันเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์
มอรมอนประกาศว่า “ดูเถิด, ข้าพเจ้าเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์” (3 นีไฟ 5:13) วลีนี้มีความหมายต่อท่านอย่างไร? ท่านอาจจะค้นคว้า 3 นีไฟ 1:4–15; 5:12–26; 6:10–15; และ 7:15–26 โดยมองหาคุณสมบัติ ความเชื่อ และการกระทำของสานุศิษย์ของพระคริสต์
ดู “ฉันพากเพียรเป็นเหมือนพระเยซู” หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 40–41 ด้วย
เมื่อฉันใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ ฉันไม่จำเป็นต้องกลัว
ประสบการณ์ของชาวนีไฟกับกลุ่มโจรอาจให้บทเรียนที่สามารถช่วยเหลือท่านได้เรื่องอันตรายทางวิญญาณที่ท่านพบเจอ มองหาบทเรียนเหล่านี้ใน 3 นีไฟ 2:11–12 และ 3:1–26 ตัวอย่างเช่น ท่านจะค้นหาคำพูดของกิดดิแอนไฮใน 3 นีไฟ 3:2–10 และเปรียบเทียบกับวิธีที่ซาตานพยายามหลอกลวงท่าน ท่านเรียนรู้อะไรจากตัวอย่างของเลโคนิอัส?
แนวคิดสำหรับการสอนเด็ก
ดาวดวงใหม่ปรากฏเมื่อพระเยซูประสูติ
-
หน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้ จะช่วยให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับปาฏิหาริย์ที่ชาวนีไฟเห็นเมื่อพระเยซูประสูติ ท่านสามารถใช้ “บทที่ 41: เครื่องหมายแห่งการประสูติของพระคริสต์” (เรื่องราวจากพระคัมภีร์มอรมอน, 114–116) เพื่อสอนเรื่องนี้ด้วย—หรือช่วยให้พวกเขาเล่าเรื่องนี้ให้ท่านฟังก็ได้
ถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์เกิดสัมฤทธิผลเสมอ
-
ขณะที่ท่านและเด็กอ่าน 3 นีไฟ 1:4–10 ให้พวกเขาพูดคุยกันว่าการเป็นผู้เชื่อคนหนึ่งที่มีชีวิตอยู่ในเวลานั้นน่าจะรู้สึกอย่างไร จากนั้น ขณะที่พวกเขาอ่านเรื่องราวที่เหลือใน ข้อ 11–15 พวกเขาจะเสนอวิธีเติมประโยคนี้ให้สมบูรณ์: “บทเรียนสำหรับฉันจากเรื่องนี้คือ …”
-
เด็กอาจจะช่วยท่านนึกถึงเวลาอื่นที่พระผู้เป็นเจ้าทรงทำให้สัญญาที่ประทานผ่านศาสดาพยากรณ์ของพระองค์เกิดสัมฤทธิผล เด็กอาจจะชอบหาภาพของเรื่องราวเหล่านี้ใน หนังสือภาพพระกิตติคุณ (ดูตัวอย่างใน ภาพที่ 7–8 และ 81) ให้เด็กแบ่งปันสิ่งที่รู้เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ และแบ่งปันด้วยว่าสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าเกิดสัมฤทธิผลอย่างไร อ่าน 3 นีไฟ 1:20 ด้วยกันและแบ่งปันพยานที่ท่านมีต่อความจริงเหล่านี้
3 นีไฟ 2:11–12; 3:13–14, 24–26
เราเข้มแข็งขึ้นเมื่อเรารวมตัวกัน
-
ช่วยเด็กค้นหาสาเหตุที่ชาวนีไฟมารวมตัวกันและพรที่พวกเขาได้รับใน 3 นีไฟ 2:11–12 และ 3:13–14, 24–26 ทำไมทุกวันนี้การรวมตัวกันในครอบครัวและที่โบสถ์จึงสำคัญสำหรับเรา?
-
ท่านรู้จักบทเรียนที่ใช้อุปกรณ์สอนเรื่องพลังของความสามัคคีบ้างหรือไม่? ท่านอาจจะให้เด็กพยายามหักไม้หนึ่งอันแล้วหักไม้หนึ่งมัด หรือฉีกกระดาษหนึ่งแผ่นแล้วฉีกทั้งปึก เราเป็นเหมือนไม้หรือกระดาษอย่างไร?
ฉันเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์
-
หลังจากอ่าน 3 นีไฟ 5:13 ด้วยกัน ให้เด็กพูดทวนวลี “ฉันเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์” เพื่อเรียนรู้ความหมายของการเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ ให้อ่านตัวอย่างเหล่านี้ด้วยกัน: ชาวเลมันที่เปลี่ยนใจเลื่อมใส (ดู 3 นีไฟ 6:14) มอรมอน (ดู 3 นีไฟ 5:12–26) และนีไฟ (ดู 3 นีไฟ 7:15–26) ท่านจะพบแนวคิดในเพลงอย่างเช่น “ฉันพากเพียรเป็นเหมือนพระเยซู” ด้วย (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 40–41)
-
ช่วยเด็กลากเส้นตามรอยมือของพวกเขาลงบนแผ่นกระดาษและตัดออกมา เขียน “ฉันเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์” ไว้ด้านหนึ่ง และให้พวกเขาวาดสิ่งที่สามารถทำได้เพื่อเป็นสานุศิษย์ไว้อีกด้านหนึ่ง