จงตามเรามา
2–8 กันยายน: “ระลึกถึงพระเจ้า” ฮีลามัน 7–12


“2–8 กันยายน: ‘ระลึกถึงพระเจ้า’ ฮีลามัน 7–12” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: พระคัมภีร์มอรมอน 2024 (2023)

“2–8 กันยายน ฮีลามัน 7–12” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: 2024 (2023)

นีไฟสวดอ้อนวอนบนหอสูงในสวน

ภาพประกอบของนีไฟบนหอสูงในสวน โดย เจอร์รีย์ ธอมพ์สัน

2–8 กันยายน: “ระลึกถึงพระเจ้า”

ฮีลามัน 7–12

ฮีลามันบิดาของนีไฟได้กระตุ้นให้บุตรของเขา “จำ, จงจำไว้” เขาต้องการให้บุตรชายจดจำบรรพชนของตน จดจำถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ และสำคัญที่สุดคือจดจำ “พระผู้ไถ่ของเรา, ผู้ทรงเป็นพระคริสต์” (ดู ฮีลามัน 5:5–14) เห็นชัดว่านีไฟจดจำเพราะนี่เป็นข่าวสารเดียวกันกับที่เขาประกาศต่อผู้คนในอีกหลายปีต่อมา “โดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย” (ฮีลามัน 10:4) “ท่านลืมพระผู้เป็นเจ้าของท่านได้อย่างไร?” เขาถาม (ฮีลามัน 7:20) ความพยายามทั้งหมดของนีไฟ—การสั่งสอน การสวดอ้อนวอน การแสดงปาฏิหาริย์ และการวิงวอนพระผู้เป็นเจ้าขอให้เกิดความอดอยาก—ล้วนเป็นความพยายามที่จะช่วยให้ผู้คนหันมาหาพระผู้เป็นเจ้าและระลึกถึงพระองค์ ในหลายๆ ด้าน การลืมพระผู้เป็นเจ้าเป็นปัญหาใหญ่กว่าการไม่รู้จักพระองค์ และเราลืมพระองค์ได้ง่ายเมื่อจิตใจเราหันเหไปตาม “สิ่งไร้ประโยชน์ของโลกนี้” และถูกบาปบดบัง (ฮีลามัน 7:21; ดู ฮีลามัน 12:2 ด้วย) แต่ดังที่การปฏิบัติศาสนกิจของนีไฟแสดงให้เห็น ไม่มีวันสายเกินกว่าจะจดจำและ “หันมาสู่พระเจ้าพระผู้เป็นเจ้าของท่าน” (ฮีลามัน 7:17)

แนวคิดสำหรับการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์

ฮีลามัน 7–11

seminary icon
ศาสดาพยากรณ์เปิดเผยพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าต่อผู้คน

ฮีลามัน 7–11 เป็นบทที่เหมาะจะเรียนรู้สิ่งที่ศาสดาพยากรณ์ทำเป็นอย่างยิ่ง ขณะที่ท่านอ่านบทเหล่านี้ ให้เอาใจใส่การกระทำ ความคิด และปฏิสัมพันธ์ของนีไฟกับพระเจ้า การปฏิบัติศาสนกิจของนีไฟช่วยให้ท่านเข้าใจบทบาทของศาสดาพยากรณ์อย่างไร? ต่อไปนี้เป็นตัวอย่าง ท่านพบอะไรอีกบ้าง?

จากที่ท่านอ่าน ท่านจะอธิบายอย่างไรว่าศาสดาพยากรณ์เป็นใครและทำอะไรบ้าง? ท่านอาจจะเขียนนิยามสั้นๆ แล้วดูว่าท่านจะเพิ่มอะไรในนิยามนั้นหลังจากอ่านข้อมูล “ศาสดาพยากรณ์” ในคู่มือพระคัมภีร์ (คลังพระกิตติคุณ) หรือ “ทำตามศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่” (คำสอนของประธานศาสนจักร: เอสรา แทฟท์ เบ็นสัน [2014], 147–155)

ท่านสังเกตเห็นหรือไม่ว่านีไฟอาจหาญเพียงใดใน ฮีลามัน 7:11–29? เหตุใดท่านรู้สึกว่าบางครั้งศาสดาพยากรณ์ต้องพูดด้วยความอาจหาญเหมือนนีไฟ? ลองหาคำตอบในหัวข้อ “จงอย่าประหลาดใจ” ในข่าวสารของเอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นเรื่อง “ศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้า” (เลียโฮนา, พ.ค. 2018, 26)

ให้ไตร่ตรองโดยคำนึงถึงความจริงทั้งหมดนี้ว่าพระเจ้าได้ประทานพรท่านผ่านการปฏิบัติศาสนกิจของศาสดาพยากรณ์ของพระองค์อย่างไร พระองค์ทรงสอนอะไรท่านเมื่อเร็วๆ นี้ผ่านศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่ของเรา? ท่านกำลังทำอะไรเพื่อฟังและทำตามการนำทางของพระเจ้า?

.

ฮีลามัน 9; 10:1, 12–15

ฉันต้องไม่สร้างศรัทธาในพระเยซูคริสต์บนเครื่องหมายและปาฏิหาริย์

ถ้าเครื่องหมายหรือปาฏิหาริย์เพียงพอจะเปลี่ยนใจบุคคล ชาวนีไฟทุกคนคงเปลี่ยนใจเลื่อมใสตามเครื่องหมายอันน่าพิศวงที่นีไฟให้ใน ฮีลามัน 9 ไปแล้ว แต่ไม่ได้เป็นแบบนั้น สังเกตปฏิกิริยาหลายๆ แบบของผู้คนต่อปาฏิหาริย์ใน ฮีลามัน 9–10 ตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะเปรียบเทียบการตอบสนองของชายห้าคนและหัวหน้าผู้พิพากษาใน ฮีลามัน 9:1–20 (ดู ฮีลามัน 9:39–41; 10:12–15 ด้วย) ท่านเรียนรู้อะไรจากประสบการณ์เหล่านี้เกี่ยวกับวิธีสร้างศรัทธาในพระเยซูคริสต์?

ดู 3 นีไฟ 1:22; 2:1–2 ด้วย

ฮีลามัน 10:1–12

พระเจ้าประทานอำนาจให้คนที่แสวงหาพระประสงค์ของพระองค์และพยายามรักษาพระบัญญัติของพระองค์

ขณะที่ท่านศึกษา ฮีลามัน 10:1–12 ให้สังเกตสิ่งที่นีไฟทำเพื่อจะได้ความไว้วางใจจากพระเจ้า เขาแสดงให้เห็นอย่างไรว่าเขาแสวงหาพระประสงค์ของพระเจ้าไม่ใช่ความประสงค์ของเขาเอง? ประสบการณ์ของนีไฟสร้างแรงบันดาลใจให้ท่านทำอะไร?

ฮีลามัน 10:2–4

การไตร่ตรองพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าเชื้อเชิญการเปิดเผย

เมื่อท่านรู้สึกย่ำแย่ วิตกกังวล หรือสับสน ท่านจะได้เรียนรู้บทเรียนสำคัญจากแบบอย่างของนีไฟใน ฮีลามัน 10:2–4 เขาทำอะไรเมื่อเขารู้สึก “ห่อเหี่ยว”? (ข้อ 3)

ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์อธิบายว่า “เมื่อเราไตร่ตรอง เราเชื้อเชิญการเปิดเผยโดยพระวิญญาณ” (“รับใช้ด้วยพระวิญญาณ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 76) ท่านจะสร้างนิสัยของการไตร่ตรองได้อย่างไร?

ฮีลามัน 12

พระเจ้าทรงต้องการให้ฉันระลึกถึงพระองค์

ท่านมีวิธีจำข้อมูลสำคัญอย่างไร เช่น วันเกิดของสมาชิกในครอบครัวหรือเนื้อหาสำหรับการสอบ? นี่คล้ายกับการพยายาม “ระลึกถึงพระเจ้า” อย่างไร? (ฮีลามัน 12:5) และต่างกันอย่างไร?

ฮีลามัน 12 อธิบายหลายอย่างที่ทำให้ผู้คนลืมพระเจ้า ท่านอาจจะเขียนออกมาเป็นข้อๆ และไตร่ตรองว่าสิ่งเหล่านั้นจะทำให้ท่านเขวจากพระองค์ได้หรือไม่ อะไรช่วยให้ท่านระลึกถึงพระเยซูคริสต์? ท่านได้รับแรงบันดาลใจให้ทำอะไรจากสิ่งที่ได้เรียนรู้?

ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:77, 79 ด้วย

สอนบทเรียนที่ใช้อุปกรณ์จริง พระผู้ช่วยให้รอดมักจะทรงเชื่อมโยงหลักธรรมพระกิตติคุณกับเรื่องประจำวันที่ผู้คนคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว เมื่อเรียนรู้หรือสอนเกี่ยวกับ ฮีลามัน 12:1–6 ท่านจะเปรียบเทียบ “ความไม่มั่นคง … ของมนุษย์” กับความรู้สึกเวลาเราพยายามทรงตัวบนขาข้างเดียว เราจะมั่นคงทางวิญญาณตลอดได้อย่างไร?

ดูแนวคิดเพิ่มเติมจากนิตยสาร เลียโฮนา และ เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน ฉบับเดือนนี้

แนวคิดสำหรับการสอนเด็ก

ฮีลามัน 7:20–21

พระเจ้าทรงต้องการให้ฉันระลึกถึงพระองค์

  • เพื่อเริ่มการสนทนาเกี่ยวกับการระลึกถึงพระเจ้า ท่านจะเล่าให้เด็กฟังเวลาที่ท่านลืมของบางอย่าง แล้วให้เด็กเล่าประสบการณ์คล้ายกันของพวกเขา จากนั้นท่านจะอ่าน ฮีลามัน 7:20–21 ด้วยกันและถามเด็กว่าพวกเขาคิดว่าลืมพระผู้เป็นเจ้าหมายความว่าอย่างไร? ท่านอาจจะให้เด็กวาดภาพสิ่งต่างๆ ที่จะทำให้เราลืมพระเจ้าและใช้ภาพวาดของพวกเขาปิดทับภาพพระเยซู จากนั้นให้เด็กนึกถึงสิ่งที่พวกเขาจะทำได้เพื่อระลึกถึงพระองค์ ขณะพวกเขาแบ่งปันความคิด ท่านจะให้เด็กดึงภาพวาดออกทีละภาพจนเหลือแต่ภาพพระผู้ช่วยให้รอด

ฮีลามัน 8:13–23

ศาสดาพยากรณ์เป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์

  • ช่วยเด็กค้นคว้า ฮีลามัน 8:13–23 เพื่อหาชื่อศาสดาพยากรณ์ที่สอนเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ เด็กอาจจะส่งภาพพระเยซูเวียนไปรอบๆ ทุกครั้งที่หาชื่อศาสดาพยากรณ์พบ ศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่สอนอะไรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด?

  • ร้องเพลงๆ หนึ่งด้วยกันเกี่ยวกับศาสดาพยากรณ์ เช่น “ทำตามศาสดา” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 58–59) ท่านและเด็กอาจเลือกวลีสำคัญหนึ่งวลีจากเพลงและเขียนคำจากวลีนั้นไว้บนรอยเท้ากระดาษหลายๆ แผ่นๆ ละหนึ่งคำ จากนั้นท่านจะวางรอยเท้าไว้บนพื้นที่นำไปถึงภาพพระผู้ช่วยให้รอด และให้เด็กเดินตามรอยเท้าจนถึงภาพ การทำตามศาสดาพยากรณ์นำเราไปหาพระเยซูคริสต์อย่างไร?

ฮีลามัน 10:1-4

การไตร่ตรองพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าเชื้อเชิญการเปิดเผย

  • เพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจว่าการไตร่ตรองหมายความว่าอย่างไร ท่านจะอ่าน “ครุ่นคิด, ไตร่ตรอง” ในคู่มือพระคัมภีร์ (คลังค้นคว้าพระกิตติคุณ) ด้วยกัน มีคำใดอีกบ้างที่คล้ายกับคำว่า ไตร่ตรอง? ท่านอาจจะอ่าน ฮีลามัน 10:1–3 ด้วยกันและแทนคำว่า ไตร่ตรอง ด้วยคำอื่น พูดคุยกับเด็กเกี่ยวกับวิธีทำให้การไตร่ตรองเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา

ฮีลามัน 10:11–12

ฉันจะเชื่อฟังพระบิดาบนสวรรค์

  • นีไฟเชื่อฟังพระบิดาบนสวรรค์แม้นั่นหมายถึงการทำบางอย่างที่ยาก ท่านและเด็กสามารถอ่านตัวอย่างนี้ได้ใน ฮีลามัน 10:2, 11–12 ท่านอาจให้เด็กทำท่าประกอบสิ่งที่นีไฟทำ—เดินไปจนถึงด้านหนึ่งของห้อง (เหมือนจะกลับบ้าน) หยุด หมุนตัวกลับ และเดินมาอีกด้านหนึ่งของห้อง (เหมือนจะกลับมาสอนผู้คน) พระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้เราทำอะไรบ้าง?

ดูแนวคิดเพิ่มเติมจากนิตยสาร เพื่อนเด็ก ฉบับเดือนนี้

ซีแอนทัมถูกจับได้ว่าเป็นฆาตกร

นีไฟไขคดีฆาตกรรมหัวหน้าผู้พิพากษาผ่านของประทานแห่งการพยากรณ์

© The Book of Mormon for Young Readers, ซีแอนทัม—ฆาตกรที่ถูกจับได้ โดย บริอานา ชอว์ครอฟท์; ไม่อนุญาตให้ทำสำเนา