“23–29 กันยายน: ‘จงลุกขึ้นและออกมาหาเรา’ 3 นีไฟ 8–11,” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: พระคัมภีร์มอรมอน 2024 (2023)
“23–29 กันยายน 3 นีไฟ 8–11,” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: 2024 (2023)
23–29 กันยายน: “จงลุกขึ้นและออกมาหาเรา”
3 นีไฟ 8–11
“ดูเถิด, เราคือพระเยซูคริสต์, ผู้ที่ศาสดาพยากรณ์เป็นพยานว่าจะมาในโลก” (3 นีไฟ 11:10) พระผู้ช่วยให้รอดที่ฟื้นคืนพระชนม์ทรงแนะนำพระองค์ด้วยพระดำรัสดังกล่าวอันทำให้คำพยากรณ์ในพระคัมภีร์มอรมอนเมื่อ 600 กว่าปีก่อนเกิดสัมฤทธิผล “การปรากฏครั้งนั้นและการประกาศครั้งนั้น” เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์เขียน “ถือเป็นจุดศูนย์รวม เป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ทั้งมวลของพระคัมภีร์มอรมอน เป็นปรากฏการณ์และประกาศิตที่ดลใจและแจ้งให้ศาสดาพยากรณ์ชาวนีไฟทุกท่านทราบ … ทุกคนพูดถึงพระองค์ ร้องเพลงสรรเสริญพระองค์ ฝันถึงพระองค์ และสวดอ้อนวอนขอให้พระองค์ทรงปรากฏ—แต่พระองค์ทรงปรากฏที่นี่จริงๆ นั่นเป็นวันสำคัญที่สุด! พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเปลี่ยนคืนเดือนมืดทั้งหมดให้เป็นแสงสว่างยามเช้าได้เสด็จมาถึงแล้ว” (Christ and the New Covenant [1997], 250–51)
ดู “Jesus Christ Appears in the Ancient Americas” (วีดิทัศน์), Gospel Library ด้วย
แนวคิดสำหรับการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์
พระเยซูคริสต์ทรงเป็นแสงสว่างของโลก
ท่านอาจจะสังเกตเห็นว่าหัวข้อเกี่ยวกับความมืดและความสว่างกล่าวซ้ำหลายครั้งทั่ว 3 นีไฟ 8–11 ท่านเรียนรู้อะไรจากบทเหล่านี้เกี่ยวกับความมืดและความสว่างทางวิญญาณ? (ดูตัวอย่างใน 3 นีไฟ 8:19–23; 9:18; 10:9–13) อะไรนำความมืดเข้ามาในชีวิตท่าน? อะไรนำความสว่างเข้ามา? ท่านคิดว่าเหตุใดพระผู้ช่วยให้รอดทรงแนะนำพระองค์ว่าทรงเป็น “แสงสว่างและชีวิตของโลก”? (3 นีไฟ 9:18; 11:11)
เหตุการณ์ที่บรรยายไว้ใน 3 นีไฟ 9–11 เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในพระคัมภีร์มอรมอน อ่านช้าๆ และไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน ต่อไปนี้คือคำถามบางข้อที่จะช่วยท่านได้ ท่านอาจจะบันทึกความประทับใจที่มาถึงท่าน
-
ฉันจะรู้สึกอย่างไรถ้าอยู่ในบรรดาคนเหล่านี้?
-
ฉันประทับใจอะไรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดในบทเหล่านี้?
-
ฉันรู้ได้อย่างไรว่าพระเยซูคริสต์คือพระผู้ช่วยให้รอดของฉัน?
-
พระองค์ทรงเป็นแสงสว่างในชีวิตฉันอย่างไร?
ดู แชรอน ยูแบงค์, “พระคริสต์: แสงสว่างที่ส่องในความมืด,” เลียโฮนา, พ.ค. 2019, 73–76 ด้วย
พระเยซูคริสต์ทรงกระตือรือร้นที่จะให้อภัย
เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงสามารถและทรงกระตือรือร้นที่จะให้อภัยบาปของเรา” (ดู “จงกลับใจ … เพื่อเราจะรักษาเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2009, 50) ค้นคว้า 3 นีไฟ 9–10 เพื่อหาหลักฐานยืนยันความกระตือรือร้นที่จะให้อภัยของพระคริสต์ ท่านพบอะไรใน 3 นีไฟ 9:13–22; 10:1–6 ที่ช่วยให้ท่านรู้สึกถึงความรักและพระเมตตาของพระองค์? ท่านรู้สึกเมื่อใดว่าพระองค์ทรง “รวม” และ “บำรุงเลี้ยง” ท่าน? (ดู 3 นีไฟ 10:4)
พระเจ้าทรงเรียกร้อง “ใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด”
ก่อนการเสด็จมาของพระผู้ช่วยให้รอด สัตวบูชาเป็นสัญลักษณ์ของการพลีบูชาของพระเยซูคริสต์ (ดู โมเสส 5:5–8) พระผู้ช่วยให้รอดประทานพระบัญญัติใหม่อะไรใน 3 นีไฟ 9:20–22? พระบัญญัติใหม่นี้ชี้นำเราไปหาพระองค์และการเสียสละของพระองค์อย่างไร?
การถวายใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิดเป็นเครื่องพลีบูชามีความหมายต่อท่านอย่างไร? เหตุใดท่านจึงรู้สึกว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงต้องการการพลีบูชานี้จากท่าน?
ฉันสามารถฝึกฟังและเข้าใจสุรเสียงของพระผู้เป็นเจ้า
ท่านจะรู้ได้อย่างไรเมื่อพระผู้เป็นเจ้ากำลังตรัสกับท่าน? ประสบการณ์ของผู้คนใน 3 นีไฟ 11:1–8 จะช่วยให้ท่านเข้าใจหลักธรรมบางประการของการฟังและเข้าใจสุรเสียงของพระผู้เป็นเจ้า ท่านอาจจะบันทึกลักษณะสุรเสียงของพระผู้เป็นเจ้าที่ผู้คนได้ยินและสิ่งที่ผู้คนทำเพื่อเข้าใจสุรเสียงนั้นดีขึ้น
การสำรวจพระคัมภีร์ข้ออื่นที่พูดถึงสุรเสียงของพระผู้เป็นเจ้าหรืออิทธิพลของพระวิญญาณอาจช่วยได้เช่นกัน ต่อไปนี้เป็นพระคัมภีร์บางข้อ หลังจากอ่านข้อพระคัมภีร์เหล่านี้แล้ว ท่านจะเขียนแนวทางบางอย่างเพื่อรับรู้การเปิดเผย: 1 พงศ์กษัตริย์ 19:11–12; กาลาเทีย 5:22–23; แอลมา 32:27–28, 35; ฮีลามัน 10:2–4; อีเธอร์ 4:11–12; หลักคำสอนและพันธสัญญา 9:7–9; 11:11–14
ท่านจะได้ประโยชน์เช่นกันจากการฟังศาสดาพยากรณ์ อัครสาวก และผู้นำศาสนจักรท่านอื่นในปัจจุบันผู้เคยได้ยินและทำตามสุรเสียงของพระผู้เป็นเจ้า หลายท่านเล่าประสบการณ์ของตนในคอลเลกชันวีดิทัศน์ “Hear Him!” ในคลังพระกิตติคุณ อาจจะดูหนึ่งเรื่องหรือมากกว่านั้น
ท่านจะประยุกต์ใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้เพื่อให้ได้ยินและจดจำสุรเสียงของพระผู้เป็นเจ้าได้ชัดเจนยิ่งขึ้นอย่างไร?
ดู รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ฟังพระองค์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2020, 88–92 ด้วย
พระเยซูคริสต์ทรงเชื้อเชิญให้ฉันเพิ่มพยานส่วนตัวถึงพระองค์
ประมาณ 2,500 คนมารวมตัวกันที่พระวิหารในเมืองอุดมมั่งคั่งเมื่อพระเยซูคริสต์ทรงปรากฏ (ดู 3 นีไฟ 17:25) แม้มีคนมากขนาดนี้ แต่พระผู้ช่วยให้รอดทรงเชื้อเชิญให้พวกเขาออกมาสัมผัสรอยตะปูในพระหัตถ์และพระบาทของพระองค์ “ทีละคน” (3 นีไฟ 11:14–15) ขณะที่ท่านอ่าน ลองจินตนาการจะเป็นอย่างไรถ้าอยู่ที่นั่น พระผู้ช่วยให้รอดทรงเชื้อเชิญให้ท่าน “ลุกขึ้นและออกมาหา” พระองค์ในวิธีใด? (3 นีไฟ 11:14)
แนวคิดสำหรับการสอนเด็ก
เพราะวันอาทิตย์นี้เป็นวันอาทิตย์ที่ห้าของเดือน เราจึงขอให้ครูปฐมวัยใช้กิจกรรมการเรียนรู้ใน “ภาคผนวก ข: การเตรียมเด็กให้อยู่บนเส้นทางพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าไปตลอดชีวิต”
เมื่อฉันอยู่ในความมืด พระเยซูคริสต์ทรงเป็นแสงสว่างให้ฉันได้
-
เพื่อช่วยให้เด็กเชื่อมโยงกับประสบการณ์ที่บรรยายไว้ใน 3 นีไฟ 8–9 ท่านจะเล่าอีกครั้งหรือฟังเทปบันทึกเสียงตอนต่างๆ ของบทเหล่านี้ในห้องมืดก็ได้ สนทนาว่าการอยู่ในความมืดสามวันน่าจะเป็นอย่างไร จากนั้นท่านจะพูดคุยกันว่าทำไมพระเยซูคริสต์ทรงเรียกพระองค์เองว่าแสงสว่างของโลก (ดู 3 นีไฟ 9:18) พระเยซูทรงเชื้อเชิญผู้คนและเราให้ทำอะไรเพื่อพระองค์จะทรงเป็นแสงสว่างของเราได้? (ดู 3 นีไฟ 9:20–22)
พระเยซูทรงคุ้มครองผู้คนของพระองค์เหมือนแม่ไก่คุ้มครองลูกเจี๊ยบ
-
การเปรียบเทียบเรื่องแม่ไก่รวมลูกเจี๊ยบจะเป็นเครื่องมือการสอนที่ช่วยให้เด็กเข้าใจพระอุปนิสัยและพระพันธกิจของพระผู้ช่วยให้รอด ท่านอาจอ่าน 3 นีไฟ 10:4–6 ขณะที่ครอบครัวท่านดูภาพแม่ไก่กับลูกเจี๊ยบ เหตุใดแม่ไก่จึงต้องการรวมลูกเจี๊ยบ? เหตุใดพระผู้ช่วยให้รอดทรงต้องการรวมเราเข้ามาใกล้พระองค์? เราจะไปหาพระองค์เพื่อความปลอดภัยได้อย่างไร?
พระเยซูคริสต์ทรงเชื้อเชิญให้ฉันมาหาพระองค์
-
ท่านจะช่วยให้เด็กรู้สึกถึงพระวิญญาณอย่างไรขณะที่ท่านอ่าน 3 นีไฟ 11:1–15 ด้วยกัน? ท่านอาจจะขอให้เด็กบอกท่านเมื่อพวกเขาพบบางอย่างในข้อเหล่านี้ที่ช่วยให้พวกเขารู้สึกถึงความรักของพระผู้เป็นเจ้า “Jesus Christ Appears at the Temple” (Gospel Library)ท่านจะทำแบบเดียวกันกับภาพในโครงร่างนี้หรือวีดิทัศน์เรื่อง บอกเด็กว่าท่านรู้สึกอย่างไรเมื่ออ่านและไตร่ตรองเหตุการณ์เหล่านี้ ให้พวกเขาบอกความรู้สึกของตนด้วย
พระผู้เป็นเจ้าตรัสกับฉันด้วยสุรเสียงนุ่มนวลแผ่วเบา
-
ท่านอาจจะอ่านบางข้อเหล่านี้ด้วย “เสียงเบา” นุ่มนวล (3 นีไฟ 11:3) หรือท่านจะเปิดเพลงเช่น “This Is My Beloved Son” (Children’s Songbook, 76) เบาๆ เพื่อให้ฟังยาก ผู้คนต้องทำอะไรจึงจะเข้าใจสุรเสียงจากสวรรค์? (ดู ข้อ 5–7) เราเรียนรู้อะไรจากประสบการณ์ของพวกเขา?
พระเยซูคริสต์ทรงต้องการให้ฉันรับบัพติศมา
-
ขณะที่ท่านอ่าน 3 นีไฟ 11:21–26 ท่านจะให้เด็กยืนขึ้นทุกครั้งที่ได้ยินคำว่าบัพติศมา พระเยซูทรงสอนอะไรเกี่ยวกับบัพติศมา? ถ้าเด็กเคยเห็นพิธีบัพติศมามาก่อน ให้พวกเขาอธิบายว่าเห็นอะไร เหตุใดพระเยซูทรงต้องการให้เรารับบัพติศมา?