“26 สิงหาคม–1 กันยายน: ‘ศิลาของพระผู้ไถ่ของเรา’ ฮีลามัน 1–6” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: พระคัมภีร์มอรมอน 2024 (2023)
“26 สิงหาคม–1 กันยายน ฮีลามัน 1–6” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: 2024 (2023)
26 สิงหาคม–1 กันยายน: “ศิลาของพระผู้ไถ่ของเรา”
ฮีลามัน 1–6
หนังสือของฮีลามันบันทึกทั้งชัยชนะและเรื่องเศร้าสลดในหมู่ชาวนีไฟและชาวเลมัน เริ่มด้วย “สถานการณ์ลำบากร้ายแรงในบรรดาผู้คนของชาวนีไฟ” (ฮีลามัน 1:1) และความยากลำบากเกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดบันทึกนี้ ในนี้เราอ่านเรื่องการคบคิดทางการเมือง กองโจร การปฏิเสธศาสดาพยากรณ์ ความจองหองและความไม่เชื่อทั่วแผ่นดิน แต่เราพบตัวอย่างเหมือนนีไฟกับลีไฮและ “ผู้คนที่ถ่อมตนมากกว่า” เช่นกัน ผู้ไม่เพียงรอดชีวิตเท่านั้นแต่รุ่งเรืองทางวิญญาณด้วย (ฮีลามัน 3:34) พวกเขาทำอย่างไร? พวกเขาเข้มแข็งได้อย่างไรขณะที่อารยธรรมของพวกเขาเริ่มเสื่อมและล่มสลาย? เราเข้มแข็งได้เช่นเดียวกันใน “พายุอันมีกำลังแรง” ที่มารส่งมา “กระหน่ำ [เรา]”—โดยสร้างชีวิตเรา “บนศิลาของพระผู้ไถ่ของเรา, ผู้ทรงเป็นพระคริสต์, พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า, … รากฐานซึ่งหากมนุษย์จะสร้างบนนั้นแล้วพวกเขาจะตกไม่ได้” (ฮีลามัน 5:12)
แนวคิดสำหรับการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์
ความจองหองแยกฉันจากพระวิญญาณและความเข้มแข็งของพระผู้เป็นเจ้า
ขณะที่ท่านอ่าน ฮีลามัน 1–6 ท่านอาจสังเกตเห็นรูปแบบหนึ่งในพฤติกรรมของชาวนีไฟ เมื่อพวกเขาชอบธรรม พระผู้เป็นเจ้าทรงอวยพรพวกเขา และพวกเขารุ่งเรือง หลังจากนั้นไม่นาน พวกเขากลายเป็นคนจองหองและชั่วร้าย ทำการเลือกที่นำไปสู่ความหายนะและความทุกข์ จากนั้นพวกเขาอ่อนน้อมถ่อมตนและได้รับการดลใจให้กลับใจ และพระผู้เป็นเจ้าทรงอวยพรพวกเขาอีกครั้ง รูปแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำบ่อยมากจนบางคนเรียกว่า “วัฏจักรความจองหอง”
มองหาตัวอย่างของวัฏจักรนี้ขณะที่ท่านอ่าน ฮีลามัน 1–6 ต่อไปนี้เป็นคำถามบางข้อที่จะช่วยให้ท่านเข้าใจรูปแบบนี้:
-
ท่านเห็นหลักฐานใดบ้างของความจองหองในหมู่ชาวนีไฟ? (ดูตัวอย่างใน ฮีลามัน 3:33–34; 4:11–13) ท่านเห็นหลักฐานของความจองหองคล้ายกันในตัวท่านหรือไม่?
-
อะไรคือผลจากความจองหองและความชั่วร้าย? (ดู ฮีลามัน 4:23–26) อะไรคือผลของความอ่อนน้อมถ่อมตนและการกลับใจ? (ดู ฮีลามัน 3:27–30, 35; 4:14–16)
-
ฮีลามันต้องการให้บุตรชายจดจำอะไร? (ดู ฮีลามัน 5:4–12) การจดจำความจริงเหล่านี้จะช่วยท่านหลีกเลี่ยงการเป็นคนจองหองได้อย่างไร?
ดู “บทที่ 18: จงระวังความจองหอง,” คำสอนของประธานศาสนจักร: เอสรา แทฟท์ เบ็นสัน (2014), 229–240; “ขอพึ่งพระทุกโมงยาม,” เพลงสวด, บทเพลงที่ 44 ด้วย
ศรัทธาในพระคริสต์ทำให้จิตวิญญาณของฉันเต็มไปด้วยปีติ
ใน ฮีลามัน 3 มอรมอนพูดถึงเวลาของการชื่นชมยินดีเมื่อศาสนจักรได้รับพรมากจนแม้แต่ผู้นำยังแปลกใจ ตามที่ท่านอ่านใน ข้อ 24–32 ท่านคิดว่าอะไรนำไปสู่สภาพอันเปี่ยมปีตินั้น? แต่ไม่ใช่สมาชิกทุกคนมีปีติต่อเนื่อง สังเกตความแตกต่างระหว่างผู้คนที่กล่าวถึงใน ข้อ 33–35 ท่านเรียนรู้อะไรจากตัวอย่างของพวกเขา?
ฉันสามารถให้เกียรติพระนามของพระผู้ช่วยให้รอด
การอ่าน ฮีลามัน 5:6–7 อาจสร้างแรงบันดาลใจให้ท่านพิจารณาชื่อที่ท่านได้รับ รวมถึงนามสกุลด้วย ชื่อเหล่านี้มีหมายความต่อท่านอย่างไร? ท่านจะให้เกียรติชื่อเหล่านี้อย่างไร? สำคัญยิ่งกว่านั้น ให้พิจารณาว่าการรับพระนามของพระผู้ช่วยให้รอดหมายความว่าอย่างไร (ดู โมโรไน 4:3) ท่านให้เกียรติพระนามศักดิ์สิทธิ์นั้นอย่างไร?
ถ้าฉันทำให้พระเยซูคริสต์เป็นรากฐานของฉัน ฉันจะตกไม่ได้
การ “สร้างรากฐานของ [ท่าน]” บน “ศิลาของพระผู้ไถ่ของเรา” มีความหมายต่อท่านอย่างไร? (ฮีลามัน 5:12) ท่านพบความปลอดภัยจากพายุแห่งชีวิตในพระเยซูคริสต์อย่างไร? ขณะที่ท่านอ่าน ฮีลามัน 5:12–52 ให้ระบุว่านีไฟกับลีไฮได้รับพรอย่างไรสำหรับการสร้างศรัทธาของพวกเขาบนศิลาของพระผู้ไถ่
บางคนพบว่าการนึกภาพสิ่งที่พวกเขากำลังศึกษาจะช่วยได้ เพื่อให้เห็นภาพ ฮีลามัน 5:12 ท่านจะสร้างโครงสร้างขนาดเล็กบนฐานหลายๆ แบบ แล้วสร้าง “พายุอันมีกำลังแรง” โดยฉีดน้ำใส่โครงสร้างและใช้พัดลมสร้างลม นี่ให้ข้อคิดอะไรเกี่ยวกับการสร้างรากฐานของท่านบนพระเยซูคริสต์? ท่านเรียนรู้อะไรจากวีดิทัศน์เรื่อง “A Secure Anchor”? (Gospel Library)
ข้อ 50 กล่าวถึง “ความสำคัญยิ่งของหลักฐาน” ที่ชาวเลมันได้รับมา การอ่าน ฮีลามัน 5:12–52 อาจจะทำให้ท่านนึกถึงหลักฐานที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่ท่านแล้ว ตัวอย่างเช่น “เสียงกระซิบ” จากพระวิญญาณอาจจะเสริมสร้างศรัทธาของท่านในพระผู้ช่วยให้รอด (ฮีลามัน 5:30; ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:66 ด้วย) หรือท่านอาจจะเคยอยู่ในความมืดและร้องทูลพระผู้เป็นเจ้าขอให้มีศรัทธามากขึ้น (ดู ฮีลามัน 5:40–47) ประสบการณ์ใดอีกบ้างได้ช่วยท่านสร้างรากฐานบนพระเยซูคริสต์?
ดู รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “พระวิหารและรากฐานทางวิญญาณของท่าน,” เลียโฮนา, พ.ย. 2021, 93–96; ฌอน ดักลาส, “เผชิญเฮอร์ริเคนทางวิญญาณด้วยการเชื่อในพระคริสต์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2021, 109–111 ด้วย
แนวคิดสำหรับการสอนเด็ก
พระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้ฉันอ่อนน้อมถ่อมตน
-
ท่านอาจจะให้เด็กวาด “วัฏจักรความจองหอง” ในแบบของตัวเองโดยอิงจากแผนภาพด้านบน จากนั้น ขณะที่อ่าน ฮีลามัน 3:24, 33–34 และ 4:11–15 ด้วยกัน พวกเขาจะชี้ส่วนของวัฏจักรที่ข้อเหล่านี้พูดถึง เราจะเลือกอ่อนน้อมถ่อมตน—และเป็นแบบนั้นตลอดได้อย่างไร?
ฉันจะสร้างรากฐานของฉันบนพระเยซูคริสต์
-
ท่านอาจจะใช้ภาพพระวิหารเริ่มการสนทนาว่าเหตุใดอาคารต่างๆ ต้องมีรากฐานที่แข็งแรง หรือท่านจะดูรากฐานของบ้านหรืออาคารศาสนจักรของท่านก็ได้ เพื่อเน้นความแข็งแรงของรากฐานที่มั่นคง ท่านจะให้เด็กลองเป่าก้อนหินให้เคลื่อน ขณะที่ท่านอ่าน ฮีลามัน 5:12 ด้วยกัน ให้ถามเด็กว่าทำไมพระเยซูคริสต์ทรงเป็น “รากฐานอันแน่นอน” สำหรับชีวิตเรา เราจะสร้างชีวิตเราบนพระองค์ได้อย่างไร? (ดู ฮีลามัน 3:27–29, 35 และ หลักแห่งความเชื่อ 1:4)
-
ให้เด็กสร้างหอคอยโดยใช้ไม้บล็อกหรือวัสดุอื่นๆ บนรากฐานหลายๆ แบบ (เช่น ก้อนสำลีหรือหินแผ่นเรียบ) รากฐานที่มั่นคงเหมือนพระเยซูคริสต์เป็นอย่างไร? เด็กจะเพิ่มไม้บล็อกให้กับโครงสร้างเพื่อแทนแนวคิดแต่ละอย่างที่แบ่งปันเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาจะทำได้เพื่อติดตามพระองค์
พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงกระซิบด้วยสุรเสียงสงบแผ่วเบา
-
สุรเสียงที่บรรยายไว้ใน ฮีลามัน 5:29–30, 45–47 สอนให้เรารู้วิธีหนึ่งที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ตรัสกับเรา เพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจความจริงนี้ ท่านอาจจะอ่าน “บทที่ 37: นีไฟและลีไฮในเรือนจำ” (เรื่องราวจากพระคัมภีร์มอรมอน, 99–102) เมื่อท่านพูดถึงเสียงที่คนได้ยิน ให้พูดเสียงเบาๆ ทวนเรื่องนี้สองสามครั้งและให้เด็กกระซิบกับท่าน ช่วยให้พวกเขาคิดถึงวิธีอื่นที่พระวิญญาณบริสุทธิ์จะตรัสกับเราได้ เพื่อเสริมหลักธรรมนี้ ท่านจะร้องเพลง “สุรเสียงสงบแผ่วเบา” ด้วยกัน (เลียโฮนา, เม.ย. 2006, พ13)
การกลับใจแทนความมืดทางวิญญาณด้วยความสว่าง
-
เพื่อเน้นสิ่งที่ ฮีลามัน 5:20–41 สอนเกี่ยวกับความมืดและความสว่าง ลองอ่านหรือสรุปข้อเหล่านี้ในความมืด โดยใช้แค่ไฟฉายส่อง ท่านจะให้เด็กฟังสิ่งที่ผู้คนต้องทำเพื่อขจัดความมืดออกไป จากนั้นให้เปิดไฟและอ่าน ข้อ 42–48 ด้วยกัน ข้อเหล่านี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับการกลับใจ?