จงตามเรามา
6–12 มกราคม: “จงสดับฟังเถิด, โอ้เจ้าผู้คน”: หลักคําสอนและพันธสัญญา 1


“6–12 มกราคม: ‘จงสดับฟังเถิด, โอ้เจ้าผู้คน’: หลักคําสอนและพันธสัญญา 1” จงตามเรามา—สําหรับบ้านและศาสนจักร: หลักคําสอนและพันธสัญญา 2025 (2025)

“หลักคําสอนและพันธสัญญา 1” จงตามเรามา—สําหรับบ้านและศาสนจักร: 2025

ครอบครัวอ่านพระคัมภีร์ด้วยกัน

6–12 มกราคม: “จงสดับฟังเถิด, โอ้เจ้าผู้คน”

หลักคำสอนและพันธสัญญา 1

ในเดือนพฤศจิกายนปี 1831 ศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์อายุเพียงหนึ่งปีครึ่ง แม้จะเติบโต แต่ก็ยังเป็นกลุ่มผู้เชื่อซึ่งไม่เป็นที่รู้จักและอาศัยอยู่ในเมืองเล็กๆ อีกทั้งมีศาสดาพยากรณ์ในวัยยี่สิบห้าเป็นผู้นำด้วย แต่พระผู้เป็นเจ้าทรงถือว่าผู้เชื่อเหล่านี้เป็นผู้รับใช้และผู้ส่งสารของพระองค์ และทรงต้องการให้พวกเขาจัดพิมพ์การเปิดเผยออกสู่สายตาชาวโลก

หลักคําสอนและพันธสัญญาภาค 1 เป็นคําปรารภหรือคํานําที่พระเจ้าประทานแก่การเปิดเผยเหล่านี้ เห็นชัดว่าถึงแม้สมาชิกของศาสนจักรจะมีจำนวนน้อย ทว่าข่าวสารที่พระผู้เป็นเจ้าทรงต้องการให้วิสุทธิชนแบ่งปันไม่ได้น้อยแต่อย่างใด นี่เป็น “เสียงเตือน” สำหรับ “ผู้อยู่อาศัย [ทั้งหมด] ของแผ่นดินโลก” โดยสอนให้พวกเขากลับใจและสถาปนา “พันธสัญญาอันเป็นนิจ” ของพระผู้เป็นเจ้า (ข้อ 4, 8, 22) ผู้รับใช้ที่ถ่ายทอดข่าวสารนี้เป็น “คนอ่อนแอและคนต่ำต้อย” แต่พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกเพียงผู้รับใช้ที่อ่อนน้อมถ่อมตน—ทั้งในเวลานั้นและเวลานี้—ให้นำศาสนจักรของพระองค์ “ออกจากการปิดบังและจากความมืด” (ข้อ 23, 30)

ไอคอนศึกษา

แนวคิดสำหรับการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์

หลักคำสอนและพันธสัญญา 1

“จงสดับฟังเถิด, โอ้เจ้าผู้คน”

คำปรารภเกริ่นนำหนังสือ ระบุสาระสำคัญและจุดประสงค์ของหนังสือ และช่วยให้ผู้อ่านเตรียมตัวอ่าน ขณะที่ท่านอ่าน ภาค 1— “คำปรารภ” ที่พระเจ้าประทานแก่พระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา (ข้อ 6)—ให้มองหาสาระสำคัญและจุดประสงค์ที่พระเจ้าประทานสำหรับการเปิดเผยของพระองค์ ท่านเรียนรู้อะไรที่จะช่วยท่านในการศึกษาพระคัมภีร์หลักคําสอนและพันธสัญญาปีนี้? ตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะไตร่ตรองว่า “ฟังสุรเสียงของพระเจ้า” ในการเปิดเผยเหล่านี้ (ข้อ 14) หรือ “ค้นคว้าพระบัญญัติเหล่านี้” (ข้อ 37) หมายความว่าอย่างไร

ดู คำนำของพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา ด้วย

หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:4–6, 23–24, 37–39

ไอคอนเซมินารี
พระเจ้าตรัสผ่านผู้รับใช้ของพระองค์ รวมทั้งศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้าย

ภาค 1 เริ่มและจบด้วยคำประกาศของพระเจ้าว่าพระองค์ตรัสผ่านผู้รับใช้ที่พระองค์ทรงเลือก (ดู ข้อ 4–6, 23–24, 38) จดสิ่งที่ท่านเรียนรู้จากการเปิดเผยนี้เกี่ยวกับ:

  • พระเจ้าและสุรเสียงของพระองค์

  • เหตุใดจึงจำเป็นต้องมีศาสดาพยากรณ์ในสมัยของเรา

ท่านรู้สึกประทับใจว่าต้องทำอะไรอันเป็นผลจากสิ่งที่ท่านพบ?

ท่านได้ยินสุรเสียงของพระเจ้าผ่านเสียงผู้รับใช้ของพระองค์เมื่อใด? (ดู ข้อ 38)

ท่านอาจจินตนาการด้วยว่าเพื่อนคนหนึ่งที่ไม่รู้จักศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่กําลังอ่าน ภาค 1 กับท่าน เพื่อนของท่านอาจมีคำถามอะไรบ้าง? ข้อใดที่ท่านต้องการสนทนากับเพื่อนเพื่อช่วยให้เขาเข้าใจว่าท่านรู้สึกอย่างไรกับการมีศาสดาพยากรณ์ในสมัยของเรา?

ท่านอาจสนใจจะรู้ว่าเมื่อสภาเอ็ลเดอร์ประชุมกันในปี 1831 เพื่อพูดถึงการจัดพิมพ์การเปิดเผยของโจเซฟ สมิธ บางคนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ พวกเขาอึดอัดกับความอ่อนด้อยในการเขียนของโจเซฟ และพวกเขากังวลว่าการจัดพิมพ์การเปิดเผยอาจก่อให้เกิดปัญหากับวิสุทธิชนมากขึ้น (ดู วิสุทธิชน, 1:140–143) หากท่านเป็นสมาชิกของสภานี้ ท่านจะแก้ไขข้อกังวลเหล่านี้อย่างไร? ท่านพบข้อคิดอะไรบ้างใน ภาค 1 ที่อาจช่วยได้? (ดูตัวอย่าง ข้อ 6, 24, 38)

ท่านอาจรวมเพลงสวดเช่น “มาฟังคําของศาสดา” (เพลงสวด บทเพลงที่ 7) ในการศึกษาและการนมัสการของท่าน มองหาวลีในเพลงสวดที่สอนหลักธรรมเดียวกันกับข้อต่างๆ ใน ภาค 1

สมาชิกศาสนจักรสนับสนุนผู้นําที่การประชุมใหญ่สามัญ

พระเจ้าตรัสกับเราผ่านผู้รับใช้ของพระองค์ ศาสดาพยากรณ์

หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:12–30, 34–36

การฟื้นฟูช่วยให้ฉันเผชิญความท้าทายของยุคสุดท้าย

ใน หลักคําสอนและพันธสัญญาภาค 1 พระเจ้าทรงอธิบายเหตุผลที่พระองค์ทรงฟื้นฟูพระกิตติคุณของพระองค์ ดูว่าท่านเขียนเหตุผลได้กี่ข้อขณะที่อ่าน ข้อ 12–23 จากประสบการณ์ของท่าน จุดประสงค์ของพระเจ้าในการฟื้นฟูบรรลุผลสําเร็จอย่างไร?

พระเจ้าทรงทราบว่ายุคสมัยของเราจะมีความท้าทายร้ายแรง (ดู ข้อ 17) ท่านพบอะไรใน ข้อ 17–30, 34–36 ที่ช่วยให้ท่านรู้สึกสงบและมั่นใจแม้มีความท้าทายเหล่านี้?

ดู รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “น้อมรับอนาคตด้วยศรัทธา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2020, 73–76 ด้วย

หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:19–28

พระเจ้าทรงใช้ “คนอ่อนแอและคนต่ำต้อย” ทำงานของพระองค์ให้สำเร็จ

ขณะที่ท่านอ่าน หลักคําสอนและพันธสัญญา 1:19–28 ท่านอาจไตร่ตรองว่าการเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้าหมายความว่าอย่างไร พระเจ้าทรงต้องการให้ผู้รับใช้ของพระองค์มีอุปนิสัยอะไรบ้าง? พระเจ้าทรงทําอะไรสําเร็จผ่านผู้รับใช้ของพระองค์? คำพยากรณ์ในข้อเหล่านี้กำลังเกิดสัมฤทธิผลอย่างไรทั่วโลกและในชีวิตท่าน?

มองหาพระเยซูคริสต์ จุดประสงค์ของพระคัมภีร์คือเป็นพยานถึงพระผู้ช่วยให้รอดและพระกิตติคุณของพระองค์ ขณะที่ท่านอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 1 ท่านอาจทำเครื่องหมายหรือทำหมายเหตุข้อที่สอนท่านบางอย่างเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์

ดูแนวคิดเพิ่มเติมได้จากนิตยสาร เลียโฮนา และ เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน ฉบับเดือนนี้

ไอคอนหมวดเด็ก 02

แนวคิดสำหรับการสอนเด็ก

หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:4, 37–39

พระเจ้าทรงเตือนฉันให้รู้อันตรายทางวิญญาณผ่านศาสดาพยากรณ์ของพระองค์

  • เพื่อเริ่มการสนทนาเกี่ยวกับคําเตือนจากพระเจ้า ท่านอาจจะพูดถึงคําเตือนที่เราได้รับจากผู้อื่นเกี่ยวกับอันตรายที่เรามองไม่เห็น ตัวอย่างบางเรื่องอาจได้แก่ พื้นลื่น พายุใหญ่ หรือรถยนต์ที่แล่นเข้ามา ท่านและเด็กอาจดูตัวอย่างของสัญญาณเตือนและเปรียบเทียบคําเตือนเหล่านี้กับคําเตือนที่พระเจ้าประทานแก่เรา ตามที่กล่าวไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:4, 37–39 พระเจ้าทรงเตือนเราอย่างไร? เมื่อเร็วๆ นี้พระองค์ทรงเตือนเราเรื่องอะไร? ท่านอาจดูและอ่านข่าวสารการประชุมใหญ่ครั้งล่าสุดหลายๆ ตอนและมองหาตัวอย่าง “เสียงเตือน” จากพระผู้เป็นเจ้า

  • ร้องเพลงด้วยกันหนึ่งเพลงเกี่ยวกับศาสดาพยากรณ์ เช่น ข้อสุดท้ายของเพลง “ทำตามศาสดา” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก หน้า 58–59) แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่าศาสดาพยากรณ์พูดพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า

หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:17

การฟื้นฟูช่วยให้ฉันเผชิญความท้าทายของยุคสุดท้าย

  • เพื่อกระตุ้นการสนทนาเกี่ยวกับ หลักคําสอนและพันธสัญญา 1:17 ท่านและเด็กอาจจินตนาการว่ากําลังเตรียมตัวเดินทาง ท่านจะเก็บอะไรบ้างใส่ลงในกระเป๋า? ถ้าท่านรู้ล่วงหน้าว่าฝนจะตกหรือรถหรือรถบัสจะยางแบน สิ่งนั้นจะส่งผลต่อการเตรียมตัวเดินทางอย่างไร? อ่าน ข้อ 17 ด้วยกันและสนทนาถึงสิ่งที่พระเจ้าทรงทราบว่าจะเกิดขึ้นกับเรา พระองค์ทรงเตรียมอย่างไร? (หากจำเป็นให้อธิบายว่า “ภัยพิบัติ” คือความพินาศหรือเรื่องร้ายๆ) พระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าช่วยเรารับมือกับความท้าทายในสมัยของเราอย่างไร?

หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:17, 29

พระเจ้าทรงเรียกโจเซฟ สมิธเป็นศาสดาพยากรณ์

  • เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับบทบาทของโจเซฟ สมิธในการฟื้นฟูพระกิตติคุณของพระผู้ช่วยให้รอด ท่านและเด็กอาจจะดูภาพพระผู้ช่วยให้รอดและภาพโจเซฟ สมิธ (ดูภาพในโครงร่างนี้) และสนทนากันว่าพระผู้ช่วยให้รอดประทานอะไรแก่เราผ่านโจเซฟ สมิธ เด็กอาจมองหาตัวอย่างใน หลักคําสอนและพันธสัญญา 1:17, 29 เล่าให้เด็กฟังว่าท่านรู้ได้อย่างไรว่าพระผู้เป็นเจ้าทรง “เรียกหาผู้รับใช้ของเรา โจเซฟ สมิธ, จูเนียร์, และพูดกับเขาจากสวรรค์” (ข้อ 17)

ภาพครึ่งตัวของโจเซฟ สมิธ จูเนียร์

© 1998 เดวิด ลินด์สลีย์

หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:30

ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเป็น “ศาสนจักรที่แท้จริงและดำรงอยู่” ของพระเจ้า

  • หมายความว่าอย่างไรถ้าพูดว่าศาสนจักร “แท้จริงและดำรงอยู่”? เพื่อให้เด็กตรึกตรองคําถามนี้ ท่านอาจจะให้พวกเขาดูสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต—เช่น พืชที่มีชีวิตและพืชที่ตายแล้ว เรารู้ได้อย่างไรว่าบางอย่างยังมีชีวิตอยู่? จากนั้นท่านอาจอ่าน หลักคําสอนและพันธสัญญา 1:30 และสนทนากันถึงความหมายของศาสนจักรที่ “แท้จริงและดำรงอยู่”

ดูแนวคิดเพิ่มเติมจากนิตยสาร เพื่อนเด็ก ฉบับเดือนนี้

ภาพพระเยซูคริสต์

Beside Still Waters [ริมน้ำแดนสงบ], โดย ไซมอน ดิวอี้ย์

หน้ากิจกรรมสําหรับเด็ก